08 ม.ค. 2567 | 15:02 น.
- ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ มองว่า โครงสร้างทางสังคมเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนทำงานสมัยนี้ต้องการการ heal ใจ
- Leader is culture องค์กรเป็นยังไง สะท้อนได้จากหัวหน้าหรือผู้นำ
- ชวนตั้ง Top 3 ที่เราต้องมีเพื่อเอื้อต่อการเติบโตในที่ทำงาน และ Top 3 ที่ห้ามมีในที่ทำงาน
“อยากได้ performance ที่ดี เราได้ดูแลคุณภาพชีวิตคนในที่ทำงานเรา ดีหรือยัง?
“มันน่ากลัวนะเวลาที่เราอยากให้พนักงานไปดูแลคนเต็มไปหมดเลย แต่ in action บริษัทไม่ได้ทำ เราบอกทุกคนว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ก่อนที่ลูกค้าจะเป็นพระเจ้า เราเคยทำให้พนักงานรู้สึกหรือยังว่า เฮ้ย ไอ้การได้รับการดูแล ไอ้การที่มีคนเห็นคุณค่าเรา ไอ้การที่คนใส่ใจเรา โอ้โห โคตรรู้สึกดีแบบนี้นี่เอง พอเขาได้เรียนรู้แบบนี้ เขาถึงจะไปดูแลคนอื่นได้ไง…”
นี่คือหนึ่งในคำพูดโดนใจคนทำงาน ที่ ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ นักเขียนและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ หยิบยกมาพูดคุยกับ The People ช่วงบ่ายวันหนึ่ง
นอกเหนือจากหัวข้อนี้ ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ ยังพูดถึงบทบาทของผู้นำหรือหัวหน้าองค์กร ที่ไม่จำเป็นต้อง ‘เก่งไปซะทุกเรื่อง’ รวมถึงวิธีที่เราจะ check ตัวเองว่า เรายังเหมาะกับการทำงานในที่ทำงานปัจจุบันอยู่หรือเปล่า? หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกไป ‘เติบโต’ ในสภาพแวดล้อมใหม่
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มกันได้เลย
The People : ทำไมคนทำงานสมัยนี้มันต้องการการฮีลใจ (heal ใจ) เยอะเหลือเกิน
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : เอาจริง ๆ ทำงานในยุคนี้มันยากมากเลยนะ ใช้ชีวิตในยุคนี้มันยากมาก เพราะหนึ่งคือโจทย์ที่เราได้มันเปลี่ยนไปหมดเลย มันคือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เจอโควิดต่าง ๆ มาแล้วก็ไม่รู้จะเจอวิกฤตอะไรต่ออีก แล้วโลกมันหมุนเร็วขึ้น ลองคิดดูนะ คนหนึ่งคนต้องเรียนรู้อะไรตั้งเยอะแยะไปหมดเลย งาน Hard skills ก็ต้องมี soft Skills ก็ต้องมี ต้องรู้เรื่องดิจิทัล ดิจิทัลก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สังคมก็ต้องมี แล้วก็ต้องออกไป event เพื่อไปเจอผู้คน connection ก็ต้องมี มันเยอะมาก ทำไมต้องการอะไรจากฉันขนาดนี้
ขณะเดียวกัน ในขณะที่เรารู้สึกว่าเราเหนื่อยมาก ๆ ทำไมมันยากขนาดนี้ พอเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ทำไมทุกคนทำได้หมดเลยวะ ทำไมทุกคนมีชีวิตที่ดีเต็มไปหมดเลย มันเกิดการเปรียบเทียบ และทำให้เรารู้สึกว่า โห หรือเราจะเป็นคนเดียววะที่ทำไม่ได้ มันยิ่งโดดเดี่ยว ทำให้รู้สึกว่าหรือฉันไม่เก่งวะ หรือฉันไม่มีคุณค่าวะ แล้วฉันจะตกยุคหรือเปล่า เดี๋ยวจะมีคนมาแทนที่ฉันไหม หรือที่ผ่านมาฉันทำอะไรผิด ไอ้ความรู้สึกแบบนี้มันสะสม ๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีหน้ากากที่ทำให้คนเห็นว่าเราโอเค เราต้องแสดงให้คนเห็นว่าชีวิตเราดี เพราะทุกคนชีวิตดีหมด จะให้ออกมาพูดว่าฉันไม่โอเค ก็ยากอีก
เพราะฉะนั้น ความกดทับหลาย ๆ อย่าง ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันยากมาก ๆ เลย ที่จะใช้ชีวิตในยุคนี้
The People : แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ยังไง?
