ทฤษฎี ‘Cognitive Dissonance’ ตอบปัญหา รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี ทำไมคนเรายังชอบหลอกตัวเอง

ทฤษฎี ‘Cognitive Dissonance’ ตอบปัญหา รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี ทำไมคนเรายังชอบหลอกตัวเอง

‘ลีออน เฟสทิงเกอร์’ (Leon Festinger) : รู้จักทฤษฎี ‘Cognitive Dissonance’ เพราะหลอกตัวเองอาจเป็นเรื่องง่ายกว่า ?

  • เฟสทิงเกอร์เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวลืออาจมาจากเหตุการณ์ตรงหน้าไม่ได้สอดคล้องกับความรู้สึกกลัวอย่างสุดขีด ภายในใจของมนุษย์จึงเกิดความรู้สึกสับสน และขัดแย้งกัน บางคนจึงพยายามหา ‘ข้อพิสูจน์’ ว่ามีบางอย่างที่ต้องกลัวจริง ๆ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ข่าวลือ’ 
  • มนุษย์เราต่างรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจ เมื่อความเชื่อที่ฝังรากลึกมาตลอดนั้นถูกท้าทาย หรือสิ่งที่คาดการณ์ไว้ไม่เป็นอย่างที่คิด เราจึงพยายามหาหนทางหลุดพ้นจากความรู้สึกนั้น ด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป  

รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ยังเลือกที่จะหลอกตัวเองให้เชื่อและทำแบบเดิมต่อไป เคยเจอสถานการณ์แบบนี้กันหรือเปล่า?

บางคราวที่เราพบว่าความจริงที่เป็นอยู่ ขัดแย้งกับความเชื่อหรือความคิดเดิมของตัวเอง เลยต้องยืนอยู่ในจุดตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หรือกล่อมตัวเองให้เชื่อแบบเดิมต่อไป

สถานการณ์รูปแบบนี้ ในทางจิตวิทยาสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีที่เรียกว่า ‘Cognitive Dissonance’ ว่าด้วยการรับมือกับความขัดแย้งภายในจิตใจของมนุษย์ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ โดยคนที่เริ่มสังเกต ทดลอง และคิดทฤษฎีนี้ขึ้นมา คือนักจิตวิทยาชาวอเมริกันนามว่า ‘ลีออน เฟสทิงเกอร์’ (Leon Festinger)  

สังเกตพฤติกรรมมนุษย์ผ่านภัยพิบัติและลัทธิ

ทฤษฎี ‘Cognitive Dissonance’ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1957 ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เฟสทิงเกอร์เริ่มตั้งข้อสังเกตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวร้ายแรงในอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงต่างก็ตื่นตระหนกไปด้วย แม้จะไม่ได้รับผลกระทบเลยก็ตาม

แต่เรื่องน่าประหลาดใจอย่างหนึ่งสำหรับเฟสทิงเกอร์ คือหลังจากแผ่นดินไหวจบลง ท่ามกลางพื้นที่ที่ยังปลอดภัยนั้น กลับมีข่าวลือว่าภัยพิบัติที่เลวร้ายยิ่งกว่ากำลังคืบคลานเข้ามา แม้จะเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูล แต่กลับแพร่สะพัดออกไปราวกับไฟลามทุ่ง เฟสทิงเกอร์จึงเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวลือที่เกิดขึ้นอาจมาจากเหตุการณ์ตรงหน้าไม่ได้สอดคล้องกับความรู้สึกกลัวอย่างสุดขีด ภายในใจของมนุษย์จึงเกิดความรู้สึกสับสน และขัดแย้งกัน บางคนจึงพยายามหา ‘ข้อพิสูจน์’ ว่ามีบางอย่างที่ต้องกลัวจริง ๆ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ข่าวลือ’ ดังกล่าว แต่ ณ เวลานั้นทุกอย่างยังคงเป็นเพียงข้อสงสัยของเฟสทิงเกอร์เสมอมา

นอกจากเรื่องแผ่นดินไหวแล้ว เขายังได้ศึกษาจากกลุ่มลัทธิที่ชื่อว่า ‘The Seekers’ ที่อ้างว่าได้รับข้อความจากมนุษย์ต่างดาวซึ่งบอกกล่าวอนาคตของโลกไว้ว่า วันที่ 21 ธันวาคม 1954 จะเกิดน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ขึ้น แต่หากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิจะมีจานบินมารับไปยังดาวดวงอื่นอย่างปลอดภัย

หลังจากนั้นกลุ่มคนที่ปักใจเชื่อได้ทิ้งบ้าน ทิ้งรถ ลาออกจากงาน หอบทรัพย์สินพาครอบครัวเดินทางมาเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เฟสทิงเกอร์จึงแฝงตัวเข้าไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อถึงวันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวันโลกาวินาศ ทว่ากลับไม่มีน้ำท่วมโลก ไม่มีจานบินจากมนุษย์ต่างดาว และไม่มีวี่แววความน่าหวั่นใจใด ๆ เกิดขึ้น แต่แทนที่เหล่าสมาชิกจะก่นด่าเจ้าลัทธิ หรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตัวเอง พวกเขากลับดีใจพร้อมกับบอกว่า การมารวมตัวกันในครั้งนี้คือ ‘พลังแห่งความดีและแสงสว่าง’ ที่ช่วยกอบกู้โลกของเราเอาไว้ต่างหากล่ะ

