ไช่ อิง เหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องประชาธิปไตย

ไช่ อิง เหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องประชาธิปไตย
“ไต้หวันมีอัตลักษณ์ มีระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ สมควรได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมจากจีน” - ไช่ อิงเหวิน ดูเหมือนว่าช่วงนี้กระแสผู้นำหญิงมาแรงกว่าครั้งไหน ๆ  เห็นได้จากนิตยสารฟอร์บส (Forbes) เขียนบทความ “จุดร่วมของประเทศที่รับมือกับโคโรน่าไวรัสได้ดีที่สุดคืออะไร ? คำตอบคือ ผู้นำหญิง” ชื่นชมการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของผู้นำหญิง 7 ประเทศ ทั้ง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี จาซินดา อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์ รวมทั้งผู้นำหญิงของไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ขาดไม่ได้คือผู้นำหญิงแห่งเอเชียที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้อย่างประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ไช่ อิงเหวิน เดิมทีเป็นอาจารย์กฎหมาย เข้าทำงานตำแหน่งรัฐมนตรี จากนั้นปี 2004 เข้าร่วมพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ผ่านไปสี่ปีเธอขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2012 แต่แพ้ ผ่านไปจนถึงปี 2016 เธอกลับมาลงสมัครอีกครั้ง ชูนโยบายที่ทำให้จีนต้องปวดหัวอย่างการปลดแอกจีนแผ่นดินใหญ่ ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย เคารพเสรีภาพประชาชน สนับสนุนสิทธิชาว LGBTQ+ และให้คำมั่นนำไต้หวันสู่เอกราช หลังจาก ไช่ อิงเหวิน ประกาศนโยบายหาเสียง โฆษกรัฐบาลจีน ณ กรุงปักกิ่ง ต้องออกมาแถลงการณ์ว่าจีนจะไม่เปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวัน แสดงให้เห็นจุดยืนว่าแผ่นดินใหญ่พร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด หาก ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้ง ช่วงที่ ไช่ อิงเหวิน ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ประชาชนชาวไต้หวันส่วนใหญ่เริ่มกังวลกับท่าทีของประธานาธิบดี หม่า อิ๋งเจียว (Ma Ying-jiu) จากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2008-2016 คนส่วนใหญ่มองว่าเขาพยายามประนีประนอมกับจีนมากเกินไป จนทำให้ผู้คนกังวลว่าวันใดวันหนึ่งไต้หวันอาจถูกจีนรวมประเทศ ผู้คนต้องการผู้นำหัวใหม่ แถมการเลือกตั้งก็ยังโดนกดดันจากจีนอีก เหมือนว่าเสียงข่มขู่ของโฆษกจีนจะส่งมาถึงชาวไต้หวัน ทำให้ ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ไช่ อิง เหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องประชาธิปไตย การเริ่มต้นบทบาทประธานาธิบดีของ ไช่ อิงเหวิน เปิดฉากด้วยคำขู่ของรัฐบาลจีนส่งตรงถึงไต้หวันว่า จีนพร้อมใช้กำลังทันที หากไต้หวันประกาศเอกราช พร้อมกับใช้เทคนิกทางการเมืองเรียกว่า “มาตรการโดดเดี่ยวไต้หวัน” ห้ามชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไต้หวัน ล็อบบี้ประเทศอื่น ๆ ด้วยการนำผลประโยชน์ทางการค้าและมิตรไมตรีทางการทูตมาเจรจา หากประเทศต่าง ๆ เลิกรับรองสถานภาพความเป็นรัฐของไต้หวัน พร้อมโชว์แสนยานุภาพทางการทหาร ล่องเรือบรรทุกเครื่องบินผ่านไต้หวัน ทำให้ตอนนั้นมีหลายประเทศเลิกรับรองสถานภาพของไต้หวัน จนเหลือเพียง 16 ประเทศเท่านั้น ที่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศ แม้ ไช่ อิงเหวิน จะโดนกดดันสารพัดวิธี เธอก็ยังยืนยันตามนโยบายหาเสียงของตัวเอง แต่ติดตรงเรื่องเศรษฐกิจเพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ทำการค้ากับจีนเยอะมาก เมื่อเธอเป็นประธานาธิบดี ข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนเดิมถูกยกเลิก ไต้หวันโดนลอยแพปล่อยเกาะให้โดดเดี่ยว ขณะที่จีนพยายามดึงดูดพันธมิตรทางการทูตอันน้อยนิด พร้อมกับการขยันซ้อมรบใกล้ไต้หวัน สร้างบรรยากาศตึงเครียดให้รัฐบาลไต้หวัน ทำให้การทำงานของเธอไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักในสายตาประชาชน ช่วงปี 2018 คะแนนนิยมของพรรค DPP เริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย คณะบริหารของ ไช่ อิงเหวิน พ่ายแพ้หลายเมืองในการเลือกตั้งผู้แทนสภาท้องถิ่น ผลงานไม่โดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้เธอเข้าสู่ช่วงเวลาน่าเป็นห่วงจนต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พร้อมกับเสียงวิจารณ์จากจีนว่าประธานาธิบดีหญิงกำลังพ่ายแพ้ คนไต้หวันเตรียมกลับมาซบอกจีนอีกครั้ง พวกเขาไม่ได้อยากได้เอกราชอีกต่อไป เพราะการตีตื้นของพรรคก๊กมินตั๋งเน้นนโยบายการค้ากับจีน ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าพรรค DPP อย่างไรก็ตาม คล้ายกับว่าโชคยังคงเข้าข้างเธออยู่ เพราะในวันขึ้นปีใหม่ 2019 ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ออกมากล่าวอวยพรประชาชนชาวจีนตามธรรมเนียมปกติ เขาส่งข้อความถึงประชาชนชาวไต้หวันว่า “การรวมชาติคือสิ่งถูกต้อง และเอกราชของไต้หวันจะไม่มีวันเกิดขึ้น” พร้อมกับยืนยันกลาย ๆ ว่าไม่เลิกใช้กำลังทางทหารกดดันไต้หวัน ไต้หวันยังคงเป็นของจีนภายใต้การปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ ซึ่งสุนทรพจน์ปีใหม่ของสี จิ้นผิง สร้างความไม่พอใจให้คนไต้หวันมากทีเดียว การยืนอย่างโดดเดี่ยวของไต้หวันส่งผลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้านสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ถือว่าก้าวกระโดด ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกของเอเชียที่ให้การแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ปี 2017 ศาลไต้หวันระบุว่ากฎหมายห้ามคนเพศเดียวกันแต่งงานกันถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิ ละเมิดความเสมอภาคของพลเมือง โดยให้เวลารัฐสภาสองปีในการแก้ไขกฎหมายที่มี หรือผ่านกฎหมายใหม่เพื่อรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน กำหนดเส้นตายไว้ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019  กระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม ปี 2019 ส.ส. ไต้หวันพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน 3 ฉบับ ซึ่งฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนน 66 ต่อ 27 เสียง เสนอโดยรัฐบาลของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน และมีผลบังคับใช้เมื่อประธานาธิบดีประกาศเป็นกฎหมาย แม้กฎหมายนี้ยังไม่มีสิทธิเท่าการสมรสของชายหญิง และยังมีปัญหาเรื่องการรับบุตรบุญธรรม แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกไปสู่เสรีภาพกับความเท่าเทียมที่ยิ่งใหญ่ของไต้หวัน ซึ่งนโยบายเพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศของเธอ สามารถกู้ภาพลักษณ์กับคะแนนนิยมของชาวไต้หวันกลับมาได้มากโข

“ไต้หวันได้แสดงให้โลกเห็นว่า แนวคิดก้าวหน้ามีที่ยืนในสังคมเอเชียตะวันออก” - ไช่ อิงเหวิน

ไช่ อิง เหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องประชาธิปไตย ฮ่องกงเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ปี 2019 กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการเข้าแทรกแซงของจีน การร่วมกันต่อสู้ของชาวฮ่องกงสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้ชาวไต้หวัน พวกเขาไม่อยากให้จีนเข้ามามีบทบาทมากเหมือนฮ่องกง เวลาเดียวกัน ไช่ อิงเหวิน ประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้ชุมนุมฮ่องกง ขยายเวลาวีซ่า ให้แกนนำลี้ภัยมายังไต้หวัน พร้อมยืนยันคำเดิมว่าจะไม่ผูกมิตรกับจีน จะทำให้ไต้หวันได้รับเอกราชอย่างที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรก ท่ามกลางความคิดเห็นเชิงบวกของประชาชนไต้หวันจำนวนมากที่เห็นด้วย เมื่อทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนอีกครั้ง  ไช่ อิงเหวิน สามารถกลับสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPP แถมเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาอีกครั้ง เธอตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสอง ชูนโยบายเดิมเรื่องเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางผูกมิตรกับจีน ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด เมื่อจีนนำเรือรบมาปิดช่องแคบไต้หวันก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน การเลือกตั้งในเดือนมกราคม ปี 2020 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ไต้หวัน มีประชาชนมากกว่า 13 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 19 ล้านคน แห่กลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคนแก่รุ่นปู่ย่าที่ไม่เอาจีนอยู่แล้ว รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่เบื่อการเมืองประนีประนอมยอมให้จีนคอยขู่อยู่เป็นประจำ ทำให้ ไช่ อิงเหวิน กวาดคะแนนเสียงแบบขาดลอยอีกครั้ง ด้วยคะแนนกว่า 8.17 ล้านเสียง สูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไต้หวัน