16 ต.ค. 2566 | 18:46 น.
- การที่เราจะทำตัวเป็นหินสีเทาใส่ใคร หมายความว่า เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ใช่ ‘เป้าหมาย’ ที่น่าสนใจ หรือ ‘ไม่คุ้มค่า’ มากพอที่จะมาปั่น
- เคล็ดลับในการใช้กลยุทธ์หินสีเทาให้ได้ผลมากที่สุด ‘ดับเบิลยู. คีธ แคมป์เบลล์’ นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ ‘The Handbook of Narcissism and Narcissistic Personality Disorder’ แนะนำให้เราทำตัวเป็นคน ‘ไร้อารมณ์’ และ ‘ไม่ดราม่า’
‘Grey Rocking’ หรือการฝึกตนให้กลายเป็น ‘หินสีเทา’ ที่อยู่นิ่ง ๆ ไม่ไหวติง เป็นกลยุทธ์ที่บางคนนำมาใช้ เมื่อต้องรับมือกับคนที่มีพฤติกรรมหยาบคาย (abusive) จอมบงการ (manipulative) หรือเป็นพิษต่อคนรอบข้าง (toxic person)
หัวใจหลักของการทำตัวเป็นหินสีเทาคือ การพยายามทำตัวเองให้กลายเป็นคนที่ไม่น่าสนใจ และไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคน toxic ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้หมดความสนใจในตัวเรา ซึ่งอาจช่วยลดความขัดแย้งหรือการมีเรื่องมีราวน่าปวดหัวลงได้
แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์นี้คือ พวกคนนิสัยไม่ดี โดยเฉพาะประเภท ‘หลงตัวเอง’ (narcissistic) มักมีความสุขเวลาได้เห็นปฏิกิริยาของเหยื่อ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงที่จะแสดงปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด ทุกข์ร้อน ทุรนทุราย พ่ายแพ้ ฯลฯ จะทำให้พวกคนใจร้ายเห็นว่า สิ่งที่ตัวเองทำลงไปนั้น ไม่ได้ ‘รางวัล’ อะไรตอบแทนมาเลย
บทความนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับการใช้กลยุทธ์ ‘Grey Rocking’ หรือการทำตัวเป็น ‘หินสีเทา’ เพื่อรับมือกับพวกที่มีความสุขกับการชอบทำร้ายผู้อื่น
‘Grey Rocking’ คืออะไร?
การที่เราจะทำตัวเป็นหินสีเทาใส่ใคร หมายความว่า เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ใช่ ‘เป้าหมาย’ ที่น่าสนใจ หรือ ‘ไม่คุ้มค่า’ มากพอที่จะมาปั่น โดยทั่วไปก็มักจะแนะนำให้เราตอบคำถามคนประเภทนี้เพียงสั้น ๆ ตรงไปตรงมา และพยายามเก็บซ่อนความรู้สึกทางอารมณ์ต่อสิ่งที่พูดหรือทำให้ได้มากที่สุด
แต่บางคนก็ใช้กลยุทธ์ทำตัวเป็นหินสีเทากับผู้ที่สงสัยว่าเป็น ‘โรคหลงตัวเอง’ (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD) ที่มักจะพยายามบงการผู้อื่นเพราะหวังจะได้รับปฏิกิริยาหรือผลลัพธ์เฉพาะเจาะจงบางอย่างที่ช่วยส่งเสริม ‘อัตตา’ ของตัวเอง
สำหรับเคล็ดลับในการใช้กลยุทธ์หินสีเทาให้ได้ผลมากที่สุด ‘ดับเบิลยู. คีธ แคมป์เบลล์’ (W. Keith Campbell) นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ ‘The Handbook of Narcissism and Narcissistic Personality Disorder’ แนะนำให้เราทำตัวเป็นคน ‘ไร้อารมณ์’ และ ‘ไม่ดราม่า’
โดยให้ใช้กลยุทธ์นี้ต่อเมื่อต้องการลดอันตรายจากการถูกล่วงละเมิดทางอารมณ์ รวมถึงอันตรายจากกลวิธีต่าง ๆ ที่จงใจมุ่งทำร้ายหรือแสวงหาผลประโยชน์จากคนอื่น เช่น การสร้างความอับอาย, ทำให้รู้สึกไร้ค่าหรือไม่ปลอดภัย, พยายามควบคุมพฤติกรรม, พยายามกีดกันเราออกจากเพื่อนหรือครอบครัว, ปลุกปั่น ร้ายสุดคือทำให้เรารู้สึกว่ากำลังเป็น ‘บ้า’
กลยุทธ์ Grey Rocking ต้องทำอย่างไร?