และเป็นอีกครั้งที่ทำให้เฟสทิงเกอร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่สมาชิกในลัทธิต่างโน้มน้าวกันและกันให้ยังคงเชื่อมั่นกันต่อไป เพราะนั่นคือวิธีที่ง่ายกว่าการยอมรับและเปลี่ยนเป็นความเชื่อชุดใหม่ เพราะมนุษย์มีแนวโน้มจะพยายามลดความขัดแย้งและความไม่สบายใจเมื่อสิ่งเกิดขึ้นไม่ตรงกับสิ่งที่คิดเอาไว้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของทฤษฎี cognitive dissonance นั่นเอง

สู่การทดลองเพื่อหาคำตอบ

แต่การตั้งข้อสังเกตเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะยืนยันและอธิบายทฤษฎีนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นในปี 1955 เขาจึงนำทฤษฎีนี้มาออกแบบการทดลอง โดยให้ผู้เข้าร่วมทำงานซ้ำซากและน่าเบื่อไปเรื่อย ๆ จากนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องโน้มน้าวคนอื่น ๆ มาทำงานเดียวกัน แต่ต้องโกหกว่าเป็นงานอันแสนสนุกและน่าสนใจมาก ๆ โดยผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มแรกจะได้รับค่าตอบแทน 1 ดอลลาร์ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะได้รับค่าตอบแทน 20 ดอลลาร์สำหรับการโน้มน้าวใจให้คนอื่นมาทำงานเดียวกัน

ถ้ายังไม่เคยได้ยินเรื่องราวการทดลองนี้ คุณคิดว่ากลุ่มไหนจะโน้มน้าวคนอื่นอย่างสุดใจ ?

คำตอบคือกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนเพียง 1 ดอลลาร์เท่านั้น เพราะคนที่ได้รับเงิน 20 ดอลลาร์ รู้สึกว่าเขาได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อแลกกับการต้อง ‘ฝืนใจ’ โกหก แต่กลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนเพียง 1 ดอลลาร์ กลับรู้สึกขัดแย้งภายในใจถ้าจะต้องบอกคนอื่นว่างานนี้น่าสนใจ บางคนเลยเริ่มปลอบใจตัวเองว่านี่คืองานที่สนุกเหมือนกันนะ เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในใจ และจะได้บอกต่อคนอื่นด้วยรู้สึก ‘ฝืนน้อยที่สุด’ เท่าที่จะทำได้

ย้อนมอง Cognitive Dissonance ในชีวิตจริง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผ่นดินไหว เรื่องสมาชิกในลัทธิที่เตรียมหนีน้ำท่วมโลก หรือแม้แต่การทดลองข้างต้น ต่างสะท้อนว่ามนุษย์เราต่างรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจ เมื่อความเชื่อที่ฝังรากลึกมาตลอดนั้นถูกท้าทาย หรือสิ่งที่คาดการณ์ไว้ไม่เป็นอย่างที่คิด เราจึงพยายามหาหนทางหลุดพ้นจากความรู้สึกนั้น ด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป  

เมื่อมองย้อนกลับมาในชีวิตจริง บางคนอาจจะใช้วิธีลดความสำคัญของเรื่องนั้น ๆ ลง เช่น มนุษย์ออฟฟิศที่รู้ทั้งรู้ว่านั่งทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ แต่มองว่าอย่างน้อยก็ยังนอนพอ ออกกำลังกายบ่อย มีไลฟ์สไตล์ ‘ส่วนใหญ่’ ที่ดีต่อสุขภาพแล้ว เพื่อชดเชยความรู้สึกกังวลที่เกิดขึ้น 

หรือบางคนอาจจะไปหาข้อมูล เหตุผล หรือหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนความเชื่อเดิม เช่น การบอกว่ากินอาหารรสหวานจัดไม่ดีต่อสุขภาพกาย แต่รสหวานก็ช่วยฮีลใจได้ไม่น้อย หรือบางคนอาจจะตัดสินใจรื้อถอนความเชื่อเดิมของตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง อย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนคือการเปลี่ยนขั้วความคิดทางการเมืองในบางครั้ง

อย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญจากทฤษฎีของเฟสทิงเกอร์ คงไม่ใช่การบอกว่าวิธีนั้นถูก วิธีนี้ผิด หากทำให้เราได้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น และชวนให้เราได้กลับมาฉุกคิดว่า ความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจบางอย่างนั้นเกิดจากอะไร และเราควรจะปรับความคิด ปรับการกระทำให้สอดคล้องกันได้อย่างไรบ้าง 

แต่ไม่ว่าเราจะก้าวออกจากความตึงเครียดนั้นด้วยวิธีการไหน คำถามสำคัญคงจะเป็นวิธีที่เราเลือกนั้นช่วยให้สบายใจและเดินไปข้างหน้าได้จริง ๆ หรือเป็นเพียงข้ออ้างให้เราทำเรื่องที่ส่งผลเสียต่อตัวเองและคนอื่น ๆ ต่อไปได้กันแน่   

 

เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
อ้างอิง :

Leon Festinger American psychologist / Britannica.com 

Cognitive dissonance – ความไม่คล้องจองของปัญญา / Psy.chula.ac.th 

Leon Festinger (Psychologist Biography) / Practicalpie.com 

5 Everyday Examples of Cognitive Dissonance / Healthline.com 

Cognitive Dissonance Experiment / Explorable.com