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : เอาจริง ๆ เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่แค่แก้ที่เราส่วนเดียว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เลย คือเรื่องของโครงสร้างทางสังคม ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของเรา ให้มันมีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยเยียวยาจิตใจ
ลองคิดดู เด็กจบใหม่ที่จบมาในยุคโควิด ฝึกงานก็ไม่ได้ฝึก เรียนก็เรียนออนไลน์ skill ต่าง ๆ อาจจะยังไม่ได้พร้อมมากมาย เรียนจบด้วยความรู้สึกว่า เอ๊ะ ฉันโอเคหรือเปล่า ฉันพร่องไปหรือเปล่า ทำไมฉันต้องกลายเป็นรุ่นที่ถูกเลือกขนาดนี้ พอออกไปทำงานต้องเจอทั้งค่าบ้าน ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ที่มันไม่ได้เอื้อต่อคนที่เริ่มต้นใหม่ มันยิ่งยากกว่าเดิมอีก แล้วลองดู job recruitment สิ่งที่เขาต้องการจากเด็กจบใหม่ มันน่ากลัวมากเลยนะว่าต้องการอะไรจากกูขนาดนี้เนี่ย ความสามารถก็ต้องมี ทักษะต่าง ๆ ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ ดิจิทัลก็ต้องรู้เรื่อง content ก็ต้องทำได้ ถ่ายรูปก็ต้องทำได้ เป็น admin ก็ต้องเป็น admin ที่มีความรู้เรื่อง marketing ด้วย ภาษาก็ต้องได้มากกว่า 2 ภาษา ทั้งหมดนี้เงินเดือน 15,000 บาท ฮัลโหล! พอมันเป็นอย่างนี้ปุ๊บ ไอ้แค่ออกจากบ้านไปเพื่อให้มีชีวิตรอดปกติก็ยากแล้ว
โครงสร้างทางสังคมมันไม่ได้เอื้อให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ต้น ลองคิดดูว่าคนที่จุดเริ่มต้นมันยากขนาดนี้ มันกระท่อนกระแท่นแบบนี้ ไอ้การที่เขาจะไป fullfill เรื่องอื่นๆ มันยิ่งยากเหมือนกันนะ มันเหนื่อยนะ
ทีนี้ถามว่าจะแก้ยังไง จริง ๆ มันไม่ใช่แก้แค่เราที่บอกว่า โอเคต่อไปทุกคนต้องคิดบวก ไม่ใช่ กูจะบวกได้ยังไงท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ โครงสร้างสังคมเองมันก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน ต้องทำให้มันสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของคนที่ดีและให้ดีได้ ถ้าคุณภาพของชีวิตของคนมันดี เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง อันนี้ในส่วนของโครงสร้างทางสังคม ต้องกลับมาดูเรื่องคุณภาพชีวิตของคนมากขึ้น
ส่วนเรื่องของที่ทำงานเหมือนกันนะ ที่ทำงานมันไม่คงไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงานอย่างเดียว มันต้องมองถึงว่าที่ทำงานเป็นเหมือนเหมือนดิน ที่เราต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีเข้ามา แต่ไม่ใช่เลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีมาแล้วโตเลย ไปเลยจ้า มันไม่ได้ไง มันต้องมีการฟูมฟัก มันต้องมีการ groom เขา ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานหรือทักษะการทำงานอย่างเดียว เดี๋ยวนี้มันต้อง groom ทั้งเรื่องทักษะความเป็นคน groom ให้เขาเติบโตขึ้นมาได้ เพราะทั้ง 2 อย่างนี้มัน synchronize กัน คุณไม่สามารถจะทำงานอย่างเดียวด้วยทักษะ hard skills โดยที่คุณไม่ได้พึ่งพา soft skills เลย ขณะเดียวกันก็ต้องมี growth mindset ที่ทำให้เราเติบโตขึ้น ผ่านอุปสรรคอะไรต่าง ๆ ได้
ที่ทำงานต้องดูแลเขาให้ดี จากเดิมที่เคยเฆี่ยนตีเขาด้วยตัวเลขกำไร ลูกค้า performance ลองกลับไปดูไหมว่า เอ๊ะถ้าอยากได้ performance ที่ดี อย่างงั้นเราได้ดูแลคุณภาพชีวิตคนในที่ทำงานเราดีหรือยังวะ?
มันน่ากลัวนะเวลาที่เราอยากให้พนักงานไปดูแลคนเต็มไปหมดเลย แต่ in action บริษัทไม่ได้ทำ เราบอกทุกคนว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ก่อนที่ลูกค้าจะเป็นพระเจ้า เราเคยทำให้พนักงานรู้สึกหรือยังว่า เฮ้ย ไอ้การได้รับการดูแล ไอ้การที่มีคนเห็นคุณค่าเรา ไอ้การที่คนใส่ใจเรา โอ้โห โคตรรู้สึกดีแบบนี้นี่เอง พอเขาได้เรียนรู้แบบนี้ เขาถึงจะไปดูแลคนอื่นได้ไง แต่ถ้าเกิดไปโบยตีเขาแล้วบอกว่า ไปทำซะ ๆ ไม่มีประโยชน์ เขาก็จะถามว่าทำแล้วไงวะ ลูกค้าเป็นพระเจ้าขนาดนั้นเลยเหรอ คือเขาก็จะมีคำถามหมดไง เขาก็จะไม่อิน เพราะที่ทำงานไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองพูดไง
The People : อย่างนี้ผู้นำองค์กรหรือว่าหัวหน้างานสำคัญมากเลยใช่ไหมคะ
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : สำคัญ หัวหน้าหรือผู้นำมีความสำคัญมาก ๆ เลย เพราะว่า Leader is culture คือองค์กรเป็นยังไง มันสะท้อนได้จากหัวหน้าหรือผู้นำ ผู้นำเป็นยังไงองค์กรก็เป็นแบบนั้น ลองคิดดูนะ ถ้าองค์กรพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่มันสวยหรูมาก ๆ เลย แต่ทุกวันที่พนักงานทำงานหันไปดูหัวหน้าหรือผู้นำ ไม่ได้ทำแบบนั้น มันก็ปลอมมะและคนที่อยู่กับความรู้สึกว่า เออที่นี่แม่งปลอมหว่ะ ทุกวัน ๆ เขาจะโตไปเป็นแบบไหน กลับกันถ้าเกิดหัวหน้าหรือผู้นำได้เป็นตัวอย่าง พูดในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่พูด ทุกวัน ๆเขาเห็นตัวอย่างอยู่ทุกวัน คนก็จะรู้ว่า อ๋อสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำมันคือสิ่งเดียวกัน นี่คือ culture ขององค์กร องค์กรของเราคือตัวจริง
The People : อะไรคือ toxic ที่น่ากลัวสุดในองค์กร
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : โอ้ น่ากลัวหลายอันเลย (หัวเราะ) แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า ส่วนหนึ่งที่มันทำให้เกิด toxic ในองค์กรได้ เพราะว่าองค์กรไม่สามารถยอมรับความล้มเหลวได้ คือแน่นอนเราคงอยากให้ผลงานออกมาดี ประสบความ แต่ถ้าเราอยากได้ผลลัพธ์แบบใหม่ อยากได้ความคิดสร้างสรรค์ innovation แต่เราไม่เคยให้โอกาสพนักงานได้ทดลองได้ทำผิดพลาดบ้าง เขาก็จะต้องทำถูกอยู่ตลอดเวลา พอทำถูกอยู่ตลอดเวลา อะไรบ้างหล่ะที่มันทำถูกตลอดเวลา มันก็คือสิ่งที่เคยทำมาแล้ว ถูกไหม? ก็ไม่ผิดไงเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำผิดขึ้นมาก็โดนปาหินสิ ทำผิดพลาด อ้าว โดนด่า แต่บอกว่าอยากได้นวัตกรรมใหม่ ฮัลโหล!
