‘เกร็ก อาเบล’ ผู้สืบทอดอาณาจักรล้านล้านบาท จาก‘ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์’

‘เกร็ก อาเบล’ ผู้สืบทอดอาณาจักรล้านล้านบาท จาก‘ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์’

‘เกร็ก อาเบล’ (Greg Abel) จะเป็นผู้สืบทอดอาณาจักร Berkshire Hathaway มูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท ของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ แล้วทำไมต้องเป็นเขาคนนี้

โลกใบนี้น้อยคนจะไม่รู้จัก ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ (Warren Buffett) อภิมหาเศรษฐีระดับโลกผู้ก่อตั้งอาณาจักร Berkshire Hathaway มูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท ซึ่งเขากุมบังเหียนธุรกิจมานานกว่า 60 ปีแล้ว แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เพราะปัจจุบันปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์อายุปาเข้าไป 92 ปีแล้ว สุดท้ายก็ต้องมีผู้สืบทอดกิจการต่อ และเขาคนนั้นมีชื่อว่า ‘เกร็ก อาเบล’ (Greg Abel)

คำถามที่คนทั้งโลกสงสัยคือ…เกร็ก อาเบลคือใคร? แล้วทำไมต้องเป็นเขาคนนี้?

เกร็ก อาเบล เกิดเมื่อปี 1962 ที่เมืองเอดมันตัน ประเทศแคนาดา เขามี ‘เส้นทางชีวิต’ วัยเด็กที่คล้ายกับปู่บัฟเฟตต์ตรงที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่บ้าน บ้านของเขายังอยู่ในละแวกย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน

พ่อของเขาเป็นเซลส์แมน ขณะที่แม่เป็นแม่บ้าน

ใช่!!! เขามาจากครอบครัวคนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวย ถึงขั้นที่พ่อต้องให้เขาไปรับจ้างแจกใบปลิวโฆษณาและเติมสารเคมีใส่ถังดับเพลิงให้กับบริษัทที่พ่อของเขาทำงานอยู่เพื่อเป็นรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว แม่ก็ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่มีเวลาให้ เป็นที่พึ่งให้ได้ และหลังเลิกเรียน เขาจะออกไปเล่นกับเพื่อนวัยเด็กละแวกบ้านเป็นประจำ

งานแรกในชีวิตเปิดประสบการณ์ในโลกของการเงิน

และแม้ไม่ได้เกิดมารวย แต่เขาได้เพื่อนและครูประถมที่มีทัศนคติดีเยี่ยม ครูจะสอนให้เด็กนักเรียนในห้อง ‘ช่วยกัน’ เพื่อมุ่งไปหาความสำเร็จ ‘ร่วมกัน’ เกร็ก อาเบลสัมผัสได้แต่เด็กแล้วว่า การร่วมมือกันมักนำไปสู่อะไร ๆ ที่ดีกว่าเสมอ ดีกว่าลุยเดี่ยวและเอาเปรียบกันและกัน

นอกจากนี้ พ่อของเขายังสอนเสมอว่า ทำอะไรต้องมีเป้าหมาย และใส่ความพยายามให้เต็มที่ ทำให้สุดไว้ก่อน ดีกว่ามาเสียใจภายหลัง

ในปี 1984 เฉกเช่นคนทั่วไป เกร็ก อาเบลในวัยหนุ่มอายุ 22 ปี จบการศึกษาด้านพาณิชยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า (University of Alberta) ไม่ได้มีประวัติการศึกษาโดดเด่นหรือโชว์พรสวรรค์ที่น่าจับตามองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เขาพยายามมากพอจนสามารถเป็นผู้สอบบัญชี (Chartered Accountant) ที่บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่อย่าง PwC ได้สำเร็จ

การทำงานที่นี่เขาได้เปิดโลกของ ‘หลังบ้าน’ บรรดาตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังของทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ต้องเข้าใจงบกำไรขาดทุน ต้องบริหารกระแสเงินสดเป็น ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสเติบโตของธุรกิจให้ได้ ประสบการณ์ในโลกของการเงินตัวเลขนี้เอง ที่จะเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งให้กับการตัดสินใจทางธุรกิจของเขาต่อไป

