30 ส.ค. 2565 | 16:19 น.
น้ำหวานเฮลซ์บลูบอย คือสินค้าที่เป็น ‘พระเอก’ ของบริษัท เฮลซ์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยเกี่ยวกับผลประกอบการของน้ำหวานยี่ห้อนี้ที่มีกำไรเฉลี่ยระดับ 1,000 ล้านบาททุกปี (ตั้งแต่ปี 2562 - 2564)
นอกจากการตลาดของเฮลซ์บลูบอยจะแข็งแรงแล้ว คุณภาพยังทำให้ขึ้นเป็นแบรนด์ในใจลูกค้า (Top of Mind Brand) ตลอดที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องราวของแบรนด์เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร กว่าที่จะเป็นเฮลซ์บลูบอยอย่างทุกวันนี้
เริ่มจากร้านโชห่วย4พี่น้องชาวจีนอพยพ
หลาย ๆ แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย บางคนก็มีพื้นเพเดิมจากการ ‘อพยพ’ ซึ่ง 4 พี่น้องตระกูล ‘พัฒนะเอนก’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เฮลซ์บลูบอยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กัน
ซึ่งทุกวันนี้ก็แทบไม่มีใครรู้ชื่อจริงของพี่น้องทั้ง 4 คนเลย หนำซ้ำยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของผู้ก่อตั้งจริง ๆ อีกด้วย (เท่าที่หาข้อมูล)
รู้เพียงว่า 4 พี่น้องตระกูลพัฒนะเอนกเป็นชาวจีนอพยพที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย และเริ่มต้นทำธุรกิจแรกก็คือ ร้านโชห่วย จากนั้นพวกเขามองเห็นโอกาสว่าในไทยยังขาดพวกสินค้าประเภทน้ำหวาน (จะมีก็แค่น้ำอัดลมในยุคนั้น)
จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้ง 4 พี่น้องลองศึกษาและทดลองทำน้ำหวานแบบเข้มข้นขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสูตรเฉพาะของที่บ้าน พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ‘เฮลซ์บลูบอย’
ซึ่งจุดเริ่มต้นของน้ำหวานนี้เกิดขึ้นในปี 2502 (แต่จดทะเบียนเป็นบริษัท เฮลซ์ เทรดดิ้ง ในปี 2521 ซึ่งตอนนั้นเริ่มขายเฮลซ์บลูบอยและน้ำตาลก้อนที่ใช้กับกาแฟ) และในปี 2558 เฮลซ์บลูบอยเริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก และขยายไปที่ยุโรป, อาเซียน, จีน
ที่มาของโลโก้เด็กผู้ชายใส่เอี๊ยม
แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่มีการสรุปว่าที่มาของโลโก้แบรนด์เฮลซ์บลูบอยมาจากไหน แต่ก็มีความคิดเห็นจากหลาย ๆ คนที่ระบุว่า “จริง ๆ แล้วชื่อแบรนด์คือ เฮลซ์ (Hale’s) ส่วน Blue Boy หมายถึง ‘Blue Collar Boy’ ที่แปลว่า เด็กผู้ชายชนชั้นแรงงาน” ซึ่งก็มีส่วนหลายอย่างตั้งแต่ชุด หมวก ฯลฯ
ขณะที่ข้อมูลจากที่อื่นบอกว่า ที่โลโก้เป็นชุดเอี๊ยมเหมือนคนงานก็เพราะว่า ‘กลุ่มเป้าหมาย’ แรกของเฮลซ์บลูบอยคือกลุ่มคนใช้แรงงาน เพราะขายในราคาไม่แพง ที่สำคัญดื่มแล้วช่วยดับกระหายได้ในวันที่อากาศร้อน ๆ
องค์กรอนุรักษนิยมชอบเติบโตแบบเงียบๆ
ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 2 ที่ดูแลธุรกิจเฮลซ์เทรดดิ้งก็คือ ‘ประยุทธ พัฒนะเอนก’ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายต่างประเทศ เคยเปิดเผยกับสื่อกรุงเทพธุรกิจโดยยอมรับตรง ๆ ว่า “องค์กรเราเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม
“เราเลือกที่จะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา ไม่ต้องการกู้หนี้ยืมสินมาสร้างการเติบโต” นอกจากนี้ ประยุทธยังพูดถึงทิศทางของเฮลซ์บลูบอยด้วยว่า “ไม่มีแพลนจะแตกไลน์ไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด และยังไม่คิดเข้าตลาดหลักทรัพย์”
ทั้งนี้ ประยุทธได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เราไม่ได้ต้องการที่จะโตมากมาย เป็นสไตล์คนจีน ที่โตแบบ step by step ไม่ใช่แบบ MBA เมืองนอก ดูอย่างวิกฤตเศรษฐกิจคุณจะเห็นหลาย ๆ บริษัทที่เขาต้องการโตเร็ว ๆ แล้วไปกู้หนี้ยืมสินมา แต่พอเจอวิกฤตก็ล้มละลายเจ๊งไปเยอะมาก ซึ่งเราไม่ต้องการเป็นแบบนั้น”
สำหรับเฮลซ์บลูบอย แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่สปอตไลต์จับตัวได้ยาก (เพราะไม่ค่อยออกสื่อหรือให้สัมภาษณ์) แต่เส้นทางการเติบโตของธุรกิจยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ทั้งยังเติบโตดีมากขึ้นด้วย ซึ่งหลายคนยกให้เฮลซ์บลูบอยเป็นธุรกิจที่มีความแน่วแน่ในสิ่งที่ตัวเองถนัด และเลือกที่จะทำมันให้ดีมากกว่าขยายไลน์ธุรกิจไปเรื่อย ๆ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าโมเดลแบบนี้ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ภาพ: halesblueboy
อ้างอิง:
http://www.halesblueboy.co.th/th/about-us/
https://www.longtunman.com/39240
https://www.bangkokbiznews.com/business/726780