กับอีกอันที่น่ากลัวก็คือ ทำงานให้ถูกใจหัวหน้า บางทีทำทำงานให้ถูกใจหัวหน้ากับทำงานให้ได้ประสิทธิภาพและตอบโจทย์ขององค์กรและลูกค้า อาจจะเป็นคนละเรื่องกัน
มันมีเหมือนกันนะ ทำงานเพื่อจะขายหัวหน้าให้ผ่าน เพราะรู้ว่าถ้าขายแบบนี้หัวหน้าจะชอบ แต่ไม่มีอะไรการันตีเลยนะว่าสิ่งที่หัวหน้าชอบคือสิ่งที่ลูกค้าชอบ คนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว คนที่ตัดสินได้ดีที่สุดว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี ไม่ใช่หัวหน้า ไม่ใช่ลูกน้อง ไม่ใช่คนในองค์กรด้วยซ้ำ แต่เมื่อผลงานนั้นออกไปสู่ลูกค้าแล้ว ลูกค้าจะเป็นคนบอกว่าอันนี้ work หรือไม่ work
The People : ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะเปลี่ยน mindset หัวหน้าหรือผู้นำองค์กรยังไง?
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : ต้องฟังให้เยอะขึ้น หัวหน้าต้องเป็นคนสุดท้ายที่ได้พูด ฟังให้เยอะ ไม่ใช่แค่ฟังลูกน้องนะ ฟังลูกค้า ฟังคนรอบตัว stakeholder พอฟังเยอะ ๆ มากขึ้นแล้วพูดเป็นคนสุดท้าย มันจะทำให้เราเก็บข้อมูลอะไรต่าง ๆ ได้ ลองคิดดูถ้าเกิดหัวหน้าพูดคนแรก ทุกคนก็คงเห็นด้วย ดีงามมากเลยครับ นึกออกไหม ก็ไม่มีใครกล้าพูด แต่ถ้าเกิดเขาออกไปฟังบ้างว่าลูกค้าคิดยังไง ไม่ใช่เพื่อจะโทษใคร ไม่ใช่เพื่อจะปาหิน แต่เพื่อที่จะไปฟังว่า เราจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เราอยากรู้จังเลยว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร จะไม่เกิดการปาหินขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของแผนกไหนก็ตาม แล้วเราจะแก้ปัญหาลูกค้าให้ได้ เอา comment ของลูกค้าเป็นหลัก โดยที่ไม่มานั่งปาหินกัน
The People : น่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นแต่หัวหน้าเป็นคนพูดเยอะที่สุด
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : หัวหน้าก็น่าสงสารนะเอาจริงๆ เพราะที่ผ่านมาหัวหน้าถูก groom มาว่าฉันต้องเป็นผู้นำ ฉันต้องรู้ทุกอย่าง ฉันผิดพลาดไม่ได้ พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ มันเป็นอัตโนมัติที่เขาต้องพูด ที่เขาต้องมีความเห็น ที่เขาจะผิดพลาดไม่ได้ แล้วเขาต้องดูเหมือนเก่งไปหมด นึกออกป่ะ แต่มันเป็นหัวหน้าแบบยุคเก่า หัวหน้ายุคนี้คือหัวหน้าที่สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการทำงานได้ดีที่สุด ไม่ใช่หัวหน้าที่ต้องเก่งที่สุดด้วยนะ ไม่ต้องรู้ทุกเรื่องก็ได้ มีลูกน้องที่เก่งนี่ประเสริฐมากเลยนะ แต่มีลูกน้องที่เก่งในแต่ละเรื่อง แล้วทำอย่างไรให้เขาทำงานร่วมกันได้ ทำยังไงให้เขาอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เขาสามารถดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้ อันนี้คือโจทย์
The People : ทีนี้มันมีหลายเรื่องที่บางคนอาจจะเปลี่ยนไม่ได้ ทั้งโครงสร้างสังคม ทั้งเรื่องหัวหน้า ทั้งบรรยากาศต่าง ๆ จนเขาเกิดสภาวะที่เรียกว่า burnout ซึ่งเป็นคำที่ฮิตมากในช่วงที่ผ่านมา พี่ท้อฟฟี่มีมุมมองกับเรื่องนี้ยังไง
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : อันนี้ต้องแยกก่อนว่า burnout จริงไหม หรือว่าอยู่ในขั้นไหน เพราะเวลาที่เราเจอปัญหาหนักมาก ๆ บางทีเราสงสัยว่าตัวเองจะ burnout ซึ่งจริง ๆ อาจจะยังไม่ถึงจุดที่ burnout ด้วย ในวงเล็บแปลว่ามันอาจเลวได้มากกว่านี้อีก (หัวเราะ) ซึ่งน่ากลัวมาก ไม่ควรจะต้องไปถึงจุดนั้น แต่การที่เราคอยหมั่นสำรวจอยู่ตลอดเวลาว่า อันนี้ฉันอยู่ในจุดไหนวะ เอออันนี้ไม่ไหวแล้วจริง ๆ หรือยัง หรืออันนี้มันมีวิธีการแก้ไขแบบไหน มันจะช่วยทำให้เราไม่ลากตัวเองไปถึงจุดที่ระเบิดอ่ะ นั่นแปลว่ามันต้องมีโครงสร้างของระบบ support system กันและกัน
