24 ม.ค. 2567 | 18:05 น.
- Gen Z หรือ คนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1997 - 2012
- ปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอยู่ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด ถือเป็นกำลังหลักของตลาดแรงงานในประเทศ
- ขณะเดียวกัน Gen Z ก็ถูกมองเป็นตัวปัญหาในโลกการทำงาน การเข้าใจ Insight คนกลุ่มนี้จึงสำคัญเพื่อหาทางออกของปัญหา
‘ติดมือถือ ไม่ชอบให้ใครติ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ไม่มีวินัย ไม่เห็นใครดีกว่าตัวเอง มีความจงรักภักดีต่อองค์กรต่ำ ฯลฯ’ ประเด็นเหล่านี้เป็นความคิดเห็นที่เรามักจะได้ยินเมื่อมีการพูดถึงพนักงานในกลุ่ม Gen Z
“เราควรมาวิเคราะห์กันนะว่า ปัญหาพวกนี้เกิดเฉพาะกับคน Gen Z จริงหรือเปล่า หรือมันเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวสู่วัยทำงาน ซึ่งอาจยังไม่รู้ความจริงของชีวิตเป็นอย่างไร เพราะชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขามีแต่การเรียน ทำให้อาจไม่เข้าใจบริบทของโลกการทำงานมากพอ จึงทำพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ออกมา”
เป็นคำถามที่ ‘ธีรยา ธีรนาคนาท’ CEO & Co-Founder CareerVisa Digital ผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านการเลือกอาชีพที่ใช่สำหรับคนรุ่นใหม่ อยากชวนให้หลายคนคิดก่อนจะสรุปว่า Gen Z เป็น Generation ที่เป็นตัวปัญหาเมื่อเข้ามาทำงานในองค์กร
เพราะตามความเห็นของเธอ ไม่ว่า Gen ใด ก็มีปัญหาได้ หากองค์กรไม่เข้าใจและให้ความสำคัญต่อ 'คน' ในองค์กรของตัวเองเพียงพอ
สำหรับกลุ่ม Gen Z หรือคนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1997 - 2012 ในปีปัจจุบันจะมีอายุ 12 – 27 ปี ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหนึ่งในสี่ของประชากรไทยทั้งหมด ทำให้กลุ่มนี้ถือเป็น First Jobber ที่จะเข้ามาเป็นกำลังหลักของตลาดแรงงานและขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
โดยคนกลุ่มนี้ ธีรยาบอกว่า จะมีลักษณะนิสัย พฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างจาก Generation ก่อนค่อนข้างมาก และส่งผลให้มุมมองการทำงานของคนใน Gen Z มีความแตกต่างออกไป ซึ่งจุดเริ่มต้นที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอยากทำงานมากขึ้น หลัก ๆ ต้องรู้จักพฤติกรรมและความต้องการของคนกลุ่มนี้ให้ดีเสียก่อน
“คน Gen Z เกิดมายุคที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโตมากับเทคโนโลยี เขาสามารถเรียนรู้ได้เร็ว เห็นคุณค่าของตัวเองและมองทุกคนเท่าเทียมไม่มีการแบ่งแยก ขณะเดียวกันก็สร้างนิสัยที่ไม่อดทนรอ ด้วยบริบทของการใช้ชีวิตที่แตกต่าง ทำให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมอย่างที่เห็น ซึ่งอาจไม่ใช่นิสัยเขาจริง ๆ เรื่องพวกนี้องค์กรควรต้องเรียนรู้ อย่าไปคิดแทนพวกเขา”
งานแบบไหนที่ Gen Z ต้องการ
เธอแชร์ข้อมูลจากผลสำรวจ Reset Normal ของ Adeco ให้เราเห็นภาพว่า หลัก ๆ คนกลุ่มนี้อยากทำงานในองค์กรที่ให้คำชื่นชมและให้การยอมรับในผลงาน
รองลงมา เงินเดือนดี ตามด้วย วัฒนธรรมการทำงานที่สนุกสนาน ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และได้รับความไว้วางใจในการทำงาน
“หลายผลสำรวจอาจจะบอกว่า ผลตอบแทนในรูปตัวเงินที่สูงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดใจคน Gen Z ได้ แต่ความเป็นจริงเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่คน Gen นี้ให้ความสำคัญเช่นเดียวกับ Gen อื่น ๆ รวมถึงเจ้านายดี เพื่อนร่วมงานและสังคมในการทำงานดี มีความยืดหยุ่น มี Work Life Balance ที่เพิ่มขึ้น และโอกาสเรียนรู้จากคนเก่ง มีความสามารถ เพื่อพัฒนาตัวเองให้เติบโต”
3C มัดใจ Gen Z
สำหรับการก้าวข้ามปัญหาของ Gen Z ในโลกการทำงาน เธอแนะนำให้ใช้สูตร 3C ประกอบด้วย Care-Coach-Communicate
C ตัวแรก Care - การใส่ใจว่าเขาคิดอะไร อยากได้อะไร และต้องการทำงานแบบใด เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของคน Gen นี้
“หลายคนบอก Gen Z ไม่อยากทำงาน อาจจะไม่จริงเสมอไป ยกตัวอย่าง คนทำงานด้าน Content Creator หลายคนทำงานหนักและดึกดื่น เพราะเขาเห็นโอกาสเติบโตและได้รับคำชมจากงาน ซึ่งตรงกับอินไซต์คน Gen Z ที่จะรู้สึกใจฟูมากเมื่อได้รับคำชม ผลงานได้รับการยอมรับ โดยองค์กรไม่ต้องมีสวัสดิการหรูหรา คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะทุ่มเทในการทำงาน”
C ตัวที่ 2 Coach การแนะนำให้เขาพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือและความสามารถ ช่วยให้คิดเอง แชร์ประสบการณ์ระหว่างเรา
“Gen Z เป็นกลุ่มที่ต้องการมีตัวตน เขาต้องการโ องค์กรบางแห่งอาจบอกว่า การไม่ให้คนรุ่นใหม่แสดงฝีมือ เพราะกลัวทำผิดพลาดหรือทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม นั่นแสดงว่า คุณรับคนเข้ามาผิด มีปัญหาในการสกรีนคน เพราะขนาดคนที่คุณเลือกเข้ามาเอง คุณยังไม่ไว้ใจเลย”
C ตัวสุดท้าย Communicate องค์กรหรือหัวหน้าต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและสื่อสารอย่างเข้าใจ
สุดท้าย ธีรยาย้ำว่า การเปลี่ยนผ่าน Generation เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่ว่าจะอยู่ในยุคหรือ Genใดก็ตาม การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
ดังนั้น องค์กรควรต้องศึกษาและทำความเข้าใจคนในองค์กร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและพาองค์กรให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน