‘Green Flags’ ในภาวะผู้นำเป็นแบบไหน ทำไมสำคัญต่อองค์กร?

‘Green Flags’ ในภาวะผู้นำเป็นแบบไหน ทำไมสำคัญต่อองค์กร?

เข้าใจความหมายและมุมมองการคิดแบบผู้นำที่มีภาวะ ‘Green Flags’ คืออะไร และทำไมถึงเหมาะกับองค์กรยุคใหม่ ที่ต้องมีวัฒนธรรมแห่งการชื่นชมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับทีมทำงาน

KEY

POINTS

  • Green Flags คืออะไร ทำไมเป็นภาวะที่ผู้นำควรมี
  • Green Flags เหมาะกับองค์กรในยุคนี้ เพื่อการเติบโตและยั่งยืน
  • วัฒนธรรมแห่งการชื่นชม เป็นหนึ่งในธรรมเนียมที่ควรสร้างให้เกิดในองค์กรปัจจุบัน

นอกจากความเชี่ยวชาญ หรือภาษาคนระดับ C มักจะเรียกว่า ‘ชั่วโมงบินสูง/สะสมไมค์สูง’ ที่สะท้อนไปถึงการเติบโตขององค์กร บทบาทของผู้นำเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในแง่ของวัฒนธรรมองค์กร ความเฮลตี้ขององค์กร เพื่อให้สุขภาพจิตของคนทำงานอยู่ในจุดที่ถูกที่ควร

ดัชนีตัวหนึ่งที่หลายองค์กรเริ่มให้ความสนใจ (ทั้งที่มีมาสักพักแล้ว) ก็คือตัวบ่งชี้ที่เรียกว่า ‘Green Flags’ (ธงสีเขียว) เพราะมันรวมไปถึงความสามารถของผู้นำในการรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี เพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกในเชิงบวกเพื่อมีส่วนร่วม และในระยะยาวสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อความสำเร็จและความยั่งยืนในองค์กรด้วย

คำว่า Green Flags หลายคนอาจจะเห็นจากการผสานคำกับ ‘ความสัมพันธ์’ ที่เฮลตี้มาก ๆ ซึ่งในเชิงองค์กรหรือภาวะในการเป็นผู้นำแบบ Green Flags ก็เช่นเดียวกัน เรียกว่าเป็นภาวะที่ผู้นำในยุคนี้ควรมีอย่างยิ่ง

การสื่อสาร

การสื่อสารที่สร้างพลังเชิงบวก ต้องเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต่อทุกคนด้วย เพราะหากการสื่อสารนั้น ๆ ชัดเจน และตรงไปตรงมา สิ่งที่เหนือความคาดหมายคือ คำพูดไม่กี่ประโยคจากผู้นำที่ดีและเข้าใจเพียงพอจะกระตุ้นให้พนักงานทำงานอย่างเต็มที่ และทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับการเติมเต็มให้ถึงจุดมุ่งหมายร่วมกัน

ทั้งนี้ ทฤษฎีของ Dr. Amy Edmondson จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ระบุในบทความของเธอเมื่อปี 1999 ว่าการทำงานเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จสูง จะต้องมาจากการที่แต่ละคนเชื่อลึก ๆ ว่าพวกเขาจะปลอดภัยจากมุมมองของกันและกัน

 

ความเห็นอกเห็นใจ

เป็นธรรมชาติของผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจและให้การสนับสนุนสถานที่ทำงานที่พนักงานรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ แต่การเห็นอกเห็นใจที่สร้างพลังและทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า อยู่ในที่ที่ใช่ จะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจให้พวกเขาสูงขึ้น ความพึงพอใจในงานร่วมงาน แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการลาออกที่ลดลงด้วย

