Heal ใจ: ทำงานแล้วมีอาการขั้นไหนถึงเรียก ‘หมดไฟ’? ถ้าหมดไฟแล้ว..ทำไงต่อดี?

Heal ใจ: ทำงานแล้วมีอาการขั้นไหนถึงเรียก ‘หมดไฟ’? ถ้าหมดไฟแล้ว..ทำไงต่อดี?

ทำงานแล้วมีอาการแบบไหนถึงเข้าขั้นเรียก ‘หมดไฟ’? ถ้าหมดไฟทำงานแล้ว..ทำไงต่อดี? ทำความเข้าใจภาวะ Burnout และทางออกรูปแบบต่าง ๆ

  • Burnout หรือภาวะที่เรียกกันว่า หมดไฟ ถูกพูดถึงกันมากโดยเฉพาะในหมู่คนทำงานหรือลูกจ้าง 
  • สิ่งที่ทำได้เมื่อเกิดภาวะ Burnout มีหลายรูปแบบทั้งในระดับปัจเจกเอง แต่ในอีกด้าน หนึ่งในสิ่งที่องค์กรควรทำคือการรับฟัง ไปจนถึงเปิดรับข้อเสนอแนะ

สวัสดีวันจันทร์ วันที่หลายคนกลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานสู้ชีวิตกันอีกครั้ง (เช่นเดียวกับพวกเราด้วย) ทุกครั้งที่วันจันทร์มาถึงพร้อมกับเนื้องานต่าง ๆ สภาพร่างกายและจิตใจของเราเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร เรามีอาการหรือภาวะที่แตกต่างจากก่อนหน้านี้บ้างไหม?

The People ชวนมาสำรวจและร่วมทำความเข้าใจกับสุขภาวะทางจิตใจของผู้คนหลากหลายกลุ่มในสังคมกับคอลัมน์ ‘Heal ใจ’ โดยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ซึ่งนอกจากจะมาบอกเล่า พูดคุย เกี่ยวกับเรื่องที่ส่งผลต่อจิตใจแล้ว ยังมาร่วมกันหาทางออกไปพร้อมกัน ประเดิมด้วยหัวข้อยอดนิยมสำหรับคนทำงานว่าด้วยเรื่อง ‘หมดไฟ’ หรือภาวะ Burnout ซึ่งเป็นภาวะที่หลายคนเผชิญอยู่ หรือเผชิญอยู่แต่ยังไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ครั้งนี้พบกับคอลัมน์ Heal ใจ โดยผศ.ดร. ทิพย์นภา หวนสุริยา ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท/เอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ) แขนงวิชาจิตวิทยาธุรกิจ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตีหนึ่ง…คุณทำงานติดต่อกันเกิน 16 ชั่วโมงต่อวันแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว คุณทั้งง่วง ทั้งเพลีย ปวดหัว ปวดหลัง ตาจะปิด แต่ยังพยายามลุยเก็บงานชิ้นหนึ่งให้เรียบร้อย “อีกชั่วโมงเดียวก็คงเสร็จ” คุณบอกตัวเอง แต่ในหัวเริ่มเบลอ คิดเรื่องเดิมวนซ้ำอยู่สิบกว่านาทีก็ยังคิดไม่ออกทั้งที่ไม่ใช่เรื่องยาก คุณเผลอหลับคาโต๊ะไปโดยไม่รู้ตัวสองสามรอบ

สรุป คุณใช้เวลาต่อมาอีกสองสามชั่วโมงจึงทำงานเสร็จ หงุดหงิดตัวเองที่ต้องใช้เวลากับมันนานขนาดนั้น พาลโมโหเพื่อนในทีมที่ไม่มีใครช่วยแบ่งงานไปทำ แถมโกรธหัวหน้าที่สั่งงานแทรกเข้ามาอยู่เรื่อยจนงานนี้ที่เป็นงานหลักของคุณล่าช้าไปมาก ทำไมคุณต้องเป็นคนมาแก้ปัญหาและเก็บงานนี้ ในขณะที่คนอื่นนอนหลับสบายใจ คุณได้เข้านอนในที่สุด แต่ก็นอนไม่หลับจนเกือบเช้า

เมื่อคุณลืมตาตื่นขึ้นมา ความคิดแรกคือ ไม่อยากไปทำงานแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร แต่สุดท้ายก็ต้องฝืนลุกขึ้นแต่งตัวลากสังขารออกไปทำงาน

หากคุณเคยอยู่ในภาวะแบบนี้ และยังคงเป็นอยู่ คุณอาจกำลังเสี่ยงมีภาวะ หมดไฟ (burnout)

ยังไงคือ ‘หมดไฟ’?

ในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียนให้ภาวะหมดไฟเป็นปรากฏการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อสุขภาวะของคนทำงาน โดยนิยามว่าเป็นกลุ่มอาการที่เป็นผลของความเครียดจากการทำงานที่เรื้อรังและไม่ได้รับการจัดการอยู่เป็นเวลายาวนาน

คนหมดไฟมีอาการสามกลุ่มประกอบกัน คือ หนึ่ง รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรงอยู่ตลอดเวลา สอง มีความรู้สึกทางลบต่องาน ต่อเพื่อนร่วมงานและที่ทำงาน จนแปลกแยกและปลีกตัวออกห่าง และ สาม รู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกว่าตนเองทำงานด้อยประสิทธิภาพลง จนขาดความมั่นใจในความสามารถและคุณค่าของตนเอง

คริสตินา มาสลัค (Christina Maslach) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์คลีย์ ซึ่งศึกษาภาวะหมดไฟมายาวนานหลายทศวรรษอธิบายว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะหมดไฟนั้น ไม่ใช่เพียงภาระงานหรือชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปเท่านั้น แต่เกิดจากความ ‘ไม่สอดคล้อง’ ระหว่างงานกับธรรมชาติหรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 6 ด้าน ได้แก่ ภาระงาน อิสระ รางวัล สังคมในที่ทำงาน ความยุติธรรม และค่านิยม

เมื่อภาระงานที่ได้รับมอบหมายไม่เหมาะสมกับระดับความรู้ ความสามารถ และกำลังของพนักงาน ปริมาณงานที่มากเกินไป ยากเกินไป จนไม่สามารถทำให้เสร็จได้ในเวลาทำงานปกติ ต้องทำงานล่วงเวลา หรือเอากลับไปทำที่บ้าน ยิ่งถ้าภาระงานที่เพิ่มขึ้นเป็นงานที่ไม่ตรงกับความสนใจ ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย เช่น หมอหรือครูที่ต้องใช้เวลาทำงานเอกสารจนมีเวลาดูแลคนไข้หรือสอนหนังสือน้อยลง ก็ยิ่งมีผลให้หมดไฟเร็วขึ้น

บางทีความรู้สึกเหนื่อยล้าอาจไม่ได้มาจากปริมาณงานโดยตรงเท่านั้น แต่อาจมาจากความรู้สึกว่าเราไม่มีอิสระในการวางแผนและบริหารจัดการงานของตัวเองว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร เช่น งานเยอะจึงถูกบีบด้วยเวลาที่จำกัด ทำงานตามเดดไลน์ตลอดเวลา ต้องทำตามคำสั่งโดยไม่มีสิทธิคิดหรือเสนอความเห็น หรือมีงานด่วนซึ่งไม่อยู่ในแผนแทรกมาบ่อย ๆ จนตารางเวลางานและตารางชีวิตที่วางไว้ถูกรื้อบ่อย ๆ

นอกจากงานที่หนักและควบคุมอะไรไม่ได้แล้ว พนักงานที่หมดไฟมักรู้สึกว่าไม่ได้รับรางวัลตอบแทนที่สมกับแรงที่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นรางวัลในรูปเงินทอง หรือรางวัลเชิงสังคม เช่น การชื่นชม ขอบคุณ ให้เครดิต อาจเป็นเพราะทุกคนต่างยุ่งมากจนไม่เห็นและไม่ได้ชื่นชมขอบคุณกันและกัน แต่บางครั้งก็เป็นเพราะความเชื่อที่ผิดว่ามนุษย์เราถูกขับเคลื่อนด้วยการตำหนิหรือลงโทษ ทั้งที่งานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ให้เห็นแล้วว่าการเสริมแรงทางบวกได้ผลดีกว่ามาก

