Mahanakhon แบรนด์ที่เกิดจากผู้ก่อตั้งเกิดคำถาม ทำไม ‘คราฟต์เบียร์’ ในไทยถึงมีน้อย

Mahanakhon แบรนด์ที่เกิดจากผู้ก่อตั้งเกิดคำถาม ทำไม ‘คราฟต์เบียร์’ ในไทยถึงมีน้อย

Mahanakhon Brewery เป็นคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับในตลาดอินเตอร์ ซึ่งเกิดจากความหลงใหลในการดื่มของ ‘แทนทอง ธรรมวัฒนะ’ ที่วันนี้ได้เดินทางมาไกลมาก

  • Mahanakhon Brewery เริ่มมาจาก Homebrewing ทดลองต้มในสเกลเล็ก ๆ ที่บ้าน 
  • แบรนด์นี้ มี ‘แทนทอง ธรรมวัฒนะ’ เป็นคนก่อตั้ง

ทุกวันนี้ถ้าเราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารชั้นนำ หรือร้านคราฟต์เบียร์ท้องถิ่น เกือบทุกที่เราจะพบกับแบรนด์คราฟต์เบียร์สัญชาติไทยที่มีจำหน่ายอย่างภาคภูมิใจ แบรนด์นั้นชื่อว่า ‘มหานคร’ (Mahanakhon Brewery) การเดินทางอันยาวนานกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ท่ามกลางกฎระเบียบของอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศที่แสนจะไม่เอื้ออำนวย เราต้องขอบคุณ ‘แทนทอง ธรรมวัฒนะ’ ชายผู้ก่อตั้ง Mahanakhon Brewery ผู้หลงใหลในโลกของเบียร์

ทำไมต้องเบียร์

เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ใช้สังสรรค์กันแล้ว เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีความเป็น ‘มวลชน’ (Mass) ที่สุดแล้วก็ว่าได้ ทั้งในเรื่องราคา รสชาติ จุดจำหน่าย หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ 

แทนทองยังมีรสนิยมชอบดื่มเบียร์เป็นทุนเดิม เขามีทัศนคติมองว่าเบียร์มีความเป็น ‘สากล’ (Universal) มากที่สุดเช่นกัน ใคร ๆ ก็ดื่มเบียร์ ไม่ว่าคนชาติไหน อาชีพอะไร ฐานะใด หรือเวลาไหน เป็นเครื่องดื่มที่แทบจะใกล้เคียงกับน้ำเปล่ามากที่สุดแล้วก็ว่าได้

อีกสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กันคือความ ‘ไร้ขอบเขต’ ของการทำเบียร์ โดยเฉพาะประเภทที่เรียกว่า ‘คราฟต์เบียร์’ (Craft beer) ที่เราสามารถผสม ‘วัตถุดิบ’ เช่น ผลไม้นานาชนิด หรืออะไรต่อมิอะไรก็ได้ตราบเท่าที่เราจินตนาการลงไปในเบียร์และรสชาติออกมาอร่อย

และเป็น ‘คำถามในใจ’ ตลอดมาว่าทำไมเมืองไทยถึงมีคราฟต์เบียร์น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีนับร้อยนับพันแบรนด์ มีผู้ประกอบการรายย่อยชนิดนับไม่ถ้วน (ขณะที่คราฟต์เบียร์ไทยมีอยู่หลักสิบแบรนด์) เวลาเขาไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะสังเกตเห็นว่า หลายเมืองเล็กของญี่ปุ่นก็มีคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นชนิดที่ ‘ไปไหนก็เจอ’ รสชาติแต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน 

นี่คือคำถามที่ค้างคาใจที่มาพร้อม ‘โอกาส’ ว่าถ้าทำได้สำเร็จ…ก็คงจะดี

กำเนิดมหานครเบียร์

ความโชคดีอีกอย่างคือ แทนทองได้รับโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้จาก ‘วิชิต ซ้ายเกล้า’ (ผู้ก่อตั้งคราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์ Chit Beer) ผู้ถือเป็นปรมาจารย์ด้านคราฟต์เบียร์ของเมืองไทย และยังเป็นผู้มอบความรู้ให้กับอีกหลายแบรนด์ในไทย

เมื่อมีองค์ความรู้เชิงลึกด้านการต้มเบียร์จากกูรูชั้นนำระดับประเทศ ประกอบกับแพสชันส่วนตัวและประสบการณ์ที่ลิ้มรสเบียร์ต่าง ๆ นานามาไม่น้อย ปี 2014 เขาจึงได้ให้กำเนิด Mahanakhon Brewery อีกหนึ่งคลื่นลูกใหม่ของวงการคราฟต์เบียร์ไทย 

