10 ก.พ. 2566 | 19:00 น.
- คาโรชิ มาจากภาษาญี่ปุ่น 過労死 แปลว่า ‘การเสียชีวิตที่มาจากการทำงานหนัก’
- ภาวะนี้มีการบันทึกว่า ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1969
- มีการตั้งข้อสังเกตุว่า คาโรชิ อาจมาจากระบบทุนนิยมที่ต้องใช้คนให้คุ้ม
- รัฐบาลญี่ปุ่น ตระหนักถึงปัญหานี้ และพยายามแก้ไข ขณะที่ประชาชน เกิดแคมเปญประท้วง ‘No More Karoshi’
ในโลกยุคปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง AI และหุ่นยนต์ เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ บวกกับกระแสความแรงของ Work Life Balance ที่ทั้งองค์กรและผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้น น่าจะเป็นเหตุผลให้ขบคิดว่า ทำไม ‘การตายเพราะทำงานหนัก’ หรือ ‘คาโรชิ ซินโดรม’ จึงยังเกิดขึ้น
วลีที่ว่า ‘งานหนัก…ไม่เคยทำให้ใครตาย’ อาจเป็นอีกหนึ่งมายาคติหลอกลวงที่นายทุนใช้เพื่อควบคุมบริวารในมือให้ทำงานถวายชีวิต
เพราะความจริงแล้วการทำงานหนักเกินไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง และนำไปสู่ภาวะล้มเหลวบางอย่างในร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ ภาวะนี้ถึงกับมีชื่อเรียกว่า ‘คาโรชิ’ แม้คำนี้จะมีรากมาจากภาษาญี่ปุ่น แต่ในโลกทำงานปัจจุบัน เราแทบจะเรียกคำนี้แบบทับศัพท์ไปแล้ว
ประวัติคาโรชิ
คาโรชิ มาจากภาษาญี่ปุ่น 過労死 แปลตรงตัวได้ว่า ‘การเสียชีวิตที่มาจากการทำงานหนัก’ มีการบันทึกถูกเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อปี 1969 เกิดขึ้นจากอาการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองกับชายหนุ่มวัย 29 ปีที่ทำงานอยู่ในบริษัทหนังสือพิมพ์ (ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น)
ผลลัพธ์การทำผลสำรวจครั้งใหญ่ถูกเปิดเผยในปี 1988 พบว่า ชายวัยแรงงานกว่า 1/4 ในญี่ปุ่นทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ถ้าทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน นั่นหมายถึง ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว)
กลุ่มแพทย์และทนายความที่เห็นถึงปัญหานี้และอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จึงร่วมมือกันจัดตั้ง ‘สายด่วนคาโรชิ’ (Karoshi hotlines) ให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาการทำงานหนักเกินไปสามารถโทร. เข้ามาขอคำปรึกษาหรือระบายความอัดอั้นในใจได้ ซึ่งเป็นวิธีผ่อนคลายความทุกข์ ไม่ให้เรื่องบานปลายรุนแรงไปมากกว่านี้
ปรากฏว่า ผู้ที่โทร. เข้ามาส่วนใหญ่กลับไม่ใช่คนทำงานหนักอย่างเจ้าตัวโดยตรง แต่เป็น ‘คนรอบตัว’ เช่น ภรรยา สะท้อนว่า เจ้าตัวไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ทำงานหนักเกินไป หรือรู้ตัวแต่ไม่สามารถบรรยายเปิดเผยได้ด้วยเหตุผลต่างๆ
รวมถึงทัศนคติคนญี่ปุ่นที่ชอบแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น นั่นทำให้ Karoshi hotlines มีคนโทรมาเยอะแค่ช่วงปีแรก ๆ ที่เปิดตัว ราว 1,800 สายต่อปี และลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่เฉลี่ย 400 สายต่อปีในปัจจุบัน
คาโรชิเกิดขึ้นได้อย่างไร
สำหรับใครที่ปกติไม่ได้ทำงานหนัก (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) อาจสงสัยว่า งาน White Collar นั่งโต๊ะออฟฟิศหน้าคอมพ์ที่ไม่ได้ใช้แรงกล้ามเนื้อหนักจะเกิดคาโรชิเสียชีวิตได้อย่างไร
