สัมภาษณ์ ทายาทรุ่น 2 ธุรกิจ ‘ชามตราไก่’ เจ้าแรกใน จ.ลำปาง กับเงิน 4,000 บาท ที่ใช้เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

สัมภาษณ์ ทายาทรุ่น 2 ธุรกิจ ‘ชามตราไก่’ เจ้าแรกใน จ.ลำปาง กับเงิน 4,000 บาท ที่ใช้เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

ทายาทรุ่น 2 ธุรกิจ ‘ชามตราไก่’ เจ้าแรกในจ.ลำปาง เปิดใจ วันที่พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยเงิน 40,000 บาท และสานต่อชามตราไก่ ลวดลายของตระกูลที่เก่าแก่ ตั้งแต่เมืองจีนในยุคหนึ่ง

“คุณพ่อเคยพูดไว้ว่า ถ้าคิดว่าตัวเองเก่งจริงจะมาช่วยเหลือคนอื่น ต้องทำให้ดูก่อนว่าตัวเองทำโรงงานเซรามิกด้วยตัวเองแล้วประสบความสำเร็จ ทำได้ดีแล้วค่อยมาช่วยคนอื่นเขา”

‘อี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน’ ผู้ก่อตั้งธุรกิจเซรามิกที่ชื่อว่า ‘ธนบดีสกุล’ ซึ่งเป็นเจ้าแรกใน จ.ลำปาง ที่ทำ ‘ชามไก่’ เมื่อ 69 ปีก่อน ได้พูดกับลูกชาย ช่วงที่ธุรกิจกำลังมีปัญหา แต่ปฎิเสธที่จะรับความช่วยเหลือ เพราะอยากให้ทายาทลองพิสูจน์ตัวเองดูสักครั้งหนึ่งก่อน

หากพูดถึง อัตลักษณ์ของ จ.ลำปาง นอกจาก ‘รถม้า’ ก็คงต้องยกให้ ‘ชามตราไก่’ เป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยคนส่วนใหญ่จะรู้จักเพราะลำปางเป็นแหล่งผลิตถ้วยชามที่ทำมาจาก ‘เซรามิก’ หากย้อนไปในปี 2498 ยุคของ ‘อี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน’ เขาได้ค้นพบแร่ดินขาวครั้งแรกที่บ้านปางค่า อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งโรงงานทำชามไก่แห่งแรกของลำปางขึ้นมา

โดยได้ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมจากประเทศจีน และขายถ้วยชามเหล่านั้นไปทั่วประเทศ ชื่อเสียงของจ.ลำปาง เกี่ยวกับเซรามิก ส่วนหนึ่งก็มาจากการริเริ่มธุรกิจนี้ด้วย อันนำมาสู่เอกลักษณ์ของจังหวัดจนถึงปัจจุบัน

The People ชวน ‘อั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล’ ทายาทรุ่นที่ 2 คุยเกี่ยวกับเส้นทางของธุรกิจครอบครัว และมุมของคนที่มาสานต่อธุรกิจที่บ้าน ว่ากว่าที่เขาจะผ่านแต่ละบททดสอบได้ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่เขาต้องพิสูจน์ตัวเอง จากเงิน 40,000 บาทที่พ่อของเขาให้มา เพื่อทำให้เห็นว่า เขาเองก็สร้างธุรกิจเซรามิกและทำให้สำเร็จได้เช่นกัน

 

อยากช่วยธุรกิจที่บ้าน แต่พ่อกลับให้เงิน 40,000 บาท

อั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล : เราเคยถูกบังคับให้ต้องช่วยงานที่บ้านเนาะตามลักษณะของการเลี้ยงดูของครอบครัวชาวจีน คือทุกคนจะต้องช่วยกัน หยิบจับได้ไม่มากก็น้อย เราเป็นลูกคนเล็ก เราก็ยังห่วงที่จะเล่น จะห่วงสนุก ห่วงอยากดูการ์ตูนในวันเสาร์อะไรอย่างนี้นะ แต่ก็ต้องมีภาระก็คือ ต้องช่วยเหลือที่บ้านนะครับ มันก็เลยเป็นความฝังใจลึก ๆ อันหนึ่งว่างานเซรามิกมันเป็นงานที่หนักเหลือเกิน

