แชร์ 3 เคล็ดลับรับมือกับหัวหน้าที่เข้ากับเราไม่ได้

แชร์ 3 เคล็ดลับรับมือกับหัวหน้าที่เข้ากับเราไม่ได้

แนะ 3 เคล็ดลับรับมือกับหัวหน้าที่เข้ากับเราไม่ได้ จาก ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่เคยให้คำปรึกษาคนทำงานในญี่ปุ่นมากกว่า 10,000 คน

ใครกำลังรู้สึกไม่ ‘กินเส้น’ กับ ‘หัวหน้า’ ยกมือขึ้น!

ไม่ว่าความไม่กินเส้นนั้น จะเกิดจากตัวคุณเองหรือตัวหัวหน้า ไม่ว่าความไม่กินเส้นจะมาจากประเด็นส่วนตัว หรือประเด็นที่เป็นผลมาจากงาน หากคุณกำลังรู้สึกหนักอกหนักใจกับความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อย ‘ลงรอย’ กับผู้บังคับบัญชา ที่มีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางหน้าที่การงานของคุณ 

บทความนี้อาจจะพอช่วยบรรเทารอยร้าวระหว่างคุณกับหัวหน้าได้

ในหนังสือ ‘จิตวิทยาตีเนียน (เพื่อจัดการคนน่ารำคาญ) ที่เขียนโดย ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่เคยให้คำปรึกษาคนทำงานในญี่ปุ่นมากกว่า 10,000 คน ได้แนะนำ ‘เคล็ดลับป้องกันตัวจากหัวหน้าที่เข้ากันไม่ได้’ ทั้งหมด 3 ข้อ ที่คุณสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

เทคนิคที่ 1 ระหว่างการสนทนา จงตอบโต้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เทคนิคนี้ใช้สำหรับหัวหน้าที่จ้องแต่จะเอาเปรียบคุณ และคอยแต่จะโยนงานทุกอย่างมาให้คุณทำอย่างไร้ความยุติธรรม และขาดความเห็นอกเห็นใจ เพราะฉะนั้นคุณต้องใช้วิจารณญาณก่อนว่า ตัวคุณเองหรือเปล่าที่กำลังงอแง หรือเป็นเพราะหัวหน้าของคุณงี่เง่าจริง ๆ เพราะหากเป็นอย่างแรก ที่หมายความว่าปัญหาเกิดจากฝั่งคุณ แต่คุณดันใช้เทคนิคนี้ คุณเองนั่นแหละ จะถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน 

แต่หากคุณมั่นใจจริง ๆ ว่า ปัญหาไม่ได้มาจากฝั่งคุณ ก็อาจใช้เทคนิคนี้ได้เลย 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “การไม่โต้ตอบ” ไม่ได้หมายความว่า คุณจะทำหน้าเรียบเฉย หรือไม่พูดอะไรสักคำกับหัวหน้า แต่หมายถึง “การไม่ทำตามสิ่งที่อีกฝ่ายขอร้องอย่างว่าง่าย” เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้อีกฝ่ายใช้ประโยชน์จากความใจอ่อนของคุณ แล้วเรียกร้องจากคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ 

แน่นอนหล่ะ มันไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีคุณจะลุกขึ้นมาหักดิบทำแบบนี้ได้เลย เพียงแต่คุณค่อย ๆ เปลี่ยนการตอบโต้ทีละเล็กทีละน้อยเพื่อไม่ให้ใครทันสังเกต พร้อมกับตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ และฝึกฝนไปในแต่ละวัน 

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่หัวหน้าอยากให้คุณแสดงท่าทีตอบรับ หรือสั่งให้ทำอะไรบางอย่าง คุณอาจจะเลือกปล่อยผ่านไปสักหนึ่งเรื่องก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถึงกับคอขาดบาดตายยิ่งดี 

‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ แนะนำให้คุณค่อย ๆ สั่งสมสิ่งเหล่านี้ทุกวัน จนสุดท้ายไปถึงจุดที่ทุกคนมองว่า “ไอ้หมอนี่มันเปลี่ยนไปเหมือนกันนะ ทั้งตอบโต้น้อย แล้วก็ไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่” 

