ทำไมบางคน Burnout แต่บางคนไม่ Burnout

ทำไมบางคน Burnout แต่บางคนไม่ Burnout

หาคำตอบ ทำไมบางคน Burnout แต่บางคนไม่ Burnout พร้อมวิธีจัดการความเครียดและหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ

เคยสงสัยไหมว่า เพื่อนที่ทำงานตำแหน่งเดียวกับเรา ปริมาณงานใกล้เคียงกัน ทำไมเขายังดูสดใสร่าเริง ไม่แสดงอาการเหนื่อยล้า และอยากตื่นมาทำงานทุกวัน ในขณะที่ตัวเราหรืออีกหลาย ๆ คน กลับรู้สึกหมดพลังในการทำงาน บ้างก็รู้สึกถึงความแปลกแยกในที่ทำงาน หรือหนักสุดคือรู้สึกขาดความมั่นใจในความสามารถและคุณค่าของตนเอง ซึ่งเป็นสัญญาณของ ‘ภาวะหมดไฟ’ หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกกันติดปากว่า ‘Burnout’ 

ในบทความของ ‘แคนดี เวียนส์’ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะหมดไฟ และ ‘แอนนี แมคคี’ ผู้เขียนหนังสือ How to Be Happy at Work ได้ไขคำตอบเรื่องนี้ โดยระบุว่า กุญแจสำคัญในการรับมือกับความเครียดและความกดดันคือ ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ (Emotional Intelligence)

ในการศึกษาเกี่ยวกับภาวะหมดไฟ ซึ่งมีการประเมินระดับความเครียดของหัวหน้าแพทย์ผู้สั่งการ (CMO) จำนวน 35 คน ในโรงพยาบาลใหญ่ 35 แห่ง และพยายายามพิจารณาว่าพวกเขาได้ทำอะไรเพื่อจัดการกับภาวะหมดไฟหรือไม่ 

สิ่งที่ค้นพบน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะแม้ว่า CMO ถึง 69% จะระบุว่า ความเครียดของตนอยู่ในระดับรุนแรง รุนแรงมาก หรือรุนแรงที่สุด แต่หลังจากใช้เครื่องมือ Maslach Burnout Inventory (MBI) ที่ใช้ในการประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน พบว่า CMO ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกหมดไฟเลย โดยจากการสัมภาษณ์ CMO เหล่านี้ พบว่าสิ่งสำคัญที่ช่วยควบคุมระดับความเครียดของพวกเขาคือ ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ 

การวิจัยยังชี้ด้วยว่า ความฉลาดทางอารมณ์ช่วยให้เรามีความสามารถในการรับมือที่ดีขึ้น และช่วยให้เราจัดการกับความเครียดเรื้อรังและป้องกันภาวะหมดไฟได้

‘ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง’ (Emotional self-awareness) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ ช่วยให้เราเข้าใจถึงแหล่งที่มาของความหงุดหงิดหรือความวิตกกังวล ซึ่งจะทำให้เราพิจารณาการตอบสนองต่อสถานการณ์แตกต่างกัน 

ขณะที่ ‘การบริหารจัดการตนเอง’ (Self-management) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะของความฉลาดทางอารมณ์ จะช่วยให้เราสงบสติอารมณ์ ควบคุมแรงกระตุ้น และดำเนินการอย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับความเครียด 

นอกจากนี้ ทักษะ ‘การจัดการความขัดแย้ง’ (Conflict management) ยังช่วยให้เรารับมือกับความวิตกกังวลและอารมณ์เพื่อแก้ปัญหา แทนที่จะปล่อยให้สถานการณ์มาทำให้เราหงุดหงิด หรือทำให้เรานอนไม่หลับ 

ส่วน ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (Empathy) ยังช่วยเราต่อสู้กับความเครียดได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างจริงจัง เราก็จะเริ่มใส่ใจพวกเขา อีกทั้งความเห็นอกเห็นใจยังช่วยไม่ให้ความเครียดส่งผลต่อสรีรวิทยาของเราได้ เช่นเดียวกับอารมณ์เชิงบวกอื่น ๆ ที่สำคัญการปรับตัวให้เข้ากับมุมมอง ทัศนคติ และความเชื่อของผู้อื่น ยังช่วยให้เราได้รับความไว้วางใจและมีอิทธิพลต่อผู้อื่นด้วย

ทั้งหมดนี้ ในทางปฏิบัติมักหมายความว่า เราจะได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็น ก่อนที่ความเครียดจะลุกลามจนกลายเป็นภาวะหมดไฟ

วิธีจัดการความเครียดและหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ

ผู้คนมักจะใช้วิธีที่เป็นอันตรายเพื่อจัดการกับความเครียด เช่น หันไปกินมากเกินไป ใช้ยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์ และพยายามมากเกินไปแทนที่จะค่อยเป็นค่อยไป สิ่งที่เรียนรู้จากการศึกษาเหล่า CMO คือ เราสามารถใช้ความฉลาดทางอารมณ์เพื่อจัดการกับความเครียดและป้องกันภาวะหมดไฟได้ ด้วยการทำสิ่งต่อไปนี้ 

