‘แสนสิริ’ องค์กรที่ยกให้ความเท่าเทียมทางเพศ = ทุกวัน และให้บทบาทกับคนที่มีความหลากหลาย

‘แสนสิริ’ องค์กรที่ยกให้ความเท่าเทียมทางเพศ = ทุกวัน และให้บทบาทกับคนที่มีความหลากหลาย

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ‘แสนสิริ’ ถือว่าเป็นองค์กรที่แสดงจุดยืนชัดเจนในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งยังเปิดกว้างรับความหลากหลายภายในองค์กร ทั้งแนวคิดและวิธีปฏิบัติ โดยให้ความเท่าเทียมต่อพนักงานและครอบครัวของพวกเขาอย่างครอบคลุม

  • แสนสิริ เป็น 1 ในกว่า 200 บริษัทชั้นนำในประเทศไทยที่ได้ลงนามร่วมกับ UN ในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business
  • กว่า 7 ปีแล้วที่ แสนสิริ แสดงจุดยืนชัดเจนต่อการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมที่มีบทบาทสำคัญในองค์กร

เพราะ ‘ความหลากหลาย’ และ ‘ความเท่าเทียม’ เป็นประเด็นที่สังคมและหลายองค์กรในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงคุณค่าในความแตกต่างของแต่ละคน โดยองค์กรได้พยายามวางแนวทางบริหารและสร้างบริบทต่าง ๆ ภายในองค์กรเพื่อสนับสนุนความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างของคนในองค์กร ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะ ‘เพศ’ เท่านั้น แต่รวมไปถึงเชื้อชาติ, วัฒนธรรม, ความบกพร่องทางร่างกาย และ ความคิดเห็น เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน Stories of the Month ซีรีส์ใหม่โดย The People จะบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจพร้อมกับเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘องค์กรแห่งความหลากหลาย’ ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเรื่องราวพิเศษในด้านต่าง ๆ ให้ได้ติดตามกันอย่างไม่ซ้ำประเด็น

ในวันนี้เราอยากจะมาเล่าเกี่ยวกับ ‘แสนสิริ’ (SANSIRI) หนึ่งในผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นด้าน ‘ความหลากหลาย’ และ ‘ความเท่าเทียม’ อย่างมาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังเก็บเป็นแนวทางปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

องค์กรแรกของไทยที่ลงนามร่วมกับ UN

‘แสนสิริ’ เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย ทั้งยังเป็น 1 ในกว่า 200 บริษัทชั้นนำทั่วโลกที่รวมทั้ง Microsoft, Google, Coca-Cola, Netflix และ Nike ที่ได้ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business หรือ มาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ทำให้เปิดกว้างรับพนักงาน LGBTQ+ และปฏิบัติงานอย่างเท่าเทียม

จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และการแบ่งแยกในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI ซึ่งย่อมาจาก Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (คนรักสองเพศ) Transgender (คนข้ามเพศ) Intersex (อินเทอร์เซ็กส์หรือเพศที่ไม่ชัดเจน)

‘แสนสิริ’ องค์กรที่ยกให้ความเท่าเทียมทางเพศ = ทุกวัน และให้บทบาทกับคนที่มีความหลากหลาย

โดยภาพลักษณ์ของ ‘แสนสิริ’ เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยชูคอนเซปต์ ‘ทุกวัน คือ ความเท่าเทียมของแสนสิริ’ และสามารถปฏิบัติได้จริงในองค์กร ซึ่งความร่วมมือกับทาง UN สำหรับแสนสิริมองว่า วัฒนธรรมองค์กรที่ดีอย่างน้อย ๆ ต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและลดการกีดกันในสถานที่ทำงาน แสนสิริยังเชื่อด้วยว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ในปี 2022 ‘แสนสิริ’ ได้มอบสวัสดิการให้กับพนักงานที่มีความหลากหลายในองค์กรอย่างน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ลาสมรสได้ไม่เกิน 6 วันต่อปี, ลาผ่าตัดแปลงเพศ ไม่เกิน 30 วันต่อปี, ลาฌาปนกิจคู่ชีวิต ไม่เกิน 15 วันต่อปี, ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม ไม่เกิน 7 วันต่อปี นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงคู่ชีวิตของพนักงานด้วย เช่น วัคซีนทางเลือก และประกันสุขภาพ เป็นต้น

‘เศรษฐา ทวีสิน’ เคยพูดเอาไว้ตอนที่เขานั่งเป็นประธานกรรมการบริหารของแสนสิริ โดยย้ำว่า “ผมว่ามันคุ้มที่จะนำเอาความเท่าเทียมทางเพศและการไม่แบ่งแยกมาเป็นข้อปฏิบัติ มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสถานที่ทำงานใดที่ให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมนั้นจะมีผลประกอบการที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำตามข้อปฏิบัตินี้”

“เหตุผลเพราะว่าจะสามารถดึงดูดลูกค้าที่ให้ความใส่ใจกับความเท่าเทียม รวมถึงยังดึงดูดพนักงานผู้มีความสามารถให้เข้าร่วมและอยู่กับบริษัทได้ยาวนานกว่า และไม่ว่าจะเป็นเพศวิถี (Sexuality) หรือเพศสภาพ (Gender) ใด พนักงานทุกคนต่างแสดงถึงความพอใจที่มีต่องานในบริษัทอีกด้วย”

แม้ว่าในตอนนี้ ‘แสนสิริ’ ได้เปลี่ยนหัวเรือใหญ่ไปแล้ว แต่คอนเซ็ปต์และความเชื่อเกี่ยวกับมิติความหลากหลาย และความเท่าเทียมยังคงอยู่เสมอมา ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของธุรกิจอีกมาก ไม่ว่าจะผ่านไปกี่เดือน หรือกี่ปี การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมยังคงเป็นคีย์สำคัญต่อเส้นทางธุรกิจของแสนสิริต่อไปอีกนาน

 

ภาพ: SANSIRI

อ้างอิง:

SANSIRI

Prachachat

The Standard