‘Corradino D’Ascanio’ วิศวกรการบินผู้ไม่ชอบมอเตอร์ไซค์ แต่ให้กำเนิด ‘Vespa’ สกูตเตอร์ที่คนทั่วโลกหลงรัก

‘Corradino D’Ascanio’ วิศวกรการบินผู้ไม่ชอบมอเตอร์ไซค์ แต่ให้กำเนิด ‘Vespa’ สกูตเตอร์ที่คนทั่วโลกหลงรัก

‘Corradino D’Ascanio’ ผู้ริเริ่มสร้างสกูตเตอร์ที่ชื่อว่า Vespa ทั้งที่ส่วนตัวไม่ชอบมอเตอร์ไซค์ แต่เพราะต้องปรับตัวช่วงสงคราม เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด จึงกลายเป็นรถในตำนานที่ตราตรึงหัวใจผู้รักในความวินเทจ

  • Corradino D’Ascanio เขาเป็นวิศวกรการบินที่สร้างรถสกู๊ตเตอร์ในตำนาน ที่มีชื่อว่า 'Vespa'
  • สงครามทำให้ Corradino D’Ascanio ต้องพยายามปรับตัว เพื่อบริษัทของเจ้านายอยู่รอด ยอมสร้างสกูตเตอร์ทั้งที่ตัวเองไม่ชอบมอเตอร์ไซค์

 

รถมอเตอร์ไซค์บางคันเป็นยานพาหนะ และบางคันคือตัวตน

หนึ่งในรถสองล้อที่หลายคนใช้นิยามตัวตน ทั้งยังเป็นรถคู่ใจ เป็นตัวแทนของอิสรเสรี คงหนีไม่พ้นแบรนด์ Vespa สกูตเตอร์สัญชาติอิตาลี ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1946 หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

การที่รถสกูตเตอร์ Vespa สามารถเป็นนิยามตัวตนของใครหลายคนได้ เป็นเพราะมันเป็นแบรนด์รถที่บันทึกเรื่องราวมากมายของผู้คน ผ่านกาลเวลา ผ่านการต่อสู้ของผู้หญิง ผ่านวิถีชีวิตในแต่ละวัน มาอย่างยาวนาน

เรื่องราวเบื้องหลังการถือกำเนิดของรถสกูตเตอร์ในตำนาน คือวิศวกรการบินที่ใช้ข้อจำกัดเป็นความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่ใช้ชีวิตในยุคสงครามโลก และเขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ธุรกิจและประเทศชาติอยู่รอดหลังจบสงครามลง 

และนี่คือเรื่องราวของเขาและรถสองล้อที่อยู่ในใจผู้คนมาอย่างยาวนาน…

วิศวกรการบินผู้ให้กำเนิดสกูตเตอร์

ปีนี้ครบรอบ 77 ปีที่ Vespa ถือกำเนิดขึ้น 

ย้อนกลับไป 77 ปีที่แล้ว บริษัท Piaggio ผู้ผลิตเครื่องบินรบของอิตาลี ถูกสั่งให้ปิดตัวลงเนื่องจากอิตาลีแพ้สงคราม และธุรกิจเครื่องบินรบไม่จำเป็นอีกต่อไป ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด บริษัทจำเป็นต้องปรับตัวหรือหาทางเป็นไปได้อื่นเพื่อไม่ให้บริษัทล้มละลาย 

ตอนแรกพวกเขาจะเอาชิ้นส่วนเหล็กที่มีมาทำรถยนต์ แต่อิตาลีในเวลานั้นก็มีการจราจรที่ติดขัด ดังนั้นวิศวกรของบริษัทผู้มีนามว่า คอร์ราดิโน ดาสคานิโอ (Corradino D’Ascanio) จึงคิดออกแบบรถสองล้อที่มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้คนที่ชอบความสะดวกรวดเร็ว

ดาสคานิโอ คือวิศวกรด้านการบิน เขาเกิดในปี ค.ศ. 1891 ที่เมือง Pospoli, Pescara ตั้งแต่เด็กเขามีความสนใจด้านเครื่องบินและการออกแบบอย่างมาก

กระทั่งอายุ 15 ปี หลังจากลองศึกษาเทคนิค น้ำหนัก และองศาการบินของนกด้วยตัวเอง เขาได้ผลิต glider หรือเครื่องร่อนของตัวเอง และลองทดสอบการบินจากหุบเขาใกล้ ๆ บ้านเกิดของเขา

