17 ส.ค. 2566 | 13:53 น.
- สัญญาณที่ฟ้องว่าคุณกำลังทำงานหนักเกินไป เช่น คุณรู้สึกว่าตัวเองทำงานไม่ทัน มีปัญหาในการพักผ่อน และสุขภาพร่างกายทรุดโทรม
- เมื่อรู้ตัวว่าทำงานหนักเกินไป คุณต้องกำหนดขอบเขต พูดคุยกับหัวหน้า และพยายามหากิจกรรมอื่นทำเพื่อตัดขาดจากงาน
เรากำลังทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า?
ทำไมงานเราไม่มีวันเสร็จสักทีวะ?
เรากำลังถูกงานกลืนกินชีวิตหรือเปล่านะ?
ถ้าคุณมีคำถามเหล่านี้ในใจ เราอยากตบบ่าคุณด้วยความเข้าใจแล้วกระซิบข้างหูเบา ๆ ว่า “You are not alone” นะจ๊ะ เพราะมีคนมากมายรอบตัวคุณที่แอบตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้เหมือนกัน
จริงอยู่ที่ทั่วโลกกำลังเห่อการทำงานแบบ ‘Work-life Balance’ ซึ่งเป็น ‘ค่านิยม’ การทำงานแบบใหม่ ที่มุ่งเน้น ‘ความสมดุล’ ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต โดยไม่เชื่อว่าการทำงานหนักแบบถวายหัวคือสิ่งที่น่ายกย่องอีกต่อไป แต่ในโลกความจริง คนทำงานจำนวนมหาศาลกำลังเผชิญปัญหา Work-ไร้-Balance
คนเหล่านี้ทำงานอย่างบ้าคลั่งเอาเป็นเอาตาย ราวกับพรุ่งนี้จะไม่มีงานให้ทำอีก ด้วยหวังว่าจะได้รับ ‘รางวัล’ จากการอุทิศชีวิตและจิตวิญญาณเพื่องาน
แต่การทำงานหนักขนาดไหน? ที่ส่งผลต่อ ‘ร่างกาย’ และ ‘จิตใจ’ จนอาจเป็นอุปสรรคให้เราไม่สามารถ ‘ทำงานที่รัก’ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้เป็น 7 สัญญาณที่เราอยากให้คุณสำรวจตัวเอง ก่อนที่อะไรจะสายเกินไป
1. อยากให้วันหนึ่งมีมากกว่า 24 ชั่วโมง
หากคุณจบวันด้วยความรู้สึกว่าตัวเองทำงานยังไม่ทันเสร็จเลย ถ้าไม่ใช่เพราะวัน ๆ คุณเอาแต่เรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ บางทีมันอาจเป็นเพราะคุณมีงานอยู่บนหน้าตักมากเกินไป จนต่อให้มี 10 มือก็ทำงานเสร็จไม่ทัน
2. รู้สึกว่างานงอกขึ้นเรื่อย ๆ มีอะไรต้องทำเยอะแยะไปหมด
การมี to-do list หรือรายการสิ่งที่ต้องทำ ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทำงาน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแทบไม่อยากเงยหน้ามอง to-do list หรือมโนว่าตัวเองฉีก to-do list ทิ้งเป็นชิ้น ๆ เพราะทั้งงานสำคัญและงานด่วนประดังประเดเข้ามาหาคุณจนกลายเป็นดินพอกหางหมู นี่อาจเป็นสัญญาณแล้วว่า คุณกำลังทำงานหนักเกินไป
3. พักผ่อนที่ไม่ใช่พักผ่อน
หากคุณเริ่มเผชิญปัญหาระหว่างการพักผ่อน เพราะไม่สามารถลดระดับความเครียดหรือทำให้หัวปลอดโปร่งลงได้แม้ในยามที่คุณกำลังนั่งอยู่บนโซฟาที่บ้าน หรือนั่งเก้าอี้อยู่ริมชายหาดในวันหยุด อันนี้ก็เริ่มเป็นสัญญาณอันตรายแล้ว
4. รักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานไม่ได้
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตแบบ ‘Work-life Balance’ ไม่ได้ คุณต้องลองคิดแล้วว่าคุณใช้เวลาในแต่ละวันอย่างไร? ชีวิตของคุณได้รับการเติมเต็มนอกเหนือจากการทำงานหรือไม่? คุณมีเวลาและพลังงานที่จะรับผิดชอบสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานหรือเปล่า?