ก็เลยพยายามตั้งเป้าหมายในการเรียนตั้งแต่ ปวช. ในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วก็มาต่อปริญญาตรีที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นก็ทำงานในแนวทางที่ตัวเองชอบทางด้านงานกราฟิก ทางด้านการออกแบบลายผ้านะครับ แล้วก็หลังจากนั้นก็จับพลัดจับผลูมาทำงานทางด้านการออกแบบลวดลายกระเบื้องงานกับบริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ หรือกระเบื้องคัมพานา

คือ ผมไม่มีความคิดที่จะมาสานต่อธุรกิจของที่บ้านเลย ในครอบครัวก็คือมีกัน 5 คนพี่น้อง ก็คิดว่าน่าจะมีคนที่ช่วยดูแลหรือว่าสานต่อธุรกิจในครอบครัวได้อยู่แล้ว ทั้งพี่สาวคนโต พี่ชายคนรองก็ทำงานมาตั้งแต่ที่เรายังเรียนหนังสือไม่จบ ก็คิดว่าดังนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้ในการที่เราจะไปค้นหาแนวทางของตัวเอง ดังนั้นในเรื่องการที่คิดจะกลับมาบ้านนี้ไม่มีโดยสิ้นเชิงเลยครับ

สัมภาษณ์ ทายาทรุ่น 2 ธุรกิจ ‘ชามตราไก่’ เจ้าแรกใน จ.ลำปาง กับเงิน 4,000 บาท ที่ใช้เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

บังเอิญที่บ้านก็มีจดหมายเขียนถึงเรา ตอนนั้นเราตัดสินใจกำลังจะไปทำงานที่ต่างประเทศ ที่บ้านเขาก็บอกว่าก็ยินดีด้วยที่เราไปได้ดี ขอให้ประสบความสำเร็จ ส่วนที่บ้านไม่ต้องเป็นห่วง ตอนนี้ก็มีปัญหาธุรกิจอยู่บ้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางอ้อมของสงครามอ่าวเปอร์เซียช่วงสมัยนั้น ทีนี้เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ เรากำลังจะทิ้งครอบครัวไป เรารู้สึกไม่ดี

เลยมีความคิดว่า ไหน ๆ เราก็มีประสบการณ์ในการเรียน การทำงาน มาค่อนข้างจะดีพอสมควรเนี่ย ก็น่าจะเอาความรู้ตรงนี้กลับไปช่วยที่บ้าน พอที่บ้านดีขึ้นแล้วค่อยไปตามความฝันของตัวเองต่อ ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานทันทีโดยไม่บอกที่บ้านด้วย

แต่โดนเซอร์ไพรส์กลับ คุณพ่อบอกว่าถ้าคิดว่าตัวเองเก่งจริงจะมาช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็ลองทำให้ดูสิว่าตัวเองทำโรงงานเซรามิกของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จ ทำได้ดีแล้วค่อยมาช่วยคนอื่นเขา ก็เป็นที่มาของเงิน 40,000 บาท เขาให้เงินมาเพื่อให้เราไปลองทำธุรกิจของตัวเอง ทำเซรามิกนี่แหละ ซึ่ง 40,000 บาทสมัยนั้นกับการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่ยากมากนะ

 

ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง 3 ปี แต่ 2 ปีแรกล้มเหลว

อั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล : พิสูจน์ตัวเองก็ประมาณ 3 ปี แต่ปีแรก ปีที่ 2 นี้เจ็บปวดมาก เพราะเรามีเงินจำกัด ดังนั้น การบริหารธุรกิจของตัวเองค่อนข้างลำบากมาก เพราะเราต้องบริหารเงินจำนวนจำกัด ออกไปเป็นเซลล์ขายเองนะครับ พอออกไปขายก็ไม่ได้อย่างที่เราตั้งใจไว้ก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง คือเราไม่มีสิทธิ์ท้อ ก็ต้องทำต่อไป ปีแรกไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่รู้เรื่องกลไกการตลาด

ตอนนั้นเรียนรู้ว่า ‘ของดีของสวยของถูกไม่จำเป็นต้องขายได้เสมอไป’ ช่องทางการตลาดที่เราหวังสูงเกินไป จะไปขายตลาดระดับกลางระดับบนเลยทันที มันเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ได้สร้างแบรนด์ตัวเอง ก็เลยโอเคงั้นลองตลาดท้องถิ่นก่อน