เทคนิคนี้คุณต้องใช้ความ ‘กล้าหาญ’ อย่างมาก หากคุณเคยเป็นคนใจดีมาก่อน คุณอาจต้องชื่นชมและให้กำลังใจตัวเองเป็นระยะ ในระหว่างทางที่คุณกำลังเปลี่ยนเป็นคนที่ ‘เย็นชา’ กับหัวหน้ามากขึ้น 

แล้วการใช้เทคนิคนี้ มันจะไปจบตรงที่ เวลาหัวหน้าของคุณบ่นกับคนอื่นว่า “ไอ้หมอนั่นเป็นคนทำงานด้วยยาก” เพื่อนร่วมงานจะโดดปกป้องคุณด้วยการตอบว่า “เหรอคะ แต่ฉันแทบไม่รู้สึกอย่างนั้นเลยนะคะ” ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่คุณกำลัง “ได้เปรียบ” 

เทคนิคที่ 2 สร้างภาพลักษณ์ให้มีจิตใจเข้มแข็ง 

ถ้านึกภาพการเป็นคนเข้มแข็งไม่ออก อย่างน้อย ๆ ให้หลีกเลี่ยงอาการตื่นกลัว ลนลาน ยอมรองรับอารมณ์ของอีกฝ่าย ไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลย หรือถ่อมตัวมากเกินไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาการของคนที่ขาดความมั่นใจ ซึ่งมักจะตกเป็นเป้าเหยื่อของหัวหน้า Toxic ได้ง่าย 

‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ ย้ำว่า “การมีจิตใจเข้มแข็ง” ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ลุกขึ้นมาทำได้ทันที เพียงแต่ต้องพยายาม “แสร้งทำให้เห็น” ด้วย 4 วิธีดังต่อไปนี้

  1. ค่อย ๆ พูดด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำ: อย่างที่หลายคนทราบดี คนเสียงสูงจะให้ภาพลักษณ์ที่สดใส อ่อนเยาว์ ในทางกลับกัน การพูดช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำ ไม่เพียงให้ภาพลักษณ์ที่ดูสุขุมใจเย็น หากแต่ยังให้ความรู้สึกน่าเกรงขาม ที่ทำให้คนอื่นไม่กล้าเข้ามายุ่มย่ามให้รำคาญใจ ดังนั้น คนที่ไม่สามารถเปลี่ยนบุคลิกได้ทันที การเปลี่ยนโทนเสียงจึงอาจเป็นวิธีเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่รวดเร็ว และชัดเจนที่สุด
  2. ไม่พูดคุยตามน้ำ: สำหรับหัวหน้าที่เราไม่ค่อยปลื้ม พึงระวังอย่าพูดคุยตามน้ำไปกับเขา โดยก่อนตอบหรือแสดงความเห็นใด ๆ ให้คุณลองนับในใจช้า ๆ สัก 2 วินาที หลังจากที่หัวหน้าพูดจบ เพื่อให้เขามองว่าคุณเป็นคนที่ “เข้าหายาก” และ “ไม่น่าสนิทสนมด้วย” ยิ่งคุณพูดคุยกับเขาน้อยลงเท่าไร ความรู้สึกผิดและความเครียดของคุณจะลดลงแน่นอน
  3. ปรับบุคลิกให้ดูดี: การนั่งทำงานนาน ๆ อาจทำให้คุณหลังค่อมไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้คุณเหมือนคนขาดความมั่นใจ ให้คุณลองบังคับตัวเองให้นั่งหลังตรง อกผายไหล่ผึ่งดูมีสง่าราศี เท่านี้ก็ดูเป็นคนมั่น ๆ ขึ้นแล้ว ว่ากันว่าหากเราปรับบุคลิกให้ดูดี เราก็จะมีความคิดแง่บวก ซึ่งจะยิ่งความมั่นใจให้เราไปอีก วิธีนี้นอกจากจะช่วยป้องกันหัวหน้าที่จ้องเอาเปรียบ ยังส่งผลดีต่อตัวคุณเองด้วย 
  4. พูดโดยมองตาอีกฝ่าย: คุณอาจรู้สึกอึดอัดแหละ เวลาสบตากับหัวหน้าที่คุณเหม็นขี้หน้า แต่ถ้าคุณหลีกเลี่ยงการสบตากับเขา อีกฝ่ายจะยิ่งคิดว่าคุณไม่ฟังเขา และทำให้เกิดภาพลักษณ์ของคนขาดความมั่นใจ เอาอย่างนี้ หากไม่อยากสบตาตลอดการสนทนา คุณลองเริ่มจากละสายตาจากเขาทุก ๆ 10 วินาทีก็ได้ แต่ในกรณีที่คุณกลัวจนไม่กล้ามองตาหัวหน้า ให้จับจ้องไปที่หว่างคิ้วของเขาแทน น่าจะพอช่วยได้เยอะเลย 