ถ้าในหัวของคุณมีแต่คำว่า ‘งาน’ ผุดขึ้นมาตลอด คุณต้องยอมรับได้แล้วว่าตัวเองกำลังทำงานหนักเกินไป
5. หลับยาก
ทุกคนเจอปัญหานอนหลับยากกันทั้งนั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง แต่ถ้าคุณนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะหยุดคิดหรือหยุดเครียดเรื่องงานไม่ได้ คุณต้องรู้ตัวได้แล้วละว่าคุณกำลังทำงานมากเกินไป
6. รู้สึกเหนื่อยและฟุ้งซ่านตลอดเวลา
หากคุณมีปัญหาในการมีสมาธิจดจ่อกับงานง่าย ๆ มันอาจเป็นสัญญาณของความ เหนื่อยหน่าย (burnout) และเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณอาจทำงานหนักเกินไปจนสมองและร่างกายต้องการพักผ่อน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. มีปัญหาสุขภาพร่างกาย
คุณอาจปวดหัวหรือเป็นหวัดเรื้อรังหลายเดือน หรือไม่ก็กินข้าวไม่อิ่ม ผิวแห้งแตกลอกเป็นขุย ไม่ว่าจะอาการผิดปกติอะไรก็ตาม ร่างกายของคุณกำลังตะโกนบอกให้คุณพักก่อน เพราะแม้ร่างกายจะสามารถรับมือกับความเครียดได้นานัปการ แต่ความเครียดที่มากเกินไปและนานเกินไป บางครั้งร่างกายก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน
แนวทางแก้ปัญหาสำหรับคนทำงานหนักเกินไป
บางครั้งการทำงานหนักเกินไปก็เป็นผลมาจาก ‘นายจ้าง’ หรือ ‘หัวหน้า’ ที่โยนงานมาให้คุณมากเกินเบอร์ และบางครั้งก็เป็นผลจากตัวคุณเองนั่นแหละที่ปล่อยให้งานเข้ามากลืนกินชีวิตตัวเอง แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร คุณสามารถทำตาม 5 แนวทางดังต่อไปนี้เพื่อเอาตัวเองออกมาจากการทำงานที่เป็นอันตรายกับคุณในระยะยาว
1. กำหนดขอบเขตให้ชัด
การบอกลาฉายา ‘คนถึกแห่งปี’ มักเริ่มด้วยการ ‘กำหนดขอบเขต’ ให้ตัวเอง (ก่อนจะขยายไปสู่การกำหนดขอบเขตให้คนอื่น) คุณต้องกำหนดเวลาทำงานที่ชัดเจน ทั้งเริ่มงานกี่โมง และเลิกงานกี่โมง พร้อมกับหัดปฏิเสธบ้าง ถ้ารู้ว่างานที่มีอยู่ก็แทบจะทำไม่ทันแล้ว และต้องหัดขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในบางครั้ง
การกำหนดขอบเขตไม่ได้หมายความว่า คุณจะทิ้งงานให้คนอื่นทำแทน แต่หมายความว่าคุณจะต้องระมัดระวังเรื่องการทุ่มเวลาในการทำงานต่าง ๆ รวมถึงการตกปากรับคำงานใหม่ ๆ ในอนาคต
2. คุยกับหัวหน้างานให้รู้เรื่อง
ไม่ว่าการที่คุณทำงานหนักเกินไป จะเป็นเพราะการตัดสินใจของคุณเองหรือการตัดสินใจของหัวหน้า คุณต้องพูดคุยกับหัวหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าแค่พูดว่าคุณเหนื่อย แล้วปล่อยเป็นปริศนาธรรมให้หัวหน้าไปตีความเอง แต่คุณต้องเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าพร้อมกับข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจง เช่น การขอคนเพิ่ม หรือบอกว่าจากนี้ไปหัวหน้าจะสามารถติดต่อคุณได้ระหว่างเวลา 08.00 - 17.00 น. เท่านั้น
