29 ธ.ค. 2561 | 16:48 น.
“สักพักหนึ่งฉันก็ตัดสินใจว่าฉันไม่มีวันเอาชนะศึกที่มองคนแต่รูปลักษณ์ภายนอกได้แน่ๆ ฉันก็เลยโฟกัสไปที่มันสมองแทน ฉันโฟกัสไปที่การทำงานในแบบที่จะไม่มีใครทำได้ดีกว่า” ปี 2018 เป็นปีที่ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรใหญ่ระดับโลกถึงคราวหมดวาระหรือลาออก ซึ่ง อินดรา นูยี (Indra Nooyi) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PepsiCo (บริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก มีแบรนด์ดังอย่าง Pepsi) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมา 12 ปี ก็คือหนึ่งในผู้บริหารเหล่านั้น ยุคนี้เราอาจเห็นผู้หญิงนั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนถือว่าเป็นเรื่องยากมาก แต่นูยีสามารถทำได้ แถมยังเป็นผู้บริหารที่ PepsiCo ภาคภูมิใจจากผลงานการบริหารอันโดดเด่น เธอคือซีอีโอหญิงคนแรกขององค์กร และเป็นคนที่กำหนดกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้ PepsiCo ซึ่งในปี 2017 มีผลประกอบการที่ 6.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่นูยีขึ้นเป็นซีอีโอ ส่วนราคาหุ้นของ PepsiCo ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า สร้างความพอใจให้นักลงทุนกันแทบจะถ้วนหน้า นูยีเกิดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1955 ที่มัทราส (ปัจจุบันคือเจนไน) ในรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย จบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์จาก Madras Christian College แห่ง University of Madras ต่อด้วยใบประกาศนียบัตรจาก Indian Institute of Management Calcutta กระทั่งปี 1978 ตอนนูยีอายุ 23 ปี ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารที่ Yale School of Management ในสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับอินเดียและเข้าทำงานที่ Johnson & Johnson และยังผ่านการทำงานในองค์กรใหญ่อย่าง Boston Consulting Group (BCG), Motorola และ Asea Brown Boveri เธอเริ่มชีวิตการทำงานกับ PepsiCo ในปี 1994 จากนั้นปี 2001 ก็รับการแต่งตั้งให้ดูแลด้านการเงินในตำแหน่งซีเอฟโอ กระทั่งปี 2006 ก็ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นสู่ตำแหน่งเพรซิเดนท์และซีอีโอขององค์กร “การเป็นผู้นำ PepsiCo เป็นเกียรติในชีวิตของฉันอย่างแท้จริง...ฉันไม่เคยจินตนาการมาก่อนเลยว่าวันหนึ่งจะได้รับโอกาสให้มาเป็นผู้นำอค์กรแสนพิเศษแห่งนี้” นูยีบอก เอาชนะทุกสิ่งด้วย “มันสมอง” นูยีเคยกล่าวบนเวทีเสวนาแห่งหนึ่งว่า ย้อนไปช่วงต้นของชีวิตการทำงานในสหรัฐฯ เธอมีสูทแค่ 2 ตัวเท่านั้น เป็นสูทสีดำและสูทสีเบจที่เธอต้องสลับใส่ตลอดทั้งสัปดาห์ “สักพักหนึ่งฉันก็ตัดสินใจว่าฉันไม่มีวันเอาชนะศึกที่มองคนแต่รูปลักษณ์ภายนอกได้แน่ๆ ฉันก็เลยโฟกัสไปที่มันสมองแทน ฉันโฟกัสไปที่การทำงานในแบบที่จะไม่มีใครทำได้ดีกว่า” ผู้บริหารหญิงแกร่งเล่า กลยุทธ์นี้ได้ผล เพราะเพื่อนร่วมงานเริ่มมาขอคำแนะนำจากเธอ เมื่อพวกเขาต้องการให้งานสำเร็จ และเป็นงานที่ต้องสำเร็จอย่างดีด้วย “ฉันเริ่มพึ่งพามันสมองและการทำงานหนักของฉันมากขึ้นเรื่อยๆ...