ตั้งแต่ในชีวิตส่วนตัวเราเลย เวลาเรามีปัญหาอะไร เราคุยกับใครได้ เรามีใครที่เราสามารถที่จะบอกได้ว่า เราไม่โอเค ในที่ทำงานเหมือนกัน ที่ทำงานมีคนแบบนั้นไหม หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน มีสักคนไหม ที่เราสามารถเดินไปบอกเขาได้ว่า เรารู้สึกไม่โอเคเลย แล้วเขารับฟัง ถ้ามันมีตรงนี้ได้ อย่างน้อยมันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราจะไม่ลากตัวเองไปถึงจุดที่เป็นระเบิดได้ ขณะเดียวกัน ถ้าเราอยากให้มีคนรับฟังเรา เราเองก็ต้องรับฟังเขาเหมือนกัน มันเกิดมาจากตัวเราเหมือนกันไอ้เรื่องแบบนี้ มันเป็นสิ่งสะสมเหมือนกันนะครับ หมายถึงว่าถ้าเราอยากให้มีคนรับฟังเรา เราเองก็ต้องรับฟังเขาเหมือนกันเนอะ
แต่ส่วนใหญ่เวลาที่มีคนมาปรึกษาเรา เราจะชอบบอกเลยต้องทำอะไร 1 2 3 อู้หูว เรื่องคนอื่นเราเก่งมากเลย แต่จริง ๆ แล้ว หลักการคือเรารับฟังเขาก่อน ให้เขาพูดออกมา เวลาที่เขาพูดออกมา เขาจะได้ยินเสียงตัวเองด้วยว่า เขากำลังคิดอะไรอยู่ แล้วเราก็คอยสะท้อนว่าเขารู้สึกแบบนี้ใช่ไหม เขาคิดแบบนี้ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าฟังเสร็จแล้วเราก็บอกว่าทำนู่นทำนี่เลย คือไอ้ความปรารถนาดีของเรา เราอยากจะไปอุ้มเขาขึ้นจากน้ำ แต่ว่าจริง ๆ แล้ว คนที่ช่วยเขาได้ดีที่สุดคือตัวเขาเอง ทางออกที่เรานำเสนอให้เขามันอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดก็ได้ เพราะเขาคือคนที่รู้สถานการณ์ดีที่สุด เรื่องบางเรื่องเขาอาจจะไม่ได้เล่าให้เราฟัง และเรื่องบางเรื่องสิ่งที่เขาเห็นกับสิ่งที่เป็นจริงในรอบด้านอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ เขาเห็นในมุมของเขา แต่จริง ๆ มันมีเยอะเต็มไปหมดที่เขาไม่ได้มองเห็น แล้วเราก็ไม่รู้ด้วย หน้าที่ของเราคือเรารับฟังเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเวลาที่มันมีปัญหา เขาไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
The People : คือก่อนที่เราจะมาเรียกร้องหาเพื่อน เราก็ต้องทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีด้วย
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : ด้วย ๆ ที่สำคัญมันต้องเป็นเพื่อนที่ดีของตัวเอง เราต้องเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเราเองด้วยเหมือนกัน
คือเวลาที่เรารักใคร เราก็อยากให้สิ่งที่ดีกับเขา เวลาที่เขาเจ็บปวดมา เราก็คงไม่ไปโบยตีเขา ไม่ปาหินใส่เขา หรือคงไม่พูดอะไรเลว ๆ ร้าย ๆ ให้เขายิ่งเสียใจ แบบเดียวกันกับตัวเรา เวลาที่เราล้ม เวลาที่เราผิดพลาด เวลาที่เรารู้สึกแย่มาก ๆ แล้วทำไมเราถึงกลายเป็นคนที่ไปพูดอะไรเลว ๆของตัวเอง ทำไมเราไม่มองเห็นว่า เฮ้ย นี่ถ้าเกิดเราอยู่ตรงข้างหน้าตัวเราเอง เราจะพูดอะไรกับเขา เราจะพูดไหมว่าทำไมแกทำได้แค่นี้ เราก็คงไม่พูด เราคงอยากกอดเขา เราคงอยากทำให้เขาระบาย เราคงอยากทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย มันมีคนที่ตั้งใจฟังเขาอยู่ คนที่จะดูแล คนที่จะไม่ไปไหนเลย จนกว่าที่เธอจะรู้สึกดี เราต้องเป็นเพื่อนคนนั้น กับตัวเราเอง
The People : คนวัย 35 - 40 ปี ที่เป็นวัย ‘เดอะแบก’ บางทีอยากจะไปจากที่ทำงานนี้แล้ว แต่ติดชะงักเรื่องปัญหาทางการเงิน ทำให้ไปไหนไม่ได้สักที คนกลุ่มนี้จะแก้ปัญหายังไง