พอประมาณปีที่ 3 ธุรกิจดูสภาพแล้วเริ่มเป็นบวกมากขึ้น ก็เริ่มทยอยขายสินค้าแล้วพัฒนาสินค้ามาเรื่อย ๆ

ครั้งแรก ๆ ที่เราเฟล จำได้เลยว่า ทำดีไซน์และผลิตเซรามิกประเภทของใช้ในห้องน้ำ เช่น ที่วางสบู่ ที่วางแปรงสีฟัน ซึ่งตอนที่ทำงานอยู่ไทย-เยอรมันเนี่ยเขาทำกระเบื้องเซรามิก ซึ่งพวกนี้ก็จะใช้ในห้องน้ำ แล้วก็จะมีการตกแต่งด้วยอุปกรณ์พวกนี้ ผมเลยคิดว่ามันดูน่าสนใจ คนไทยก็ยังไม่มีใครทำด้วย ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น

แต่ปรากฏว่า เราไม่เข้าใจว่าคนที่ซื้อของพวกนี้ในสมัยก่อนนู้นน่ะสมัย 30-40 ปีนะมันเป็นของฟุ่มเฟือย ราคาสูง ลูกค้าก็ยังติดแบรนด์กันอยู่ เขารู้สึกว่าถ้าไปซื้อก็ต้องซื้อยี่ห้อดี ๆ จากต่างประเทศ เช่น จากอิตาลีทำนองนี้

 

ค้นพบอัตลักษณ์ตัวเองด้วยความบังเอิญ

อั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล : หลังจากที่เราเฟลกับสินค้าของใช้ในห้องน้ำ ก็หันมาทำพวกของตกแต่งบ้านประเภทอื่น ๆ พวกแจกัน โคมไฟ เชิงเทียน กรอบรูปที่เป็นเซรามิกครับ

แต่เนื่องจากว่าดินขาวของลำปางเนี่ย ปกติแล้วเนื้อมันจะขาว ดังนั้นเขาก็จะพยายามใช้ความขาวหรือโชว์เนื้อดินขาวบนตัวผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด การที่จะเอาสีอื่นมาเคลือบทับมันก็มีน้อย แต่ว่าปัญหาอยู่ที่โรงงานที่ตั้งของเรามันอยู่ติดกับถนน ซึ่งมันเป็นถนนดินแดงยังไม่ได้ลาดยาง เวลาที่รถวิ่งมาเร็ว ๆ ฝุ่นดินแดงมันก็จะคลุ้งไปทั่ว ซึ่งฝุ่นดินแดงเนี่ยมันก็คือ แร่สนิม เนี่ยนะครับ เวลาเราเอาไปเผา ก็จะเห็นจุดตำหนิที่มันเป็นสีน้ำตาล (ก่อนเผาจะมองไม่เห็น)

สัมภาษณ์ ทายาทรุ่น 2 ธุรกิจ ‘ชามตราไก่’ เจ้าแรกใน จ.ลำปาง กับเงิน 4,000 บาท ที่ใช้เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

ก็เลยเปลี่ยนแนวคิดว่า โอเค ก็เอาศัตรูกลับมาเป็นมิตรให้ได้ เหมือนกับเอาวิกฤตมาเป็นโอกาสประมาณนั้น คือ สนิมอยากเกาะดีนักใช่มั้ย ก็เอาสนิมทาซะเลย แล้วก็ใช้อุปกรณ์แบบง่าย ๆ ที่หาได้รอบตัวในครัว พวกที่ขูดมะละกอบ้างนะครับ หวีเสนียดบ้าง หรือฝอยขัดหม้อ มาลองใช้ในการขูดแต่งผิวผลิตภัณฑ์ให้เป็นลวดลาย ซึ่งจะออกมาเป็นลักษณะที่เหมือนไม้มาก เลยเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของเราที่ยังไม่มีใครทำ คือ ซรามิกที่เลียนแบบผิวไม้ ตอนนั้นยังไม่มีใครทำครับ

