‘Flynn Effect’ เมื่อเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่จะมี IQ สูงขึ้น?

‘Flynn Effect’ เมื่อเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่จะมี IQ สูงขึ้น?

รู้จัก ‘Flynn Effect’ การศึกษาที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันสามารถทำแบบทดสอบไอคิวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกินกว่าจะเป็นเพราะวิวัฒนาการที่สืบทอดกันผ่านพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว

KEY

POINTS

  • สมัยก่อน คนส่วนใหญ่เชื่อว่า “ความฉลาดขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์และส่งต่อทางพันธุกรรมอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้”
  • ปัญหาที่ตามมาจากการใช้ตัวเลขไอคิวอย่างผิดวิธี คือ ‘การตัดสิน’ และ ‘เหมารวม’ ผู้คน โดยไม่พิจารณาบริบทโดยรอบ หรือแม้แต่แง่มุมอื่น ๆ ของมนุษย์ 
  • เจมส์ ฟลินน์ ได้รวบรวมคะแนนไอคิวเฉลี่ยของผู้คนช่วงศตวรรษที่ 20 พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันสามารถทำแบบทดสอบไอคิวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
     

เมื่อพูดถึงความฉลาด สิ่งที่มักจะตามมาคือเรื่องตัวเลขวัดผลเชาวน์ปัญญาอย่าง ‘ไอคิว’ (IQ) ยิ่งทำแบบทดสอบไอคิวได้คะแนนสูงเท่าไร ยิ่งสะท้อนถึงความฉลาดที่มากขึ้นเท่านั้น

ทว่า ‘เจมส์ โรเบิร์ต ฟลินน์’ (James Robert Flynn) นักวิจัยและนักการศึกษาชาวนิวซีแลนด์ กลับพบว่า เมื่อวันเวลาผ่านไป ไอคิวโดยเฉลี่ยของมนุษย์ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่นั่นหมายความว่า เราฉลาดกว่าคนรุ่นก่อน ๆ จริงหรือ?

ว่าด้วยแบบทดสอบวัดความฉลาด 

ก่อนจะไปหาคำตอบ เราอยากย้อนไปยังที่มาของการวัดผลไอคิว ซึ่งช่วงแรก ๆ แบบทดสอบดังกล่าวเป็นชุดคำถามที่ใช้ในห้องเรียน เพื่อแบ่งว่าเด็กคนไหนที่คุณครูควรใส่ใจ หรือให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยแบบทดสอบดังกล่าวจะวัดเรื่องความเอาใจใส่ ความจำ และทักษะการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก ก่อนจะถูกพัฒนาจนสามารถใช้วัดผลเชาวน์ปัญญากับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่เราสามารถวัด ‘ความฉลาด’ ออกมาเป็นตัวเลขได้ชัดเจน จนบ่งบอกได้ตั้งแต่ความบกพร่องทางสติปัญญา ไปจนถึงความเป็นอัจฉริยะของผู้คน แต่การวัดผลรูปแบบนี้ กลับมีด้านที่ไม่สวยงามด้วยเช่นกัน 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารในสหรัฐอเมริกาใช้แบบทดสอบไอคิวสำหรับการรับสมัครและคัดกรองทหารก่อนเข้ารับการฝึกฝน ซึ่งยุคสมัยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า “ความฉลาดขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์และส่งต่อทางพันธุกรรมอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้”

ผลทดสอบไอคิวของทหารสหรัฐฯ ยุคนั้น จึงถูกนำมาเชื่อมโยงแนวคิดดังกล่าวไปโดยปริยาย ตามมาด้วยการเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติจากตัวเลขดังกล่าว หากพวกเขาละเลยบริบทที่ว่า ผู้คนที่เข้ามาทำแบบทดสอบไอคิวในเวลานั้น หลายคนคือผู้อพยพหน้าใหม่ที่เพิ่งมาถึงสหรัฐอเมริกาได้ไม่นาน บางคนยังไม่ทันได้รับการศึกษาในระบบแบบเดียวกับประชากรในประเทศ ไปจนถึงเรื่องภาษาที่ยังไม่ได้แข็งแรงเท่าเจ้าของภาษา จึงมีแนวโน้มที่คะแนนจากแบบทดสอบดังกล่าวอาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง 

แต่เรื่องราวไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เพราะในปี 1924 ในรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) เคยมีนโยบายที่อนุญาตการบังคับให้คนไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ทำหมันอีกด้วย

ดังนั้น ปัญหาที่ตามมาจากการใช้ตัวเลขไอคิวอย่างผิดวิธี คือ ‘การตัดสิน’ และ ‘เหมารวม’ ผู้คน โดยไม่พิจารณาบริบทโดยรอบ หรือแม้แต่แง่มุมอื่น ๆ ของมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางสังคม ทักษะทางอารมณ์ ไปจนถึงทักษะความสัมพันธ์ อีกทั้งยังสร้างข้อกังขาว่า ความฉลาดสืบทอดทางพันธุกรรมได้เพียงอย่างเดียวจริงหรือไม่

เหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีคนศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อไอคิว นอกเหนือไปจากเรื่องพันธุกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักวิจัยนามว่า ‘เจมส์ โรเบิร์ต ฟลินน์’

เมื่อความฉลาดเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

เจมส์ ฟลินน์ ได้รวบรวมคะแนนไอคิวเฉลี่ยของผู้คนช่วงศตวรรษที่ 20 พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันสามารถทำแบบทดสอบไอคิวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไอคิวเฉลี่ยปีล่าสุดที่ศึกษา (ปี 1978) เพิ่มสูงขึ้นจากปีแรกที่ศึกษา (ปี 1932) ถึง 13.8 คะแนน 