คำตอบคือ การเสียชีวิตมักเกิดจาก การอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) และ หัวใจวาย (Heart attack) อันเกิดจากสุขภาพที่ย่ำแย่เรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเวลาคนเราเครียดจัด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน ‘คอร์ติซอล’ (Cortisol) ซึ่งไปรบกวนการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดในสมอง
นอกจากนี้ คาโรชิยังรวมถึงการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ที่มาจากสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ คาโรชิเป็นเหมือนฆาตกรรมทางจิตใจ ร่างกายเลือดเนื้อเรายังอยู่ แต่จิตใจหัวใจข้างใน…ได้ตายไปแล้ว เมื่อข้างในตาย ก็เหลือแค่รอเวลาที่ภายนอก…จะตายตาม
ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน งานมีความกดดันสูง ความเครียดสูง โดยไม่มีทางออกอื่น ๆ หรือคุณหมกมุ่นเรื่องงานจนเก็บเอามาคิดที่บ้าน เก็บเอาไปฝัน หรือแม้แต่ลดทอนความเป็นตัวตนของคุณ ระวังให้ดีอาจเกิดคาโรชิโดยไม่ทันตั้งตัว
ตัวอย่างบุคคลที่จากไปด้วยคาโรชิและเป็นข่าวจนสั่นสะเทือนทั้งสังคม
ปี 2015 ‘มาซึริ ทาคาฮาชิ’ (Matsuri Takahashi) ผู้ที่ทำงานใน Dentsu บริษัทเอเจนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้กระโดดตึกฆ่าตัวตายจากสภาวะจิตใจล้มเหลวที่มาจากคาโรชิ เนื่องจากเธอทำโอทีหนักมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือนก่อนหน้านั้น
ปี 2017 ‘มิวะ ซาโดะ’ (Miwa Sado) พนักงานออฟฟิศหญิงอายุ 31 ปี เพราะเธอทำงานล่วงเวลาหรือโอทีมากถึง 150 ชั่วโมงต่อเดือน
สาเหตุสู่คาโรชิ
ถ้าสืบลึกลงไป คาโรชิมีต้นตอมาจาก ‘ระบบทุนนิยม’ ที่มองมนุษย์เป็นเพียงทรัพยากรแรงงานที่ต้อง ‘ใช้ให้คุ้ม’ (ที่สุด) เพื่อสร้างผลผลิตหรือกำไรให้ได้มากที่สุด
และมักเป็นระบบทุนนิยมที่ ‘ไม่บาลานซ์’ ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็งพอ ไม่ได้มีกลไกด้านสวัสดิภาพแรงงานเข้ามาช่วยเหลือแรงงานเหมือนอย่าง(เช่น)ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เราจึงแทบไม่เคยเห็นคาโรชิเกิดขึ้นในสวีเดน นอร์เวย์ หรือเดนมาร์กเลย
กลับกันประเทศที่พบเจอคาโรชิมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งประเทศเหล่านี้ครั้งหนึ่งล้วนเป็น ‘เสือเศรษฐกิจเอเชีย’ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
ขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเยอะอันดับต้น ๆ ของโลก การแข่งขันสูง โอทีเยอะ และสามารถติดต่องานกับพนักงานหลังเวลาเลิกงานได้อีก
(คาโรชิเคสแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1969 ก็เกิดขึ้นในช่วงมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นกรณีศึกษาระดับโลก)
ในเชิงวัฒนธรรมการทำงาน คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังมีทัศนคติการทำงานแบบสุดโต่ง คือต้องทำงานให้สุด แสดงออกถึงความรับผิดชอบถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในฐานะบุคคลคนหนึ่ง คือทำงานแบบถวายชีวิต (แม้สุดท้ายจะต้อง ‘ถวายชีวิต’ จริง ๆ ก็ตาม)
เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับการประเมินประสิทธิภาพของคนทำงาน (Performance evaluation) โดยเฉพาะจากระดับหัวหน้าที่เป็นกลุ่มคน Baby Boomer หรือ Gen Y ขึ้นไป ที่ยกให้ปัจจัย ‘เวลา’ สำคัญที่สุด
กล่าวคือ ใครที่มาแต่เช้าตรู่และอยู่ออฟฟิศจนถึงดึกดื่น มีแนวโน้มจะถูกประเมินว่าเป็นคนเอาการเอางานและได้รับการโปรโมต มากกว่าจะมองเรื่องผลลัพธ์ประสิทธิภาพการทำงาน ไหนจะเรื่องทัศนคติการทำงานที่ยากจะเปลี่ยนแปลง เช่น หัวหน้าไม่ลาวันหยุด ลูกน้องก็ไม่กล้าลาตาม
