08 มิ.ย. 2566 | 19:40 น.
พบกับ Stories of the Month ซีรีส์ใหม่โดย The People ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจและประเด็นพิเศษที่มีมาให้ติดตามแบบไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน สำหรับเดือนมิถุนายน 2023 มาพร้อมเรื่องราว ‘องค์กรแห่งความหลากหลาย’
เพราะ ‘ความหลากหลาย’ และ ‘ความเท่าเทียม’ เป็นประเด็นที่สังคมและหลายองค์กรในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงคุณค่าในความแตกต่างของแต่ละคน โดยตัวองค์กรเองพยายามวางแนวทางบริหารและพยายามสร้างบริบทต่าง ๆ ภายในองค์กรเพื่อสนับสนุนความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างของคนในองค์กร ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะ ‘เพศ’ เท่านั้น ยังรวมไปถึงเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความบกพร่องทางร่างกาย ความคิดเห็น ฯลฯ
‘องค์กรแห่งความหลากหลาย’ : Google องค์กรที่เชื่อว่า ‘ความหลากหลาย’ ช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบไม่จำกัด
‘ความหลากหลาย’ และ ‘ความเท่าเทียม’ ถือเป็นหนึ่งประเด็นที่บรรดาองค์กรธุรกิจให้ความสนใจมากขึ้นตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง Google เอง ก็ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่สนับสนุนและวางเรื่องนี้เป็นวิชั่นในการขับเคลื่อนองค์กรนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี ค.ศ. 1998 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งนั่นเป็นเพราะ Google เป็น Tech Company ที่มีผู้คนหลากหลาย จึงต้องการสร้างให้ Google เป็น ‘บ้าน’ ที่เมื่อพนักงานเข้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย ทำงานกันอย่างมีความสุข ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ productivity ดีขึ้น และแน่นอนประโยชน์ก็ย้อนกลับมาสู่องค์กร
เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นรูปธรรม ในปี ค.ศ. 2005 Google เป็นองค์กรแรก ๆ ที่ได้มีการตั้งตำแหน่ง Head of Diversity ขึ้นมาโฟกัสเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขับเคลื่อนผ่าน 3 แกนหลัก ประกอบด้วย
1.Work environment การสร้างบรรยากาศให้เอื้อกับการทำงาน เช่น การฝึกอบรมเรื่องอคติส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยจะผสมผสานเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของทุกคนเข้าไป, มีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าและธุรกิจในองค์รวม ผ่านการตั้งกลุ่มต่าง ๆ อาทิ Women act at Google และ Pride at Google ฯลฯ
2.Product ในการพัฒนาโปรดักต์และบริการแบบ user-friendly ที่สุดและทุกคนใช้ได้ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก disability อย่างฟีเจอร์บน Android ก็จะมีส่วนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยผู้ที่พิการหรือทุพพลภาพโดยเฉพาะ
3.Diversity in future creator of technology การสร้างแรงบันดาลใจกับคนรุ่นใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ใช้เทคโนโลยี แต่สร้างหรือครีเอทเทคโนโลยีขึ้นมาเองที่จะช่วยให้เกิดการ diversity มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี ‘สวัสดิการ’ ที่ตอบโจทย์ เช่น พนักงานกลุ่ม LGBTQ+ มีสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ครอบคลุมไปถึงสิทธิประโยชน์ในการศัลยกรรม แปลงเพศ และบริการอื่น ๆ, การให้ความรู้กับพนักงาน Google เคารพในคำสรรพนามของผู้อื่น โดยแจ้งคนอื่น ๆ ให้ทราบถึงสรรพนามในการเรียกตนเองที่พวกเขาต้องการผ่านโปรไฟล์พนักงาน เพื่อที่จะสามารถรู้วิธีที่ดีที่สุดในการเรียกเพื่อนพนักงานด้วยความเคารพ เป็นต้น
ที่สำคัญมี KPI และวัดผลชัดเจนผ่านหลากหลายรูปแบบ เช่น Google Diversity Report เป็น global tracking ที่ทำประจำทุกปีให้คนภายนอกองค์กรดูได้ด้วยว่า Google มีการจ้างงาน มีระดับผู้บริหารเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชายกี่เปอร์เซ็นต์ คนดำคนเอเชียกี่เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
การให้ความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ทาง Google เชื่อว่า เป็นเหตุผลให้ Google ติดอันดับองค์กรที่คนอยากทำงานด้วยที่สุดในโลก เพราะเมื่อเขาได้มีพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัย สามารถแสดงความเป็นตัวตนของเขาได้ มีสวัสดิการที่น่าสนใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอยากเข้ามาทำงานกับองค์กร