13 มิ.ย. 2567 | 20:22 น.
“ตัวผมไม่ได้มองว่า มาแทนนะเพราะมนุษย์มีความฉลาดของเรา แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือวิธีการทำงานของทุกตำแหน่ง และไม่ว่าจะอาชีพไหนต้องเปลี่ยนหมดแน่นอน เหมือนเป็นโลกทำงานยุคใหม่ สิ่งที่ต้องทำ คือคนทำงานต้องหาให้เจอว่า เนื้องานตรงไหนในอาชีพเราที่ใช้ความสามารถของเราเยอะ ๆ แล้วพยายามทำสิ่งนั้นให้เก่ง แต่หากเราไม่เก่งอันนี้จะอันตราย”
แล้วชาวออฟฟิศทั้งหลายต้องเตรียมพร้อมอย่างไร โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะและความสามารถ เพื่อให้เดินหน้าต่อและอยู่รอดได้บนโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้
สำหรับสกิลที่ ‘คนทำงาน’ ต้องมี ในยุค AI ครองเมือง
1.Human skills ทักษะความเป็นมนุษย์ที่ AI อาทิ Cognitive Skills ทักษะทางด้านปัญญาหรือรู้คิด ไม่ว่าจะเป็น การคิดวิพากษ์ (Critical Thinking), การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking), การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ฯลฯ
เพราะอย่างที่เห็นหลายตัวอย่างที่ผ่านมาปัญหาใหญ่สุดของ AI ก็คือ Hallucinate ความมโน ตอบอะไรมั่วๆ ซึ่งหากคนที่ใช้ AI แล้วขาด Cognitive Skills หรือไม่มีต่อมเอ๊ะในการตั้งคำถามว่า คำตอบที่ได้มานั้นจริงหรือไม่ และหากนำไปใช้ก็จะเกิดปัญหาตามมา
นอกจาก Cognitive Skills แล้ว ทักษะความเป็นมนุษย์อื่น ๆ เช่น ทักษะด้านการสื่อสาร ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจ และทำงานเป็นทีม ยังเป็นทักษะที่คนเก่งกว่า และ AI เข้ามาแทนที่ได้ยาก ฉะนั้นต้องพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้เป็นจุดแข็งในระยะยาว
2. New Literacy ทักษะความสามารถในการเรียนรู้พื้นฐานใหม่ที่จะนำพาตัวเองสู่การรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูลนั้นได้อย่างดีและเป็นประโยชน์
ยกตัวอย่าง ยุคนี้เป็นยุคของ Digital Literacy หากคนทำงานอยากไปต่อและอยู่รอดในโลกยุคใหม่ จะต้องเป็น Digital native มีความรู้เรื่องดิจิทัลและใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว ที่สำคัญต้องรู้จักใช้งานสิ่งใหม่ ๆ เครื่องมือใหม่ ๆ โดยเฉพาะ AI ให้เป็น เพราะเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถให้เพิ่มขึ้น
3. Advance Technical skills อาทิ ทักษะในกลุ่ม Software Development, Cybersecurity, Cloud Computing, AI / Machine Learning, Digital Marketing เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะที่คนทั่วไปอาจจะไม่ต้องมี แต่ในมุมขององค์กรขนาดใหญ่ มุมของผู้บริหารและคนทำธุรกิจถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มความสามารถและพัฒนาขีดการแข่งขัน
“ตอนนี้เป็นโลกดิจิทัล ทุกอย่างมันหมุนเร็วกว่าเดิมมาก ดังนั้น หากเราไม่มี Technical skills เราจะไม่เอาใจว่า จะใช้ดิจิทัล หรือ AI มา Add value มาสร้างนวัตกรรมให้ธุรกิจตัวเองได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราจะไปต่อได้ยาก
“แล้วโลกดิจิทัลคือโลกของคนที่ Move ก่อน เคลื่อนที่เร็ว คนนั้นจะได้เปรียบ คนทำงานอาจจะไม่ต้องล้ำมาก แต่หากคุณเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของธุรกิจ เรื่องพวกนี้คุณจะมองข้ามไม่ได้นะ เพราะถ้าทันทีที่คู่แข่งเขาใช้แล้วคุณไม่ใช้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของคุณแล้ว”
AI เปิดประตูอาชีพใหม่
แม้ AI ถูกมองว่า ได้เข้ามาดิสรัปในหลายอาชีพ ขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน อย่างเช่น Prompt Engineer ผู้ที่เชี่ยวชาญในการป้อนคำสั่ง AI เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
หรือจะเป็นอาชีพ Generative Design Specialist ผู้ที่เชี่ยวชาญในการใช้งาน Generative AI ในงานด้านการออกแบบสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นต้น
“อาชีพใหม่ตอนนี้ที่คนเขาฮิตและพูดถึงมาก ก็คือ Prompt Engineer ก็เหมือนคนเขียนโค้ด แต่จะเขียนเป็น Prompt เพื่อไป Interact กับ AI ให้ได้ผลลัพธ์ออกมา เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบ AI ในอนาคต แต่ผมว่าตำแหน่งนี้จะมาเป็นแฟชั่นนะ มาแล้วก็ไป
