07 พ.ย. 2566 | 16:59 น.
- คนที่มีนิสัยชอบบงการ ชอบปั่น มักใช้วิธี ‘โกหก’ เพื่อพยายามควบคุมหรือบังคับคนอื่น แต่มักไม่ค่อยยอมบอกความจริงว่า หากเราเดินตามเกมของเขาแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น
- สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเพื่อรับมือกับพวกจอมบงการ จอมปลุกปั่น หากพูดคุยส่วนตัวแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น ควรแจ้งให้ผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชาทราบว่าเกิดอะไรขึ้น
การถูก ‘ปลุกปั่น’ หรือ ‘บงการ’ (manipulation) เป็นประสบการณ์ที่ (แทบ) ทุกคนเคยเจอ ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน คู่รัก พ่อแม่ ครอบครัว หรือแม้แต่ ‘เพื่อนร่วมงาน’
สำหรับวัยทำงาน ‘เพื่อนร่วมงานจอมปั่น’ ดูจะเป็นมลพิษที่สร้างความปวดหัวไม่น้อย แถมบางเคสอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานด้วย เพราะขาปั่นเหล่านี้มักใช้คำพูดสร้างความหลงผิด หรือกลวิธีที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความคับข้องหมองใจในที่ทำงานได้
บทความนี้ The People อยากชวนทุกคนมาบริหาร ‘ต่อมเอ๊ะ!’ ด้วยการสำรวจพฤติกรรมของ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ว่าเข้าข่ายเป็นพวกจอมบงการหรือปลุกปั่นหรือไม่? โดยเรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ PsychCentral ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลและเรื่องราวที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
ต่อไปนี้คือ 6 พฤติกรรมที่เราควร ‘เอ๊ะ!’ หากเพื่อนร่วมงานทำกับเราหรือคนอื่น ๆ ในที่ทำงาน
1. กดดันให้คนอื่นรู้สึกผิด (Guilt-tripping)
การกดดันให้คนอื่นรู้สึกผิด คือการที่ใครบางคนพยายามทำให้เรารู้สึกว่าต้อง ‘รับผิดชอบ’ หรือ ‘รู้สึกผิด’ ต่อการกระทำหรือการตัดสินใจของเราเอง โดยที่ใครคนนั้นได้ ‘ประโยชน์’ หรือแม้แต่ ‘ได้หน้า’ ไปอย่างเนียน ๆ
หากยังไม่เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างประโยคที่เราอาจเคยได้ยิน แต่ไม่ได้เอะใจว่ากำลังถูกกดดันให้รู้สึกผิดอยู่
“ถ้าไม่ใช่เพราะฉัน โปรเจ็กต์ของเธอคงไม่เสร็จสมบูรณ์หรอก เธอเป็นหนี้ฉันอยู่นะ”
“ฉันเป็นคนที่ทำงานตลอดเวลา ไม่เหมือนเธอหรอก วัน ๆ เอาแต่อยู่กับเพื่อน ฉันได้เงินก้อนนี้ก็ถูกแล้ว”
“ถ้าเธอมาไม่ได้ ฉันก็จะไม่เชิญใครไปงานคืนนี้แล้วแหละ เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไร”
2.โกหก (Lying)
คนที่มีนิสัยชอบบงการ ชอบปั่น มักใช้วิธี ‘โกหก’ เพื่อพยายามควบคุมหรือบังคับคนอื่น แต่มักไม่ค่อยยอมบอกความจริงว่า หากเราเดินตามเกมของเขาแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานที่บอกพนักงานใหม่อ้อม ๆ ว่า สามารถมอบข้อมูลสำคัญให้แผนกอื่นได้ ทั้งที่จริงแล้วทำไม่ได้เด็ดขาด (แน่นอนว่าเมื่อหัวหน้ารู้ น้องใหม่ต้องโดนบ่นหูฉีก)
3.ประจบสอพลอ (Flattery)
จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะแยกระหว่าง ‘คำชม’ กับการ ‘ประจบสอพลอ’ แต่หากตั้งสติให้ดี ไม่ปล่อยใจไปกับคำพูดหวานหูชวนเคลิบเคลิ้ม เราจะมองออกระหว่างคำชมเชยที่ชี้ให้เห็นด้านดีอย่างจริงใจ ไม่หวังผลตอบแทน กับคำเยินยอสอพลอที่มักถูกใช้โดยไม่สุจริต เป็นเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่ผลตอบแทนบางอย่าง
ที่เห็นบ่อย ๆ คือพวกที่อยากได้เงินเดือนเพิ่มหรืออยากเลื่อนตำแหน่ง สังเกตว่าคนเหล่านี้จะขุดคลังคำสรรเสริญเยินยอที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ประถม มาใช้อวยความสำเร็จของผู้บริหารหรือผู้นำองค์กร จนเดินตัวลอยเท้าแทบไม่ติดพื้น แล้วจู่ ๆ ก็เกิดอาการอยากตบรางวัลให้แม่คนปากหวานพูดจาเข้าหูนี่ซะจริง ๆ