เมื่อทำงานมาได้สักพัก ในปี 1992 เขาเปลี่ยนงานไปทำที่บริษัทพลังงาน CalEnergy ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบัญชี ต่อมาบริษัทเกิดการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) และเป็นบริษัทในเครือ MidAmerican Energy และนี่เองคือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องหน้าที่การงาน แต่เป็นโอกาสได้พบปะกับพ่อมดการลงทุนอย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

ฉายแววจนปู่ต้องหันมามอง

ปี 1996 เขามีบทบาทนำในการเจรจาซื้อ Northern Electric บริษัทด้านพลังงานและสาธารณูปโภคในประเทศอังกฤษ ระหว่างทางนี้เองเขาได้ฉายแววด้านการคิดวิเคราะห์ เจรจาโน้มน้าว และภาวะความเป็นผู้นำ 

ภายหลังดีลนี้สร้างความสำเร็จอย่างมากให้บริษัท จนไปเข้าตา ‘วอลเตอร์ สก็อตต์’ (Walter Scott) ที่ขณะนั้นเป็นกรรมการ Berkshire Hathaway และหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MidAmerican Energy ที่เกร็กทำงานอยู่

ความบังเอิญคือ วอลเตอร์ สก็อตต์ดันเป็นเพื่อนกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งแน่นอนว่าเขาได้เล่าความสำเร็จของชายคนนี้ที่เข้าซื้อกิจการให้ฟัง และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อของเกร็ก อาเบล เข้ามาอยู่ในสารบบของวอร์เรน บัฟเฟตต์

เพียง 3 ปีให้หลัง วอร์เรน บัฟเฟตต์ก็ได้เข้าซื้อกิจการ MidAmerican Energy มาอยู่ในเครือ ซึ่งยิ่งทำให้ทำงานใกล้ชิดกับเกร็ก อาเบลมากขึ้น เข้าใจแนวคิดการทำงาน วิธีจัดการกับปัญหา การบริหารพนักงาน รวมถึงทัศนคติส่วนตัว

ดาวรุ่งพุ่งแรง

ในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ ในปี 2008 เกร็ก อาเบลก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอของ MidAmerican Energy (อนึ่ง ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Berkshire Hathaway Energy) และยิ่งทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์ประทับใจไปใหญ่ เพราะเกร็ก อาเบลได้ขยายการลงทุนด้านพลังงานออกไปรอบด้าน เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

จนปัจจุบัน Berkshire Hathaway Energy (ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือ Berkshire Hathaway) มีรายได้รวมราว 770,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 10% ของบริษัทแม่ พร้อมพนักงานกว่า 23,800 คน

ปี 2018 วอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่งตั้งให้เกร็ก อาเบลเป็นคณะกรรมการบริษัทของ Berkshire Hathaway ก่อนที่ในปี 2021 จะประกาศว่า มงกุฎซีอีโอบริษัทคนต่อไป (ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว) จะเป็นของเกร็ก อาเบล

เกร็ก อาเบล มีพื้นฐานตรรกะดีเยี่ยม คิดรอบด้าน ควบคุมอีโก้ตัวเองได้ ชอบทำงานเป็นทีม และมีภาวะความเป็นผู้นำ เป็นคนที่ทำงานหนักแต่เด็ก และพร้อมสู้ไปถึงจุดหมายซึ่งเขาพิสูจน์มาแล้วด้วยเวลาตลอดชีวิต เขายังเป็นคนที่รวยมากพออยู่แล้วระดับเศรษฐีหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยลดโอกาสการยึดผลประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนองค์กร นอกจากนี้ยังแทบไม่มีประวัติเสื่อมเสียตลอดการทำงานของเขาเลย

เกร็ก อาเบลจะทำได้สำเร็จไหม จะสืบทอดปณิธานจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ได้หรือเปล่า? เราคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

investopedia

seekingalpha

reuters

financialpost