30 พ.ย. 2566 | 17:07 น.
- แม้แต่พนักงานที่ดีงามที่สุดในองค์กรก็อาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้ หากพวกเขาดันแจ๊กพอตได้ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานที่มีพฤติกรรมไม่ดี
- ทัศนคติเชิงลบอาจส่งผลใหญ่หลวงต่อการทำงาน ยิ่งกว่าการขาดทักษะเสียอีก
- ขั้นแรกในการพลิกสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือการชี้แจงให้พนักงานตัวปัญหาทราบชัดเจนว่า ทัศนคติและความไร้ความสามารถของเขาส่งผลกระทบต่องานในภาพรวม
“ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” น่าจะเป็นสุภาษิตที่ทำให้เห็นภาพชัดสุด หากจะกล่าวถึงการแพร่ระบาดพฤติกรรมไม่ดีในหมู่พนักงาน
เพราะแม้แต่พนักงานดีเด่นขององค์กรก็อาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปได้ หากแจ๊กพอตได้ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานที่มีพฤติกรรมไม่ดี
ทั้งที่ผู้จัดการหรือผู้นำองค์กรต่างคาดหวังให้พนักงานน้ำดีเหล่านี้ เป็นต้นแบบที่ทำให้พนักงานคนอื่น ๆ เกิดความรู้สึกฮึกเหิมอยากจะลุกขึ้นมาตั้งใจทำงานบ้าง
แต่กลยุทธ์นี้อาจไม่ได้ผลอย่างที่คาด หลังมีการศึกษาที่ชี้ว่า การเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่ดีจากพนักงานคนอื่น เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการเรียนรู้พฤติกรรมดี ๆ
ในการศึกษา Is Fraud Contagious? Coworker Influence on Misconduct by Financial Advisors ที่พยายามหาคำตอบว่า พฤติกรรมการฉ้อโกงติดต่อกันได้หรือไม่? และอิทธิพลของเพื่อนร่วมงานมีผลต่อการประพฤติมิชอบอย่างไร? ได้มีการตรวจสอบพฤติกรรมมิชอบของเหล่าที่ปรึกษาทางการเงิน มุ่งเน้นไปที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินสองแห่งที่ควบรวมกิจการกัน โดยทั้งสองบริษัทต่างก็มีสาขาของตัวเองหลายสาขา
ในการควบรวมครั้งนี้ บรรดาที่ปรึกษาทางการเงินจะได้พบกับเพื่อนร่วมงานใหม่จากอีกบริษัท ซึ่งทำให้พวกเขาซึมซับแนวคิดและพฤติกรรมใหม่ ๆ มา
หลังจากนั้นทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลการร้องเรียนเรื่องการประพฤติมิชอบของที่ปรึกษาทางการเงิน เน้นที่บริษัทต้องเสียค่าปรับให้ลูกค้าอย่างน้อย 1 หมื่นดอลลาร์ และที่แพ้คำตัดสินศาล พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อการร้องเรียนเกิดขึ้นกับที่ปรึกษาทางการเงินคนใดคนหนึ่ง ที่ปรึกษาทางการเงินคนอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะทำผิดซ้ำรอยมากขึ้น 37% หากพวกเขาพบเพื่อนร่วมงานใหม่ที่มีประวัติประพฤติมิชอบ ขณะที่โดยเฉลี่ยแล้ว การประพฤติมิชอบแต่ละเคสส่งผลให้มีการประพฤติมิชอบเพิ่มขึ้นอีก 0.59 เคส
อ่านถึงตรงนี้ เหล่าผู้จัดการและผู้นำองค์กรน่าจะเริ่มรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วว่า นอกจากการฉ้อโกงแล้ว พฤติกรรมไม่ดีอย่างอื่นจะลุกลามติดต่อไปยังพนักงานคนอื่น ๆ ได้ด้วยหรือไม่? (เพราะบางแผนกหรือบางองค์กรก็ไม่ได้มีช่องให้เกิดการฉ้อโกงเหมือนบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน)
โดยเฉพาะพฤติกรรมอันเกิดจาก ‘ทัศนคติเชิงลบ’ ที่อาจส่งผลใหญ่หลวงต่อการทำงาน ยิ่งกว่าการขาดทักษะเสียอีก และเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของทีม
แต่ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในเรื่องนี้ ผู้นำองค์กรหรือผู้จัดการสามารถป้องกันไม่ให้ทัศนคติเชิงลบ (ที่ส่งผลต่องาน) ของพนักงานคนหนึ่ง แพร่กระจายไปยังพนักงานคนอื่น ๆ ได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ขั้นแรกในการพลิกสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือการชี้แจงให้พนักงานตัวปัญหาทราบชัดเจนว่า ทัศนคติและความไร้ความสามารถของเขาส่งผลกระทบต่องานในภาพรวม ที่สำคัญต้องมีการหารือกับแผนกทรัพยากรบุคคลก่อนเข้าไปคุยกับเจ้าตัว เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับเอกสารที่จำเป็น กรอบเวลา และวิธีที่องค์กรจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเหมาะสม
ส่วนในทีมหรือในแผนก ควรมีการบอกกับพนักงานคนอื่นอย่างชัดเจนว่า อย่าคาดหวังการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพจากพนักงานคนดังกล่าว และแต่ละคนต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมของทีมให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น โดยมองไปที่เป้าหมายของทีมและบริษัทเป็นหลัก
สำหรับพนักงานคนดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการอธิบายปัญหาของเขาว่าเกิดจาก ‘ทัศนคติ’ เพราะมันดูเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป และมีแนวโน้มว่าจะถูกมองว่า ไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว มากกว่าเป็นปัญหาประสิทธิภาพการทำงาน
เพราะฉะนั้นควรพูดเฉพาะเจาะจงว่าพฤติกรรมเชิงลบของเขาส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และขวัญกำลังใจของคนอื่น ๆ ในทีมอย่างไร
หรือหากองค์กรมีโปรแกรมให้ความช่วยเหลือพนักงานในด้านพฤติกรรม ก็ควรส่งพนักงานคนนี้ไปแก้ไขพฤติกรรมที่มีปัญหา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีมากเพราะแสดงให้เห็นว่า หัวหน้างานต้องการให้พนักงานพัฒนาตนเอง และได้พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างจริงใจ
กลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวอีกประการหนึ่งคือการให้คะแนนการมีส่วนร่วมของพนักงานแต่ละคน ซึ่งจะลดโอกาสที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถลอยตัวอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร พร้อมกับย้ำว่าการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน มีความสำคัญพอ ๆ กับการบรรลุยอดขายหรือเป้าหมายขององค์กร
ข้อสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในองค์กรมักเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็เป็นพนักงานทรงคุณค่าที่มีส่วนต่อความก้าวหน้าขององค์กร
เพราะฉะนั้น การจัดการปัญหาพนักงานที่อาจส่งผลใหญ่หลวงต่อทีม จึงนับเป็นการส่งข้อความที่ทรงพลังถึงทีมว่า ผู้นำองค์กรได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างแข็งแกร่งแล้ว เพื่อที่จะรักษาบรรยากาศการทำงานของทีมให้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ดีก็จะสะท้อนกลับมายังองค์กรในที่สุด
ภาพ : Pexels
อ้างอิง :