‘Toshiba’ เริ่มจากนักประดิษฐ์บุกเบิกเครื่องใช้ไฟฟ้ารายแรก ๆ ในญี่ปุ่น สู่วันที่ขายกิจการ

‘Toshiba’ เริ่มจากนักประดิษฐ์บุกเบิกเครื่องใช้ไฟฟ้ารายแรก ๆ ในญี่ปุ่น สู่วันที่ขายกิจการ

เส้นทางเริ่มต้นของ Toshiba ของสองนักประดิษฐ์ที่เคยสร้างผลงานมากมายให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งโทรเลขเครื่องแรก, หลอดไฟแบบโค้งหลอดแรก ฯลฯ สู่วันที่เผชิญหายนะทางการเงิน จนตัดสินใจขายกิจการล่าสุดในกับกลุ่ม Japan Industrial Partners (JIP) ในญี่ปุ่น

  • กว่า 84 ปีก่อนมาเป็น Toshiba สองนักประดิษฐ์สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่ทันสมัยขึ้นมา
  • Toshiba ชื่อนี้ถูกเรียกทางการในปี 1978 เครื่องใช้ไฟฟ้ามาในยุคที่สองผู้ร่วมก่อตั้งประดิษฐ์สิ่งมหัศจรรย์ให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น

 

“โตชิบา...นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต”

สโลแกนที่คนไทยส่วนใหญ่ยังจำได้และค่อนข้างติดหูจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Toshiba ได้ประกาศขายกิจการให้กับกลุ่ม Japan Industrial Partners (JIP) รายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นแล้วก็ตาม แต่ความยิ่งใหญ่ตั้งแต่รุ่นผู้ก่อตั้งนับว่าเป็นการบุกเบิกที่วงการอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นให้การยอมรับ และยกย่องให้เป็น ‘นักประดิษฐ์’ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมาสู่ญี่ปุ่นได้ในยุคนั้น

 

Toshiba รวมนักประดิษฐ์

สำหรับ Toshiba ถือว่าเป็นแบรนด์เก่าแก่แบรนด์หนึ่งของญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือ จุดเริ่มต้นของ Toshiba คล้าย ๆ เป็นการรวมตัวของนักประดิษฐ์ในแต่ละด้านเลย ซึ่งในปี 1939 ถือว่าเป็นการควบรวม 2 บริษัทระหว่าง Shibaura Engineering Works และ Tokyo Electric Company โดยชื่อดั้งเดิมที่ก่อตั้งก็คือ ‘Tokyo Shibaura Denki (Tokyo Shibaura Electric Co., Ltd.) ซึ่งมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Toshiba’ อย่างเป็นทางการในปี 1978 (หลายคนจึงคิดว่า Toshiba ก่อตั้งในปี 1978)

ที่บอกว่า Toshiba เหมือนเป็นที่ที่รวมตัวของนักประดิษฐ์เพราะว่า ผู้ก่อตั้งของทั้งสองบริษัทถือว่ามีผลงานโดดเด่นมาก่อนที่จะมาควบรวมกิจการกันเมื่อ 84 ปีก่อน

อย่างเมื่อปี 1873 ที่กระทรวงวิศวกรรมซึ่งตอนนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อส่งเสริมความทันสมัยของญี่ปุ่นได้มอบหมายให้ ‘ฮิซาชิเงะ ทานากะ’ (Hisashige Tanaka) พัฒนา ‘อุปกรณ์โทรเลข’ เพราะมองว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีการสื่อสารทางไกล โดยเฉพาะเพื่อการค้ากับประเทศอื่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเติบโตและทันสมัย

โดย ฮิซาชิเงะ ทานากะ ได้สร้างโรงงานในโตเกียว 2 ปีหลังจากนั้น เพื่อรองรับคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนั้นเขารู้จักในนามว่า ‘Tanaka Seizo-sho’ (ก็มาจากชื่อโรงงานของเขา Tanaka Engineering Works) นั่นเอง

ย้อนไปเมื่อในอดีต ฮิซาชิเงะ ทานากะ เป็นเด็กที่สนใจการประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก ซึ่งเมื่อเขาอายุได้ 21 ปีก็ได้แสดงในเทศกาลศาลเจ้าท้องถิ่นโดยการนำ ‘ตุ๊กตาเครื่องจักร’ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองไปโชว์ในงาน กระแสตอบรับค่อนข้างดี คนบางกลุ่มเรียกเขาว่า ‘นักเวทมนต์ทางเทคนิค’ เพราะตอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสิ่งประดิษฐ์ในยุคนั้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จัก ฮิซาชิเงะ ทานากะ อย่างแพร่หลายก็คือ เขาได้สร้างนาฬิกาสไตล์ญี่ปุนดั้งเดิมที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยชื่อว่า Man-nen Jimeisho ถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ฉลาดและมีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น

จะพูดว่า ฮิซาชิเงะ ทานากะ มีส่วนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่ผิด เพราะเขามีส่วนมาช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งโทรเลขก็เป็นหนึ่งในนั้นเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยที่สุดของญี่ปุ่นในยุคนั้น