เส้นทางการทำงานของเขาเต็มไปด้วยประสบการณ์เฉพาะทาง - หลังจากจบการเรียนในปี ค.ศ. 1914 ด้านวิศวกรเครื่องกล ที่ Politecnico di Torino เขาได้สมัครเป็นทหารไปอยู่ในหน่วย ‘Weapon of Engineers, Division Battalion Aviatori’ หน่วยงานด้านอาวุธเครื่องบิน ในเมือง Piedmont ทำหน้าที่คอยทดสอบเครื่องยนต์ จากนั้นไต่เต้าในตำแหน่งสูงขึ้น และถูกส่งตัวไปยังฝรั่งเศสในภารกิจการเลือกเครื่องยนต์โรตารีสำหรับการผลิตในประเทศอิตาลี ก่อนที่เขาได้ก้าวสู่การเป็นนักออกแบบของกองทัพ 

และในปี ค.ศ. 1916 เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานร่วมกับ Fabbrica Aeroplani Ing. O. Pomilio ผู้ผลิตเครื่องบินสำหรับการรบ ซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทาง Pomilio ได้ขายบริษัทและย้ายไปเริ่มธุรกิจใหม่ที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกับพนักงานหลัก หนึ่งในนั้นรวมไปถึงดาสคานิโอด้วย

อย่างไรก็ตาม ดาสคานิโอได้กลับประเทศบ้านเกิดอีกครั้งหลังจากผ่านไป 1 ปี โดยเขากลับมาตั้งรกรากที่ Popoli บ้านเกิดของเขา และเริ่มงานเกี่ยวกับกลไกเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งผลงานการออกแบบของเขาหลายอย่างได้ถูกจดสิทธิบัตร 

จากนั้นเขาได้ตั้งบริษัทของตัวเอง โดยได้ทุนจากทางรัฐบาล เพื่อออกแบบและผลิตเฮลิคอปเตอร์รุ่นล้ำหน้า ซึ่งวางเครื่องยนต์ 2 ตัวหมุนสวนทางกัน (และกลายเป็นต้นแบบให้เฮลิคอปเตอร์หลายลำในเวลาถัดจากนั้น) และได้พัฒนาต่อมาอีกหลายรุ่น แต่โชคไม่ดีนัก เพราะในเวลานั้น อิตาลีปกครองด้วยรัฐบาลฟาสซิสต์ซึ่งให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนด ทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง ดาสคานิโอจึงถูกดึงตัวอีกครั้ง ไปทำงานให้กับ Enrico Piaggio ลูกชายของเจ้าของบริษัท Piaggio ผู้ผลิตเครื่องบินรบ อันเป็นที่มาของตำนานรถสกูตเตอร์ที่ตราตรึงผู้คนทั้งโลก

‘Corradino D’Ascanio’ วิศวกรการบินผู้ไม่ชอบมอเตอร์ไซค์ แต่ให้กำเนิด ‘Vespa’ สกูตเตอร์ที่คนทั่วโลกหลงรัก

Vespa สกูตเตอร์เปลี่ยนโลก

ดาสคานิโอ ประสบความสำเร็จในการออกแบบเครื่องบินความเร็วสูง ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญในการรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แน่นอนว่าชีวิตมีขึ้นก็มีลง

หลังสงครามจบลง และอิตาลีไม่ได้อยู่ฝั่งผู้ชนะ - ดาสคานิโอพบว่าเขากลายเป็นคนตกงานเหมือนกับใครอีกหลาย ๆ คนในประเทศ เนื่องจากอิตาลีต้องลงนามสนธิสัญญาว่าจะไม่ทำการวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีทางการรบเป็นระยะเวลา 10 ปี และในเวลานั้น โรงงาน Piaggio ก็ถูกระเบิดโดยฝั่งศัตรูอีกด้วย 

หลังตกงาน เขาถูกดึงตัวอีกครั้งโดย Ferdinando Innocenti ผู้ทำธุรกิจท่อเหล็กที่โรงงานก็โดนระเบิดทิ้งเหมือนกัน จึงอยากผันตัวมาทำธุรกิจยานพาหนะที่เป็นส่วนตัวและราคาถูก เดินทางสะดวก ในแบรนด์ชื่อว่า Lambretta 