นั่นหมายความว่า ทุก ๆ 10 ปี มนุษย์เราจะมีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว ๆ 3 คะแนน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากและไวเกินกว่าจะเป็นเพราะวิวัฒนาการที่สืบทอดกันผ่านพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว 

“เราไม่ได้แค่ตอบถูกเพิ่มขึ้นสองสามข้อในแบบทดสอบไอคิว เราตอบถูกเพิ่มหลายข้อมาก และเพิ่มขึ้นจากคนแต่ละรุ่นก่อนหน้า ย้อนไปจนถึงจุดกำเนิดของแบบทดสอบนี้ ที่จริง ถ้าเราเอาข้อสอบของคนเมื่อร้อยปีที่แล้วมาตรวจ เทียบกับมาตรฐานสมัยนี้ คนพวกนั้นจะมีค่าเฉลี่ยไอคิวที่ 70 ถ้าเราตรวจข้อสอบของเราเทียบกับพวกเขา เราจะมีคะแนนไอคิวเฉลี่ยที่ 130 ซึ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย” ฟลินน์กล่าวบนเวที Ted Talk เมื่อปี 2013 

“หรือว่าคนรุ่นเราจะกลายเป็นอัจฉริยะกันหมด เพราะว่า 130 เป็นคะแนนที่เราจัดว่าเป็นอัจฉริยะ” ฟลินน์ตั้งคำถามชวนคิดแบบติดตลก ก่อนจะอธิบายต่อว่า สิ่งที่เรามักจะละเลยไปเมื่อมองตัวเลขเหล่านี้ คือปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องสุขภาพและการแพทย์ที่พัฒนาจากสมัยก่อน ทำให้ผู้คนสามารถเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และรับสารอาหารครบถ้วนได้มากขึ้น โดยเฉพาะเหล่าแม่ ๆ ที่เริ่มรู้ว่าอาหารแบบไหนกินแล้วดีต่อเด็กในครรภ์ พ่อแม่ยุคหลัง ๆ เริ่มมีลูกน้อยลง จึงแบ่งความสนใจและงบประมาณสำหรับการเลี้ยงดูลูกแต่ละคนได้มากกว่าคนรุ่นก่อนที่มีลูกคราวละหลาย ๆ คน ระบบการศึกษาพัฒนาขึ้น รวมทั้งผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายได้มากกว่ายุคสมัยก่อน เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนประชากรโลก ทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานสูงตามไปด้วย จึงผลักดันให้มนุษย์ปรับตัวสู่ทักษะรูปแบบใหม่ที่ใช้ความรู้ความเข้าใจเข้มข้นกว่าเดิม เพื่อการอยู่รอดในสังคม

ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไอคิวไม่ใช่แค่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การศึกษา การเติบโตของแต่ละคน รวมทั้งไอคิวยังสามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย

แต่นอกจากการศึกษาของฟลินน์แล้ว ต่อมายังมีนักวิจัยที่ศึกษาประเด็นเดียวกันนี้ พบว่า คะแนนไอคิวเฉลี่ยจะสูงที่สุดในช่วงปี 1975 แล้วค่อย ๆ ลดหลั่นลงมาในปีถัดไป โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว เรียกว่า Reverse Flynn Effect 

นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่าอาจเป็นเพราะช่วงปี 1975 เป็นต้นมา เริ่มมีเมนูฟาสต์ฟู้ดและอาหารขยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร อากาศ และสิ่งแวดล้อมมากกว่ายุคก่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อสมองและร่างกายของคนเรา ไปจนถึงหน้าจอมือถือและโลกโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นให้คนมีช่วงความสนใจ (attention span) สั้นลงไปกว่าเดิม

ดังนั้น สิ่งที่ฟลินน์ค้นพบ หรือแม้แต่ Reverse Flynn Effect สะท้อนให้เห็นว่าระดับเชาวน์ปัญญาของผู้คนไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ชวนให้เราย้อนกลับมาคิดว่า อาจไม่ใช่แค่ ‘เด็ก ๆ เป็นอนาคตของชาติ’ หรือ ‘เด็กฉลาดชาติเจริญ’ เท่านั้น เพราะขณะเดียวกัน ‘ชาติ’ หรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ต่างส่งผลต่ออนาคตของเด็ก ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

อีกทั้งประวัติศาสตร์ยังสอนให้เรารู้ว่า ตัวเลขวัดผลดังกล่าวไม่ควรนำมาใช้เพื่อแบ่งแยก แล้วเลือกปฏิบัติกับผู้คน ตรงกันข้าม เราควรใช้เพื่อ ‘ทำความเข้าใจ’ มนุษย์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมมากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วการวัดผลที่เกิดประโยชน์นั้น ไม่ใช่การวัดผลเพื่อแปะป้าย ‘ตัดสิน’ แต่มีไว้เพื่อการ ‘พัฒนา’ บุคคลนั้น ๆ ให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม

 

เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ภาพ : Pexels
อ้างอิง : 
The Flynn Effect: What's Behind Rising IQ Scores?
The Flynn Effect – Explaining Increasing IQ Scores
Is there a Flynn effect for attention? Cross-temporal meta-analytical evidence for better test performance (1990–2021)
How has intelligence testing changed throughout history?
Why our IQ levels are higher than our grandparents' | James Flynn
The dark history of IQ tests - Stefan C. Dombrowski
THE REVERSE FLYNN EFFECT