แต่ไม่ว่าคุณจะแนะนำหรือเสนออะไร คุณต้องแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านและแสดงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือด้วยวิธีอื่น ๆ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือต้องสื่อสารอย่างใจเย็นและสุภาพ ซึ่งมีโอกาสที่หัวหน้าจะเข้าใจและช่วยเหลือคุณมากกว่าการคร่ำครวญ
กรณีคุณมีหัวหน้าที่รู้จักขอบเขต หัวหน้าจะเข้าใจคุณ แต่หากคุณเจอหัวหน้าที่สวนกลับอย่างรุนแรง และคุณรู้สึกไม่พอใจเพราะได้อธิบายทุกอย่างไปด้วยความเคารพแล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณต้องเตรียมหางานใหม่
3. ใช้วันลาพักร้อนให้หมด
แต่ละปีคุณควรตั้งเป้าว่าจะใช้วันลาพักร้อนให้หมด จงจำไว้เสมอว่า ต่อให้ไม่มีคุณ โลกก็หมุนต่อไปได้ องค์กรก็เช่นกัน พวกเขาต้องทำงานกันให้ได้แม้ไม่มีคุณ ยิ่งถ้าคุณไปพักผ่อนให้สมองโล่งแล้วกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น การหยุดพักผ่อนของคุณก็จะยิ่งคุ้มค่า
4. หางานอดิเรกเติมเต็มชีวิต
ถึงการดูทีวีจะเป็นการผ่อนคลายที่ต้นทุนค่อนข้างต่ำ แต่การมีงานอดิเรกที่ไม่ซ้ำซากจำเจอาจช่วยให้คุณตัดขาดจากโลกการทำงานได้มากขึ้น
วิธีนี้อาจทำได้ง่าย ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายว่าจะไปวิ่งที่สวนสาธารณะทุกแห่งในกรุงเทพฯ หรืออาจเพิ่มเลเวลความซับซ้อนขึ้นด้วยการทำอาหารหรือสิ่งประดิษฐ์ขายทางออนไลน์
แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร ลองลิสต์ดูว่าอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกสนุก ให้เริ่มจากสิ่งนั้นก่อน
5. ออกไปพบปะผู้คนดูบ้าง
ชีวิตของคุณไม่ได้มีแค่ ‘เพื่อนร่วมงาน’ คุณยังมีทั้งครอบครัว คนรัก เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนร่วมชมรม ฯลฯ ลองหาหนทางติดต่อคนเหล่านี้ดูบ้าง ไม่ใช่เอาแต่หมกตัวอยู่แต่ในห้อง คุณอาจจะประหลาดใจเลยละ ถ้าได้รู้ว่าคนรอบตัวคุณเติบโตขึ้นมากขนาดไหนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ที่คุณเอาแต่บ้างาน) แถมบางคนยังอาจเป็นคอนเนกชั่นพาคุณไปสู่ประสบการณ์ใหม่ ๆ หรืองานใหม่ ๆ (ที่ไม่หนักเกินไป) ก็ได้นะ
ที่เขียนมาทั้งหมด เราไม่ได้พยายาม ‘ด้อยค่า’ การทำงานแต่อย่างใด เราเป็นคนหนึ่งที่เชื่อเสมอว่า การทำงานทำให้ชีวิตมีค่า (ที่ไม่ได้หมายถึงค่าใช้จ่าย) เพียงแต่อยากให้ในวันที่ประสบความสำเร็จ ทุกคนยังมีแรงกายแรงใจชื่นชมความสำเร็จของตัวเองไปนาน ๆ ไม่ใช่สำเร็จแบบมีโรครุมเร้า แล้วไม่นานก็จากโลกนี้ไป
ภาพ: Pexels
อ้างอิง :