ถ้าจะคิดถึงฉัน คิดแค่เรื่องมันสมองของฉันก็พอแล้ว” ทักษะการบริหารจัดการและความชาญฉลาดของนูยี ช่วยให้ PepsiCo ผ่านช่วงเวลา “ท้าทาย” ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ท่ามกลางกระแสการกินดื่มเพื่อสุขภาพ PepsiCo ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน จำเป็นต้องปรับพอร์ตสินค้าเพื่อรองรับกระแสดังกล่าว ภายใต้การบริหารของนูยี PepsiCo แบ่งพอร์ตสินค้าหลักๆ เป็น “Fun for You” เน้นสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตสนุกสนาน (พูดให้เข้าใจง่ายตามประสาผู้บริโภคคือไม่ต้องสนแคลอรีให้มาก) มีสินค้าเช่นแบรนด์ Lay’s, Cheetos, Walkers. Mirinda, Pepsi “Better for You” เป็นสินค้าที่มีไขมันต่ำหรือแคลอรีต่ำ เช่น Lay’s Baked, Stacy’s, Pepsi Zero Sugar “Good for You” สินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือมีส่วนผสมของผัก ธัญพืช นมไขมันต่ำ ถั่ว เช่น Aquafina, Tropicana, Quaker, Sunbites การแบ่งพอร์ตแบบนี้ช่วยพลิกให้ PepsiCo ไปต่อได้สวยในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะสิ้นปี 2017 บริษัทระบุว่าสินค้าประเภทดังกล่าวมีบทบาท 50% ในบรรดาสินค้าที่มี เพิ่มจาก 38% จากเมื่อสิบปีก่อน ซึ่งช่วยหนุนให้รายได้รวมของ PepsiCo เพิ่มเป็น 6.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1% จากรายได้รวมในปี 2016 ถึงอย่างนั้น นูยีก็มีช่วงเวลาสะดุดขาตัวเองบ้าง เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เธอให้สัมภาษณ์ว่ากำลังมองหาความเป็นไปได้ในการผลิตมันฝรั่งแผ่น Doritos ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าภายใต้ PepsiCo ที่จะดึงดูดลูกค้ากลุ่มผู้หญิงมากขึ้น สิ่งที่นูยีพูดกลายเป็นการจุดกระแสความไม่พอใจจนเกิดแฮชแท็ก #LadyDoritos กระทั่งบริษัทต้องออกมาชี้แจงเพื่อความกระจ่างว่านี่ไม่ใช่การแบ่งแยกเพศของ Doritos แต่อย่างใด ราคาที่ต้องจ่าย นูยีเป็นคนจริงจังและทุ่มเททำงานหนัก จนลูกสาวของเธอที่ตอนนั้นอยู่ในวัย 4-5 ขวบ เขียนจดหมายถึงแม่ว่า “คุณแม่ขา พลีส พลีส พลีส พลีส พลีสสส กลับบ้านเถอะค่ะ หนูรักแม่นะคะ แต่หนูจะรักแม่มากกว่านี้ถ้าแม่กลับบ้าน” แม้จะผ่านไปหลายปี แต่นูยีก็ยังเก็บจดหมายนี้ไว้เพื่อเตือนใจว่าเธอต้องสูญเสียอะไรไปบ้างระหว่างการเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร บทบาทของนูยีในบ้านยังเคยสวนทางกับความสำเร็จของเธอในโลกการทำงาน เธอเคยถ่ายทอดเรื่องนี้ไว้ว่า หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นเพรซิเดนท์และซีอีโอของ PepsiCo นูยีตั้งใจจะบอกข่าวดีนี้กับแม่ในคืนเดียวกันนั้น แต่ยังไม่ทันพูดอะไร แม่ก็บอกนูยีว่านมหมดแล้ว ช่วยออกไปซื้อให้หน่อย นูยีต้องออกไปซื้อนมตอน 4 ทุ่ม ทั้งที่ขณะนั้นในบ้านก็มีสามีของเธอและแม่บ้านอยู่ด้วย นูยีกลับเข้าบ้านพร้อมนมด้วยอาการหัวเสีย แต่ก็ไม่ลืมจะบอกข่าวดีกับแม่ เมื่อแม่ของนูยีได้ยินก็บอกว่า นูยีไม่ใช่ผู้บริหารที่บ้าน “เมื่อลูกเข้ามาในบ้าน ลูกคือภรรยา ลูกคือแม่ ไม่มีใครทำหน้าที่เหล่านี้แทนลูกได้หรอก” แล้วบอกด้วยว่า “ทิ้งหัวโขนนี่ไว้ในโรงรถเถอะ” สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เพรสิเดนท์และซีอีโอหมาดๆ ของ PepsiCo (ในตอนนั้น) ตระหนักว่าทุกทางเลือกล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งนั้น และมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะ “มีทุกอย่าง” สิ่งนี้อาจอยู่ในใจของนูยีมาตลอด เพราะสาส์นที่เธอส่งถึงทุกคนก่อนอำลาตำแหน่งซีอีโอก็คือ... “ทำทุกวันให้เต็มที่ และหาพื้นที่สำหรับคนที่มีความหมายกับคุณมากที่สุด” ที่มา https://www.forbes.com/…/the-10-biggest-ceo-departures-of…/… https://www.forbes.com/…/indra-nooyi-stepping-down-as-pep…/… http://www.pepsico.com/Brands/BrandExplorer#good-for-you https://www.cnbc.com/…/indra-nooyi-shares-a-work-regret-on-…