ทิ้งห่าง ฮั่น กั๋วหยู (Han Kuo-yu) ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีนโยบายหาเสียงจับมือกับจีนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้คะแนนประมาณ 5.4 ล้านเสียง ไปอย่างขาดลอย  หลังไต้หวันได้ ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดีต่ออีก 4 ปี สหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความยินดีพร้อมตั้งความหวังว่า ไต้หวันเป็นประเทศตัวอย่างของดินแดนแสวงหาประชาธิปไตย สวนทางกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่ออกมาแถลงเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ของหลักการจีนเดียว ต่อต้านการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน หลังคว้าชัยจากการเลือกตั้ง ไช่ อิงเหวิน ต้องพบงานหนักอีกครั้งกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามทั่วโลก ถึงกระนั้น เธอสามารถแสดงให้โลกเห็นถึงการรับมือกับโรคระบาดได้ยอดเยี่ยม เธอเขียนบทความ “How My Country Prevented a Major Outbreak of COVID-19” ลงนิตยสารไทม์ (Time) ฉบับพิเศษ ที่รวบรวมความคิดเห็นกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19  จาก 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของไทม์ ว่าเพราะเหตุใดไต้หวันถึงประสบความสำเร็จเรื่องการคุมโรคระบาด มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย และยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ระบุว่า ชาวไต้หวันทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่างร่วมมือกันอย่างดี นำบทเรียนโรคซาร์สในไต้หวันเมื่อปี 2003 มาเป็นบทเรียน นอกจากนี้ เดือนธันวาคม 2019 รัฐบาลยังได้ข่าวเรื่องโรคติดต่อทางเดินหายใจชนิดใหม่ที่จีน จึงเริ่มการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากอู่ฮั่น ซึ่งเป็นต้นทางการระบาดอย่างเข้มข้น แจ้งประชาชนให้เฝ้าระวังโรคติดต่อ ตั้งศูนย์บัญชาการกลางควบคุมการระบาดในเดือนมกราคม 2020 ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว บางประเทศยังไม่ทราบข่าวหรือรู้จักโควิด-19 แต่ไต้หวันเตรียมการเพื่อรับมือไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก จนทำให้หน้ากากอนามัยกลายเป็นของหายาก ไต้หวันคิดวิธีแก้ปัญหาการกักตุน การค้าเก็งกำไร การแย่งชิงสิ่งของที่มีความต้องการสูงช่วงไวรัสระบาดอย่างรัดกุม ทุ่มเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 200 ล้านบาท) จับมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การแพทย์ จัดหาเครื่องมือพร้อมสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยหลายแห่งภายใน 25 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าจำนวนหน้ากากจะเพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลและประชาชนทั่วประเทศ ส่วน ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัล ก็ร่วมมือกับวิศวกรภาคเอกชน พัฒนาแอปพลิเคชันแจ้งจุดซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อให้ประชาชนรู้พิกัดว่ามีสินค้าที่ไหน และยังมีอยู่หรือไม่ จะได้ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านให้เสียเที่ยว  รัฐบาลไต้หวันกำหนดโควตาปันส่วนหน้ากากอนามัย กำหนดให้ผู้ถือบัตรประกันสุขภาพเลขตัวสุดท้ายเป็นเลขคี่ ซื้อได้ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนผู้ถือบัตรลงท้ายเลขคู่ ซื้อหน้ากากอนามัยวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ โดยร้านขายยาจะมีเครื่องอ่านบัตรประกันสุขภาพของผู้ซื้อ เพื่อตรวจสอบว่าซื้อหน้ากากอนามัยไปกักตุนไว้หรือไม่ ส่วนวันอาทิตย์คือวันที่ทุกคนสามารถซื้อได้เสรี ซึ่ง ไช่ อิงเหวิน เองก็ลงพื้นที่ไปร้านค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีการขายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์เกินราคาหรือไม่ ประธานาธิบดีไต้หวันบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ จน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ออกมาชื่นชมมาตรการรับมือโควิด-19 บ่อยครั้ง แต่ไต้หวันกลับเมินเฉยต่อคำชมพร้อมบอกกับโลกว่า สาธารณสุขไต้หวันส่งข้อมูลเรื่องการระบาดของไวรัสชนิดใหม่จากคนสู่คนไปยัง WHO ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2019 แต่ WHO มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงยึดข้อมูลจากรัฐบาลจีนเท่านั้น และไม่ส่งต่อข่าวสารให้กับเหล่าประเทศสมาชิก