ทศ จิราธิวัฒน์ ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ "เซ็นทรัล" อาณาจักรที่ขยายทั้งไทยและต่างประเทศ

ทศ จิราธิวัฒน์ ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ "เซ็นทรัล" อาณาจักรที่ขยายทั้งไทยและต่างประเทศ

ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ "เซ็นทรัล" ปั้นโร้ดแมพสู่เบอร์หนึ่งค้าปลีกโลกดิจิทัล และล่าสุดกับการตัดสินใจซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า คาเดเว ห้างหรูใจกลางกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (หลังถือหุ้น 50.1% ตั้งแต่ปี 2558)

วันที่ 12 เมษายน 2567 กลุ่มเซ็นทรัล ได้ลงนามข้อตกลงเข้าซื้อ ‘ห้างสรรพสินค้าหรูคาเดเว’ ห้างเชิงสัญลักษณ์ของกรุงเบอร์ลิน โดยเป็นการซื้อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ อาคารและที่ดิน จากกลุ่มซิกน่า ไพร์ม ซีเลคชั่น เอจี อย่างเป็นทางการ

‘คาเดเว’ ถือว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี มียอดขายสูงสุดอันดับหนึ่ง และเป็นห้างหรูขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี บนถนนโทเอนซีนสตราสเซอ (Tauentzienstraße) โดยพื้นที่ห้างหรูแห่งนี้มากกว่า 60,000 ตารางเมตร นับว่าเป็นฮับแห่งแฟชั่นระดับไฮเอนด์ของชาวเยอรมัน

ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้าลงทุนในกลุ่มคาเดเว ตั้งแต่ปี 2558 โดยเซ็นทรัลถือหุ้นในสัดส่วน 50.1% แต่ทางกลุ่มซิกน่า ยังเป็นเจ้าของอาคารอสังหาริมทรัพย์ 100% ที่ผ่านมา ฉะนั้น การเข้าซื้อของกลุ่มเซ็นทรัลครั้งนี้ จะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลขึ้นสู่สถานะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว หรือ 100%

และมีความหมายว่า กล่มเซ็นทรัล จะเป็นเจ้าของห้างอื่นทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มซิกนาด้วย คือ Oberpollinger, Alsterhaus, Carsch-Haus ในล้วนอยู่ในเยอมนี

ขณะที่ ‘ทศ จิราธิวัฒน์’ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ได้กล่าวในคำประกาศว่า เซ็นทรัลมีความยินดีที่ได้คาเดเว เบอร์ลิน เข้ามาเป็นหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้งยังให้คำมั่นที่จะพัฒนาห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลทั้งหมดแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทศ จิราธิวัฒน์ ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ \"เซ็นทรัล\" อาณาจักรที่ขยายทั้งไทยและต่างประเทศ

ตระกูล “จิราธิวัฒน์” มักอยู่ในอันดับต้น ๆ ในการจัดอันดับ Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมหลายแสนล้านบาท หนึ่งในคนที่ร่วมขยายอาณาจักร “เซ็นทรัล” ให้เติบใหญ่กว่าเดิมก็คือ ทศ ซึ่งโปรเจกต์ใหญ่หลายโปรเจกต์ของเซ็นทรัลภายใต้การนำของทศต้องพูดว่าไม่ธรรมดา

เขามุ่งมั่นในการรุกโลกออนไลน์แบบจัดหนัก ทุ่มงบมหึมาหลักหมื่นล้านบาท เตรียมชิงความเป็นใหญ่ด้านธุรกิจค้าปลีกบนแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมเชื่อมธุรกิจในกลุ่มเข้าด้วยกันให้มากที่สุด ทศ เป็นลูกคนเล็กของ สัมฤทธิ์ และเป็นหลานของ เตียง จิราธิวัฒน์ ชายผู้เป็นตำนานของเซ็นทรัล

 

จุดเริ่มต้น 'เซ็นทรัล'

เตียง จิราธิวัฒน์ เปิดร้านค้าเล็ก ๆ เมื่อ 70 กว่าปีก่อน โดยมีลูกชายคนโตคือ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ช่วยงานอย่างแข็งขัน กิจการก้าวหน้ามาเรื่อย ๆ จากร้านค้าคูหาเดียวก็กลายเป็นหลายคูหา ในที่สุด เตียง ก็ขยายธุรกิจเกิดเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อว่า "เซ็นทรัล"

โดยมีลูก ๆ อาทิ สัมฤทธิ์, วันชัย ร่วมเป็นหัวเรือหลักในการบริหารดูแล เวลาผ่านจนมาถึงรุ่น 3 ของตระกูลอย่าง ทศ เขาเป็นลูกชายคนเล็กของสัมฤทธิ์ ใช้ชีวิตที่เมืองนอกตั้งแต่วัยรุ่น