นี่เป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวไม่น้อย เพราะในแง่ของจังหวะเวลา ยังถือว่าเป็นยุคบุกเบิกของวงการคราฟต์เบียร์ไทย เพราะผู้เล่นในตลาดยังน้อย เคสสำเร็จยังมีไม่เยอะมาก แถมตลาดในประเทศเองก็มีกฎระเบียบเพียบที่จำกัดการเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่ ๆ

Mahanakhon Brewery เริ่มมาจากการเป็น ‘โฮมบรูว์’ (Homebrewing) คือ ทดลองต้มในสเกลเล็ก ๆ เพื่อลองกินเองที่บ้านก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายไปจำหน่ายในร้าน (Brew pub) ก่อนจะขยายใหญ่จนมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารชั้นนำทั่วไป

โปรดักต์ที่ตอบโจทย์

เอาเข้าจริงแล้ว ตัวเลือก ‘ประเภท’ ของเบียร์มีเยอะมาก นอกจาก lager ที่คนส่วนใหญ่รู้จักแล้ว ก็ยังมี Wheat / Pilsner / Ale / White Ale / IPA / Stout / Porter / และอีกมากมาย

ในตอนแรก แทนทองต้องลองผิดลองถูกต้มเบียร์นับร้อยครั้ง (Batches) ก่อนมาเจอสูตรที่ใช่ และตัดสินใจเลือกสินค้าชูโรงโดยนิยามชื่อว่า ‘Mahanakhon White Ale’ เป็นเบียร์สไตล์เบลเยียม (Belgian White) ที่ดื่มง่าย หอมกรุ่น สดชื่น และเข้ากันได้ดีกับอาหารนานาชนิด ซึ่งน่าจะมีโอกาส ‘ถูกปาก’ คนไทยมากที่สุด

มาพร้อมเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยกลิ่นส้มและผักชี โดยส้มที่ใช้คือ ‘ส้มวาเลนเซีย’ (Valencia orange) ซึ่งได้สมญานามว่าเป็น ‘ราชาแห่งส้ม’ ปรากฏว่าให้ความกลมกล่อมได้ดีเมื่อมาบาลานซ์กับ ‘ผักชี’ (Coriander) และด้วยเทคนิคเฉพาะในการทำเบียร์ จึงทำให้ Mahanakhon White Ale ตัวนี้ประสบความสำเร็จล้นหลาม! ขึ้นแท่นสินค้าชูโรง (Flagship product) ที่สร้างชื่อเสียงความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ในเวลาต่อมา

โดยในปี 2017 ได้แชมป์ World Beer Awards มาครอง จากนั้นปี 2019 ได้รางวัล Asia Beer Championship สร้างปรากฏการณ์ (และแรงบันดาลใจ) แก่วงการคราฟต์เบียร์ไทยว่า ไทยเองก็มีคนทำเบียร์เก่ง ๆ ฝีมือระดับโลกและมีวัตถุดิบชั้นดีในมือ

นอกจากนี้ยังทำ ‘ราคา’ ได้เป็นมิตรพอเข้าถึงได้ระดับหนึ่ง อย่างเช่นปัจจุบัน Mahanakhon Pale Ale 490 มล. วางขายปลีกตามซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่ราคาประมาณ 99 บาทต่อกระป๋อง ซึ่งถือว่าราคากลาง ๆ พอจะแข่งขันได้เมื่อเทียบกับคราฟต์เบียร์ยี่ห้ออื่นในปริมาณเดียวกัน

ทุกวันนี้ Mahanakhon Brewery พัฒนาสูตรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีสินค้าใหม่เพิ่มอีกหลายตัว โดยเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของเมืองไทย เช่น มีส่วนผสมหลักเป็น ข้าวหอมมะลิ มะพร้าว ใบเตย ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคราฟต์เบียร์นอก

อย่างตัว ‘Mahanakhon Pale Ale’ (กระป๋องเขียว) ก็ไปคว้ารางวัลอันดับที่ 1 ระดับประเทศในสาขา American-style Pale Ale ที่การประกวด World Beer Awards ปี 2021 

การสร้างแบรนด์ที่น่าจดจำ

นอกจากนี้ แทนทองยังมีสกิลด้านออกแบบกราฟิกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขามีบทบาทหลักในการออกแบบ ‘อัตลักษณ์แบรนด์’ (Brand identity) โดยรวม ตั้งแต่ชื่อแบรนด์ ฟอนต์ สี การจัดวาง

เมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้ว Mahanakhon Brewery มี ‘ชื่อแบรนด์’ สะท้อนกลิ่นอายแบรนด์สัญชาติไทยแบบชัดเจน และในแง่ฮวงจุ้ย ยังเป็นชื่อที่ทรงพลังพร้อมเติบโตให้ยิ่งใหญ่ และมีการแยกประเภทเบียร์อย่างเรียบง่าย (แต่ก็จำง่ายเช่นกัน) ด้วย ‘สี’ บนบรรจุภัณฑ์ เช่น 

