ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ : ธุรกิจพลังงาน จิ๊กซอว์สำคัญที่จะมาขยายภาพใหญ่ในเฟสต่อไปของ สิงห์ เอสเตท

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ : ธุรกิจพลังงาน จิ๊กซอว์สำคัญที่จะมาขยายภาพใหญ่ในเฟสต่อไปของ สิงห์ เอสเตท

ธุรกิจพลังงาน จิ๊กซอว์สำคัญที่จะมาขยายภาพใหญ่ในเฟสต่อไปของ สิงห์ เอสเตท

ถ้ายังหายใจ เราคงไม่รู้ถึงการมีอยู่ของอากาศบริสุทธิ์รอบตัว ถ้ายังไม่กระหาย เราคงไม่นึกถึงความสดชื่นของน้ำสะอาด ถ้ายังไม่หิว เราคงไม่คิดถึงความอร่อยของอาหาร และถ้ายังมีแสงสว่างส่องในยามค่ำคืน มีสมาร์ทโฟนพร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานตลอดเวลา เราคงไม่รู้สึกถึงความสำคัญของพลังงาน โลกปัจจุบันที่หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง พลังงานเลยกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้ อากาศ น้ำ หรือว่าอาหาร นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ สิงห์ เอสเตท ได้เข้าไปลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับกลุ่มธุรกิจในเครือ “เราได้สิทธิ์ซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยเงื่อนไขที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้สิงห์ เอสเตท ก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย พร้อมกับขยายธุรกิจของเราให้ใหญ่ขึ้นสามเท่าในเวลาสามปี จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการได้สิทธิ์ซื้อหุ้น 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม ขนาดใหญ่ 3 แห่ง  การซื้อหุ้นในครั้งนี้จะช่วยสร้างธุรกิจ สิงห์ เอสเตท ให้เติบโตอย่างมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนสม่ำเสมอ พร้อมกับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน จากการใช้ประโยชน์ของการผนึกกำลังกันใน 4 กลุ่มธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม โดยกลุ่มธุรกิจที่ 4 คือ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมอื่น ๆ จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจอื่น ๆ ของสิงห์ เอสเตท โดย บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Co-generation power plant) ขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ โดยเป็นสิทธิ์ซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท  สำหรับแห่งแรกนั้น เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม ของบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง โดยดำเนินการผลิตอยู่แล้ว ด้วยกำลังการผลิตอยู่ที่ 123 เมกะวัตต์  ส่วนแห่งที่สองและสาม เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2566 โดยจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่โรงงานละ 140 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งสามแห่งจะเริ่มขึ้นเมื่อได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ บมจ. สิงห์ เอสเตท ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมสามัญประจำปีในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564 ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท ยังย้ำอีกว่า “การได้สิทธิ์ซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเงื่อนไขที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างยิ่ง จะทำให้สิงห์ เอสเตท มีโอกาสก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าขยายธุรกิจของเราให้ใหญ่ขึ้นสามเท่า เป็นบริษัทที่มีรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลาสามปี”  การเดินหน้าในธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้านี้ เป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญของ สิงห์ เอสเตท ที่ได้ประกาศว่า ปี พ.ศ. 2564 จะเป็นปีที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจ จากการรุกสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่จะมาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับ 3 กลุ่มธุรกิจที่เป็นแกนหลักแต่เดิม ที่ใช้ประโยชน์จากการผนึกกำลังกันของ 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท มาเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ : ธุรกิจพลังงาน จิ๊กซอว์สำคัญที่จะมาขยายภาพใหญ่ในเฟสต่อไปของ สิงห์ เอสเตท ทางด้าน ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ใบอนุญาตโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตระดับนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะหามาได้ง่าย ๆ เราจึงรู้สึกยินดีมากเป็นพิเศษที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญถึง 3 แห่ง ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้เรามีฐานธุรกิจที่มั่นคงในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์”  “ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิทธิ์ในการเข้าซื้อหุ้นที่เราได้รับนั้นน่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก คือ การที่ไฟฟ้าจำนวน 270 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเกือบ 70% ของกระแสไฟฟ้าที่ทั้ง 3 โรงไฟฟ้านี้จะผลิตได้รวมกันนั้น ขายได้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว และจะเป็นราคาตามที่ตกลงกันแล้วด้วย ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะสร้างรายได้เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน เสริมศักยภาพให้กับ สิงห์ เอสเตท ในการเป็นธุรกิจที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์” ฐิติมากล่าวเสริมถึงกลยุทธ์ Resilient Business ที่จะมาช่วยทำให้ธุรกิจ สิงห์ เอสเตท มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่ง อ่างทอง เพาเวอร์ ถือเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ทั่วไป และกระแสไฟฟ้าจำนวน 75% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ได้ถูกทำสัญญาซื้อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 25 ปี นอกจากนี้ในอนาคตหากมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วย จะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้มีโอกาสสูงขึ้นกว่าอัตราที่เคยประเมินไว้ในขั้นต้นได้อีกด้วย  คาดการณ์ว่า โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสร้างรายได้ราว 7,500 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2567 และการเข้าซื้อหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 โรงนี้ จะสร้างผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างมากให้กับ สิงห์ เอสเตท มากไปกว่านั้นคือจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจทั้งหมด ด้วยการเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกันในธุรกิจต่าง ๆ ของสิงห์ เอสเตท (Synergy benefits)  โดยในการลงทุนโครงการนี้ช่วงแรกทางธนาคารจะให้เงินกู้เพื่อมาลงทุน แล้วทาง สิงห์ เอสเตท จึงค่อยลงทุนเองภายหลังในจำนวนที่ไม่มาก ล่าสุด สิงห์ เอสเตท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ อยู่ที่ 0.96 เท่า และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกกว่า 25,000 ล้านบาท  การหันมาลงทุนในธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมอื่น ๆ ของ สิงห์ เอสเตท ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงจะช่วยเชื่อมโยงและสร้างความแข็งแกร่งให้ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดาทั้งในประเทศและทั่วโลก แต่ยังสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคม ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น สร้างโอกาสและผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน