24 ธ.ค. 2563 | 16:09 น.
“ผมอยากตายโดยคิดว่ามนุษยชาติมีอนาคตที่สดใส ถ้าเราแก้ปัญหาพลังงานยั่งยืนได้และพัฒนาไปเป็นสปีชีส์ที่กระจายเผ่าพันธุ์ในดวงดาวหลายดวงพร้อมอารยธรรมพึ่งพาตนเองบนดาวดวงอื่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายสุดขั้วและการกวาดล้างสติปัญญาของมนุษย์ได้เมื่อไร ผมว่ามันคงจะดีมากเลย”
โลกนี้มีนักธุรกิจมากมายที่ประสบความสำเร็จ แต่จะมีกี่คนที่ประกาศกร้าวว่าจะสร้างอาณานิคมดาวอังคาร และชวนให้คนโดยสารผ่านจรวดของเขา คำพูดที่เหลือเชื่อในข้างต้นมาจากชายที่ชื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่แม้ความคิดเหล่านี้จะดูทะเยอทะยานราวกับหลุดออกมาจากนิยายไซไฟฉบับยูโทเปีย แต่ความมีชื่อเสียงของเขาซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของบริษัท SpaceX, Tesla Motors, SolarCity และอดีตเจ้าพ่อ PayPal เลยทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า การเดิมพันของเขาในเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากเช่นนี้มีแง่มุมที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคต อะไรที่ทำให้เขากล้าประกาศเช่นนั้น และที่มาของความบ้าระห่ำกับความฝันเช่นนี้มาจากไหน? เหตุผลต่าง ๆ ปรากฎในหนังสือ “อีลอน มัสก์” (ชื่ออังกฤษ: Elon Musk: Tesla, SpaceX, and the Quest for a Fantastic Future) หนังสือชีวประวัติ ของอีลอน มัสก์ที่เขียนโดยแอชลีย์ แวนช์ นักข่าวฝีมือดีจาก Bloomberg ที่ตามตื๊อมัสก์ จนได้สัมภาษณ์เขาและผู้คนมากมาย ทั้งภรรยาเก่า วิศวกร เพื่อนสนิท หรือน้องชายของมัสก์ เปิดให้เราได้เข้าไปสำรวจดินแดนความคิดและวงโคจรชีวิตของมัสก์อย่างแท้จริง
“คุณว่าผมบ้าหรือเปล่า”
ประโยคเปิดอีลอนถามนักเขียนในบทสนทนาระหว่างมื้ออาหารครั้งแรก นำไปสู่เรื่องราวชีวิตเขาในหน้าถัด ๆ ไปของหนังสือเล่มนี้ อีลอน มัสก์ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด เขาเกิดที่แอฟริกาใต้ในปี 1971 ในวัยเด็ก พ่อแม่หย่าร้างกัน และเขาโดนเพื่อนในโรงเรียนทำร้ายถึงขั้นผลักลงจากบันไดและจับศีรษะโขกพื้น จนต้องทำศัลยกรรมจมูก แต่แม้จะมีความทรงจำที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่เขาก็ฉายแววความเก่งกาจมาตั้งแต่ตอนนั้น มัสก์ออกสื่อครั้งแรกปี 1984 ในวัย 12 ปีบนหน้านิตยสาร PC and Office Technology ด้วยผลงานวิดีโอเกมอวกาศชื่อ บลาสตาร์ ซึ่งเขาออกแบบด้วยคำสั่ง 167 บรรทัด จนได้เงิน 500 เหรียญฯ มาครอง
“ผมคงอ่านการ์ตูนมากไปตอนเด็ก ๆ ในการ์ตูนดูเหมือนพวกเขาพยายามปกป้องโลกอยู่เสมอ ดูเหมือนใคร ๆ ก็ควรจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เพราะการทำตรงกันข้ามมันไม่มีเหตุผล”
