‘ยำยำ’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในไทย และเจ้าแห่งการคิดค้น ‘เมนูบะหมี่ชนิดแห้ง’

‘ยำยำ’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในไทย และเจ้าแห่งการคิดค้น ‘เมนูบะหมี่ชนิดแห้ง’

เปิดที่มาของแบรนด์ ‘ยำยำ’ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในประเทศไทย และเป็นผู้คิดค้นไอเดีย ‘บะหมี่ชนิดแห้ง’ ยี่ห้อแรก ภายใต้บริษัทแม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ จากประเทศญี่ปุ่น

  • ยำยำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายแรกที่เปิดตัวในประเทศไทย ด้วยวิธีการกินแบบเทน้ำร้อนก่อนกิน
  • ยำยำ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่คิดค้นเมนูบะหมี่ชนิดแห้งได้สำเร็จ และเปิดตัวเมนูแรกคือ ผัดขี้เมาแห้ง
  • อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) กลายเป็นบริษัทแม่ของยำยำ ซึ่งได้เข้ามาร่วมทุนช่วงแรก ๆ ที่เปิดตัวสินค้า

 

ใครที่ชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘ชนิดแห้ง’ อาจจะอยากรู้ที่มาของผู้ที่คิดค้นความอร่อยสูตรนี้ อย่างในประเทศไทยแบรนด์ที่คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้สำเร็จ (แบบเทน้ำร้อนใส่) เป็นเจ้าแรกต้องยกเครดิตให้กับ ‘ยำยำ’ ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่เปิดตัวเมนูชนิดแห้งเจ้าแรกในประเทศด้วย ซึ่งก็คือเมนู ‘ผัดขี้เมาแห้ง’

The People จะพาย้อนไปรู้จักกับ ‘ยำยำ’ ว่าเป็นแบรนด์ของใครและมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน จนประสบความสำเร็จติดเป็น Top 3 แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่คนไทยนิยมในปัจจุบัน

 

ย้อนไปจุดเริ่มต้นก่อนเป็นยำยำ

ยำยำ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด โดยบริษัทนี้ก็คือบริษัทลูกในเครือของ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ของบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ โค., อินค์. ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งโดย มร.ซาบุโรสุเกะ ซูซูกิ ที่ 2 (แต่คนที่ค้นพบอูมามิในปีในปี 1908 คือ ดร. คิคุนาเอะ อิเคดะ)

ในปี 2503 อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเปิดตัวโรงงานที่พระประแดงเป็นแห่งแรก และเริ่มการผลิตผงชูรสที่ทำมาจากมันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจของไทยมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต

อายิโนะโมะโต๊ะ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ดำเนินการในไทยค่อนข้างนานกว่า 60 ปี และมีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย หนึ่งในนั้นที่เราจะหยิบมาพูดถึงก็คือ ‘ยำยำ’ ซึ่งเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายแรกในไทย และได้เปิดตัวบริษัทในวันที่ 5 ตุลาคม 2514 หรือ 51 ปีที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึง 60 ล้านบาททีเดียว

ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ก่อตั้งบริษัท วันไทยอุตสาหกรรม เป็นช่วงที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งในญี่ปุ่นได้ทดลองตลาดไปแล้ว ก็คือ นิชชิน (Nissin) ซึ่งความสำเร็จจากแบรนด์นี้มีส่วนทำให้ วันไทยอุตสาหกรรม และอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) เกิดไอเดียทดลองตลาดในไทยเช่นกัน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากสำนักข่าว Japan Times จากพฤติกรรมของคนไทยที่เปิดรับวัฒธรรมต่างชาติในสมัยนั้น

นอกจากนี้ ยังมีคนพูดถึง ยำยำ สูตรแรก ๆ ที่เปิดตัวที่มีการใช้คำว่า ‘ยำยำ จัมโบ้’ เพื่อเป็นการชูโรงเรื่องปริมาณให้เป็นจุดเด่นของแบรนด์ในการทำการตลาด ขณะที่ราคาขายก็เป็นราคาที่เข้าถึงง่าย

 

ยำยำช้างน้อยเจาะตลาดเด็ก

ยำยำ ยังขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ครองในเด็ก ๆ ด้วย หลังจากที่เปิดตัว ‘ยำยำช้างน้อย’ เพื่อเจาะตลาดเด็กกับคอนเซ็ปต์ที่อยากให้ยำยำช้างน้อยเป็นเหมือนสเน็กกินระหว่างวันได้ ซึ่งจุดเด่นของยำยำช้างน้อยก็คือ รสชาติและราคาที่เด็กสามารถซื้อได้ โดยปัจจุบันเพิ่งปรับขึ้นราคาไปอยู่ที่ซองละ 3.30 บาท เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

นอกจากนี้ ในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก จากข้อมูลของ สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) ในปี 2022 มีกระแสไวรัลน่ารัก ๆ บน TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่พูดถึงยำยำช้างน้อยเป็นขนมของเด็กและวัยรุ่น เป็นตัวเลือกที่แนะนำต่อ

ปัจจุบัน ยำยำ ได้จำหน่ายในตลาดต่างประเทศมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย  และนิวซีแลนด์ ถึงแม้ว่าไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ยำยำช้างน้อย เป็นอีกโปรดักส์ที่วางขายในตลาดอินโดนีเซียและตลาดต่างประเทศอื่นหรือไม่ แต่หลาย ๆ กระแสบน TikTok และ Twitter ก็ทำให้รู้ว่าตอนนี้คนอินโดนีเซียกำลังคลั่งยำยำช้างน้อยมากเหมือนกัน

ทั้งนี้ ในวันที่ครบรอบ 50 ปีของแบรนด์ ยำยำ ‘ยูจิ มิซุตะ’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้พูดถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า “ส่วนใหญ่จะอิงกับองค์กรของอายิโนะโมะโต๊ะบริษัทแม่ โดยจะมุ่งทำให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น สังคมยั่งยืน และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค”

สำหรับประเด็นการปรับเพิ่มราคาสินค้าอย่าง ยำยำช้างน้อย และ ยำยำทุกรสชาติที่ปรับขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 มีหลายกระแสเข้ามา แต่หากเทียบกับคุณภาพและรสชาติที่อร่อย ราคาที่เพิ่มขึ้นมา 30 สตางค์ – 1 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่ยังจับต้องได้สำหรับคนไทย ซึ่ง ยำยำ ก็ยังพยายามปรับเปลี่ยนรสชาติและใช้กลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเปิดศึกแย่งมาร์เก็ตแชร์กับเจ้าตลาดใหญ่ในไทย และแบรนด์ท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ

 

ภาพ: iloveyumyum

อ้างอิง:

Iloveyumyum

Ajinomoto [1]

 Ajinomoto [2]

Prezi

Industrybiznews

Bangkokbiznews

Longtunman