อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย

อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย

หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย

ทุกเช้าวันจันทร์ แทนที่ อุกฤษ อุณหเลขกะ ชายหนุ่มวัยยี่สิบต้น ๆ ที่ทำงานในบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาด้วยเงินเดือนหลายแสนบาท จะรีบลุกจากเตียงแต่งตัวไปทำงานที่กำลังเติบโตก้าวหน้า เขากลับนั่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ยังมีความสุขอยู่หรือไม่ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำในสิ่งที่ครุ่นคิดอยู่นาน นั่นคือการกลับมาช่วยเหลือเกษตรกรไทย “ตอนอายุ 22 ผมทิ้งงานเงินเดือนประมาณสองสามแสน เพื่อมาทำสตาร์ทอัพ ช่วงที่ทำงานอยู่ถึงเงินเดือนจะค่อนข้างเยอะ แต่ผมกลับรู้สึกเบื่อมาก วันจันทร์ต้องตื่นนอนเพื่อไปทำงานอีกแล้วเหรอ ทำงานไปแอบดูเวลาตลอดว่าเมื่อไหร่จะเลิกงาน ถึงได้เงินเยอะแต่เราไม่อินตรงนั้น พอผมมาทำสตาร์ทอัพถึงเงินจะไม่ได้เยอะ แต่เรากลับมีความสุข กลับบ้านไปเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็นั่งอ่านข่าวเกษตร ไม่ก็ออกไปหาพี่น้องเกษตรกรตามต่างจังหวัด การได้เห็นหมู่บ้านของพวกเขาเริ่มเปลี่ยนแปลง เราก็รู้สึกสุขใจที่ได้ทำอะไรที่มันมีคุณค่า” เอิร์น-อุกฤษ อุณหเลขกะ ตัดสินใจก่อตั้ง รีคัลท์ (Ricult) ประเทศไทย จำกัด ในปี 2559 ร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ที่เขาไปเรียนปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์และบริหาร หลังจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย หนึ่งในนั้นคือชายหนุ่มจากประเทศปากีสถาน ที่อุกฤษได้รู้จักขณะกำลังนำเสนอแนวคิดการทำสตาร์ทอัพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอยู่หน้าห้องเรียน เนื่องจากทั้งสองคนมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ทำให้ทั้งคู่หันมาจับมือพัฒนาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อนำไปใช้ในประเทศของตน ตอนแรกพวกเขามองว่าปัญหาของเกษตรกรคือการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช เลยออกแบบแพลตฟอร์มขายปุ๋ยออนไลน์ แต่ปรากฏว่าผ่านไปสองเดือนแทบไม่มีผู้ใช้งาน ทั้งคู่หาสาเหตุจนได้ข้อสรุปว่าเหตุผลหลักที่เกษตรกรยังไม่พร้อมสำหรับการซื้อปุ๋ยออนไลน์ เพราะติดปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ และปัญหาสำคัญที่สุดคือเรื่องน้ำ ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงระบบชลประทานที่ดี ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาฝนฟ้าอากาศที่ไม่มีความแน่นอน “เกษตรกรบอกกับเราว่าอยากรู้เมื่อไหร่ฝนจะตก จะได้วางแผนเพาะปลูก พอดีเพื่อนที่ MIT คนหนึ่งเรียนปริญญาเอก atmospheric science ด้านพยากรณ์อากาศมาโดยเฉพาะ เขาเป็นคนอเมริกันที่ชอบประเทศไทยมาก ฝันอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเหมือนกัน เราเลยได้เขามาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งรีคัลท์ ที่ตอนนี้สามารถพยากรณ์อากาศได้แม่นยำที่สุดในประเทศไทย” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย เครื่องมือในการพยากรณ์อากาศของรีคัลท์ มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ machine learning มาสร้างอัลกอริทึมที่ซับซ้อน ร่วมกับข้อมูลจากหลายหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด ซึ่งตอนนี้มีความถูกต้องแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 70-80% และพยากรณ์พื้นที่ได้ละเอียดประมาณ 9x9 ตารางกิโลเมตร หรือเฉพาะเจาะจงในระดับหมู่บ้าน เทียบกับข้อมูลการพยากรณ์ทั่วไปที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างในระดับอำเภอ แม้จะมีจุดแข็งเรื่องการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ แต่สตาร์ทอัพหนุ่มจาก MIT บอกว่า รีคัลท์ไม่ใช่แอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศ เพราะจุดเด่นจริง ๆ คือการนำข้อมูลพยากรณ์อากาศที่ได้ มาประเมินกับข้อมูลการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เกษตรกรที่ตอนนี้มีสมาร์ทโฟนเกือบทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่และหลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจนในที่สุด “เกษตรกรไทยหรือในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมีปัญหาเหมือนกันคือ หนึ่ง.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม สอง.ได้ผลผลิตค่อนข้างน้อย ผลผลิตต่อไร่ของเราเกือบน้อยที่สุดในอาเซียน น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วเกือบสามเท่า เพราะเราขาดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สาม.การเข้าถึงตลาดที่ยังมีพ่อค้าคนกลางมาตัดราคาตรงกลางค่อนข้างเยอะ ปัญหาเหล่านี้น่าเสียดายที่ยังไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังเลย” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ ทำให้ได้การพยากรณ์ล่วงหน้าที่ค่อนข้างแม่นยำนานถึง 9 เดือน ช่วยให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกตามฝนฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแนะนำการเพาะปลูก เทียบกับข้อมูลผลผลิตที่ผ่านมาในอดีตของพื้นที่เพาะปลูกนั้น ๆ ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 50% ที่สำคัญคือการพยากรณ์ล่วงหน้าอย่างถูกต้องแม่นยำ ช่วยลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินอย่างธนาคารที่ส่วนมากไม่ค่อยมีข้อมูลของเกษตรกรในต่างจังหวัด ในการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายย่อย ช่วยให้โรงงานสามารถประเมินปริมาณรับซื้อผลผลิตล่วงหน้าได้หลายเดือน ซึ่งการให้บริการข้อมูลสำหรับธนาคาร บริษัทประกันภัย และโรงงานที่รับซื้อผลผลิต นี่แหละคือโมเดลธุรกิจของรีคัลท์ “เราถูกสอนมาว่าต้องรู้จักปัญหาของผู้ใช้งานของเราให้มากทึ่สุด ปัญหาของเกษตรกรไทยคือยังเข้าไม่ถึงระบบชลประทานที่ดี เลยจำเป็นต้องพึ่งฝนตามธรรมชาติ ทุกการตัดสินใจของเกษตรกรคือความเสี่ยง ถ้าตัดสินใจปลูกพืชผิด แล้วเจอภัยแล้ง หมายถึงเงินลงทุนทั้งปีหายไปในพริบตา แถมยังต้องไปกู้เงินเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นวงจรซ้ำซาก อยู่ในวงเวียนความยากจนและหนี้สิน เราเลยเอาเทคโนโลยี และข้อมูลมาช่วยเกษตรกรในการลดความเสี่ยง และจัดทำเป็นคะแนนเครติตให้กับธนาคารและบริษัทประกัน เพื่อไปคำนวณเวลาปล่อยสินเชื่ออีกทางหนึ่ง” หลังจากเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2561 ขณะนี้มีเกษตรกรที่ดาวน์โหลดแอปรีคัลท์ไปใช้แล้วมากกว่า 40,000 ราย มีที่เป็น active users 30-40% และใช้งานเป็นประจำทุกวันประมาณ 20% โดยส่วนใหญ่เกษตรกรที่เข้ามาใช้บริการทุกวันนั้นจะใช้เพื่อดูว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาเพาะปลูกเก็บเกี่ยวพืชผลของพวกเขา รีคัลท์ยังร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการใช้ข้อมูลของเกษตรกรที่รวบรวมเพื่อวัดผลกระทบต่อสังคมของคนในชุมชนที่มีการทำเกษตรแบบแม่นยำว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่โดยรวม “สิ่งที่ผมประทับใจคือเกษตรกรไทยเป็นคนที่มีน้ำใจมาก ตอนที่ผมทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ใช้งาน เราลงพื้นที่ไปขอข้อมูลจากพวกพี่ ๆ เกษตรกร ให้เขาลองใช้แอปเราหน่อยว่าตรงไหนที่ติดขัดใช้งานยาก พอเราไปถึง เขาพาเราไปเลี้ยงข้าวที่บ้านเลย มี super users หลายคน ที่ใช้งานทุกวัน แล้วส่งรายงานกลับมาให้ว่าวันนี้ทำอะไร ลงปุ๋ย เก็บเกี่ยว แถมยังแนะนำเพื่อนให้มาใช้อีกหลายคน” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย ย้อนกลับไป หนุ่มอายุ 30 ที่จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์และบริหารจาก MIT ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานหลายปีกับ Accenture และ Cisco ในสหรัฐอเมริกา คนนี้ เติบโตในครอบครัวที่ทำอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี ทำให้ชีวิตวัยเด็กของเขามีโอกาสคลุกคลีอยู่กับสวนทุเรียนและสวนยางของที่บ้าน