เขาพกความเชื่อและความต้องการเรียนรู้อย่างแรงกล้า โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และฟิสิกส์ เดินทางไปแคนาดา เริ่มต้นทำงานจิปาถะตั้งแต่ดูแลแปลงผักในฟาร์มของญาติ ไปจนถึงงานทำความสะอาดหม้อน้ำของโรงเลื่อยไม้ที่เสี่ยงตายด้วยความร้อนหากอยู่ในอุโมงค์เกิน 30 นาที แลกกับค่าจ้าง 18 เหรียญฯ ต่อชั่วโมง และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยควีนส์เป็นเวลา 2 ปีก่อนจะย้ายไปรับทุนที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และจบด้วยปริญญา 2 ใบจากสาขาเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดระหว่างการเรียนของมัสก์คือ ความสามารถในการรวมข้อมูลฟิสิกส์ยาก ๆ ให้กลมกลืนกับแผนธุรกิจมัสก์มองว่าอินเทอร์เน็ต พลังงานที่ไม่มีวันหมด และอวกาศเป็น 3 สิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต ความคิดนี้ทำให้ในปี 1995 เขาเริ่มปั้นบริษัทสตาร์ทอัพแห่งแรกที่เกี่ยวข้องกับบริการอินเทอร์เน็ตในชื่อ Zip2 ในยุคที่ซิลิคอนแวลลีย์เริ่มแน่นิ่งกับสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และขายให้คอมแพค (Compaq: บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์แบบ PC) ในปี 1999 ด้วยราคา 307 ล้านเหรียญ (มัสก์ได้ 22 ล้านเหรียญจากดีลนี้) เงินก้อนดังกล่าวที่ได้มา เขาเอามาทุ่มให้กับธุรกิจตัวใหม่กับการสร้างระบบธนาคารออนไลน์ที่เรารู้จักกันในชื่อ PayPal และขายให้ eBay ไปในปี 2002 แม้ภายหลังคณะกรรมการบริษัท PayPal หักหลังเขาด้วยการยึดตำแหน่งซีอีโอ เพราะมองว่าขาดความสามารถในการบริหาร แต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามัสก์ไม่เก่ง เพราะเขามองขาดถึงเทคโนโลยีด้วยการสร้างธนาคารอินเทอร์เน็ตในยุคที่คนเพิ่งคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บ Amazon และ eBay ต่อมา SpaceX ก็ถือกำเนิดขึ้นในเดือน มิ.ย. ปี 2002 เมื่อมัสก์เดินทางมาลอสแองเจลิส ทำตามความฝันวัยเด็กเรื่องอวกาศ โดยเริ่มจากการเข้าเว็บไซต์ของนาซา หวังว่าจะพบแผนการสำรวจดาวอังคารโดยละเอียด แต่กลับไม่พบอะไรเลย เขาเริ่มวิเคราะห์ปัญหาในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของสหรัฐฯ ว่าต้นทุนสูงเกินจริงเพราะพึ่งพิงต่างชาติอย่างรัสเซีย ทั้งที่การสร้างจรวดเองถูกกว่า เขาเดินหน้าใช้เวลากว่า 6 ปีปั้นทีมวิศวกรขึ้นมา และปล่อยจรวดโมเดลแรกอย่าง Falcon1 สู่วงโคจรในวันที่ 28 กันยายน 2008 แน่นอนว่าการปล่อยจรวดครั้งแรกของบริษัทเอกชนด้วยต้นทุนสุดถูก โดยไร้การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ที่น่าตะลึง แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเส้นทางก่อนจะปล่อยจรวดที่นำโดยมัสก์ ในฐานะซีอีโอเต็มตัว กับวิธีการบริหารฉบับของเขา ปีเตอร์ ธีล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal เคยกล่าวว่า สิ่งที่เขาประทับใจในตัวมัสก์มากที่สุดคือ ความสามารถในการหาคนฉลาด ทะเยอทะยานและดึงพวกเขามาไว้ในบริษัท มัสก์มักจะสัมภาษณ์งานพนักงานทุกคนเองใน SpaceX โดยเฉพาะ 1,000 คนแรก รวมถึงคนทำความสะอาดและช่างเครื่อง การสร้างหลายบริษัทไม่ได้แปลว่าเขาทำงานจับฉ่ายหรือไม่เชี่ยวชาญจริง เพราะอีลอนมักจะเติมเชื้อเพลิงความรู้ให้ตัวเองด้วยการเรียนรู้จากพนักงานของเขา ตอนแรกเริ่มที่ SpaceX มัสก์พยายามหาองค์ความรู้เกี่ยวกับจรวดผ่านตำราทั่วไป แต่เมื่อเขาตระหนักขึ้นว่าสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ของคนฉลาด ๆ ที่ SpaceX จ้างมาได้ จึงไม่แปลกที่เขามักจะไปดักเจอวิศวกรสักคนที่โรงงาน ซักไซ้เกี่ยวกับชนิดวาล์วหรือวัสดุเฉพาะ ซึมซับข้อมูลมหาศาลด้วยสมองที่มีความทรงจำแบบภาพถ่าย จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและอวกาศระดับที่ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีน้อยคนจะแตะถึง เควิน โบรแกน วิศวกรยุคแรกของ SpaceX เล่าว่า “ทีแรกผมนึกว่าเขาท้าทายผมเพื่อดูว่าผมรู้เรื่องงานของตัวเองดีรึเปล่า จากนั้นผมก็ตระหนักว่าเขากำลังพยายามเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยู่ต่างหาก เขาจะถามคุณจนเขาได้เรียนรู้จากสิ่งที่คุณรู้ 90 เปอร์เซ็นต์" แต่เมื่อมีชื่อเสียงก็ต้องมีชื่อเสียง เพราะมัสก์ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายในการรีดเค้นศักยภาพพนักงานแทบทุกหยาดหยด เขามักจะประกาศกับสื่อว่าจะทำผลิตภัณฑ์ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาและปล่อยจรวดล่วงหน้าด้วยกำหนดการที่แทบเป็นไปไม่ได้ ก่อนจะกำหนดเวลาที่เขี้ยวที่สุดกับพนักงานโดยอนุมานว่าทุกอย่างจะราบรื่นและพนักงานจะทำงานหนักขึ้นไปอีก วิธีการที่เหล่าพนักงานทั้ง Tesla และ SpaceX ทำในการเอาตัวรอดคือ สร้างกำหนดการปลอมรายวันหรือรายชั่วโมงรายงานให้มัสก์พอใจ เป็นเป้าหมายภายในที่หากไม่สำเร็จก็เป็นธรรมดา แต่ปัญหาคือ มัสก์มักจะยกกำหนดการนั้นไปคุยกับลูกค้าเสมอ
“ผมไม่เคยเจตนาตั้งเป้าที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เห็นได้ชัดว่าผมมักจะมองโลกในแง่ดีเรื่องกรอบเวลา ผมพยายามปรับใหม่ให้มองความเป็นจริงมากขึ้นหน่อย”
โบรแกนเสริมอีกว่า วิธีการของมัสก์ไม่ใช่การกำหนดเส้นตายให้วิศวกรโดยตรง แต่เขาจะถามพนักงานว่า ‘ผมต้องการให้เรื่องเป็นไปไม่ได้นี้เสร็จวันศุกร์บ่าย 2 โมง คุณทำได้ไหม’ และเมื่อคนตอบว่าทำได้ ก็แปลว่าพวกเขาสมัครใจทำงานหนักด้วยตัวเองไปเสียแล้ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นเคล็ดลับในการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง เกิดเป็นเทคโนโลยีจรวดที่ถูกที่สุดก็เป็นได้ นอกจากนี้ มัสก์ยังมีนิสัยชอบส่งอีเมลถึงทั้งบริษัทเพื่อประกาศบังคับใช้นโยบายใหม่ โดยครั้งหนึ่งเคยมีอีเมลในปี 2010 ว่าด้วยหัวข้อ ‘ตัวย่อห่วยแตกชะมัดยาด’ (Acronym Seriously Suck) ที่ระบุอย่างจริงจังว่า ตัวย่อที่คิดขึ้นเองใน SpaceX มีมากเกินไปและเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ปัญหานี้ต้องหยุดด้วยการให้มัสก์อนุมัติตัวย่อทั้งหมดผ่านเขาจนพนักงานเรียกนโยบายนี้ภายหลัง ว่า ‘ASS Rule’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความบ้ารายละเอียด ที่มีที่มาจากความต้องการให้สิ่งต่าง ๆ และการสื่อสารมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สไตล์การบริหารของมัสก์สร้างผลงานมากมายให้คนได้เห็นกับตา ทว่าชีวิตของเขาก็ไม่ได้พุ่งขึ้นไปข้างหน้าแบบจรวดเสมอ ปี 2008 เป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับเขา ด้วยการหย่าร้างกับภรรยาคนแรกที่เป็นนักเขียน ซึ่งนำเรื่องส่วนตัวของเขามาประจานลงบล็อกต่อหน้าสื่อ และเทสลาที่เกือบล้มละลายเพราะโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกอย่าง