“อย่าเป็นต้นเหตุของความเครียด” เราหลายคนมักจะสร้างความเครียดให้กับตนเอง โดยใช้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียดอย่างเต็มที่ เพียงแค่คิดหรือคาดการณ์ถึงเหตุการณ์หรือสิ่งที่ยังไม่เกิด โดยเฉพาะผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จหรือนิยมความสมบูรณ์แบบ อาจมีแนวโน้มที่จะสร้างความเครียดให้ตัวเอง โดยจากการศึกษาพบว่า CMO ที่ปรับตัวเข้ากับแรงกดดันที่ตนเองเผชิญจะสามารถควบคุมระดับความเครียดได้ดีกว่า

CMO คนหนึ่งอธิบายว่า “ฉันตระหนักว่าความเครียดส่วนใหญ่เกิดจากตัวฉันเองที่กดดันตัวเองมานานหลายปี ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าความเครียดเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง ฉันจึงพูดโน้มน้าวตัวเองให้เลิกกดดันตัวเอง” 

“ตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเอง” การตระหนักรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองมากขึ้นจะช่วยให้รู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือในส่วนใด ในการสำรวจ CMO พบว่า การเปลี่ยนผ่านจากบทบาทแพทย์ไปสู่บทบาทผู้นำเป็นสาเหตุหลักของความเครียด แต่คนที่ตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของตัวเองจะรู้ว่าอะไรที่เกินกว่าความสามารถของตน คนเหล่านี้จะไม่ทำงานเพียงลำพัง แต่จะรายล้อมด้วยที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ และขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาเหล่านี้ 

“หายใจเข้าลึก ๆ เมื่อรู้สึกตึงเครียดและวิตกกังวล” การฝึกสมาธิจะช่วยให้เราจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที รวมถึงปัญหาในระยะยาว ผู้เข้าร่วมการวิจัยอธิบายว่า พวกเขาใช้เทคนิคการฝึกสมาธิเพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดระดับความตึงเครียดเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด โดย CMO คนหนึ่งอธิบายว่า “การฝึกสมาธิทำให้ฉันเปิดใจรับวิธีแก้ไขอื่น ๆ มากขึ้น และไม่เสียเวลาไปกับโหมดป้องกันตนเอง” ทั้งนี้ การฝึกลมหายใจอาจเป็นเรื่องยากในตอนแรก แต่จำไว้ว่า ‘สมาธิ’ คือวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมตนเอง 

“ลดความขัดแย้งด้วยการมองในมุมของคนอื่น” ความเครียดจากความขัดแย้งมักนำไปสู่ภาวะหมดไฟ ดังนั้น ควรลดความขัดแย้งให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มจาก “อย่าด่วนสรุป แต่จงซักถามข้อสงสัย และฟังอย่างตั้งใจ” ควรให้ความสนใจกับอีกฝ่าย และจดจ่อกับสิ่งที่เขากำลังพยายามบอก การพยายามทำความเข้าใจมุมมองของเขาจะทำให้คุณได้รับความไว้วางใจจากเขา และมีอิทธิพลต่อเขา 

หนึ่งใน CMO ที่เข้าร่วมการวิจัยบอกว่า การพัฒนาทักษะการฟังอย่างเห็นอกเห็นใจช่วยให้เขาทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น เขาได้ยกตัวอย่างกรณีที่แพทย์คนหนึ่งบุกเข้ามาในห้องของเขาและพูดว่า “คุณต้องทำแบบนี้ ไม่งั้นเด็ก ๆ จะตาย” แทนที่เขาจะตอบโต้ด้วยท่าทีป้องกันตัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย เขาใช้วิธีตั้งสติและมุ่งความสนใจไปที่การพยายามทำความเข้าใจมุมมองของแพทย์คนนั้น การตอบสนองนี้ช่วยลดความขัดแย้งลง และส่งผลให้การสนทนาเป็นไปอย่างนุ่มนวลขึ้น ความเครียดก็ลดลง 

โดยสรุปแล้ว การพัฒนา ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ จะช่วยหลีกเลี่ยง ‘ภาวะหมดไฟ’ ได้ ทั้งสำหรับตัวเราเองและคนอื่น ๆ แต่โปรดจำไว้ว่า การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ต้องใช้เวลาและความพยายาม ดังนั้น จงอดทน ให้อภัย และใจดีกับตัวเอง ด้วย 

 

เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า

ภาพ: Pexels

อ้างอิง:

Heal ใจ: ทำงานแล้วมีอาการขั้นไหนถึงเรียก ‘หมดไฟ’? ถ้าหมดไฟแล้ว..ทำไงต่อดี?

Why Some People Get Burned Out and Others Don’t