สิ่งที่ทำให้ “บิล เกตส์” เป็นอภิมหาเศรษฐีใจบุญอันดับหนึ่งของโลก

สิ่งที่ทำให้ “บิล เกตส์” เป็นอภิมหาเศรษฐีใจบุญอันดับหนึ่งของโลก

อภิมหาเศรษฐีใจบุญอันดับหนึ่งของโลก

“บิล เกตส์” (Bill Gates) ติดอันดับอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนั้นเขายังเป็นอภิมหาเศรษฐีผู้ใจบุญที่บริจาคเงินมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน โดยเขาบริจาคเงินให้การกุศลไปแล้วมากกว่า 35,800 ล้านเหรียญ หรือ ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท !! คำถามคือ อะไรทำให้อภิมหาเศรษฐีคนนี้ แบ่งปันความมั่งคั่งของเขาให้กับเพื่อนมนุษย์โลกคนอื่นๆ? รายได้มหาศาลจากห่านทองคำที่ชื่อ ไมโครซอฟท์ และ บริจาคเพื่อลดหย่อนภาษี อาจเป็นคำตอบที่หลายคนคิดไว้ในใจ แต่จริงแล้วสิ่งที่ทำให้อภิมหาเศรษฐีวัย 63 คนนี้ บริจาคเงินกว่า 35% ของมูลค่าทรัพย์สินของเขาให้กับผู้อื่น มาจากประโยคสุดท้ายจากในจดหมายของแม่ของเกตส์ ที่กำลังเผชิญหน้ากับมะเร็งเขียนให้ “เมลินดา เกตส์” (Melinda Gates) ภรรยาของเขา หากย้อนไปจุดเริ่มต้นความมั่งคั่งของ บิล เกตส์ มาจากบริษัทเล็กๆ ที่เขาก่อตั้งกับ “พอล อัลเลน” (Paul Allen) ในปี 1975 ผ่านมา 43 ปี บริษัทชื่อเล็กจิ๋วนี้ เติบโตจนมีขนาดมหึมา มีมูลค่ามากกว่า 8 แสนล้านเหรียญ หรือราว 26 ล้านล้านบาท ทำให้เกตส์ที่ตอนนี้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.3% ใช้คำนำหน้าชื่อว่าอภิมหาเศรษฐีโลกได้อย่างไม่เคอะเขิน ชายที่สร้างตัวมาจากการเขียนโปรแกรมนี้มีทรัพย์สินรวมมากกว่า 96,000 ล้านเหรียญ เทียบเป็นเงินไทยประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท บริจาคเงินให้ผ่านทางมูลนิธิ บิล แอนด์ มาลินดา เกตส์ ที่เขาก่อตั้งร่วมกับภรรยา โดยมีเพื่อนอภิมหาเศรษฐีหลายคนลงขันบริจาคเงินผ่านทางมูลนิธินี้ รวมถึง "วอร์เรน บัฟเฟตต์" (Warren Buffett) เพื่อนต่างวัยของเกตส์ ที่ร่ำรวยจากการลงทุน ตลอด 18 ปีที่ก่อตั้ง มูลนิธิได้นี้บริจาคเงินไปแล้วมากกว่า 50,000 ล้านเหรียญ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท ให้กับ การบริการทางการเงินสำหรับคนจนที่ยังอัตคัดขัดสน การพัฒนาทางเกษตร และน้ำ ระบบสุขาภิบาล อนามัยทั่วโลก รวมไปถึงความพยายามในการทำให้โรคโปลิโอหายไปจากโลกใบนี้ เนื้อความในประโยคสุดท้ายของจดหมายที่แม่ของเขาอ่านให้ฟังในงานแต่งงานของเกตส์ กับ มาลินดา ในปี 1994 สรุปสั้นๆ ได้ว่า “คนที่ได้รับอะไรไปมาก ย่อมถูกคาดหวังว่าจะให้มากเช่นกัน” (From those to whom much is given, much is expected.) ซึ่ง บิล เกตส์ ได้พูดเรื่องนี้ครั้งหนึ่งในงานปาฐกถาพิเศษ ในปี 2007 เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มอบปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ ทางด้านนิติศาสตร์ หลังจากที่เขาเคยลาออกจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้กลางคันในปี 1975 บิล เกตส์ อาจมองว่าความมั่งคั่งไม่ต่างจากพลังพิเศษที่สไปเดอร์แมนได้รับ เลยรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาได้มา ด้วยการส่งต่อความสุขของเขาไปยังคนอื่นๆ นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะไม่ถ่ายเททรัพย์สมบัติมหาศาลไปยังลูกๆ ของเขา โดยกำหนดว่าจะให้เงินมรดกกับลูกทั้งสามคนของเขาคือ ฟีบี, เจนนิเฟอร์ และโรรี เกตส์ เพียงคนละ 10 ล้านเหรียญ หรือ 320 ล้านบาทเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกองสมบัติที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน แต่น่าแปลกว่ายิ่งใหญ่เหมือนว่าเขายิ่งได้รับการตอบแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับว่าบริจาคเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด หรือความสุขและรอยยิ้มที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ไม่นับรวมเพื่อนฝูงกัลยาณมิตรอภิมหาเศรษฐีผู้ใจบุญที่ยึดถือเข้าเป็นแบบอย่าง ด้วยการตั้ง The Giving Pledge เชิญชวนให้เหล่าอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกร่วมกันมอบทรัพย์สินครึ่งหนึ่งที่แต่ละคนมีอยู่ เพื่อบริจาคการกุศลไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีชีวิตอยู่ หรือหลังจากโลกนี้ไปก็ได้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากมหาเศรษฐีทั่วโลกเป็นอย่างดี ซึ่งเราอาจจะไม่อยู่ในทำเนียบอภิมหาเศรษฐีอันดับโลก หรือแม้แค่ติดอันดับหนึ่งใน 100 มหาเศรษฐีไทย แต่จะดีที่สุดหากทุกคนที่ได้อ่านเรื่องราวดีๆ ที่นำเสนออีกด้านของอภิมหาเศรษฐีโลกคนนี้ จะยึดถือเขาเป็นแบบอย่างในการทำความดีเท่าที่จะทำได้ แล้วส่งต่อเรื่องราวนี้ไปยังคนอื่นต่อไป “คนที่ได้รับอะไรไปมาก ย่อมถูกคาดหวังว่าจะให้มากเช่นกัน” ที่มา : สฤณี อาชวานันทกุล, วิชาสุดท้าย (ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน), 2551 https://www.forbes.com/profile/bill-gates/#4ddfb2ce689f https://en.wikipedia.org/wiki/Bill_Gates https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_philanthropists