ได้เจอลูกหลานเกษตรกรเหมือนกัน แต่ต่างกันที่โอกาสที่ไม่เท่าเทียม อุกฤษบอกว่าเขาโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร จนไปเรียนต่อระดับปริญญาที่ต่างประเทศ ขณะที่ลูกเกษตรกรบางคนไม่มีโอกาสเรียนต่อเนื่องจากความยากจน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตอนเข้าเรียนปริญญาโทที่ MIT เขาเลือกทำแอปที่จะลดระดับความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการใช้นวัตกรรมมาช่วยให้เกษตรกรในต่างจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้น และหลุดพ้นจากความยากจนในที่สุด “จริง ๆ ที่อเมริกาผมทำงานสองอย่าง เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ และที่ปรึกษาธุรกิจ เลยเห็นทั้งฝั่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และฝั่งบริหารให้คำแนะนำธุรกิจ ได้เข้าใจทั้งสองอย่าง แต่สุดท้ายตัดสินใจลาออกมาทำเกี่ยวกับเกษตรกร ถ้าย้อนกลับไปได้ในวันนั้น ผมคิดว่าการได้ช่วยคนอื่น ได้ทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงสังคม เป็นเส้นทางที่ผมมีความสุข ถ้าย้อนกลับไปได้ก็เลือกแบบนี้ แต่อาจจะบอกกับตัวเองว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมันยากนะ ต้องทำใจไว้ล่วงหน้า” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย การที่รีคัลท์เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ชนะการประกวดจากหลายเวที ทั้งรางวัล Top Social Enterprise ในการแข่งขัน Chivas Venture Social Enterprise รางวัลชนะเลิศจาก Karandaaz Fintech Disrupt Challenge 2016 ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ และล่าสุดคือรางวัลชนะเลิศจาก Cisco Innovation Challenge 2019 ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งหมดเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า เส้นทางที่เขาเลือกนี้สามารถทำงานช่วยสังคมและมีรายได้ไปพร้อมกันได้จริง “ผมคิดว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมสามารถหารายได้ได้โดยไม่จำเป็นต้องกินแกลบ แต่อาจไม่จำเป็นต้องร่ำรวยเหมือนธุรกิจอื่น แค่มีรายได้ที่มากพอเลี้ยงตัวเราและครอบครัวได้ พร้อมกับมีความสุขในทุกวันที่ทำงานนี้” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่ม MIT ที่ทิ้งเงินเดือนหลายแสน เพื่อทำแอปช่วยเกษตรกรไทย อุกฤษตั้งเป้าให้รีคัลท์เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างสตาร์ทอัพ โดยมีแผนที่จะขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้ได้หนึ่งแสนรายภายในปีนี้ และเพิ่มเป็นหนึ่งล้านรายในปีถัดไป ถ้าเป็นไปได้อย่างที่ตั้งใจ รีคัลท์จะสามารถก้าวเป็นธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลกได้ นอกจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคมของกระดูกสันหลังของชาติ คือเกษตรกรไทยที่มีอยู่มากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลแล้วอย่างเท่าเทียมแล้ว ในอนาคตอุกฤษยังมองไกลไปถึง 3 เสาหลักในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน นั่นคือ ภาคการเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข “เราเชื่อว่าเราช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน และขับเคลื่อนประเทศไทยไปได้ด้วยเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ทั้งในเรื่องความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา และความยากจน ไม่จำเป็นต้องมาจากภาครัฐทั้งหมด แต่อาจมาจากภาคเอกชนคนธรรมดา ๆ ได้เหมือนกัน ซึ่งดีที่สุดคือทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกัน การทำธุรกิจเราไม่จำเป็นต้องมุ่งหวังกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เราช่วยให้สังคมดีขึ้นไปด้วยได้ เหมือนอย่างที่เขาว่า do well by doing good.”   ที่มา : http://www.ricult.com https://www.facebook.com/RicultThailand https://www.technologyreview.com https://techsauce.co https://www.facebook.com/thestandardth