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : จริง ๆ เวลาคนลาออกครับ มันมี research นะ ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียวที่คนเราต้องการ คนเราต้องการในแง่หน้าที่การงานด้วย ต้องการตั้งแต่ความเติบโตก้าวหน้า ทักษะที่เพิ่มพูนได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตรงนี้สำคัญมาก ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน
อันต่อมาคืองานของเขาเป็นงานที่มีความหมาย เขาตื่นมาทุกวันแล้วเขาได้รู้สึกว่า โห พลังงานที่ทุ่มเทไปมันเกิดประโยชน์กับใคร มันได้ไปช่วยเหลือใคร มันได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่าเขาได้ทำงานที่เขาได้ใช้ความสามารถของเขา ให้เขารู้สึกว่าแบบ เฮ้ย เรามีความเก่งของเรา และความเก่งของเราได้ใช้ อันนี้ก็สำคัญมาก ๆ ไปจนถึงเขาต้องการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต หรือแม้แต่การมีเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้มานั่งแทงหลังกัน ไม่ต้องมาคอยระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าฉันจะโดนอะไรบ้างวันนี้ คือมันมีอะไรอื่น ๆ ที่ต้องการมากไปกว่านั้น มากไปกว่าเรื่องเงิน
ไม่ได้บอกว่าเรื่องเงินไม่สำคัญนะ ตัวเงินเองก็ต้องมีความเหมาะสมทำให้เราอยู่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าเรามองคนในมิติแค่ว่า เธอต้องการแต่เงินแหละ วันที่มีคนเดินมาลาออก แล้วเราก็โยนไปเลยแบบที่นั่นให้เท่าไหร่ เราให้มากกว่านั้น แล้วบางทีคนก็จะมึน ๆ งง ๆ กับการโดนเงินตบมา โอเค ๆ อยู่ต่อก็ได้วะ แต่พอปัญหามันไม่ได้ถูกแก้ มันเหมือนแบบเอาจริง ๆ กูไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน แต่ได้เงินมาก็ดีเหมือนกัน แต่ปัญหานั้นที่เรามี มันไม่ได้ถูกแก้ มันยังคงอยู่ สุดท้ายมันก็เป็นเดอะแบกอีก เพราะว่าแบกในการตัดสินใจของตัวเองในตอนนั้นว่า เออรับเงินมาแล้วอ่ะก็ต้องอยู่ได้ดิวะ
หรือบางคนบอกว่า โห งานแย่แค่ไหนก็ตาม ชีวิตแย่แค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยวันที่ 25 มีเงินเดือนเข้า โอเคแล้ว พอได้เงินมาเอาไปใช้ความสุขอย่างอื่น ไม่ผิดเลย เพราะได้เงินมาก็ดี แต่ว่ามันมากไปกว่านั้นคือ ทำไมเรามีความสุขได้แค่วันเดียววะ ทำไมต้องรอถึงวันที่ 25 ถึงจะมีความสุขได้ เพราะฉะนั้นแปลว่า เราต้องใช้ชีวิตหฤโหดของเราไปเรื่อย ๆ เพื่อรอวันที่ 25 แล้วก็จะมีความสุขแค่วันในวันเดียว อาจจะไม่พอ แล้ววันที่เหลือ ถ้ามันเป็นไปได้ ทำให้มันเป็นวันที่มันมีความสุขไปด้วย มันจะดีมากๆเลย ไม่จำเป็นจะต้องทน ๆ ไปเถอะ
บางคนก็จะบอกว่า เด็กรุ่นใหม่หรือว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยทน คำถามคือมันมีเหตุผลอะไรให้เขาทน ถ้าต้องทนกับความไม่ถูกต้อง ทำไมต้องทน ถ้ามันไม่โอเคทำไมต้องทน ต้องลองกลับไปดูว่า เวลาที่คนรู้สึกเป็นทุกข์ในการทำงานหน่ะ เขาเป็นทุกข์มาจากอะไร เป็นทุกข์เพราะว่าเงินเดือนที่มันไม่สอดคล้องกับความสามารถของเขาหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่าโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานมันไม่ค่อยมี เขาไม่เห็นได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เลย หรือเป็นเพราะว่างานที่เขาทำอยู่ไม่เห็นมีความหมายเลย วัน ๆ ก็นั่งทำ โขก ๆ ให้มันเสร็จ ๆ ไปอย่างนั้น ไม่เคยรู้เลยว่างานของเขามันไปมีประโยชน์ต่อคนอื่นรึเปล่า หรือเขารู้สึกทุกข์เพราะว่าเพื่อนรอบตัวของเขา นี่คือมาทำงานหรือมาอยู่ในสงคราม แล้วพอเป็นอย่างนี้มาแปะป้ายบอกว่าเขาไม่ทน