การไม่ขอบคุณ ไม่ชื่นชมหรือให้เครดิตกัน ยังอาจเป็นสัญญาณของสังคมในที่ทำงานที่เป็นพิษด้วย ในที่ทำงานที่ไม่มีการช่วยเหลือสนับสนุนกัน แถมต้องระวังตัวตลอดว่าจะถูกมองในแง่ลบ เหยียดหยาม หรือแม้แต่กลั่นแกล้ง แม้ว่าปัจจัยอื่น ๆ ในงานจะไม่แย่นัก เช่น งานไม่ได้หนักเกินไปและมีอิสระพอสมควร แต่หากขาดความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาเพราะอยู่ในสังคมการทำงานที่เป็นพิษเช่นนี้ ก็ส่งผลกระทบทางอารมณ์ทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้

การทำงานหนักโดยไม่ได้รับรางวัลที่ควรจะได้ รวมทั้งการเลือกที่รักมักที่ชัง ถูกเอารัดเอาเปรียบ กลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ยังนำไปสู่การรับรู้ว่าองค์กรขาดความยุติธรรม พนักงานที่ทำงานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะเกิดความรู้สึกทางลบต่อองค์กร หัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน โดยมองว่าทุกคนรวมทั้งองค์กรล้วนทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เอาตัวรอด ไม่มีหลักการ จนอยากถอยห่าง ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวด้วย

สุดท้าย หากพนักงานรู้สึกว่างานที่ทำขัดแย้งกับค่านิยมของตนเอง เช่น ต้องโกหกเพื่อขายของให้ได้ทั้งที่ตนเองให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์ ต้องสั่งยาหรือสั่งตรวจรายการที่ไม่จำเป็นเพื่อให้โรงพยาบาลได้เงินมากขึ้น ทั้งที่รู้สึกขัดกับเป้าหมายที่อยากมาเป็นหมอเพื่อช่วยคน ยิ่งทำงานไปก็ยิ่งรู้สึกบั่นทอนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในตนเอง

 

หมดไฟแล้วทำไงดี?

การทำงานที่ ‘ไม่สอดคล้อง’ กับธรรมชาติหรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เหล่านี้นาน ๆ ก็เหมือนปลาอยู่ในน้ำเสียที่ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตและเติบโต ปลาบางชนิดอาจทนและปรับตัวจนอยู่ได้ แต่ปลาจำนวนมากอาจทนไม่ได้ ป่วย และค่อย ๆ ตายไป หากเราเป็นเจ้าของตู้ปลา เรามักคิดถึงการเปลี่ยนถ่ายน้ำออก ทำความสะอาดตู้ปลา แล้วค่อยใส่ปลากลับลงไป

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแนะนำสำหรับปัญหาภาวะหมดไฟส่วนใหญ่ มักมุ่งไปที่ตัวคนทำงาน โดยแนะนำให้ฝึกตนเองให้มีความยืดหยุ่นเข้มแข็ง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนให้พอ แบ่งเวลาผ่อนคลายบ้าง เพราะการได้พักผ่อนจะทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าทำงานต่อเนื่องยาวนานโดยไม่พัก ฟังเสียงตัวเองว่าตัวตน ความต้องการ และแรงจูงใจของเราคืออะไร และรู้จักปฏิเสธเมื่อมีข้อเรียกร้องที่ขัดกับค่านิยมของเรา ทำงานให้น้อยลง ระบายกับคนรอบข้างที่เราไว้ใจเมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบและขอความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต

คำแนะนำเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ดีที่คนทำงานทุกคนควรนำไปปฏิบัติอย่างยิ่งเพื่อช่วย ‘บรรเทา’ อาการหมดไฟ แต่นั่นคือการบอกปลาให้ปรับตัวและหาทางอยู่รอดในน้ำเสีย หากไม่พูดต่อถึงการเปลี่ยนน้ำและล้างตู้ปลา ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดทั้ง 6 ด้านก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่นาน ปลาที่ไป ‘ฮีล’ ตัวเองมาแล้วก็คงป่วยอีก

และอันที่จริง ผลกระทบของภาวะหมดไฟก็ไม่ได้ตกอยู่ที่คนทำงานเท่านั้น องค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานหมดไฟก็มีราคาที่ต้องจ่ายในรูปประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ค่ารักษาพยาบาลพนักงานที่ป่วย ความผิดพลาดที่เกิดจากด้วยความเหนื่อยล้าของพนักงาน และในที่สุดพนักงานอาจลาออกต้องหาคนใหม่มาทดแทนและสอนงานกันใหม่อีก

