คนรุ่นใหม่มอง ‘Tinder’ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับเดตและเซ็กซ์ แต่เป็นแอปฯ ‘หางาน’ คัดงานในอุดมคติ

คนรุ่นใหม่มอง ‘Tinder’ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับเดตและเซ็กซ์ แต่เป็นแอปฯ ‘หางาน’ คัดงานในอุดมคติ

เมื่อ ‘Tinder’ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเดตและเพื่อกิจกรรมบนเตียงอีกต่อไป แต่คนรุ่นใหม่มองเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการหางานทำ และเปิดพื้นที่คัดคนที่มีอุดมคติเดียวกันได้

ก่อนหน้านี้จุดประสงค์ของการเล่นแอปพลิเคชั่น Tinder แอปฯ เดตติ้งอันดับต้น ๆ ของโลก หลายคนยกให้เป็นพื้นที่สำหรับหาเพื่อน หาความรัก แล้วก็หาคู่นอน แต่ปัจจุบันสำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้คิดแบบนี้อีกแล้ว เพราะ Tinder กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งแอปฯ ที่คนหนุ่มสาวใช้เพื่อ ‘หางาน’ หรือบางครั้งก็ ‘หาเพื่อนร่วมทำงานที่มีอุดมคติ’ แบบเดียวกัน

หลายคนเซอร์ไพรส์ว่า Tinder กลายได้ช่องทางในการหาตำแหน่งงานได้อย่างไร? แต่ความเป็นจริงกระแสการใช้แอปฯ เดตให้เป็นมากกว่าจุดประสงค์ของผู้ก่อตั้งตั้งแต่เริ่ม เกิดขึ้นและเห็นชัดมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2021 ช่วงที่โลกยังเผชิญหน้ากับโรคระบาดโควิด-19

ในปี 2021 แอปฯ เดตอย่าง Tinder และ Bumble (คู่แข่งของ Tinder) อาจจะยังไม่ใช่พื้นที่หางานเพียงอย่างเดียว จากการเปิดเผยของหนุ่มวัย 24 ปีชาวอินเดีย เขาได้บอกกับ VICE Magazine นิตยสารแนว alternative ในประเทศแคนาดาว่า เขาประสบอุบัติเหตุในช่วงปีนั้น ซึ่งโควิด-19 ยังไม่หายไป และตอนนั้นเขาก็เพิ่งกลับมาที่เมือง Goa ของอินเดียได้ไม่นาน

“ช่วงที่ฉันยังเจ็บแผล ฉันได้เริ่มใช้ Bumble และปัดถูกใจเธอ แม้ว่าจะไม่ใช่สเปคฉันก็ตาม แต่ฉันสังเกตเห็นประวัติของผู้หญิงคนนั้นว่าเธอเป็นหมอ เราได้เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น อุบัติเหตุที่ฉันและเพื่อนประสบมาด้วยกัน และก็ชวนเธอไปเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเธอได้ไปที่ร้านขายยา และซื้อยา ผ้าพันแผลให้พวกเราด้วย”

แอปเดตพื้นที่สร้างคอนเนคชั่น

เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงตอนนี้ จุดประสงค์ของแอปฯ เดต เช่น Tinder, Bumble, Hinge และ Grindr แม้ว่ายังคงมีผู้คนที่มองหาคู่รัก แต่เชื่อว่าน่าจะน้อยกว่าการมองหาด้วยจุดประสงค์อื่น โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายทางสังคม และการสมัครงาน

มีผู้ใช้งาน Tinder เปิดเผยว่า ช่วง 2 ปีมานี้เหตุผลที่คู่สนทนามักจะบอกตรง ๆ กับพวกเขานอกเหนือจาก ‘การออกเดต’ ก็คือ ใช้แอปฯ เหล่านี้เพื่อเป็นช่องทางพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสำหรับการสร้างคอนเนคชั่น และการพบปะผู้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน มีอุดมคติเดียวกัน

“ผู้หญิงที่ผมจับคู่ด้วย เธอบอกว่าไม่ได้มาที่นี่เพื่อออกเดต แต่จริง ๆ แล้วเธอเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดของแบรนด์ streetwear และอยากให้ผมมีส่วนร่วมในการถ่ายทำนิตยสารที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง การสนทนาครั้งนั้นมันเป็นในเชิงอาชีพมากกว่า Tinder จึงกลายเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมในการเฟ้นหาคนที่ต้องการ หาคนกลุ่มเป้าหมายที่อยากจะติดต่อด้วยไปแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่ Wall Street Journal Feature พูดถึงเกี่ยวกับผู้ใช้รายหนึ่งใน Tinder ที่ชื่อว่า ‘Grace’ เธอได้ระบุใน Bio เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการใช้แอปฯ นี้ เพื่อ ‘กิจกรรมเดทไนท์’ ซึ่งหมายความว่าเป็นการกำหนดวันสำหรับคู่รักออกไปเดตและทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน เธอได้ระบุชื่อกิจกรรมในอุดมคติด้วยว่า “การเข้าร่วมประชุดทางเทคโนโลยี” หรือ “การเริ่มต้นความร่วมมือกับแบรนด์” เป็นต้น