กฎหมายด้านการทำงานในญี่ปุ่นก็มีมาตรฐานสากล คือทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (วันละ 8 ชั่วโมง) และแม้ภาครัฐจะกำชับให้การทำโอทีไม่ควรเกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงในวงกว้าง
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อคาโรชิ
คาโรชิกลายเป็นประเด็นระดับโลกและสร้างภาพลักษณ์แง่ลบให้แก่สังคมการทำงานของญี่ปุ่น
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งดูดาย แต่ได้พยายามออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหานี้เช่นกัน…แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จในภาพใหญ่ก็ตาม (ภาครัฐจ่ายเงินเยียวยาแก่เหยื่อคาโรชิทุกคน)
ปี 2017 รัฐบาลญี่ปุ่นโปรโมตแคมเปญ ‘Premium Friday’ ให้คนเลิกงานออกจากออฟฟิศตอนบ่าย 3 (หรือ 3 ชั่วโมงก่อนเวลาเลิกงานปกติ) ทุกวันศุกร์สิ้นเดือน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและมีเวลาให้ครอบครัว
ปี 2021 มีการทดลองให้ทำงาน ‘4 วันต่อสัปดาห์’ เพื่อต้องการสร้างความสมดุลกับชีวิตมากขึ้น
ในส่วนของภาคประชาชน เกิดแคมเปญการประท้วง ‘No More Karoshi’ ขึ้นในกรุงโตเกียวเมื่อปี 2018 การประท้วงนี้มีคนเข้าร่วมทั้งจากสหภาพแรงงานและกลุ่มคนทำงานที่เห็นด้วย
ด้านสื่อที่มี ‘อิทธิพลทางความคิด’ เริ่มให้น้ำหนักไปที่การทำงานอย่างฉลาด ใช้เวลาน้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิมหรือมากกว่า (Work smarter, not harder) มีคำวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนญี่ปุ่นว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นมลพิษ (Toxic work culture)
บ้างก็ว่าที่ต้องใช้เวลาทำงานมากเป็นเพราะทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่? หรือเปรียบเทียบกับชาติอื่น เช่น คนเยอรมันมีชั่วโมงทำงานน้อยกว่ามาก แต่ผลลัพธ์มีคุณภาพและขนาด GDP ประเทศไล่เลี่ยกับญี่ปุ่น?
จุดจบคาโรชิ?
คนญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยคาโรชิหลายร้อยคนต่อปี อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ถูกบันทึก และอีกนับไม่ถ้วนที่มีชีวิตแบบทำงานหนักโดยไม่สมดุลกับการหาความสุขในชีวิต
บางคนอาจมองว่าเป็นตัวเลขจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับวัยแรงงานหลายล้านคนทั่วประเทศ แต่อันดับแรก ชีวิตคนเราไม่ใช่แค่ ‘ตัวเลข’ ทางสถิติ และไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องนี้กับคนรอบตัวของตัวเองอย่างแน่นอน
อันดับที่สองที่ต้องฉุกคิดคือ ยุคที่เรามีหุ่นยนต์ช่วยทุ่นแรงการทำงาน ยุคที่ AI เข้ามาช่วยทำงานหลายอย่างจนมนุษย์แค่กระดิกนิ้วสั่งงาน ยุคที่เรามีเทคโนโลยีทันสมัยที่เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันสำหรับคนในอดีต (ล่าสุดเช่น ChatGPT)
ดังนั้นในยุคศตวรรษที่ 21 คาโรชิ ‘ไม่ควรจะเกิดขึ้น’ กับใครแม้แต่คนเดียวเลยมิใช่หรือ? แต่แล้วทำไมมันถึงยังเกิดขึ้นอยู่? โดยเฉพาะกับประเทศร่ำรวยที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่น?
ดูเหมือนการขจัดคาโรชิให้หมดสิ้นไปคงยังเป็นการเดินทางอีกยาวไกล แต่ในตอนนี้หลายภาคส่วนตระหนักถึงปัญหานี้แล้ว และได้ลงมือในภาคปฏิบัติเพื่อบรรเทาปัญหานี้ เพื่อหวังว่าในวันหนึ่งข้างหน้า…ไม่ควรมีใครสักคนต้องมาเจอกับคาโรชิอีกแล้ว
.
อ้างอิง
.