11 ม.ค. 2567 | 09:41 น.
- คาร์ล เบนซ์ วิศวกรผู้คิดค้นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันคันแรกของโลก
- ความสำเร็จที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อ เบอร์ธา เบนซ์ ผู้เป็นภรรยาได้แอบนำรถยนต์ที่เขาประดิษฐ์ไว้ออกไปขับขี่ให้ชาวโลกได้เห็นนวัตกรรมยานยนต์ที่ไร้ม้าลากจูง
- ความสำเร็จของบริษัทยานยนต์นำมาสู่การจับมือกับคู่แข่งอย่าง Daimler Motoren - Gesellschaft จัดตั้ง Mercedes-Benz จนกลายเป็นแบรนด์ดังไปทั่วโลก
คงไม่มีใครไม่รู้จัก Mercedes-Benz แบรนด์รถยนต์ชื่อดังระดับโลกสัญชาติเยอรมนี เจ้าของสัญลักษณ์ดาวสามแฉก ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ยุคบุกเบิก แต่ใครหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง ‘คาร์ล เบนซ์’ (Carl Benz) เป็นผู้คิดค้นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลกขึ้นมา
จริง ๆ แล้ว คาร์ล เบนซ์ เติบโตมาในครอบครัวยากจนที่เมืองคาร์ลสรูห์ ประเทศเยอรมนี พ่อของเขาเป็นคนขับรถไฟ เมื่อคาร์ลอายุได้เพียง 2 ขวบ พ่อที่เป็นเสาหลักของครอบครัวได้จากไป และแม้ว่าฐานะทางการเงินจะเป็นข้อจำกัด แต่แม่ของคาร์ล เบนซ์ ทุ่มเททำทุกวิถีทางเพื่อมอบการศึกษาที่ดีให้กับลูกชายที่รัก
คาร์ล เบนซ์ รู้ดีว่าแม่หาเงินเพื่อให้เขาได้เข้าเรียนอย่างยากลำบาก คาร์ลจึงมุ่งมั่นตั้งใจเรียน กลายเป็นนักเรียนที่เก่งและโดดเด่นอย่างมาก แรก ๆ เขาเข้าเรียนในโรงเรียนสารพัดช่างคาร์ลสรูห์ ตั้งใจจะเป็นช่างทำกุญแจแต่ก็เปลี่ยนใจมาเรียนด้านวิศวกรรมตามรอยพ่อของเขา
ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ทำให้คาร์ล เบนซ์ ได้เข้าเรียนในสาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์ในมหาวิทยาลัยคาร์ลสรูห์ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี และสำเร็จการศึกษาด้วยวัยเพียง 19 ปี
หลังจากเรียนจบ ในปี 1860 เขาทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะทำงานเป็นนักเขียนแบบและนักออกแบบในบริษัทผลิตเครื่องจักร อีก 1 ปีต่อมาเขาได้กลายเป็นหัวหน้าวิศวกรก่อนจะย้ายไปทำงานออกแบบสะพานเหล็ก
หลังจากเขาได้ทำงานสั่งสมความรู้และประสบการณ์ แม้จะเป็นเพียงเวลาไม่กี่ปี แต่คาร์ล เบนซ์ เริ่มมีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะมีบริษัทเป็นของตัวเอง
ชายผู้คิดต่าง พลิกโฉมการเดินทางของคนทั้งโลก
ในปี 1876 คาร์ล เบนซ์ มีโอกาสได้ทำธุรกิจร่วมกับ ออกัส ริตเตอร์ (August Ritter) ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องกล เขาทั้งสองได้จัดตั้งบริษัทโรงหล่อเหล็กและเครื่องจักรกลด้วยกัน
ซึ่งในภายหลัง ‘เบอร์ธา เบนซ์’ (Bertha Benz) หญิงสาวจากตระกูลช่างไม้ที่มั่งคั่งในเมืองฟอร์ซไฮม์ ที่ในขณะนั้นเป็นคู่หมั้นของคาร์ล เธอได้ขอซื้อหุ้นของริตเตอร์ในธุรกิจนี้ทั้งหมดด้วยเงินสินสอด มีข้อมูลว่าจากเหตุผลเรื่องความน่าเชื่อถือของริตเตอร์
จึงทำให้คาร์ลกลายเป็นเจ้าของกิจการเพียงผู้เดียว แต่สุดท้ายแล้วบริษัทแรกที่คาร์ล เบนซ์ พยายามปั้นและสร้างขึ้นมาก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า
ด้วยความที่ คาร์ล เบนซ์ มักจะจินตนาการถึงยานพาหนะที่ไม่ต้องใช้ม้าลาก เขามองว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ในเครื่องจักรเท่านั้น แต่มันจะมีประโยชน์กับการสร้างเครื่องยนต์เพื่อการเดินทางด้วย
ดังนั้น ในปี 1883 เขาได้ก่อตั้งบริษัท Benz & Cie. มุ่งผลิตเครื่องจักรกลทางอุตสาหกรรม โดยบริษัทได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนทำให้คาร์ลมีต้นทุนและมีโอกาสได้เริ่มประดิษฐ์ออกแบบรถที่ขับเคลื่อนโดยน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่เขาจินตนาการไว้
ประวัติศาสตร์การเดินทางครั้งใหญ่ของคนทั่วทั้งโลกเริ่มต้นขึ้นในปี 1886 คาร์ลได้สร้างสรรค์รถที่มีสามล้อขึ้น โดยใช้ล้อคล้ายกับจักรยาน ต่างจากรถม้าที่ทำจากไม้ ใช้เครื่องยนต์แบบลูกสูบ 1 สูบ 4 จังหวะแบบสันดาปภายใน บังคับให้ขับเคลื่อนด้วยคันโยก ทำความเร็วได้ 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีกำลังขับเคลื่อนเพียง 2 แรงม้า