ตอนนั้นเราเริ่มทำตลาดส่งออกนะครับ เพราะทางกลุ่มยุโรป อเมริกาพวกเขาจะชอบสินค้าในแนวธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติ

ซึ่งธุรกิจที่เราทำเนี่ยครับ มันยิ่งห่างไกลจากธุรกิจของครอบครัวมากขึ้น เพราะเป็นคนละแนวเลย ที่บ้านตอนนั้นเขายังทำประเภทถ้วยขนมถ้วยตะไล แล้วก็ส่งขาย ขายส่งใส่เข่งธรรมดาเนี่ย แล้วก็ส่งขายมาที่กรุงเทพฯ ไม่มีการพัฒนาสินค้าอะไรใหม่ ๆ เลย ส่วนของเราคนละแบบเลย คือเราเจาะไปกลุ่มต่างประเทศ ต้องเน้นขายดีไซน์ คุณภาพต้องสูง เน้นสร้างภาพลักษณ์ มันก็เลยกลายเป็นคนละเรื่องไปเลย

 

จากดีไซน์โมเดิร์น กลายเป็น ‘ตราไก่’ ลายที่เป็นสมบัติของตระกูล

อั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล : แต่ตอนนั้นปี 2539 มันมีเหตุบังเอิญที่เราไปเจอชามตราไก่แบบโบราณ ซึ่งตอนที่เกิดมาเนี่ยก็ยังไม่ทันเห็นชามไก่นี้นะครับ เพราะชามไก่มันมีอายุสั้นมาก ตั้งแต่สมัยรุ่นที่คุณพ่อเป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจนี้ แล้วก็ได้รับความนิยม เพียง 5 ปีก็เริ่มหายไป กลายเป็นทุกคนก็ไปทำเซรามิกรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตราไก่ครับ

คือผมบังเอิญไปเห็นชามไก่มันอยู่ในห้องครัวนะครับ มีอยู่ใบเดียวและอยู่ลึกสุดเลยในตู้กับข้าว ก็เอะใจว่า เอ้ย ทำไมมันสวยจังเลย มันดูเท่ เราเป็นเด็กเรียนอาร์ต เราก็ชอบงานเพ้นท์ งานอะไรที่เป็นตวัดเป็นรูปไก่เท่ ๆ อย่างนี้ ก็เลยสอบถามคนที่บ้านถึงรู้ว่า อ๋อ โอเค ก็ของครอบครัวเรานี่แหละเป็นผู้ก่อตั้งสินค้าพวกนี้ขึ้นมา ดังนั้น มันมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่มันพรั่งพรูออกมาจากทั้งคุณพ่อ พี่สาว และคุณแม่ด้วย

ก็เลยกลับมาอยากจะเอาชามไก่กลับมาฟื้นอีกครั้งหนึ่งนะ เพื่อจะใช้เป็นตัวให้อ้างอิงเอาไปโชว์ในงานแฟร์ที่เราขายของตกแต่งบ้านนะครับว่า บริษัทเรามีที่มานะ เมื่อก่อนเราเคยทำสิ่งนี้อยู่ให้ไปโชว์เฉย ๆ แต่ปรากฏว่ามันกลับกลายเป็นของที่ขายดีมาก ชามไก่ก็เลยฟื้นกลับมาในปี 40 ทำให้โรงงานเซรามิกในลำปาง ซึ่งหลาย ๆ โรงงานเขาซบเซานะครับจากพิษเศรษฐกิจเนี่ย เขาก็ได้ฟื้นกลับมาจากการที่เห็นธนบดีทำชามไก่แล้วก็ขายดี เขาก็เลยทำชามไก่ขายในประเทศบ้าง

แต่ก็เกิดวิกฤตเมื่อปี 2550 อีกครั้งนะครับ ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนั้นที่ลำปางมันประมาณ 165 บาท ปรับเป็น 300 บาทมันเพิ่มขึ้นกว่า 80% ซึ่งธุรกิจเซรามิกเนี่ยจะใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้น ต้นทุนหลักของเซรามิกเนี่ยมันจะอยู่ที่ค่าแรง พอค่าแรงมันสูงขึ้นเนี่ย มันก็ทำให้ธุรกิจไปต่อได้ลำบาก