หรือแม้แต่แอปฯ คู่แข่งอย่าง Bumble แม้ว่าจะมีอายุก่อตั้งน้อยกว่า Tinder แต่ความเชื่อใจในฟีเจอร์ของแอปฯ ก็ทำให้ผู้ใช้บางรายมองว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถหางานได้ อย่างชายคนหนึ่งที่แชร์เรื่องราวของตัวเองผ่าน Twitter ว่าเขาบังเอิญได้จับคู่ไปเจอหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอเป็นพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง

พวกเขาได้เริ่มพูดคุยทำความรู้จักกัน จนกระทั่งชายคนนั้นเสนอตัวเองว่าเธอสามารถคัดกรองเขาให้กับบริษัทที่ทำงานอยู่ได้ การพูดคุยกันในครั้งนั้น เลยเถิดมาถึงขั้นตอนการจ้างงานเขา และก็จบลงด้วยการที่เขาได้งานทำในที่สุด

กระแสการใช้แอปฯ หาคู่มากกว่าจุดประสงค์เดิม เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้ง ‘จีน’ หลังจากที่ LinkedIn ประกาศถอนตัวออกจากเมืองจีน ด้วยเหตุผลบางอย่าง นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม Ryan Roslansky ซีอีโอของ LinkedIn ประกาศเตรียมปรับลดตำแหน่งงาน และวางแผนที่จะยุติบริการเครือข่ายมือในท้องถิ่นที่ชื่อว่า ‘InCareer’ ในจีน ภายในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ด้วย โดยเขาอ้างถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และการเติบโตของรายได้ในจีนที่ช้าลงตาม

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวชาวจีน ยังถือว่าสูงกว่าประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายน แตะที่ 21.3% เพียงแต่วิธีการหางานของพวกเขาไม่ใช่ LikedIn และแอปฯ สมัครงานเหมือนเคย แต่หลาย ๆ คนเริ่มที่จะโพสต์แชร์เคล็ดลับการหางานทำใน Tinder หรือ แอปฯ หาคู่อื่น ๆ

อย่างหญิงวัย 22 ปี ที่เรียนจบสายแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้แชร์ทริคส่วนตัวว่า “ฉันเลือกเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใน Tinder ใหม่ และประกาศไปตรง ๆ ด้วยตัวอักษรสีแดงว่า ‘มีใครว่างงานบ้าง ตอนนี้ฉันกำลังหางานทำ จ้างฉันหน่อยสิ’ ซึ่งก็มีหลายคนแสดงความสนใจ และบอกว่าจะทำตามสิ่งที่เธอแนะนำ

สำหรับคนรุ่นใหม่ พวกเขามองว่า การใช้ Tinder หรือแอปฯ หาคู่ในการหางานให้ความรู้สึก ‘ความเป็นทางการน้อยกว่า’ และพวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับผุ้คนที่อยู่นอกสังคมปกติของคุณได้ เพราะคุณอาจจะเจอบริษัทใหญ่ ๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ หรือต่างรัฐที่อาศัยอยู่ ที่สำคัญข้อแตกต่างระหว่าง LikedIn และ Tinder ก็คือ บทสนทนาเริ่มต้นที่พูดถึงพาร์ทชีวิตส่วนตัว หรือทัศนคติที่เป็นตัวเราจริง ๆ มากกว่า ทำให้คู่สนทนารู้จักคุณได้ลึกซึ้งกว่า

อย่างไรก็ตาม โฆษกของ Tinder ได้เตือนผู้ใช้ที่พยายามใช้บัญชีของตนเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจว่า อาจจะกำลังละเมิดหลักเกณฑ์ชุมชนของแพลตฟอร์มโดยไม่รู้ตัว โดย Tinder ไม่อนุญาตให้ใช้แอปฯ ในเชิงธุรกิจ, การหารายได้ หรือ โฆษณาเพื่อให้เกิดรายได้ หรือการระดมทุน ถือเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของ Tinder ทั้งสิ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นบน Tinder ไม่ใช่ครั้งแรกของผู้ใช้งานที่ใช้ประโยชน์จากแอปฯ โซเชียลมีเดียในการหางาน เพราะก่อนหน้านี้ TikTok แพลตฟอร์มคลิปสั้นที่กำลังได้รับความนิยม ณ ขณะนี้ ก็มีผู้ใช้งานเพื่อหางานมากถึง 1.7 พันล้านครั้งบน TikTok จากแฮชแท็ก #careertok

ขณะเดียวกัน ในปี 2021 ยังมีการเปิดตัว TikTok Resumes โดยร่วมมือกับบริษัทหลายแห่ง และสนับสนุนให้ผู้ใช้แสดงทักษะและประสบการณ์ของตนในรูปแบบของ TikTok เพื่อใช้ในการสมัครงานได้ด้วย

แล้วคุณล่ะ เคยใช้แพลตฟอร์มไหนในการหางาน นอกเหนือจากที่ผู้เขียนเล่ามาในบทความนี้หรือไม่ มาแชร์และเปิดประสบการณ์ให้เราอ่านหน่อยค่ะ

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Looking for a new job? Have you tried Tinder?

Looking for leads, not love: Job seekers in China turn Tinder into a networking tool

LinkedIn has pulled out of China so young people have turned to Tinder to hunt for jobs, a local outlet reported

Forget Job-Hunting Sites. Networkers Turn to Dating Apps

People are Using Dating Apps to Find Doctors, Drugs, and Protesters

Swipe Right to Hire Me: How Tinder Became China’s Hottest Networking App

bumble match leads to job offer how one twitter user landed a job on the dating app article