ขณะเดียวกัน ในปี 1878 ‘อิชิสึเกะ ฟูจิโอกะ’ (Ichisuke Fujioka) ก็ได้พัฒนา ‘โคมไฟโค้งตัวแรกของญี่ปุ่น’ ตอนที่เขากำลังศึกษาอยู่ที่ Imperial College of Engineering ซึ่งปัจจุบันก็คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นยังต้องนำเข้าหลอดไฟจากต่างประเทศทั้งหมด

เป็นเหตุผลว่าทำไม ชิสึเกะ ฟูจิโอกะ ตัดสินใจก่อตั้ง Hakunetsu-sha Co., Ltd. ในปี 1890 เพื่อผลิตหลอดไฟในญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นสามารถผลิตหลอดไฟได้เอง โดยเป็นไฟหลอดไส้หลอดแรกในญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้ฉายาเรียกว่า ‘ทอมัส เอดิสัน’ (Thomas Edison) แห่งญี่ปุ่น

ผู้ก่อตั้งทั้งสองบริษัทถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ซึ่งก่อนที่จะควบรวมกิจการก็มีอีกหลาย ๆ สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นในยุคที่ญี่ปุ่นยังไม่มีใครสร้าง หรือมีน้อยมาก ๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า, กังหันน้ำ, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุ เป็นต้น

จนในปี 1921 ชิสึเกะ ฟูจิโอกะ ได้คิดค้นหลอดไฟแบบขดลวดคู่ จนทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยหลอดไฟของญี่ปุ่นเท่าที่เคยมีมา

 

สิ่งประดิษฐ์สู่เครื่องใช้ไฟฟ้า

ในเมื่อ 2 นักประดิษฐ์รวมตัวกันเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นชื่อว่า Toshiba ในปี 1978 สิ่งแรก ๆ ที่พวกเขาทั้งสองช่วยกันคิดค้นก็คือ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ เริ่มตั้งแต่ โทรทัศน์, วิทยุ, ตู้เย็น ฯลฯ

ซึ่งในตอนนั้นในตลาดญี่ปุ่นเริ่มมีแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่เข้ามารุกตลาดบ้างแล้ว อย่างเช่น Sony, Sharp, Sanyo และ Panasonic หลังจากนั้น Toshiba เริ่มพัฒนาคอมพิวเตอร์แบบ laptop ซึ่งก็คือ ‘Toshiba T1100’ ในปี 1985 โดยนับเป็นเครื่องแรกของโลกที่ขายใน mass market ก็คือตลาดที่เน้นการขายเชิงปริมาณมากกว่า

ความยิ่งใหญ่ของ Toshiba เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่สถานการณ์การเงินเริ่มสะดุด พูดง่าย ๆ คือ ตั้งแต่ที่เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Westinghouse Electric บริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกันในปี 2006 อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นในปี 2011 ได้สร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นการเงินของ Toshiba โดยเฉพาะกระแสเงินสดเริ่มขาดสภาพคล่องมากขึ้น

ซึ่งตลอดเวลาที่ Westinghouse Electric ขาดทุน Toshiba ก็พยายามชุบชีวิตมาโดยตลอด ซึ่งมีกระแสว่า Toshiba ใช้เงินเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทมากทีเดียว จนทำให้ในปี 2015 มีข่าวหลุดเกี่ยวกับการตกแต่งบัญชีและสร้างตัวเลขกำไรเกินจริง ซึ่งภาพลักษณ์ของ Toshiba นับจากนั้นเรียกว่าเริ่มมีปัญหา CEO และบอร์ดบริหารหลายคนลาออกเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ แต่ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ในปี 2017 Westinghouse Electric ได้ยื่นล้มละลายเพราะขาดทุนอย่างหนักเหตุเกิดจากความนิยมในพลังงานนิวเคลียร์เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน คู่แข่งใสตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Toshiba ค่อนข้างแข็งสร้างความได้เปรียบให้กับแบรนด์ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ Toshiba ครองส่วนแบ่งตลาดน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งตลาดญี่ปุ่นและต่างประเทศ

ซึ่งด้ายเส้นสุดท้ายของ Toshiba ก็คือการประกาศขายกิจการให้กับกลุ่ม Japan Industrial Partners (JIP) หลังจากที่มีหลายบริษัทพยายามเข้าซื้อกิจการมาแล้วตลอด 2 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งในภาพรวมของการปิดดีลครั้งนี้มีคาดการณ์ว่า JIP จะเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรและทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นดีขึ้น

ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์ Toshiba คาดว่าจะยังอยู่ต่อไปในตลาดซึ่งหลีงดีลนี้ก็น่าจะเห็นอะไรใหม่ ๆ จากแบรนด์นี้มากขึ้น ความเป็นมาของแบรนด์ ความพยายามที่จะผ่านอุปสรรค และเส้นทางธุรกิจด้านอื่น ๆ ของ Toshiba ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะการเดินเกมธุรกิจบางทีก็ต้องดูจังหวะและการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว ซึ่งบางทีก็อาจจะพลาดเป็นบทเรียนให้เราอย่างที่ Toshiba ประสบก็ได้

 

อ้างอิง:

Global toshiba

Britannica

Toshiba

Jsme

BBC Thai