‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) เมื่อมนุษย์มองตัวเองดีเหนือใคร จนเกิดภัยความมั่น

‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) เมื่อมนุษย์มองตัวเองดีเหนือใคร จนเกิดภัยความมั่น

รู้จัก ‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) เมื่อการมีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเองมากเกินจริง จนทำให้เกิดความผิดหวังและล้มเหลว

KEY

POINTS

  • ความหมายของ ‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) และประเภทของภาพลวงตาทางบวก
  • ภาพลวงตาทางบวก แตกต่างจากการมองโลกในแง่บวกอย่างไร 
  • วิธีเอาชนะภาพลวงตาทางบวก
     

เวลาถามใครว่า “การมีทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่?” ร้อยทั้งร้อยตอบว่า “ดีสิ ของมันแน่อยู่แล้ว!” 

สาเหตุเป็นเพราะการมองเห็นด้านสว่างของชีวิต และเชื่อมั่นว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น ล้วนแต่เป็นหลักการสำคัญของแนวทางการพัฒนาตนเองส่วนใหญ่ 

แต่เรื่องมันไม่จบง่าย ๆ แค่นั้นสิ เพราะมนุษย์อย่างเรา ๆ ดันมีแนวโน้มที่จะ ‘คิดบวกมากเกินจริง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง!

นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) ซึ่งในทางจิตวิทยาใช้อธิบายถึงแนวโน้มของมนุษย์ที่ประเมินตนเองในเชิงบวกมากเกินไป กระทั่งส่งผลต่อการควบคุมและดำเนินชีวิต

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก ‘ภาพลวงตาทางบวก’ และผลเสียที่เกิดจากการมีทัศนคติเชิงบวกที่ไม่สอดคล้องกับความจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้ลองสังเกตตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงปรับสมดุลมุมมองและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) คืออะไร?

แนวคิดเรื่อง ‘ภาพลวงตาทางบวก’ (Positive Illusions) ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1988 ในบทความเรื่อง ‘Illusion and well-being: A social psychological perspective on mental health’ ของ ‘เชลลีย์ เทย์เลอร์’ (Shelley Taylor) และ ‘โจนาธาน บราวน์’ (Jonathan Brown) 

ในมุมมองของเทย์เลอร์กับบราวน์ ภาพลวงตาทางบวก หมายถึง “การรับรู้ในลักษณะที่แตกต่างจากความเป็นจริง” และหากแยกย่อยออกมา คำว่า ‘ภาพลวงตา’ หมายถึง ภาพหรือแนวคิดทางจิตที่ไม่ตรงกับความจริง ซึ่งอาจเกิดจากการตีความรูปลักษณ์ที่แท้จริงผิด หรืออาจเป็นสิ่งที่มนุษย์มโนขึ้นมาเอง เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกสบายใจ พอใจ หรือปลอดภัย 

ภาพลวงตาทางบวก ยังอาจเป็นได้ทั้ง ‘การหลอกลวงตนเอง’ (self-deception) และ ‘การพัฒนาตนเอง’ (self-enhancement) เพราะโดยรวมแล้วเป็นมุมมองที่ทำให้มนุษย์รู้สึกดีกับตนเอง เพิ่มความนับถือตนเอง และช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงอารมณ์หม่นหมองของตนเองได้

แม้ว่าจนถึงวันนี้ จะเป็นที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายว่า สุขภาพจิตของมนุษย์แต่ละคนนั้นมีความเชื่อมโยงกับการตระหนักรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และความเป็นไปของโลก แต่ในบทความของเทย์เลอร์กับบราวน์แย้งว่า มีหลักฐานที่ชี้ว่าไม่ใช่เช่นนั้น และภาพลวงตาทางบวกเป็นลักษณะความคิด ‘ปกติ’ ของมนุษย์

‘นีล เบอร์ตัน’ จิตแพทย์ นักปรัชญา และนักเขียนชาวอังกฤษ ยกตัวอย่างกรณีที่มนุษย์มักจะมีมุมมองทางบวกเกี่ยวกับตนเองเกินจริง เช่น การใช้รถใช้ถนนที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองทำได้ดีกว่าคนอื่น การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ รวมถึงการเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดีกว่าบ้านอื่น ฯลฯ ความคิดเข้าข้างตัวเองเหล่านี้มักจะเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ที่ไม่สามารถวัดได้เป็นตัวเลข หรือแม้แต่คู่รักที่จวนจะแต่งงานกันแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะคิดล่วงหน้าว่าทั้งคู่จะได้ไปฮันนีมูนกันอย่างมีความสุข ถ้ามีลูกก็จะมีลูกที่มีพรสวรรค์มากกว่าเด็กอื่น แต่ไม่ค่อยประเมินโอกาสเรื่องการแท้งลูก การล้มป่วย หรือการหย่าร้าง 

