26 ส.ค. 2566 | 15:54 น.
- Monday Blues เป็นอาการที่เกิดจากความเครียดหรือความกดดันในที่ทำงาน
- SleepFoundation.org พบว่า 30.9% ของวัยทำงานชาวสหรัฐฯ คืนวันอาทิตย์เป็นคืนที่หลับยากที่สุด เพราะคิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันจันทร์ที่ต้องเริ่มทำงาน
- ภาวะดังกล่าว อาจนำไปสู่การหมดไฟ มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
ใครมีอาการแบบนี้บ้างคือแค่คิดว่า ‘พรุ่งนี้วันจันทร์’ ต้องไปทำงานก็รู้สึกกังวลหรือเครียดจนนอนไม่หลับ นั่นอาจส่งสัญญาณว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะ Monday Blues หรือโรคเกลียดวันจันทร์ อาการที่มนุษย์เงินเดือนเป็นกันเยอะ
โดยภาวะเหล่านี้อาจนำไปสู่การหมดไฟ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ไปจนถึงมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งหากปล่อยไว้นานถึงขั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันกันเลยทีเดียว
‘พรุ่งนี้วันจันทร์’ ต้องทำงานแค่คิดก็สยองแล้ว
Monday Blues เป็นอาการที่เกิดจากความเครียดหรือความกดดันในที่ทำงาน และการได้พักผ่อนในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ ก็ทำให้รู้สึกว่า ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเหลือเกิน แต่เมื่อต้องกลับไปทำงานอีกครั้งในวันจันทร์ หลายคนจึงเกิดอาการแค่คิดก็สยองจนนอนไม่หลับ
ภาพนี้สะท้อนให้เห็นจากผลวิจัยของ SleepFoundation.org พบว่า 30.9% ของวัยทำงานชาวสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันอื่น ๆ คืนวันอาทิตย์เป็นคืนที่หลับยากที่สุดในรอบสัปดาห์ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนนอนไม่หลับในคืนดังกล่าว อันดับ 1 กังวลเพราะ ‘พรุ่งนี้วันจันทร์’ ถึง 57.2% รองลงมา 43.8% กังวลเรื่องงาน และ 41.3% กังวลเรื่องครอบครัว
ขณะที่ Forbes รายงานว่า ความรู้สึกเกลียดวันจันทร์อาจจะเกิดมาจากการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างเรากับผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า เจ้านาย ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบจนเราไม่อยากมาทำงาน โดยเฉพาะวันจันทร์ที่เป็นวันต่อกับวันหยุด ซึ่งได้พักผ่อนทั้งกายและใจ จึงรู้สึกเครียดและกังวลเมื่อต้องกลับมาทำงานอีกครั้ง
ทิ้งไว้นานเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า-ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ภาวะเหล่านี้ ส่งผลให้ร่างกายหลั่ง Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียดออกมาเยอะ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เศร้าซึม หงุดหงิด ฉุนเฉียว นอนไม่หลับในวันอาทิตย์ อารมณ์ไม่สดใส บางคนจะรู้สึกปวดท้อง มวนท้อง ซึ่งหากปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงร้ายแรงทางจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้าได้
นอกจากนี้อาการ Monday Blues ยังทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของร่างกาย โดยเฉพาะ ‘โรคหัวใจ’ โดย British Heart Foundation (BHF) รายงานว่า วันจันทร์จะเป็นวันที่มีผู้ป่วยเข้ามารับรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหัวใจวายสูงกว่าวันอื่นในสัปดาห์
จากรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอาการภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ ST-segment elevation myocardial infarction (STEMI) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับหรือตื่นของร่างกาย และความกังวลทางจิตใจเป็นประจำทุกต้นสัปดาห์
จะรับมือกับอาการ Monday Blues อย่างไร
เมื่อเช็คสัญญาณของอาการแล้ว หากมีแนวโน้มที่เราจะเป็นตกอยู่ภาวะ Monday Blues ทางที่ดีก็คือต้องหาวิธีหลีกเลี่ยงหรือรับมือกับภาวะดังกล่าว
1. วางแผนงาน หรือ To-do-list ไว้ล่วงหน้าเมื่อถึงวันสุดท้ายของการทำงาน เพราะการเขียนทุกสิ่งที่ต้องทำออกมาสำหรับสัปดาห์หน้า จะทำให้เราวางแผนจัดการกับงานและแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยลดความกังวลเรื่องการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
2. ในวันหยุดไม่ควรโหมทำงานหากไม่จำเป็น เพราะควรให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายบ้างหลังจากทำงานหนักมาทั้งสัปดาห์
3. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเมื่อถึงคืนวันอาทิตย์ควรนอนเร็วกว่าปกติ เพื่อให้ตื่นมาตอนเช้าแล้วจะได้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและสดชื่น พร้อมรับมือกับชีวิตในเช้าวันจันทร์ที่เร่งรีบและเป็นวันเริ่มต้นของการทำงาน
4. เพิ่มมุมมองบวกต่อการเริ่มต้นงานในวันจันทร์ เพื่อให้เรามีแรงจูงใจในการทำงานมากกว่าเดิม อาทิ จะได้ไปเจอและได้พูดคุยเรื่องราวสนุก ๆ หรือจะได้ดื่มกาแฟถ้วยโปรดกับเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น และพยายามโฟกัสอยู่กับปัจจุบัน อย่ากังวลกับอดีตหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง
5. ไม่ควรรับประทานอาหารมือค่ำในวันอาทิตย์อิ่มมากเกินไปหรือดื่มคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มมึนเมา เพราะจะทำให้เรานอนหลับไม่สนิท
6. หาวิธีผ่อนคลายระหว่างวัน อย่านั่งทำงานเคร่งเครียดตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น หาของเล่นหรือต้นไม้เล็ก ๆ มาประดับบนโต๊ะทำงาน ลุกเดินยืดเส้นยืดสาย สร้างหัวเราะให้กับตัวเองด้วยการพูดคุยกับคนอื่น ฯลฯ
หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้ว อาการเกลียดวันจันทร์ยังไม่ดีขึ้น หรืออาจเป็นหนักมาก ๆ เช่น ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกใจสั่น หายใจไม่สะดวก ที่อาจจะมาจากอาการแพนิคหรือกังวลหนัก แนะนำให้ลองคุยกับที่ทำงานหรือปรึกษากับนักบำบัด เพื่อหาทางช่วยแก้ไม่ให้กลายเป็นปัญหารุนแรงที่จะกระทบต่อสุขภาพกายสุขภาพใจของเรา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้
.
ภาพ : Pexels
.
อ้างอิง