คือเราต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่เลือกดินได้ หมายถึงเราเองก็ต้องเป็นคนที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดี มีทักษะ มีวิธีคิด มีความอดทน มีวินัย พอเราเป็นอย่างนี้ปุ๊บ เราจะเลือกดินหรือที่ทำงานที่ดีได้
เวลาบอกว่าไปสมัครงาน คนจะนึกว่าเราไปขอร้องที่ทำงานให้เลือกฉันเถอะ จริง ๆ แล้วไม่นะ มันคือการเลือกกันและกัน เขาก็ต้องเลือกเรา เราก็ต้องเลือกเขา เวลาสัมภาษณ์งานมันเหมือนมาดูตัวกัน ที่นี่ใช่ป่ะวะ นี่คือหัวหน้าเรา นี่คือคนที่เราจะต้องตื่นมาทำงานด้วยตลอดใช่ไหมนะ วิธีคิดของเขาเป็นยังไง องค์กรนี้เป็นยังไง มันคือเลือกกันและกัน ไม่ใช่แค่เขาเลือกเรา แต่เราก็ต้องเลือกเขาด้วย พอเรา match กัน มันถึงอยู่ด้วยกันได้
กับอีกอันหนึ่งก็คือว่า มันไม่มีงานไหนถูกใจเราไปทุกอย่าง ต่อให้เป็นงานที่เราชอบที่สุด หูย อันนี้รักมาก มันก็ต้องมีบางส่วนที่ไม่โอเคไม่ชอบ วิธีการคิดก็คือว่าลอง list ครับ Top 3 ก็ได้นะ 3 อย่างที่ต้องมีในการทำงานของเรา ในที่ทำงานของเรา เพราะมันเอื้อต่อการเติบโตของเรา มันเอื้อต่อการเป็นคนแบบที่เราอยากเป็น ขณะเดียวกันต้องมี Top 3 อีกฝั่งตรงข้าม อันนี้ห้ามมีในที่ทำงาน
list 2 อย่างนี้สำคัญมาก เพราะมันช่วยเรา check อยู่ตลอดเวลาว่าที่ทำงานนี้ยังใช่หรือเปล่า และเรายังใช่สำหรับที่ทำงานนี้หรือเปล่า
เพราะถ้า Top 3 ของเรา มันตอบได้ชัดเจนว่า อันนี้มันตรงกับคนที่เราอยากเป็น ที่ทำงานมันเอื้อกับตรงนี้อยู่ อันนี้ใช่เลย แปลว่าเราจะอยู่ด้วยความสมัครใจ ด้วยความเต็มใจเพราะเรารู้ว่าที่นี่ดี ขณะเดียวกันเวลาที่เรามีปัญหาใด ๆก็ตาม ลองหันไปดูว่า Top 3 สิ่งที่เราเคยตั้งไว้ว่าอันนี้ฉันไม่สามารถจะรับได้ เพราะมันไม่เอื้อต่อการเติบโตของฉัน มันตรงหรือเปล่าวะ เพราะเวลาเรามีปัญหามา มันจะเหมือนปัญหามีเต็มไปหมดเลย แต่จริง ๆ แล้วปัญหานี้ไม่ได้อยู่ใน Top 3 แปลว่า มันอาจจะยังไม่รุนแรงขนาดนั้น จะได้จัดการได้ถูก
The People : แล้ว Top 3 ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วย
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่ผิดเลย บางคนที่ทำงานต้องใกล้บ้านเพราะว่าฉันต้องไปส่งลูกด้วย first priority ชีวิตของเขาอาจจะเป็นเรื่องลูก สำคัญคือเรารู้หรือเปล่าว่า Top 3 ของเราคืออะไร
The People : แล้วก็ต้องมีการทบทวน Top 3 อย่างสม่ำเสมอด้วย ไม่ใช่แค่ตั้งมาเฉย ๆ
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : ใช่ พี่ว่าคำถามที่สำคัญมาก ๆ เลยคือว่า เราอยากโตไปเป็นคนแบบไหน คำถามนี้มันช่วยให้เราทบทวนอยู่ตลอดเวลาว่า คนที่เราเป็นอยู่ตอนนี้กับคนที่เราอยากเป็นหน่ะ คนเดียวกันหรือเปล่า
เรื่องนี้พี่ได้ตอนที่พี่ได้งาน แล้วมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่สนิทกับพี่ เขาพูดว่าท้อฟฟี่โตขึ้นแล้วอย่าเปลี่ยนไปมากนะ พี่ก็งงว่า กูจะไปเปลี่ยนอะไรวะ เพราะว่าเราก็เป็นคนน่ารัก ๆ แบบนี้อยู่แล้ว เราจะเปลี่ยนไปเหรอ แต่พอเราได้ทำงานครับ เราได้เห็นคนที่ ว้าว หลากหลายมาก คือมีทั้งคนที่อันนี้อยากเจอหน้าพ่อแม่เขาเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำอะไรผิดพลาด ไม่ค่อยได้อุ้มรึเปล่า
แล้วก็มีทั้งคนที่แบบ โหย ทำไมพี่คนนี้เขามีความสามารถแบบนี้ ทำไมเขาอดทนได้ ทำไมเขามีวินัย ทำไมเขามี attitude แบบนี้ได้ พี่กลับมาพบว่าแบบจริง ๆ แล้ว บางทีจุดเริ่มต้นเราอาจจะเหมือนกัน คือเราก็เป็นมนุษย์แบบนี้ คนบางคนที่เคยกวาดแฟ้มให้ล้ม ดราม่า หรือว่าคนที่แบบพูดอะไรกรีดหัวใจลูกน้อง มีชุดคลังคำเยอะที่พร้อมยิงมากทำให้คนร้องไห้ได้ ก็อาจจะมีจุดเริ่มต้นแบบเดียวกัน แต่งานหน่ะ วิธีการทำงานของเขา สังคม มันหล่อหลอมขัดเกลาให้เขาเป็นคนแบบไหน อันนั้นสำคัญ