หาก WHO ฟังสิ่งที่ไต้หวันพยายามบอก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็อาจไม่บานปลายขนาดนี้ (อ่านเพิ่มได้จากบทความนี้ “องค์การอนามัยโลก การเมือง “จีนเดียว” ใน WHO ทำโควิด-19 ระบาดหนัก” อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่า จีนใช้มาตรการโดดเดี่ยวไต้หวันกับหลายประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเพื่อไม่ให้ปฏิบัติต่อไต้หวันเหมือนประเทศเอกราช องค์การอนามัยโลกกับสหประชาชาติ (United Nations-UN) ก็ยึดหลักตามจีนมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ไต้หวันเคยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ UN โดยเรียกตัวเองว่า ‘ประเทศไต้หวัน’ เพื่อแสดงจุดยืนว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการเข้าไปแทนที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การสมัครเข้า UN ของไต้หวันถูกปฏิเสธ ปิดโอกาสการเป็นสมาชิก WHO โดยอัตโนมัติ จนกระทั่งเกิดวิกฤตไวรัสไปทั่วโลก WHO โดนผู้นำหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์การทำงานว่าโอนเอียงไปยังจีนมากเกินไป ทั้งที่จีนพยายามปกปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 จนทำให้ ทีโดรส เกเบรเยซุส (Tedros Ghebreyesus) ผู้อำนวยการ WHO ชาวเอธิโอเปีย ออกแถลงการณ์ว่าการระบาดของไวรัส ทำให้เขาโดยโจมตีด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ เหยียดสีผิวจากชาวไต้หวัน การกล่าวโทษชาวไต้หวันของผู้อำนวยการ WHO ทำให้กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันออกมากล่าวประณามการกล่าวหาเลื่อนลอยไร้หลักฐานของทีโดรส ส่วนประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ก็ออกมาโต้ตอบว่า “ไต้หวันต่างหากที่เป็นฝ่ายโดน WHO กีดกัน และแบ่งแยกมาโดยตลอด” พร้อมกับคำขู่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า หากยังลิดรอนความเป็นประเทศของไต้หวันและเข้าข้างจีนมากเกินไป สหรัฐอเมริกาจะถอนเงินทุนที่มอบให้กับ WHO ไช่ อิง เหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของไต้หวันยังคงดำเนินต่อไป แต่ระหว่างทางไปสู่อิสรภาพดั่งคนไต้หวันตั้งใจ ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แสดงให้เห็นว่าเธอทำตามคำพูดเมื่อครั้งหาเสียงก่อนขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ผลักดันสิทธิความเท่าเทียมกันของคนหลายกลุ่ม สนับสนุนประชาธิปไตย ใส่ใจเรื่องสาธารณสุข ผูกมิตรกับหลายประเทศ แม้ยังต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกจีนกดดัน แต่ผลงานการบริการประเทศ การยึดมั่นอุดมการณ์ ทำให้สื่อทั่วโลกต่างชื่นชมและจับตา กลายเป็นผู้นำหญิงจากเอเชียที่มีบทบาทการบริหารโดดเด่นไม่แพ้นักการเมืองคนอื่น ๆ การเรียกร้องประชาธิปไตยของไต้หวันมีมาอย่างยาวนาน พวกเขายืนอย่างโดดเดี่ยว ถูกกีดกัน ไร้การสนับสนุน แต่เวลานี้เมื่อวิกฤตไวรัสกระตุ้นให้ไต้หวันได้แสดงความสามารถ เผยให้เห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาล ระบบสาธารณสุข คุณภาพของพลเมือง ทำให้การโต้ตอบของไต้หวันหลังจากนี้อาจเสียงดังขึ้น ผู้คนทั่วโลกจับจ้องให้ความสนใจมากขึ้น ส่วนมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีน อาจต้องเร่งแก้ปัญหาหลายสิ่งอย่าง ทั้งการทูตและบทบาทในเวทีโลกที่ย่ำแย่จากการแพร่ระบาดของไวรัส   ที่มา https://time.com/collection/finding-hope-coronavirus-pandemic/5820596/taiwan-coronavirus-lessons/?utm_source=twitter.com&utm_medium=social&utm_campaign=social-share-article https://focustaiwan.tw/politics/202004160026 https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3778476 https://edition.cnn.com/2019/01/02/asia/xi-jinping-taiwan-tsai-intl/index.html https://www.reuters.com/article/us-taiwan-election/taiwan-president-takes-early-lead-in-election-closely-watched-by-china-idUSKBN1ZA009 https://www.bbc.com/news/world-asia-51104246 https://www.bbc.com/thai/international-48307052 https://twitter.com/iingwen/status/1236208986724024321 https://www.businessinsider.com/taiwans-president-how-the-country-contained-coronavirus-spread-2020-4 https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3080547/taiwans-coronavirus-response-wins-rare-praise-world-health   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์