ทศ จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จาก Wesleyan University พ่วงด้วยปริญญาโทด้านการเงินจาก Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาทำงานเป็นวาณิชธนากรให้ ซิตี้แบงก์ สาขาประเทศไทย ราว 1 ปี แล้วลาออกเพื่อเข้าสู่ธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว

ทศ ได้เข้ามาในช่วงทศวรรษที่ 2530 ซึ่งเซ็นทรัลกำลังขยายตัวด้านอสังหาริมทรัพย์ มีการก่อสร้างห้างเซ็นทรัลสาขาใหม่ขึ้นหลายแห่ง

งานใหญ่งานแรกที่สัมฤทธิ์ มอบให้ลูกชายคนเล็กทำ ก็คือ การเป็น Project Manager ประสานการทำงานกับทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้ทศ ได้เรียนรู้ทักษะการทำธุรกิจห้างในมุมอสังหาฯ

ต่อมาทศ ได้รับมอบหมายงานในสายงานธุรกิจค้าปลีก มีโครงการเด่นที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีทำให้เกิดขึ้นจนสำเร็จคือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่ไม่ได้เน้นการขายในห้างเพียงอย่างเดียว

“ตอนนั้นเราคุยกัน แล้วก็มองว่าซูเปอร์ เซ็นเตอร์ ต้องเป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยว่าเป็นdirection ที่ถูกต้อง ผมเลยบอกว่าถ้างั้นผมทำเอง ก็ออกมาตั้งบิ๊กซี ตอนนั้นมีผมกับเลขาเพียง 2 คน เริ่มจากศูนย์" ทศเล่าให้สื่อ “ผู้จัดการ” ฟัง

ทศเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง เขาไม่ลังเลที่จะเสนอความคิดเห็นที่วางอยู่บนฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ แม้ว่าคนในวงที่เขาเข้าประชุมด้วยจะอาวุโสกว่าก็ตาม

ด้วยการทำงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ สามารถทำโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง และประสบความสำเร็จตามที่วางไว้ ทำให้ทศ ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารระดับสูงของเซ็นทรัล และการเปิดใจยอมรับให้ก้าวสู่การเป็น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

ในราวต้นปี 2557 นับเป็น “แม่ทัพใหญ่” กุมทิศทางภาพรวมธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในวัยที่ยังไม่ถึง 50 ปี

ปัจจุบัน เซ็นทรัล มีกลุ่มธุรกิจด้วยกัน 9 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (CDG) เช่น ห้างเซ็นทรัล, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, เซน, โรบินสัน, เซ็นทรัล ออนไลน์, ห้างในหลายประเทศ ซึ่งห้างใหม่ที่เพิ่งซื้อกิจการเป็นเจ้าของ 100% ก็คือ 'ห้างคาเดเว' (KaDeWe) ซึ่งจริง ๆ แล้ว กลุ่มซิกนา เคยเจรจากับกลุ่มเซ็นทรัลมาก่อน เพื่อขอสนับสนุนทางการเงินและนำไปจ่ายหนี้ที่ใกล้ครบกำหนดชำระ เพราะบริษัทภาวะล้มละลาย

ทศ จิราธิวัฒน์ ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ \"เซ็นทรัล\" อาณาจักรที่ขยายทั้งไทยและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การบริหารของเซ็นทรัลในปัจจุบัน เช่น Rinascente ในอิตาลี, illum ในเดนมาร์ก, Lamarr ในออสเตรีย, Globus ในสวิตเซอร์แลนด์, de Bijenkorf ในเนเธอร์แลนด์, Brown Thomas และ Arnotts ในไอร์แลนด์ เป็นต้น

2. กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ (CPN) ผู้พัฒนาเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซ่า, เซ็นทรัลเฟสติวัล ฯลฯ

3. กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (CFG) เช่น เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ออนไลน์, ซูเปอร์คุ้ม

4. กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า (CHG) ได้แก่ ไทวัสดุ, โฮมเวิร์ค และ บ้าน แอนด์ บียอนด์

5. กลุ่มธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น (CMG) นำเข้า ผลิต จัดจำหน่าย และทำการตลาดสินค้าแบรนด์ดังทั้งลักชัวรี่ไปจนถึงสตรีทแบรนด์

6. กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท (CHR) เช่น เซ็นทารา แกรนด์, เซ็นทารา, เซ็นทารา เรสซิเดนซ์ แอนด์ สวีท, โคซี่

7. กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ (COL) ได้แก่ ออฟฟิศเมท และ บีทูเอส

8. กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (CRG) มีแบรนด์ในมืออย่าง มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ เป็นต้น

9. กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนาม (CGVN) ทำธุรกิจในเวียดนามครอบคลุมห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ กว่า 200 แห่ง สาเหตุที่ต้องแบ่งเป็นสายธุรกิจต่าง ๆ ให้ชัดเจน ก็เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มเซ็นทรัลในอนาคตนั่นเอง

เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ นี่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีเกี่ยวกับ 'เซ็นทรัล' ซึ่งไม่ว่าจะขยายธุรกิจอะไร อย่างน้อยต้องเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ไล่ตั้งแต่โปรเจกต์สุดหรูอย่าง เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เมื่อหลายปีก่อน

จนมาถึงตอนนี้ที่เซ็นทรัลขอขยับมาโตหวังเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกโลกดิจิทัลดูบ้าง ด้วยงบที่นับดูแล้วขึ้นไปถึงหลักหมื่นล้านบาท

ทศเคยกล่าวเมื่อครั้งแถลงทิศทางของกลุ่มเซ็นทรัลเมื่อปี 2560 ว่า ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนขยายห้างสรรพสินค้าที่เป็นช่องทางค้าปลีกแบบ “ออฟไลน์” แต่ก็ให้ความสำคัญกับช่องทาง “ออนไลน์” ด้วยเหมือนกัน

จึงเดินหน้าแผน “Digital Centrality” เชื่อมโยงลูกค้าออฟไลน์และออนไลน์ทั่วโลกเข้าด้วยกันมากที่สุด แม่ทัพใหญ่แห่งกลุ่มเซ็นทรัลบอกว่า บริษัทเตรียมตัวด้วยการใช้งบ 3-4 พันล้านบาท ลงทุนด้านเทคโนโลยี ส่วนปี 2561 และปีต่อ ๆ ไป จะเพิ่มงบขึ้นไปให้ถึงหลักหมื่นล้านบาท ลงทุนต่อเนื่องด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ เพราะการค้าปลีกในโลกออนไลน์จะสำเร็จได้คือ สินค้าต้องถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็วฉับไว

แผนรุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของกลุ่มเซ็นทรัลยิ่งเห็นชัดขึ้นมากในปี 2561 เมื่อห้างเซ็นทรัลเปิดตัว “Central Chat & Shop” ให้ลูกค้าแชทกับพนักงานผ่านแอปพลิเคชันไลน์ พัฒนาแอปฯ The1 ให้สมาชิกเช็คและจัดการคะแนนสะสมได้ง่ายขึ้น

ทั้งยังเปิดตัวเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ JD.co.th ธุรกิจภายใต้ “เจดี เซ็นทรัล” ที่เซ็นทรัลร่วมทุนกับ JD.com ด้วยวงเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.75 หมื่นล้านบาท

ส่วนปี 2562 กลุ่มเซ็นทรัลก็เรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่เดือนแรกของปี เพราะวันที่ 29 มกราคม เซ็นทรัล เจดี มันนี่ บริษัทในเครือของ เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง (ซึ่งก็อยู่ใน เจดี เซ็นทรัล และงบตรงนี้ก็อยู่ในก้อน 500 กว่าล้านเหรียญนั้น) ประกาศจับมือธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เปิดตัว “ดอลฟิน วอลเล็ท (Dolfin Wallet) กระเป๋าเงินดิจิทัลที่เอาเทคโนโลยี AI และ Big Data Analytics มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าให้ตอบโจทย์สูงสุด (จากนั้นในเดือนกันยายนก็เปิดตัว "ดอลฟิน แพลตฟอร์ม อัจฉริยะ" (Dolfin Intelligent Platform) เพื่อตอบโจทย์บริการทางการเงินครบวงจรอย่างเป็นทางการ)

นอกจากนี้ เซ็นทรัล ได้ประกาศความร่วมมือกับ Grab Holdings Inc. ลงทุน 200 ล้านเหรียญ เข้าถือหุ้นใน แกร็บ ประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การให้บริการการเดินทาง การส่งอาหาร ส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ ซึ่งที่ว่ามาก็คือธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัลนั่นเอง

เรียกว่าเดินตามโร้ดแมพที่วางไว้เมื่อ 2-3 ปีก่อน เพื่อก้าวสู่เบอร์หนึ่งของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์แบบเป๊ะ ๆ เลยทีเดียว

 

*หมายเหตุ : มีการอัพเดทเนื้อหาในวันที่ 13 เมษายน 2567

 

เรื่อง : สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์

อ้างอิง:

http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=1704

http://www.centralgroup.com/ https://www.brandbuffet.in.th/2017/03/central-group-centrality-digital-strategy/

https://positioningmag.com/1184163

https://www.prachachat.net/marketing/news-1473930

นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2557