“ฉันหวังว่าฉันจะตายในขณะหลับ” หนึ่งในอาการของภาวะ ‘Passive Death Wish’

“ฉันหวังว่าฉันจะตายในขณะหลับ” หนึ่งในอาการของภาวะ ‘Passive Death Wish’

‘Passive Death Wish’ ภาวะอันตรายที่คนมักไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญ และช่วงอายุที่พบก็ขยายกว่้างมากขึ้น

KEY

POINTS

  • อาการ Passive Death Wish เป็นภาวะอันตราย ก่อนพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้า
  • การคิดลบกับตัวเองบ่อย ๆ และรู้สึกอยากตาย (แต่ไม่อยากฆ่าตัวตาย) เป็นอาการของ Passive Death Wish ที่พบได้บ่อย

ความคิดแบบนี้แล่นเข้ามาในหัวของคนหลายช่วงอายุมากขึ้นในปัจจุบัน จากเมื่อก่อนที่เป็นช่วงวัยเรียนเพราะเกิดภาวะเครียดไม่รู้ตัว รวมไปถึงเรื่องอื่นที่มักเข้ามาทำให้วัยเรียนว้าวุ่น แต่ ณ ตอนนี้ ช่วงอายุขยายกว้างพบมากขึ้นในวัยไม่เกิน 35 ปี ซึ่งก็คือ ‘วัยทำงาน’

หลายข้อมูลที่เราเห็น หนึ่งในนั้นก็คือ OOCA แพลตฟอร์มที่ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตของคนไทย ซึ่ง หมออิ๊ก - กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง

ในบทความ OOCA Story ได้พูดถึงช่วงจิตคนเราที่กำลังดาวน์ ขุ่นมัว ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น แต่ไม่ถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ห้วงอารมณ์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สารเคมีบางอย่างในสมองเราเริ่มหลั่งผิดปกติ ทำให้เรามีความคิดลบกับตัวเอง อยากจะหายไปจากโลกนี้ หรือ ตายไปก็ได้ แต่ไม่อยากฆ่าตัวตาย

เรามาทำความเข้าใจกันอย่างช้า ๆ และง่ายที่สุดเกี่ยวกับภาวะ Passive Death Wish คืออะไร?

ภาวะ Passive Death Wish หรือบางครั้งก็เรียกว่า ‘Passive Suicidal Idention’ นพ.ฮาโรลด์ ฮอง (Harold Hong) จิตแพทย์และผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ New Waters Recovery ในเมืองราลี รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า

“ความคิดฆ่าตัวตายแบบ Passive เป็นความคิดเกี่ยวกับความตายและการฆ่าตัวตายบ่อยครั้งโดยไม่ได้ตั้งใจหรือตั้งใจที่จะทำร้ายตัวเอง เพียงแต่จะแตกต่างจากความคิดฆ่าตัวตายเชิงรุกหรือ Active ที่มีการวางแผน มีการคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้เป็นไปตามแผน”

“ถึงแม้ว่าภาวะ Passive Death Wish อาจไม่ได้การนำไปสู่การตายเสมอไป เพราะเป็นเพียงความคิดที่อยู่ในหัว ไม่ได้สร้างปัญหาร้ายแรงต่อผู้อื่น แต่ในมุมมองของแพทย์ถือว่ามีความเสี่ยง และควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เพราะภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า ที่คิดอยากจะฆ่าตัวตายก็ได้”

“ที่สำคัญคือ Passive Death Wish มองยากกว่าโรคซึมเศร้า เพราะคนที่กำลังเป็นยังใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่มีสัญญาณล่วงหน้า เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งที่คิดในหัวทั้งหมด”

คล้าย ๆ กับความหมายที่ OOCA นิยามไว้ว่า คน ๆ นั้นอาจไม่ได้ทำตัวให้อยู่ในความเสี่ยง แต่ก็ไม่ได้แคร์ว่าตัวเองจะอยู่หรือไป มีความคิดว่าถ้าตายก็ดีไม่ตายก็คงต้องทนอยู่ต่อได้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการ Passive Death Wish จะมีความคิดแบบนี้วนเวียนไปมาอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่า พวกเขามีทัศนคติที่มองไม่เห็นชีวิตด้านบวกของตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่อยากทุกข์ทรมานอีกแล้ว เป็นต้น

ตัวอย่างความคิดที่มาจากอาการ Passive Death Wish อย่างเช่น

“ฉันหวังว่าจะมีคนชนรถของฉัน”

“ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ฉันไม่สามารถรับมันได้”

 “ฉันหวังว่าฉันจะไม่ได้เกิดมา”

“พวกเขาทั้งหมดคงจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีฉัน”

นอกจากนี้ อาการของ Passive Death Wish ที่เป็นแล้วเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ ชอบพูดเรื่องการจากไปของตัวเอง, รู้สึกเครียดและเศร้าอยู่ตลอดเวลา, กินและนอนผิดเวลาไปจากเดิม, ไม่ร่าเริงสดใส

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำจำกัดความความคิดฆ่าตัวตายแบบ Passive ว่าเป็นการใคร่ครวญที่จะตายหรือเก็บงำความปรารถนาที่จะตายไว้ โดยไม่กระตือรือร้นที่จะบรรลุผลนั้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

สาเหตุเกิดจากอะไร?

ถึงแม้ว่านักวิจัยจาก New Waters Recovery บอกสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็มีแรงจูงใจที่ ‘น่าจะ’ ทำให้เกิดขึ้นภาวะ Passive Death Wish ได้แก่

  • การถูกทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก ปัญหาภายในครอบครัว ความบอบช้ำทางจิตใจ การถูกละเลย
  • การเปิดตัวว่าอยุ่ในกลุ่ม LGBTQ+ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว
  • รู้สึกสิ้นหวัง โดดเดี่ยว
  • ต้องอยู่กับชีวิตที่เจ็บป่วยเรื้อรังตลอดเวลา
  • เกิดปัญหาในชีวิต ปัญหาเรื่องงาน ขาดเงินทุน หรือสิ่งอื่น ๆ ที่รู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามมาถึงชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ ในมุมของจิตแพทย์ของ OOCA ได้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า หากภาวะนี้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง หรือคนใกล้ตัวก็ตาม สิ่งที่เราสามารถทำได้เบื้องต้นก็คือ ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ของตัวเขาเอง และเห็นว่าชีวิตเขามีความหมายมากแค่ไหน ควรค่าแก่การอยู่ต่ออย่างไร ส่วนเราคงทำได้เพียง ตั้งใจฟังเขาอย่างตั้งใจ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องมีคำพูดมากมายก็ได้ แค่ให้คนนั้นรู้สึกว่าเราพร้อมอยู่ข้าง ๆ ก็พอ

 

 

ภาพ: Pixabay

อ้างอิง:

OOCA Story

Passive Suicidal Ideation

“Passive Death Wish” อันตรายไม่แพ้ “ซึมเศร้า” เช็ก 4 วิธีระวังใจไม่ให้จมดิ่ง