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเข้าใจว่า เราอยากโตไปเป็นคนแบบไหน แล้วตอนนี้เราเป็นคนแบบไหนอยู่ ที่ทำงานนี้ ทำให้เราเป็นคนแบบไหน พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ มันช่วยทำให้เราสำรวจตัวเองอยู่ตลอด แล้วมันทำให้เราไม่พาตัวเองไปถึงจุดที่มาถามตัวเองว่านี่ใครวะ ทำไมฉันเกลียดคนนี้จังทำไมฉันไม่ชอบตัวเองแบบนี้เลย นี่เราคือคนที่เราเคยเกลียดนี่หว่า ถ้ามันไปถึงจุดนั้น มันน่ากลัวมากนะ
The People : เคยสำรวจตัวเองแล้วเจอว่าตัวเองเป็นถึงขั้นนั้นไหมคะ
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : คือพี่ว่าทุกวันนี้เราได้ใช้ชีวิต มันเหมือนเราได้ทำความรู้จักกับตัวเองใหม่ทุกวัน และได้รู้จักกับคนรอบตัวเราแบบใหม่ทุกวัน เวลาเปลี่ยนตัวตนของเขาก็เปลี่ยนเหมือนกัน มันเหมือนเรากำลังทำความรู้จักเขาใหม่ตลอด ตัวเราเองก็เถอะ ตัวเราเองพอมันมีประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามา มันมีมุมใหม่ ๆ มันมีวิธีคิดแบบใหม่ที่ทำให้เราแบบ อ๋อ เราเป็นอย่างนี้เหรอวะ ก็มีเหมือนกันนะ เช่นมันจะมีบางมุมที่ โห อันนี้ไม่คิดเลยว่าเราจะผ่านไปได้ ปรากฏว่าผ่านไปได้หว่ะ เฮ้ย เรามีความอดทนขนาดนี้เลยหว่ะ อันนี้ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วพอรู้ก็ดีใจที่ได้รู้จักตัวเองในมุมนี้
หรือบางทีเจอปัญหาเหมือนกัน เวลาเจอปัญหาพี่จะชอบมาสำรวจตัวเองเหมือนกัน เวลาเราเจอปัญหามันมีชุดคำอะไรบางวะที่มันอยู่ในใจเรา มันมีคำอะไรที่มันเกิดขึ้นในหัวเราบ้าง แล้วพี่จะยังไม่ take คำพูดนั้นที่อยู่ในหัวว่าเป็นความจริงนะ เช่นอะไรเวลาที่เราเจอปัญหาแล้วเรารู้สึกท้อมาก ๆ มันจะเริ่มมีชุดคำแล้ว หรือมันได้แค่นี้วะ ทำไมแกห่วยจังวะ เออ เราแม่งแพ้ไปก็ดี พอแล้ว ไม่อยากทำอะไรแล้ว เราแม่งไม่ได้เก่งขนาดนั้นหว่ะ มันมีคำพวกนี้ แต่อย่าเพิ่งรีบ take มันว่า เออใช่ อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่งรีบไปตอบรับว่า เออ ถูกหว่ะ
ให้เก็บคำพวกนี้ คือ acknowledge ก่อนว่ามันมีชุดคำแบบนี้อยู่ในหัวเรา แล้วเชื่อไหม พอเวลาผ่านไปที่เรานิ่งมากขึ้น จากเดิมที่เรารู้สึกว่าปัญหามันถึงทางตันแล้ว พอเรามีสติ ไอ้สตินี่แหละที่จะช่วยให้เราจัดการปัญหาได้ง่ายขึ้น แล้วเราจะพบว่าไอ้ชุดคำก่อนหน้านี้ บางทีมันไม่ได้เป็นจริง ทีนี้เราจะรู้ pattern ของตัวเองแล้วว่า ถ้าเกิดปัญหาทรง ๆ นี้ขึ้น ชุดคำในหัวเรามันจะเป็นแบบนี้ เดี๋ยวมันก็หายไป
The People : ในฐานะที่อีกไม่กี่ปีก็จะอายุ 40 ปี พี่ท้อฟฟี่วางนิยามความสำเร็จไว้ยังไง
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : มีพี่อยู่คนหนึ่ง เขาเคยบอกพี่ว่า 30 เป็นวัยที่หล่อที่สุด แต่ 40 คือวัยที่คมที่สุด แล้วก็มีพี่คนต่อมาบอกว่า มึงรอ 50 ก่อน 50 เจ๋งกว่านั้นอีก โอ้โห นี่มันคือวิธีคิดที่ใช่หว่ะ เพราะตอนที่พี่อายุ 20 กว่า ๆ มองคน 30 ว่าพร้อมมากเลย ทำไมเขาเก่งจังเลย ทำไมเขาประสบความสำเร็จขนาดนี้ once เมื่อเราอายุ 30 ฮัลโหล เอ้า มันก็บ้า ๆ บอ ๆเ หมือนเดิมนี่หว่า (หัวเราะ) คือมันก็ยังมีส่วนที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย ยังว่ะ เราก็ยังไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกเรื่อง ยังตื่นเต้น ยังสนุกอยู่ตลอดเวลา เราเคยกลัวว่า 30 แล้ว เรายังไม่มีนั่นมีนี่ แล้วจะเป็นยังไง พอถึงเวลาก็ไม่ได้มี แต่ถามว่าไม่มีแล้วตายไหม ก็ไม่ ก็ยังอยู่ ขณะเดียวกันพอมองไป โห เดี๋ยวกำลังจะ 40 แล้ว 40 อย่างงั้นอย่างงี้ มันก็มีชุดความคิดเดิม
