22 ต.ค. 2565 | 21:26 น.
ชาวเน็ตคนจีนบางคนตั้งคำถามว่าเครื่องดื่มประเภทนี้ ซึ่งก็คือ ‘หวังเหล่าจี๋’ ชาสมุนไพรหรือน้ำจับเลี้ยงถือว่าเป็นเครื่องดื่มชาตินิยมจีนได้หรือไม่ เพราะว่า ณ ปัจจุบันเป็นเครื่องดื่มไม่กี่ประเภทที่เข้าถึงทุกวัย แม้แต่กลุ่มคนจีน gen Z อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่าน้ำอัดลมอย่างโค้ก ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก
สืบทอดวัฒนธรรมการชงชา
บริษัทหวังเหล่าจี๋ ก่อตั้งโดย หวาง เจ๋อปัง ในมณฑลกวางตุ้ง เปิดตัวมานานกว่า 194 ปี (ในปี 1828) ขณะที่คนจีนบางคนจะเรียกเครื่องดื่มนี้ว่า Wong Lo Kat ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคของราชวงศ์ชิง
หวาง เจ๋อปัง เป็นแพทย์สมุนไพร ซึ่งตระกูลหวางถือว่าเป็นผู้คิดค้นการชงชาสมุนไพรที่มีชื่อเสียงในจีนตอนใต้ในสมัยนั้น ซึ่ง หวาง เจ๋อปัง ได้สืบทอดวัฒนธรรมการชงชาสมุนไพรจากรุ่นสู่รุ่น เขามีความตั้งใจว่าการดื่มชาสมุนไพรสามารถส่งต่อให้กับคนจีนคนอื่น ๆ ได้ เพื่อสร้างสุขภาพดีไปด้วยกัน
ในปี 1949 ยุคที่รัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงธุรกิจของบริษัทเอกชน และมีการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ทายาทของ หวาง เจ๋อปัง ย้ายไปเปิดกิจการในฮ่องกงหลังจากนั้น ขณะที่ทรัพย์สินของตระกูลหวางในจีนแผ่นดินใหญ่ตกทอดไปยังบริษัทย่อยที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด
ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีดราม่าแย่งชิงสูตรการชงชาชนิดนี้เกิดขึ้น ระหว่างบริษัท Guangzhou Pharmaceutical Holdings กับ JDB Group ในฮ่องกง ซึ่งเคยมีเหตุจนทำให้ Agnes Kin-Yee Wong หลานสาวของ หวาง เจ๋อปัง แถลงว่ามีหลายบริษัทที่อ้างสูตรการชงชาและทำลอกเลียนแบบ ซึ่งเธอยืนยันว่า ได้อนุญาตให้ใช้สูตรกับ JDB Group เท่านั้น
“มีผลิตภัณฑ์มากมายในตลาดจีนที่อ้างชื่อ หวังเหล่าจี๋ แต่ไม่ได้ผลิตจากบริษัทของเรา เช่น ข้าวต้มสำเร็จรูป จากรุ่นสู่รุ่นเราผลิตและขายแค่ชาสมุนไพร เพราะต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมชาสมุนไพรของตระกูล"
ขวัญใจร้านชาบู ปิ้งย่าง
ตั้งแต่เริ่ม หวาง เจ๋อปัง ต้องการเผยแพร่วัฒนกรรมการดื่มชาของตระกูล โดยจุดประสงค์ก็แก้ร้อนใน ช่วยบรรเทาความร้อนภายในร่างกาย ดังนั้น ปัจจุบันร้านอาหารที่เรามักจะเห็นเครื่องดื่มน้ำจับเลี้ยงหวังเหล่าจี๋ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านชาบู หม่าล่า ปิ้งย่าง
ทั้งนี้ ทายาทที่มาสานต่อธุรกิจของหวาง เจ๋อปัง ก็ยังคงวางตำแหน่งการเป็นเครื่องดื่มดับกระหายที่มีคุณสมบัติเรื่องช่วยแก้ร้อนใน ดังนั้นนอกเหนือจากช่องทางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปในเมืองต่างๆ ของจีนแล้ว ยังผลักดันให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับร้านอาหารที่ให้ความร้อนกับร่างกายสูงไม่ว่าจะเป็นสุกี้ หรือปิ้งย่าง
แม้แต่ในไทยตามร้านชาบู ปิ้งย่าง ก็มักจะเจอเครื่องดื่มกระป๋องแดงนี้อยู่บ่อย ๆ ทั้งยังไปปรากฎอยู่ในเกม ‘หม้อไฟแห่งความสุข’ (My Hotpot Story) เกมสำหรับคนชอบทานชาบูแล้วจำลองเปิดร้านเป็นเจ้าของเอง ซึ่งเครื่องดื่มหวังเหล่าจี๋ ก็อยู่ในเกมนี้ด้วยเช่นกัน
ในปี 2020 คนที่ติดตาม หวังเหล่าจี๋ จะเห็นว่าช่วงหลัง ๆ พยายามเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ แลล้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้คนเข้าใจว่าเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรไม่ใช่ยา โดยสร้างแคมเปญขึ้นมาให้คนหนุ่มสาวมาร่วมกันครีเอทตัวการ์ตูนสำหรับแบรนด์ และใช้เว็บไซต์ Bilibili เพื่อแชร์วิดีโอการ์ตูนเป็นช่องทางหลัก ซึ่งผู้ใช้เว็บไซต์นี้มีแต่คน gen ใหม่ ๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งตั้งแต่ปี 2020 เรียกได้ว่า หวังเหล่าจี๋ กลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในตลาดจีนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยอดขายในแต่ละปีมากกว่ายอดขายโค้ก ซึ่งในครึ่งปีแรกของปีนี้รายได้ของหวังเหล่าจี๋แตะมากกว่า 6,000 ล้านหยวน (ข้อมูลจาก Guangzhou Pharmaceutical Holdings)
หวังเหล่าจี๋ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ทั้งยังมีผลประกอบการที่น่าจับตา ด้วยความที่เป็นธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพรแต่ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในตลาดจีน
ภาพ: Wang Lao Ji Facebook
อ้างอิง:
https://inf.news/en/economy/2d50389008135b868f5686e4c985e976.html
https://usa.chinadaily.com.cn/epaper/2013-04/03/content_16373618.htm