เทคนิคที่ 3 อย่าเป็น “คนที่โดนทำอะไรก็ปิดปากเงียบ”

เพราะคนประเภทนี้เป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับหัวหน้าที่ชอบเอาเปรียบลูกน้องหน่ะสิ 

หากคุณเคยเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดกล้าเถียงอะไรกับใคร ให้ลองเริ่มจากพยายามพูดอะไรบ้างระหว่างการประชุม ร้ายสุดถ้าไม่รู้จะพูดอะไรจริง ๆ ตอนจบลองอาสาเป็นคนทวนการประชุมก็ยังดี เช่น “ขอให้ผมเป็นคนทวนเนื้อหาในขั้นสุดท้ายนะครับ” หรือ “เรื่องที่คุยกันวันนี้ สามารถนำไปแจ้งให้แผนกที่เกี่ยวข้องรับทราบได้เลยไหมคะ” 

แต่หากคุณไม่สะดวกใจที่จะแสดงความเห็นต่อคนที่คุณรู้สึกอึดอัด ลองเริ่มจากการพูดกับเพื่อนร่วมงานที่เข้าถึงง่ายแทนก็ได้ เพียงเท่านี้ภาพลักษณ์ของคุณก็จะเริ่มเปลี่ยนไป อย่างน้อย ๆ คุณก็จะดูไม่ใช่คนที่ “ปิดปากเงียบ” เวลาโดนกระทำ อีกต่อไป 

‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ ยังได้แนะนำคำวิเศษที่ช่วยให้ปฏิเสธหัวหน้าได้โดยไม่เสียน้ำใจ เช่น “อาจไม่ค่อยสะดวกนะครับ” ซึ่งดูไม่หักหาญน้ำใจกันเกินไป และอาจทำให้อีกฝ่ายฉุกคิดได้ว่า “หรือเราขอแบบกะทันหันไปเหรอเนี่ย” หรือกรณีที่หัวหน้าถามคุณก่อนว่า “ว่างทำให้หน่อยไหม” คุณอาจเลี่ยงด้วยการบอกถึงสิ่งที่ตั้งใจจะทำ และให้เหตุผลว่าจะรับทำงานให้ก็ได้ แต่อาจไม่ทันตามกำหนด เช่น “ผมก็อยากรับปากนะครับ แต่กำลังติดงานอื่นอยู่ คงทำให้เสร็จได้ภายในวันจันทร์หน้านะครับ” 

ทั้งหมดที่แนะนำมา เป็นเพียงเทคนิคหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือถูกเอาเปรียบเท่านั้น ถึงจะดูไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไร แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับหัวหน้าจนมองหน้ากันไม่ติด และทำงานร่วมกันไม่ได้

บางความสัมพันธ์เป็นความสัมพันธ์ที่คุณเลือกไม่ได้ คุณแค่ต้องประคับประคองตัวเองเพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้ และไม่ให้ใครตราหน้าได้ว่า คุณไม่เป็น ‘มืออาชีพ’ 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทุกข์ใจกับเรื่องนี้นะคะ

 

เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ที่มา: อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ, จิตวิทยาตีเนียน (เพื่อจัดการคนน่ารำคาญ), แปลโดย กมลวรรณ เพ็ญอร่าม (กรุงเทพมหานคร: ฮาวทู อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, 2566) หน้า 32 - 51