โรดสเตอร์ ที่ถูกพัฒนามาต้องเริ่มใหม่อีกครั้งด้วยปัญหาคำสั่งการผลิตจำนวนมากที่โรงงานทำไม่ได้ ทำให้ส่งรถให้กับผู้จองล่าช้าจนโดนกระแสลบโจมตี มากไปกว่านั้น การปล่อยจรวด Falcon1 สำเร็จครั้งแรกเพิ่มภาระให้กับ SpaceX ในการหนุนโครงการ Falcon9 และดรากอนแคปซูลเพื่อส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทุนกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ขุมนรกทางการเงินในตอนนั้นทำให้มัสก์แทบไม่มีเงินจ่ายพนักงานเลยด้วยซ้ำ และทางออกเพื่อรักษาเทสลาไว้ คือการใช้ทรัพย์สินของตัวเองไปทั้งหมดจนสติแทบพัง
"คุณเจอข้อสงสัยมากมายว่าชีวิตคุณไม่เวิร์ค รถคุณไม่เวิร์ค คุณผ่านการหย่าร้างและอะไรทั้งหลายนั่น ผมรู้สึกแย่โคตร ๆ ผมไม่คิดว่าเราจะผ่านมันไปได้ ผมคิดว่าอะไร ๆ แม่งคงถูกกำหนดให้พินาศ ผมเหมือนถูกฟาดด้วยด้ามปืน"
โชคดีที่ต่อมาไม่นาน SpaceX ได้รับการหนุนจากนาซาให้เป็นผู้ส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศ 12 เที่ยวบิน รับเงินค่าจ้าง 1,600 ล้านเหรียญ ต่อชีวิตให้ธุรกิจในมือทั้ง 2 ของเขาก่อนจะสิ้นลม ความมุ่งมั่นทำงานท่ามกลางวิกฤตทำให้เขาแตกต่างจากผู้บริหารคนอื่นและเมื่อเวลาเดินทางมาถึงปี 2012 มัสก์ก็พิสูจน์ให้โลกภายนอกซิลิคอนแวลลีย์เห็นว่า เขาประสบความสำเร็จจริง ๆ ไม่ใช่แค่การคุยโตในสัญญาเรื่องผลิตภัณฑ์อีกต่อไป เมื่อ SpaceX เป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกที่สามารถส่งสัมภาระไปยัง ISS(สถานีอวกาศนานาชาติ) และได้แคปซูลกลับคืนมายังโลกได้ รวมถึงการส่งมอบรถเทสลาโมเดลเอสสู่สายตาผู้คน
"ผมอาจมองโลกในแง่ดีเกินไปเรื่องเวลาที่ใช้ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ผมไม่ได้สัญญาเกินจริงเลยให้เรื่องผลลัพธ์ ผมทำทุกอย่างที่ผมบอกว่าจะทำ"
โลกได้เห็นแล้วว่าความสามารถของมัสก์คือของจริง ทั้งในหมวกนักฟิสิกส์ นักนวัตกร ซีอีโอผู้นำองค์กร และผู้เปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีจากผลงานในวันเริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ กับทั้ง Hyperloop, Neuralink, SolarCity และการลงทุนอีกมากมายที่มัสก์สนับสนุน แม้อนาคตที่มาถึงจะไม่แน่นอนและเสี่ยงมหาศาลสิ้นดีหากเทสลาต้องเรียกรถคืนหรือ SpaceX ทำจรวดที่ขนส่งมนุษย์ระเบิดสักลำ หากแต่เป้าหมายหลักที่เขามีไม่เปลี่ยนตั้งแต่วันแรกจากวัยเด็ก จนถึงวันนี้ในวัย 49 ปีคือการสร้างอาณานิคมบนดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมาคำถามเดิมว่า “คุณคิดว่าผมบ้าหรือเปล่า” แม้จะไม่มีคำตอบชัดเจน แต่เราก็เชื่อว่าความบ้าที่กล้าเสี่ยงมหาศาลและความทะเยอทะยานอย่างไร้ขีดจำกัดของอีลอน มัสก์ ผู้มีเชื้อไฟมหาศาลที่ไม่มีวันมอด จะช่วยส่งต่อเชื้อไฟผลักดันผู้คนอีกมากมายให้ไปสู่เป้าหมายอย่างแน่นอน ที่มา: หนังสือ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk: Tesla, SpaceX, and the Quest for a Fantastic Future) เขียนโดย แอชลีย์แวนซ์, สำนักพิมพ์: Short Cut เรื่อง: สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์