ตอนนั้นลำปางหลาย ๆ โรงงานก็ทรุดกันแบบไม่ไหวแล้ว เราก็คิดนะว่าคงจะจบแล้วแหละธุรกิจของเราไปต่อไม่ได้แล้ว แต่ว่าด้วยความเป็นนักสู้ ก็เลยตัดใจว่าเราจะทำพิพิธภัณฑ์ เพราะว่าเรามีเรื่องประวัติ แล้วก็มี ‘เตามังกรโบราณ’ ซึ่งเหลือแค่ 2 เตาสุดท้ายในลำปาง เราตั้งใจว่าจะเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังเขาดูนะ ก็เลยทำการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานได้สำเร็จแล้วตอนนี้

สัมภาษณ์ ทายาทรุ่น 2 ธุรกิจ ‘ชามตราไก่’ เจ้าแรกใน จ.ลำปาง กับเงิน 4,000 บาท ที่ใช้เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

 

ชามตราไก่มาจากเมืองจีน ก่อนมาถึงลำปาง

อั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล : ด้วยความที่เราจะทำ พิพิธภัณฑ์ ก็เลยไปสืบค้นข้อมูลทั้งในไทยและประเทศจีน ปรากฎว่า ชามตราไก่ไม่ได้ผลิตครั้งแรกที่ประเทศไทยนะ มันเป็นสินค้าที่มาจากประเทศจีน แล้วก็มีการทำมาโดยตลอดเนาะ ตั้งแต่สมัยก่อนที่คุณพ่อจะอพยพจากเมืองจีนมาแล้ว น่าจะตอนเป็นหนุ่ม ๆ ที่เขายังทำไร่ทำนานะครับ คุณพ่อทำเซรามิกด้วยนะครับอยู่ที่มณฑลกวางโจวทางใต้ของจีน

ส่วนเหตุผลที่เขาทำถ้วยชามและวาดเป็นลวดลายไก่ พอสืบค้นแล้วมันไม่มีอะไรซับซ้อน คือว่าเซรามิกสำหรับเป็นข้าวของเครื่องใช้เนี่ยในประเทศจีนหรือทั่วโลกเนี่ยนะครับ เขาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก 1) เรียกว่ากลุ่มเครื่องกังไส ก็คือเนื้อดินขาวโปร่งแสงนะครับ มีการเขียนลวดลายที่วิจิตร อันนี้จะใช้สำหรับคนชั้นสูง 2) คนระดับกลางกับคนชั้นสูงอีกส่วนหนึ่งเขาจะใช้เครื่องชามที่เรียกว่า เครื่องลายคราม ก็เป็นเนื้อสีขาวแต่เขียนด้วยสีน้ำเงินที่เรารู้จักนะครับ ส่วน 3) คนระดับล่าง คือชาวบ้านธรรมดาที่เขาจำเป็นต้องใช้จานชาม คนกลุ่มนี้เขาจะทำแบบไม่ค่อยละเอียดมากนัก แล้วก็ทำแบบง่าย ๆ จะวาดลวดลายจากสิ่งที่เขาเห็นรอบตัว ก็เลยวาดไก่ตัวผู้ที่เขาเลี้ยงนะครับ มีต้นกล้วยเพราะทางภาคใต้ของจีนเขาปลูกกล้วยเยอะ ก็จะมีดอกโบตั๋น มีต้นหญ้า

ส่วนที่เป็นไก่ เพราะว่าชาวจีนที่เขาใช้แรงงานนะครับ เขาถือว่าไก่เนี่ยเป็นสัตว์ที่ขยัน เพราะไก่มันจะตื่นก่อนคน เช้ามามันก็ขันแล้ว แล้วก็คุ้ยเขี่ยนะครับเพื่อจะหากิน เขาเลยใช้ไก่ตัวผู้เป็นสัญลักษณ์นะครับ

ปัจจุบันผมจึงต่อยอด ลวดลายของครอบครับ ก็คือ ‘ไก่’ และทำให้ดูสนุกขึ้น ดูทันสมัยขึ้น สัตว์ประเภทอื่นก็มีเหมือนกัน แต่เราจะไม่ทิ้งความเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลไป ยังคงจะเป็น ไก่ ที่มีสีใส มีเรื่องราว มีความสนุกสนานครับ

 

ภาพ: ธนบดีสกุล