4.โทษคนอื่น (Projection)
‘แม็กกี้ ฮอลแลนด์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาในสหรัฐฯ อธิบายว่า การเอาแต่โทษคนอื่น ทำให้พวกจอมบงการทั้งหลายสามารถหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้น แม้คนพวกนี้จะสามารถเชิดหน้าอยู่ในองค์กรต่อไปได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร แต่ผลร้ายที่สุดสำหรับคนเหล่านี้คือ พวกเขาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็ทำลาย ‘ความไว้วางใจ’ ที่คนอื่นเคยมอบให้ด้วย
นั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะไม่ให้ ‘ค่า’ กับพวกนิสัยเสียประเภทนี้ เพราะมันจะทำให้เราต้องพบกับความผิดหวังและความคับข้องใจไม่มีที่สิ้นสุด
5.เปลี่ยนกติกาอย่างไม่เป็นธรรม (Moving the goalposts)
บางครั้ง แม้ว่าเราจะพยายามอย่างหนักและตั้งใจเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง แต่พวกจอมบงการหรือจอมปั่นก็มักจะเปลี่ยนกติกาในนาทีสุดท้าย เพื่อสกัดไม่ให้เราวิ่งไปถึงเส้นชัย ซึ่งแน่นอนว่า มันทำให้เราทั้งหงุดหงิดและเหนื่อยล้า
ฮอลแลนด์อธิบายว่า สำหรับพวกชอบบงการ “เราจะไม่มีทางไปถึงเป้าหมายได้จริง ๆ อีกทั้งความพยายามและความสำเร็จของเราก็จะไม่ได้รับการยอมรับ”
เพราะฉะนั้นแล้ว จงเชื่อมั่นในตัวเอง ตระหนักถึงความต้องการของตัวเอง และการเลิกเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์มากกว่า เราควรหันกลับมาทำงานเพื่อสิ่งที่เราให้คุณค่า รวมถึงเป้าหมายและมาตรฐานของตัวเราเอง เป็นดีที่สุด
“เตือนตัวเองว่าเราเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว” ฮอลแลนด์ฝากแง่คิด
6.ดึงบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง (Triangulation)
หากเราเกิดมีปัญหากับพวกชอบปั่น ชอบบงการ สังเกตว่าคนเหล่านี้จะดึงบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง แทนที่จะพยายามแก้ปัญหากันเองสองคน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อยืมมือบุคคลที่สามมาจัดการเรา
“ตอนนี้จู่ ๆ ตัวละครก็เพิ่มขึ้นมาเป็นสามคน และมีโอกาสสูงมากที่ตัวละครที่สามจะไม่เข้าข้างเรา” ฮอลแลนด์กล่าว พร้อมกับอธิบายว่า พวกปลุกปั่นมักชอบดึงคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร และอาจช่วยให้ตัวเองไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้ระหว่างที่เกิดการโต้แย้ง
หากเข้าใจธรรมชาติของคนประเภทนี้ เราจึงควรป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาอยู่ในความขัดแย้ง และพยายามรักษาความสัมพันธ์กับพวกเขาให้ได้
สำหรับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเพื่อรับมือกับพวกจอมบงการ จอมปลุกปั่น หากพูดคุยส่วนตัวแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น ควรแจ้งให้ผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชาทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะการไปออฟฟิศ เราไปเพื่อทำงาน ไม่ใช่ไปรบ สถานที่ทำงานควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทำงานทุกคน
หลังจากนั้นต้องพยายามเป็น ‘มืออาชีพ’ และพยายาม ‘ก้าวข้าม’ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสุดความสามารถ และโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์เชิงบวกในที่ทำงาน ที่จะหนุนให้เราบรรลุเป้าหมายในหน้าที่การงาน ดีกว่า
สุดท้าย ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราควรทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพวกจอมปั่นสักนิด คิดเสียว่าเขากำลังมีปัญหาเรื่องการแสดงความต้องการของตัวเองอย่าง ‘เหมาะสม’ และ ‘ถูกต้อง’
คิดแบบนี้อาจช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น
ภาพ : Pexels
อ้างอิง :