ไมเคิล เลเตอร์ และคริสตินา มาสลัค ผู้เขียนหนังสือ The Burnout Challenge แนะนำแนวทางที่ผู้นำทำได้เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีผลกระทบทางลบต่อพนักงาน โดยเริ่มจากการรับฟังหรือสำรวจว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด 6 ด้านนั้น ด้านใดบ้างที่เป็นปัญหา ฝ่ายบริหารอาจคิดว่าเป็นปัญหาภาระงานและค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ แต่ที่จริงปัจจัยที่พนักงานรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุดอาจเป็นความอยุติธรรม หรือการขาดอิสระในการทำงานก็ได้

เมื่อรับฟังแล้ว ควรรีบสื่อสารผลสำรวจให้ทุกคนรู้ว่าปัจจัยใดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในองค์กรเกิดความเครียดเรื้อรัง พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอว่าจะแก้ไขอย่างไร บางอย่างที่ทำได้เลยก็เปลี่ยนเลย เช่น จ้าง outsource เพื่อลดภาระงานที่ล้นเกิน ให้อำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาหน้างานไปเลยโดยไม่ต้องรออนุมัติหลายต่อเพื่อเพิ่มอิสระในการทำงาน การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เป็นรูปธรรมทันทีเหล่านี้ส่งสัญญาณให้คนที่กำลังหมดไฟเกิดความหวังว่าสภาพที่เป็นอยู่เปลี่ยนแปลงได้ และกำลังจะเปลี่ยนแปลงแล้ว

ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาออกแบบงาน สภาพแวดล้อม และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงานกันใหม่ เพื่อลดปัจจัยก่อความเครียดทั้ง 6 ให้ได้อย่างยั่งยืน โดยทั่วไป คนทำงานที่เครียดและหมดไฟมักรู้สึกว่ากระบวนการทำงานที่เป็นอยู่นั้นซับซ้อน มีกฎระเบียบขั้นตอนที่ไม่จำเป็นมากเกินไป หากได้ออกแบบงานใหม่ กฎระเบียบจุดไหนที่เปลี่ยนแปลงได้ก็ควรเปลี่ยนให้เรียบง่ายขึ้น ถ้ามีการเพิ่มภาระงานใหม่ต้องมีการลดภาระงานเดิม และควรออกแบบให้งานมีเวลาที่สลับระหว่างช่วงหนักกับช่วงพัก ทำงานเป็นทีมกับทำงานเดี่ยว ช่วงลงมือลุยกับช่วงที่ได้คิดตกผลึกเงียบ ๆ บ้าง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ ภาวะหมดไฟ เกิดจากความไม่สอดคล้องระหว่างธรรมชาติและความต้องการพื้นฐานของมนุษย์กับลักษณะของงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การลดภาวะหมดไฟจึงต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากทั้งตัวพนักงานเองและองค์กร

แต่เราน่าจะมองในแง่ดีได้ว่า คำว่า ‘หมดไฟ’ นั้น แสดงว่า ครั้งหนึ่งคุณ หรือพนักงานของคุณ เคยมีไฟ มีพลัง หลงใหลในงานที่ทำ เพียงแต่มันมอดไหม้หมดไปเพราะการโหมไฟแรงเกินไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเวลาพักและเติมเชื้อเพลิง

เริ่มจากพรุ่งนี้ เรามาปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของตัวเราเองให้มีจังหวะเร่งสลับกับผ่อนคลาย และช่วยกันทำให้สถานที่ทำงานเป็นเตาที่ร้อนพอดี เพื่อให้ทุกคนยังคง ‘มีไฟ’ ยืนระยะทำสิ่งที่รักไปได้นาน ๆ กันดีกว่า

 

เรื่อง: ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท/เอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ) แขนงวิชาจิตวิทยาธุรกิจ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

https://www.psy.chula.ac.th/th/graduate/m-sc-ph-d-in-psychological-sciences/fields-of-study

https://www.facebook.com/PsychologicalScienceChula