แต่พอกำลังจะถึง 40 พี่พบว่า หูว โคตรชอบเลย โคตรชอบชีวิตตอนนี้มากกว่าตอนที่อายุ 30 กว่า ๆ ด้วย มากกว่า 20 ด้วยซ้ำ ก็เลยเข้าใจพี่คนนั้นที่เขาบอกว่าจริง ๆ แล้วมันไม่มีช่วงวัยไหนหรอกที่มันเป็น peak time แล้วจบ ทุกวัยก็มีเสน่ห์ มีประสบการณ์แตกต่างกัน ทุกวันนี้พี่อายุ 38 พี่ไม่ได้รู้สึกเลยว่าแก่แล้ว เหี่ยวแล้ว ก็อาจจะมีริ้วรอยบ้าง แต่ว่าโคตรชอบชีวิตเลย แล้วที่สำคัญคือไม่ได้รู้สึกเสียใจกับที่ผ่านมาเลย ไม่ได้แปลว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด หูว ผิดพรุนมาก แต่พอมองกลับไปแล้ว เพราะแบบนั้นแหละ เพราะเราทำแบบนั้น เพราะเราเคยพลาดแบบนั้น และเพราะเราเคยเลือกถูกแบบนั้น มันจึงพาเรามาถึงทุกวันนี้
คนจะชอบรู้สึกว่า มันต้องเลือกถูกตลอดเวลา แต่จริง ๆแล้ว ต่อให้เราประสบความสำเร็จ ความสำเร็จเรามันแป๊บเดียวเองนะ ใครมันจะเล่าเรื่องความสำเร็จของตัวเองที่เคยทำมาครั้งหนึ่งในชีวิตอยู่ตลอดเวลา คือต่อให้มันเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่มาก แต่มันจะไม่มีเรื่องอื่น update ในชีวิตเลยเหรอวะ ความสำเร็จก็แป๊บเดียว ความล้มเหลวเอาจริง ๆ มันก็แป๊บเดียวเหมือนกัน เดี๋ยวก็ล้มเหลวใหม่ เดี๋ยวก็มีเรื่องใหม่ ๆ มา
ถ้าเราเข้าใจว่าสำเร็จก็ไปต่อ ล้มเหลวก็ไปต่อ อ้าว ค่าเท่ากันนี่ พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ ทุกอย่างที่มันเข้ามาหาเรา เราไม่ได้ให้ค่าแบบใดแบบหนึ่งไปมากกว่ากัน เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องสำเร็จอย่างเดียวเว้ย และในขณะเดียวกันเราไม่ล้มเหลวตลอดไป ค่าเท่ากัน เพราะฉะนั้นเราแค่ move on
ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ถ้า ณ ขณะนี้ มันอยู่กับเรา Grab that moment แล้วก็ enjoy กับมันให้ถึงที่สุด enjoy ในที่นี้ไม่ใช่ว่ามีความสุขอย่างเดียวนะ แต่หมายถึงว่าแม้กระทั่งเกิดเรื่องผิดพลาดมาก็ตาม เกิดเรื่องที่มันมีความทุกข์ใจมาก็ตาม เรารู้ว่ามันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป แต่ ณ ระหว่างที่มันยังอยู่กับเรา ฉันจะเรียนรู้จากมันให้มากที่สุด ฉันอยากรู้จังเลยว่ าฉันจะเป็นคนแบบไหนวะ เพราะว่าหลังจากนี้ไม่มีโอกาสแล้วนะ เพราะเดี๋ยว moment นี้ ก็หายไปแล้ว
The People : มาที่หนังสือ GRATITUDE DAIRY พี่ท้อฟฟี่ตั้งใจอยากจะบอกอะไรกับผู้อ่านบ้าง
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ : GRATITUDE DAIRY ชื่อไทยคือ “ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย GRATITUDE มันคือความรู้สึกดีใจ ขอบคุณที่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นกับเรา ในแต่ละวัน มันมีเรื่องร้อยแปดพันเก้าเต็มไปหมดที่เข้ามาหาเรา มันมีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ร้าย แต่ถ้าเรามองเห็นทั้งดีและร้ายและยังรู้สึกว่า เออหว่ะ ชีวิตเรามันโอเคอยู่ มันจะช่วยทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่า เรื่องนี้มันเลวเต็มไปหมดเลย เวลาที่เราบอกว่าชีวิตเราแม่งโคตรแย่เลย มันเหมือน 100% แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เป็น 100% มันเหมือนเป็นชั่วโมงที่เลว นาทีที่เลว วินาทีที่เลว มันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น GRATITUDE มันคือสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า ชีวิตไม่ได้เลวร้ายไปทุกเรื่อง นี่ไม่ใช่ 100% นะ ขณะเดียวกันไม่ดี 100% แต่ฉันมองเห็นว่ามันมีข้อดีของมันอยู่ และไอ้ข้อดีนั้น มันทำให้ฉันรู้สึกว่าชีวิตจะมีความหมาย