พูดในแง่มุมก็คือ การสนับสนุนการเติบโตของพนักงานจะช่วยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมขององค์กรยุคใหม่ การมอบแนวคิดใหม่ ๆ  เรื่องการเจริญรุ่งเรือง และทักษะส่วนบุคคลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แต่ข้อระวังคือผู้นำต้องบาลานซ์การสร้างความรู้สึกเหล่านี้อย่างเท่าเทียม เพราะการเห็นอกเห็นใจเพียงคนใดคนหนึ่งจะเกิดเป็นปัญหาระยะยาวได้เช่นกัน

แก้ไขข้อขัดแย้ง

ผู้นำที่มีภาวะ Green Flags ต้องจัดการข้อขัดแย้งอย่างมีไหวพริบ อาจจะเริ่มจากการพูดคุยด้วยความเคารพอย่างตรงไปตรงมา การเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย และต้องให้ทุกคนเห็นปัญหาเดียวกันให้ได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ หลายองค์กรรับรู้ว่าบริษัทกำลังมีปัญหา และปัญหาคืออะไร และไม่สามารถหาโซลูชั่นได้ จนพอกพูนเป็นปัญหาซ้ำซากที่สุดท้ายผู้นำอาจไม่รู้ว่าต้องแก้ไขปัญหาที่จุดไหนก่อน

 

คิดอย่างมีวิสัยทัศน์

Green Flags สามารถหมายถึงทุกคนในองค์กร ไม่ใช่แค่ผู้นำ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองและสมาชิกในทีม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีแรงบันดาลใจ ผู้นำสามารถเริ่มต้นจากการยอมรับและชื่นชมความพยายามของทีมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งนี้ควรเป็นแนวคิดขั้นพื้นฐานในการรักษาระดับการมีส่วนร่วมและสร้างขวัญกำลังใจในระดับสูงให้กับคนในองค์กร

ดั่งที่ ‘ทฤษฎีมาสโลว์’ เคยระบุไว้ในปี 1943 “Maslow’s hierarchy of needs” คือมนุษย์มีความต้องการเหมือนกันทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ ต้องการพัฒนาศักภาพของตัวเอง, ต้องการได้รับการยอมรับและยกย่องในตัวเอง, ต้องการความรักและสังคม, ต้องการความมั่นคงและรู้สึกปลอดภัย และสุดท้ายมนุษย์ต้องการสิ่งพื้นฐานของร่างกาย

โดยสรุปของทฤษฎีมาสโลว์ ก็คือ ผู้นำควรสร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งความชื่นชม’ โดยเป็นการให้กำลังใจเชิงบวกกันและกัน หรือยอมรับในสิ่งเล็ก ๆ ที่เป็นเชิงบวกต่ององค์กรได้

ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจ ‘Red Flags’ (ธงสีแดง) ภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตไปด้วย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ Green Flags ทั้งหมด เช่น สื่อสารไม่ชัดเจน, จัดการไม่เป็นระบบ, สร้างวัฒนธรรมเป็นพิษ หรือ Toxic ในองค์กรไม่รู้ตัว, บริหารแบบเผด็จการ, ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นอุปรรคอย่างมากต่อความก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนนัยยะที่ต้องศึกษา

สำหรับภาวะ Green Flags ของแต่ละคน ไม่มีข้อจำกัดตายตัว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคนกลุ่มใหญ่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาในระยะต่อไป ซึ่งกลุ่มคนระดับ C-Level หรือคณะบริหารสามารถหันเข็มทิศให้กับธุรกิจของตัวเองเสมอ อยู่ที่ว่าทิศทางที่เรากำลังจะ Lead ผู้คนที่อยู่ข้างหลัง เรามองมันอย่างเฉียบแหลมคมพอหรือไม่ และเราพร้อมที่จะรับความเสี่ยงหรือไม่ หากวันแห่งการล้มเหลวมาเยือน...

 

ภาพ: Pixaybay

อ้างอิง:

Unlocking the Potential: Green Flags and Red Flags in Leadership

Top 5 Green Flags in People Leaders

7 “green flags” to look for in an employer