“อย่างก่อนหน้านี้ที่ AI กำลังจะฮิต ทำให้เกิดตำแหน่ง Data Scientist ตอนนั้นเรียกว่า มนุษย์ทองคำที่ตลาดแรงงานต้องการมาก ส่วนตอนนี้ถามว่า ตำแหน่งนี้ยังมีอยู่ไหม คำตอบคือ มี แต่ไม่มีเซ็กซี่เท่าเดิมแล้ว”
ทุกอย่างต้องเริ่มที่พื้นฐานแน่น
ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio ย้ำว่า AI ไม่ได้เข้ามาแย่งงานคน และในภาพรวมของตลาดแรงงาน อาชีพเดิมหลายอาชีพจะยังคงอยู่ เพียงแต่บทบาทหน้าที่จะเปลี่ยนไป โดยอยากให้จินตนาการว่า เมื่อมี AI เข้ามาแล้วบทบาทหน้าที่ของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรมากกว่า
และหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญที่สุด ก็คือ จะ Upskill และ Reskill ทักษะคนทำงานให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
“การจับเทรนด์พวกนี้ยากนะ เพราะมีอะไรใหม่ออกมาตลอด ถ้าเผลอไปสักอาทิตย์เราอาจพลาดตามไม่ทัน ซึ่งเวลาเด็กหรือคนรุ่นใหม่มาถามควรเรียนอะไร ผมจะบอกว่า อย่าเรียนอะไรที่ล้ำที่สุดตอนนี้ ควรเรียนสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้แน่นที่สุด เพื่อที่เวลามีของใหม่มา เราจะได้เรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ แล้วสามารถปรับตัวเองได้อยู่เสมอ
“อย่างข้อได้เปรียบของผม คือจบวิศวะคอมพ์ฯ มา และเคยทำงานด้านดาต้า รวมถึง AI มาก่อน ฉะนั้นพอมีเทคโนโลยีใหม่มา ผมจะสามารถอ่านแล้วเข้าใจ Catch up กับเรื่องใหม่ ๆ ได้ทัน แต่ถ้าใครมีพื้นฐานไม่แน่น มันจะเหนื่อยในการจะต้องตามกับเรื่องใหม่ในทุก ๆ เรื่อง”
AI กับความเป็นจริงในโลกคนทำงาน
แม้โลกของการทำงานจะตื่นตัวเป็นอย่างมากกับการมาของ AI แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio บอกว่า ความน่าเศร้าก็คือคนทำงาน ไปจนถึงระดับผู้บริหารยังเข้าใจและใช้ AI ไม่มากนัก สะท้อนจากสถิติล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ ChatGPT พบว่า
คนที่อยู่ในวัยทำงาน ในกลุ่มอายุ 24-35 ปี มีการใช้อยู่ที่ 43% และส่วนใหญ่ใช้เพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มอายุ 35-44 ปี มีการใช้อยู่ที่ 33% ส่วนใหญ่ใช้เพียงครั้งหรือสองครั้ง, กลุ่ม 45-55 ปี มีการใช้ 28% ส่วนใหญ่เป็นการใช้เพียงครั้งหรือสองครั้ง กลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงมีการใช้เพียง 16% และเป็นการใช้แต่ครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น
ขณะที่เด็กรุ่นใหม่อายุ 18-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีการใช้ ChatGPT มากสุดอยู่ที่ 56% และพฤติกรรมการใช้ คือ ใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์
“ดูจากสถิติคนทำงานถึงผู้บริหารระดับสูงใช้ AI น้อยมาก ใช้ทุกเดือนมีไม่ถึง 10% เลย นั่นหมายความว่าอะไร เมื่อผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้ ก็จะไม่รู้ว่า AI สร้างอิมแพคได้อย่างไร แล้วคุณก็ไม่มีทางคิดออกเลยว่า สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์ ซึ่งความจริงทุกการเปลี่ยนแปลงผู้นำต้องเริ่มเป็นตัวอย่างก่อน เพื่อให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญในสิ่งที่ทำอยู่
“ส่วนการที่เด็กรุ่นใหม่ใช้เยอะ โดยส่วนใหญ่ใช้ทำการบ้านหรือหาคำตอบรายงาน มีคนตั้งประเด็นว่า เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะการใช้พวกนี้เยอะหาคำตอบให้เลย อาจทำให้เด็กขาดทักษะในการคิดวินิจวิเคราะห์ ขาดตรรกะ ขาดความพยายามค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง และขาดทักษะทางอารมณ์”
ความจริงประเด็นถกเถียงถึงผลกระทบในเชิงลบของ AI มีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นในหลายวงการ เช่น วงการศิลปะจากกรณีที่ศิลปินบางคนใช้ AI เป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานชิ้นใหม่ โดยใช้วิธีการเขียน Prompt หรือคำสั่งบรรยายองค์ประกอบภาพที่ต้องการบนงานชิ้นนั้น บวกกับ AI ได้รับการฝึกฝน เรียนรู้จากต้นแบบของงานศิลปะดั้งเดิม แล้วหลายคนตั้งคำถามว่า ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่นี้ จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่
หรือกรณีบรรดาคนดังฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ ที่ได้นำเสียงและหน้าตาไปให้ AI สร้าง ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