วิธีใช้กลยุทธ์ Grey Rocking นั้นง่ายมากในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนที่ต้องการเรียกร้อง ‘ความสนใจ’ จากเราเป็นอย่างมาก ต่อไปนี้คือ 4 ข้อปฏิบัติที่อยากจะแนะนำให้ลองทำกัน
1. ทำตัวเป็นกลาง : แทนที่จะเอาตัวเข้าไปร่วมดราม่าด้วยการตอบคำถามหรือแสดงความเห็น ให้พยายามทำตัวเป็นกลางในสิ่งที่พวกเขาพูด แต่หากจำเป็นต้องตอบ ให้ ‘พยักหน้า’ หรือ ‘ยักไหล่’ แทนการแสดงปฏิกิริยาซึ่งเป็นเหมือนการเติมฟืนเข้ากองไฟอย่างที่พวกเขาอยากได้
2. ตอบให้สั้นที่สุด : หากจำเป็นต้องตอบคำถาม ควรตอบให้สั้นแต่สุภาพ อย่าพยายามอธิบายอะไรเพิ่มเติมเกินความจำเป็น และหากพวกเขารอคอยคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ ให้ทำตัวยุ่ง ๆ โดยไม่ต้องสบตา
3. ไม่พูดเรื่องส่วนตัวและไม่แสดงความเห็น : หากจำเป็นต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับบุคคลประเภทนี้ให้พูดคุยเฉพาะเรื่องธรรมดาทั่วไปเท่านั้น อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือความคิดเห็นของคุณในหัวข้อที่พวกเขายกขึ้นมาพูดคุย ข้อควรระมัดระวังคือต้องพยายามไม่ทำให้พวกเขารู้ว่าเรากำลังใช้กลยุทธ์หินสีเทาอยู่
4. ตัดการเชื่อมต่อ : หากเป็นไปได้ พยายามอย่าอยู่ใกล้คนที่ชอบทำร้ายคนอื่น หรือทำตัวเป็นพิษ ตัวอย่างเช่น ในที่ทำงาน ถ้ามีคนพยายามหว่านล้อมให้เราพูดนินทาพนักงานใหม่ ให้บอกไปว่า “ฉันไม่รู้จักเขา” แล้วขอตัวไปทำงานต่อ แต่หากจำเป็นต้องสนทนา ให้พยายามใช้คำพูดที่สุภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้คนเหล่านั้นหมดความสนใจที่จะนินทาคนอื่นกับเรา
กลยุทธ์ Grey Rocking ควรใช้กับใคร?
แม้กลยุทธ์นี้จะใช้ได้ผลกับคน toxic ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่มาในรูปแบบคนรัก เพื่อนร่วมงานขี้ประจบที่ไม่ชอบเห็นใครดีเกินหน้า หรือแม้แต่ป้าข้างบ้านที่ลูกตัวเองเก่งเหนือทุกคนบนโลก แต่แคมป์เบลล์แนะนำให้ใช้กลยุทธ์นี้เป็นพิเศษกับคนที่เป็น ‘โรคหลงตัวเอง’ ที่ชอบเข้ามาควบคุมและบงการคนอื่น
ขณะที่ ‘ฮอลลี ริชมอนด์’ นักจิตวิทยาด้านการสมรสและนักบำบัดครอบครัว เสริมว่า กลยุทธ์นี้จะนำไปใช้กับใครก็ได้ที่ไม่เคารพขอบเขตของคุณ และทำตัวหยาบคายกับคุณไม่ว่าจะด้วยทางใดก็ตาม
“หากมีใครพยายามที่จะครอบงำหรือควบคุมคุณ การทำตัวเป็นก้อนหินสีเทาเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลมากในการตัดขาดจากผู้คนเหล่านั้น จงยึดมั่นในขอบเขตของคุณเอง และรักษาการควบคุมตัวเองให้ได้”
จะทำอย่างไรถ้าไม่ได้ผล?
ในกรณีที่กลยุทธ์ Grey Rocking ใช้ไม่ได้ผล เราอาจต้องดำเนินการวิธีอื่น ขึ้นอยู่กับระดับความคิดเชิงลบที่เรากำลังเผชิญ
“คุณต้องมองหาความช่วยเหลือ และแจ้งให้คนอื่นทราบว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยที่สุดอาจจะเป็นเพื่อนหรือเพื่อนบ้าน มากสุดคือแจ้งตำรวจ” ริชมอนด์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างถึงบางกรณีที่เจอพิษของคนหลงตัวเองอย่างหนักหน่วง จนต้องว่าจ้างไลฟ์โค้ชมาอยู่เคียงข้างเลยทีเดียว
สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ขอบเขตของตัวเอง และไม่ต้องทนกับผู้ที่ละเมิดขอบเขตเหล่านั้น หากเราคิดว่าสถานการณ์กำลังไปถึงจุดที่เป็นอันตราย ให้รีบถอนตัวเองออกมา และขอความช่วยเหลือทันที
ความเสี่ยงในการใช้กลยุทธ์ Grey Rocking
แม้ว่าการทำตัวเป็นหินสีเทา จะเป็นหนทางในการปกป้องตัวเองจากการถูกล่วงละเมิดทางอารมณ์ แต่บางครั้งกลยุทธ์นี้ก็อาจส่งผลย้อนกลับได้ เพราะในบางกรณี คนนิสัยไม่ดีอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเพราะขาดความสนใจ ซึ่งอาจทำให้พฤติกรรมของพวกเขาหนักข้อขึ้น เพื่อพยายามชักใยเราให้ตอบสนองทางอารมณ์แก่พวกเขา
นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าการระงับอารมณ์ที่มากเกินขีดจำกัด อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราได้ และหากเราต้องปกปิดความรู้สึกตัวเองนานวันเข้าก็อาจทำให้เราขาดการเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ ในชีวิตด้วย
สุดท้ายแล้ว จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่ากลยุทธ์ก้อนหินสีเทา หรือ Grey Rocking นั้น จะได้ผลเพียงในระยะสั้น แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราควรทำในระยะยาว หากกลยุทธ์นี้ยังไม่ได้ผล เราก็ควรพยายามหาวิธีอื่นในการจัดการกับคนนิสัยไม่ดีที่พยายามเข้ามายุ่มย่ามในชีวิตเรา
ภาพ : ชนิกา แซ่จาง
อ้างอิง :