ดาสคานิโอ จึงกลายเป็นผู้ออกแบบสกูตเตอร์รุ่นแรกของ Lambretta ที่มีโจทย์ว่าต้องทน ถูก ขี่ง่ายทั้งชาย-หญิง กระโปรงต้องไม่เข้าไปพันล้อ ต้องขนสัมภาระและซ้อนท้ายได้ 

อย่างไรก็ตาม การดีไซน์ Lambreatta ไม่ประสบความสำเร็จนัก ดาสคานิโอมีความคิดไม่ลงรอยกับเจ้าของบริษัทเรื่องการใช้วัสดุท่อ ดาสคานิโอจึงตัดสินใจหิ้วแบบของเขากลับไปหา Enrico Piaggio ที่เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านั้น 

หลังกลับไป Piaggio เขาได้ใช้เหล็กจากการผลิตเครื่องบินรบที่เหลืออยู่ในการออกแบบสร้างตัวถัง และกลายเป็นรถสกูตเตอร์ต้นแบบที่สุดยอดประสบความสำเร็จ และส่งให้แบรนด์ Vespa กลายเป็นรถสกูตเตอร์ที่มีดีไซน์โดนใจคนทั่วโลกนับตั้งแต่วันนั้น… กระทั่งวันนี้ที่ขายไปกว่า 130 ประเทศทั่วโลก

เรื่องหนึ่งที่เหมือนประชดกันสำหรับดาสคานิโอ นั่นก็คือ เขาเป็นวิศวกรการบิน ที่ไม่ชอบมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างมาก (เพราะหลังจากออกแบบ Vespa จบ เขาก็กลับเข้าไปทำงานในวงการเฮลิคอปเตอร์) แต่กลับกลายเป็นว่าต้องกลายมาเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับแบรนด์สกูตเตอร์ระดับโลก 2 แบรนด์อย่างแนบแน่น

แต่อาจจะเป็นเพราะความที่ไม่ชอบไอ้เจ้าสองล้อนี่แหละ ทำให้ดาสคานิโอมองว่าสกูตเตอร์ Vespa ที่เขาออกแบบ จะต้องเป็น Car on Two Wheels ที่นั่งสบายเหมือนรถยนต์ คนขี่นั่งขาคู่และมีที่วางขา และมีเบรกที่เท้า ไม่ใช่เบรกมือแบบรถมอเตอร์ไซค์คันอื่นๆ 

ด้วยดีไซน์ที่แปลกตาและกลายเป็นไอคอนิก Vespa จึงกลายเป็นรถที่ทำให้ผู้หญิงอิตาลีออกมาขับขี่บนท้องถนนทั้งที่นุ่งกระโปรงกันมากขึ้น กลายเป็นรถที่วัยรุ่นใช้จีบกัน เพราะทำให้การออกเดตสุดแสนจะโรแมนติกไปกับการนั่งซ้อนท้ายกอดเอวคนขับ กลายเป็นพาหนะพาเดินทางข้ามเมือง กลายเป็นรถที่พ่อใช้ส่งลูกเข้าเรียนในเช้าของทุกวัน กลายเป็นสัญลักษณ์ความอิสระ ความขบถ และการปลดแอก

 

ว่าด้วย ‘Vespa’ ในประเทศไทย

สำหรับในไทย หลายสิบปีก่อน Vespa เข้ามาในประเทศไทยในฐานะรถขนของ รถส่งผ้า สุดคุ้นตาในย่านเมืองเก่า ก่อนจะเข้ามาอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อ 10 ปีก่อน ในนามบริษัท เวสปาริโอ (ประเทศไทย) จำกัด และกลายเป็นแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่มอเตอร์ไซค์ แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนที่ชื่นชอบในแนวคิดของรถสองล้อแบรนด์นี้ 

ซึ่งแน่นอนว่า มันคือสิ่งที่ดาสคานิโอ วิศวกรการบินที่ไม่ชอบมอเตอร์ไซค์สุด ๆ สร้างเอาไว้ให้แก่โลกใบนี้

 

เรื่อง : Narisara Suepaisa

ภาพ : Italy Magazine

อ้างอิง :

Vespa 1

Vespa 2

Vespapizzeria

Vespa 3

Adrianflux