เขายังมองว่า อันที่จริงแล้ว ภาพลวงตาทางบวกจะมีประโยชน์มาก ตราบใดที่มันช่วยให้มนุษย์กล้าเสี่ยง กล้าลงทุนในอนาคต ขจัดความสิ้นหวังและความซึมเศร้า เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีสักกี่คนที่ตัดสินใจแต่งงาน หากรู้ว่าสิ่งที่รออยู่คือความผิดหวังตามที่กล่าวไปข้างต้น 

ทว่าในระยะยาว มุมมองและการตัดสินใจที่ไม่ยึดโยงกับความจริง อันเป็นผลมาจากการคิดเข้าข้างตนเองมากไป ย่อมมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความผิดหวังและล้มเหลว 

เบอร์ตันยังให้ข้อมูลด้วยว่า ภาพลวงตาทางบวกมักจะพบเห็นได้ทั่วไป และชัดเจนมากในโลกตะวันตก เนื่องจากในวัฒนธรรมตะวันออก ผู้คนมักยึดโยงกับชุมชนและสังคมมากกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะละทิ้งอัตตามากกว่าที่จะพัฒนาตนเอง 

นอกจากนี้ ภาพลวงตาทางบวกยังมีแนวโน้มแพร่หลายในหมู่คนที่ไร้ทักษะมากกว่า อาจเพราะคนที่มีทักษะสูงมักจะมองว่า คนรอบตัวมีความเข้าใจและความสามารถในระดับเดียวกัน และอาจเป็นไปได้ด้วยว่า เมื่อเทียบกับคนที่มีทักษะสูงแล้ว คนที่ไม่มีทักษะมักจะพึ่งพาภาพลวงตาทางบวกมากกว่า เพื่อเสริมสร้างความภูมิใจและสุขภาพจิตของตนเอง ดังคำอธิบายของ ‘ปรากฏการณ์ดันนิง - ครูเกอร์’ (Dunning-Kruger Effect) ซึ่งสรุปว่า “ความไม่รู้มักก่อให้เกิดความมั่นใจมากกว่าความรู้…”

ภาพลวงตาทางบวก 3 ประเภท

ตามข้อมูลของเทย์เลอร์และบราวน์ ภาพลวงตาทางบวกมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

1. การประเมินความสามารถของตนเองสูงเกินจริง (AN INFLATED ASSESSMENT OF OWN ABILITIES) 

หากมีการขอให้ผู้คนประเมินทักษะของตน เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ มีความเป็นไปได้สูงว่าผู้คนมักจะให้คะแนนตนเองสูงกว่า

2. การมองโลกในแง่ดีที่ไม่สมกับความจริง (UNREALISTIC OPTIMISM) 

ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าแนวโน้มในอนาคตของตนเองจะเป็นไปในทางที่ดี แม้จะไม่มีหลักฐานเชิงตรรกะมาสนับสนุนก็ตาม ที่เห็นได้ชัดคือในแง่ความสัมพันธ์ ซึ่งคู่รักมักจะมองโลกในแง่ดีอย่างมากในช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ แม้ว่าตนเองจะเคยผ่านประสบการณ์แย่ ๆ ในอดีต แต่แนวโน้มของมนุษย์ก็คือการคิดว่า ‘ครั้งนี้จะแตกต่างออกไป’ เช่นเดียวกับตอนเริ่มหน้าที่การงานใหม่ การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการตั้งปณิธานในช่วงปีใหม่ 

3. การคิดว่าตนเองสามารถควบคุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง (THE ILLUSION OF CONTROL) 

มนุษย์มักจะเชื่อว่าตนเป็นผู้ควบคุมชีวิตของตนเองในระดับที่สูงกว่าความเป็นจริงมาก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในชีวิตมักมีปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์แทรกเข้ามาตลอดเวลา 