คาร์ลเรียกมันว่า ‘เบนซ์พาเท็นท์-โมทอร์วาเกิน’ (Benz Patent-Motorwagen) และได้ยื่นจดสิทธิบัตรรถยนต์ที่ใช้น้ำมันต่อสำนักงานสิทธิบัตรอาณาจักรเยอรมัน (German Imperial Patent Office) กลายเป็นรถยนต์คันแรกของโลกอย่างเป็นทางการ
ทว่ารถยนต์รุ่นที่ 1 และ 2 ของคาร์ลนั้นไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะเมื่อนำมาทดลองขับ เจ้ารถยนต์ไร้ม้าของเขาก็พุ่งชนกำแพงจนผู้คนหวาดระแวงกับรถหน้าตาประหลาดล้ำสมัยคันนี้ จนกระทั่งนำไปปรับปรุงดัดแปลงจนได้ยนตรกรรมรุ่นที่ 3 แต่เขากลับไม่กล้านำไปทดสอบให้สาธารณชนได้เห็นเพราะเริ่มไม่มั่นใจในผลงานของตัวเอง
ภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเดินทางด้วยถนนยังมีเพียงการใช้ม้าลากจูง จักรยาน และรถไฟเพียงเท่านั้น เจ้าพาหนะที่เคลื่อนที่ได้โดยไร้ม้าของคาร์ลคันนี้ ถูกมองว่าเป็นผลงานของ ‘ปีศาจ’ ทั้งแปลกประหลาดและมีเสียงน่าหวาดกลัว ชวนให้เคลือบแคลงถึงความปลอดภัยที่ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดเมื่อไหร่
แต่ไม่ใช่กับเบอร์ธา เบนซ์ ภรรยาผู้รักและเชื่อมั่นในตัวสามีอย่างสุดใจ ในเช้าวันที่ 5 สิงหาคม ปี 1888 เธอได้แอบนำเจ้า Benz Patent-Motorwagen รุ่นที่ 3 ของสามี พร้อมกับลูกชายอีก 2 คนขับออกไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านเกิดของเธอที่อยู่ห่างออกไปถึง 100 กิโลเมตร
นี่เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกที่แม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเธอและลูกชายทั้งสองไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย แม้ระหว่างทางจะเจอกับปัญหาน้ำมันหมด เบรกไม้เสื่อม ท่อน้ำมันอุดตัน แต่เบอร์ธานั้นเธอมีความรู้ความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเข้าใจกลไกยานยนต์อยู่แล้ว เธอจึงแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
การเดินทางครั้งนี้เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้คนได้ไม่น้อย จากความหวาดกลัวแปรเปลี่ยนเป็นความสนใจ ข่าวหญิงคนแรกที่เดินทางโดยเครื่องจักรกลแทนรถม้าแพร่สะพัดไปทั่วยุโรป ทำให้ผู้คนหันมายอมรับเจ้า Benz Patent-Motorwagen และเปิดใจให้กับรถยนต์มากขึ้น
หลังจากนั้นมาบริษัทผลิตเครื่องจักรกลทางอุตสาหกรรมอย่าง Benz & Cie. ได้แปรเปลี่ยนกลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ขายและประสบความสำเร็จอย่างมาก จนในปี 1899 กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนการผลิตถึง 572 คัน
จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจในยุโรปเริ่มซบเซา บริษัทรถยนต์หลายรายต้องยกเลิกกิจการ คาร์ล เบนซ์ จึงได้จับมือรวมกิจการกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Daimler Motoren-Gesellschaft แบรนด์รถยนต์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1890 โดย ‘ก็อตลีบ เดมเลอร์’ (Gottlieb Daimler) ผู้ประดิษฐ์รถยนต์ 4 ล้อคันแรกของโลก ทำให้คลอดบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า ‘เมอร์เซเดส-เบนซ์’ (Mercedes-Benz)
การรวมกันครั้งนี้เป็นการรวมกันของกลุ่มคนที่มีความรู้และความชำนาญทางวิศวกรรม รวมถึงมีวิสัยทัศน์ในการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ ถือเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์และเป็นการเริ่มต้นยุคทองของยานยนต์ นำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์จนทำให้ Mercedes-Benz กลายเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
กุญแจสู่ความสำเร็จของคาร์ล เบนซ์ คือการมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้กลายเป็นความจริง และการมีภรรยาผู้พร้อมสนับสนุนและผลักดันเขาอยู่เบื้องหลังอยู่เสมอ
และนี่คือเรื่องราวของชายผู้มุ่งมั่น จากเด็กยากจนผู้คิดนอกกรอบ สู่การเป็นผู้สร้างนวัตกรรมยานยนต์ขึ้นมาใหม่ และยังเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ยานยนต์ชั้นนำของโลก กลายเป็นผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การเดินทางของผู้คนทั่วโลกไปตลอดกาล
ภาพ : Mercedes Benz Publicarchive
อ้างอิง :
2022 NIHF Inductee Carl Benz: Inventor of the First Modern Automobile/invent