ยกตัวอย่างเช่น การขับรถที่ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงอำนาจในการควบคุมผ่านการเลี้ยว การเร่งความเร็ว และการเบรก ทั้งที่ความจริงแล้ว การควบคุมส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกมือเรา ไม่ว่าจะเป็นกฎจราจร ป้ายบอกทาง สภาพอากาศ หรือแม้แต่สภาพรถ

หลาย ๆ คน อาจเสพติดความรู้สึกในการควบคุมชีวิตของตนเอง และมักมองหาวิธีที่จะควบคุมชีวิตการทำงาน ความสัมพันธ์แบบคู่รัก และในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งในระยะยาวอาจก่อให้เกิดผลเสียตามมา

มองโลกในแง่บวก VS ภาพลวงตาทางบวก 

ภาพลวงตาทางบวกนั้นคล้ายคลึงกับการมองโลกในแง่บวกมาก เพราะต่างก็เกี่ยวกับทัศนคติที่ไม่สมจริงที่ผู้คนมีต่อตนเองหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

แนวคิดเรื่อง ‘การมองโลกในแง่บวก’ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงกีฬา ธุรกิจ และชีวิตประจำวัน เพราะมีแนวโน้มว่าการมองสถานการณ์ในแง่บวกอาจส่งผลดีทั้งทางจิตใจและอารมณ์ได้ ขณะเดียวกันก็มักมีการปลุกใจในทำนองว่า “คุณต้องเชื่อก่อน ถึงจะบรรลุเป้าหมาย” ให้เห็นตามสื่ออยู่บ่อย ๆ 

ความแตกต่างระหว่างการมองโลกในแง่บวกกับภาพลวงตาทางบวกก็คือ แม้ว่าอย่างแรกจะช่วยให้มนุษย์รู้สึกดีขึ้นในแง่การใช้ชีวิต แต่อย่างหลังอาจสร้างมุมมองที่ไม่ตรงความจริงเกี่ยวกับทักษะ โอกาสที่แท้จริง และความสามารถในการควบคุมชีวิต

วิธีเอาชนะภาพลวงตาทางบวก

แม้ว่ามนุษย์ทุกคนมักจะมีภาพลวงตาทางบวกที่สร้างสีสันให้กับโลกทัศน์ของตน แต่ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้ภาพเหล่านั้นสมดุลกับความเป็นจริงได้ โดยไม่ทำให้เกิดการจมดิ่งสู่ความจริงแบบซึมเศร้า หรือขจัดทัศนคติเชิงบวกไปเสียหมด แต่หมายความว่า เราจะได้ค้นพบกับความสมดุลในการมองโลกมากขึ้น หลัก ๆ มี 2 วิธีง่าย ๆ ดังนี้

1. ขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ 

หากเริ่มสังเกตว่าตนเองมองเห็นทักษะหรือความสามารถดีกว่าที่เป็นอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าคุณไม่ได้แสวงหาผลตอบรับจากโลกความเป็นจริงมากพอ หากอยากรู้จริง ๆ ว่าทักษะและความสามารถของคุณอยู่ในระดับไหน การได้รับคำติชมจากผู้เชี่ยวชาญในแขนงนั้น ๆ อาจเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว 

2. มองหาจุดบอด

วิธีที่ดีที่สุดในการลดภาพลวงตาทางบวกคือการมองหาจุดบอดของตนเอง คุณอาจเริ่มต้นจากการมองย้อนกลับไปที่ปัญหาต่าง ๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง แม้ว่าความพลาดพลั้งบางอย่างจะทำให้คุณรู้สึกอึดอัด แต่ให้ลองคิดว่าเมื่อคุณมองเห็นต้นตอความผิดพลาดที่เกิดจากตนเองได้แล้ว คุณจะสามารถลดจุดบอดและเพิ่มศักยภาพของตนเองได้ในอนาคต

สุดท้ายแล้ว การตีตราหรือตัดสินตนเองที่เกินจริง (ทั้งแง่ดีและไม่ดี) ล้วนไม่ส่งผลดีในระยะยาวต่อใครทั้งนั้น อีกทั้งจะดีกว่ามาก หากคุณหลีกเลี่ยงการตัดสินใด ๆ และทำตัวเป็นกลางให้มากที่สุด

 

เรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า 
อ้างอิง : 

Positive Illusions and Depressive Realism
ARE WE FOOLING OURSELVES WITH POSITIVE ILLUSIONS?
Positive Illusions – ภาพลวงตาทางบวก