  • Mahanakhon White Ale เป็นสีขาว 
  • Mahanakhon White IPA เป็นสีน้ำเงิน 
  • ขณะที่ Mahanakhon Pale Ale เป็นสีเขียว

เมื่อสำเร็จขั้นแรกระดับหนึ่ง และมีฐานลูกค้าประจำที่แข็งแรงระดับหนึ่งแล้ว (Loyalty customer base) ก็ถึงเวลาที่ต้อง ‘สเกลอัป’ ธุรกิจ แต่การต้มเบียร์ในประเทศไทยอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยนัก ทำให้แทนทองต้องออกไปต้มที่เมืองนอก (เฉกเช่นแบรนด์คราฟต์เบียร์ไทยอีกราว 20 - 30 แบรนด์ที่เลือกวิธีนี้)

หลังจากนี้คือเส้นทางการเดินทางของผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ไทยที่จะมีแค่เงินหรือความรู้ไม่ได้ แต่ต้องมีใจและความอดทนด้วย เขาต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองจากนักต้มเบียร์มาสวมหมวกนักธุรกิจที่ต้องคิดบริหารจัดการหลายเรื่อง

เริ่มจากตระเวนค้นหาโรงต้มเบียร์ที่มีสไตล์เบียร์ตรงกัน พนักงานคนทำงานที่มีวัฒนธรรมและเป้าหมายสอดคล้องกัน รวมถึง ‘การควบคุมคุณภาพ’ (Quality Control) ที่เป็นความท้าทายใหม่เมื่อผลิตในจำนวนที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องอดทนกับความล้มเหลวในช่วงแรกที่พอต้มออกมาแล้วรสชาติไม่เหมือนที่ต้องการ เกิดความสูญเสียทางการลงทุนทั้งเงิน เวลา และกำลังใจ 

ไหนจะขั้นตอนโลจิสติกส์กว่าเบียร์จะเดินทางมาถึงผู้บริโภค ขนส่งด้วยทางไหน ใช้เวลาเท่าไร ควรเลือกบริษัทอะไร หรือข้อกฎหมายและภาษีต่าง ๆ

สุดท้ายมาจบที่โรงต้ม Red Point Brewery ที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีสไตล์การต้มตรงตามที่ต้องการ และมีการอำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสารใบขออนุญาตส่งออกและเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ต่าง ๆ

แต่โรงต้มนี้ที่ไต้หวันไม่ใช่คำตอบในระยะยาวเช่นกัน เพราะเมื่อแบรนด์สำเร็จจนเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เกินกำลังการผลิตจะรับได้ เขาจึงหิ้วองค์ความรู้ที่มีและย้ายไปผลิตที่ ‘เวียดนาม’ ดินแดนที่เป็นมิตรกับการต้มเบียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สุดก็ว่าได้

จากการต้มล็อตละหลักพันลิตร มาตอนนี้ค่อย ๆ เขยิบเข้าสู่หลักหมื่นลิตรได้ในที่สุด เป็นช่วงเวลาที่แทนทองตัดสินใจ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งหลัก (Re-packaging) จากขวดแก้วมาเป็น ‘กระป๋อง’ ซึ่งควบคุมคุณภาพรสชาติได้ดีกว่า 

ช่วงเวลานี้เองคือจุดเริ่มต้นที่เราจะได้เริ่มเห็น Mahanakhon Brewery ปรากฏอยู่ตามเชลฟ์ชั้นนำตามห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารชั้นนำ และตามร้านคราฟต์เบียร์ต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นคราฟต์เบียร์ที่ ‘จำเป็นต้องมี’ ไปแล้วในแทบทุกที่ก็ว่าได้

ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของแบรนด์อยู่ที่ 

  • 70% มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ
  • 20% มาจากร้านอาหารประเภทบาร์
  • 10% มาจากงานอีเวนต์ต่างๆ

แรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น

การประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นของ Mahanakhon Brewery อาจไม่ใช่แค่ยอดขายที่เติบโตก้าวกระโดด ไลน์สินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือชื่อเสียงของแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับในสากล แต่คือแรงบันดาลใจและแรงกระเพื่อมที่ส่งต่อสู่ผู้ประกอบการคนทำเบียร์รุ่นใหม่ๆ เป็นกรณีศึกษาทั้งในเรื่องเทคนิคการทำเบียร์ การตลาด การสร้างแบรนด์ การหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ และการเรียนรู้ข้อกฎหมายเพื่อปรับตัวเล่นในเกมได้อย่างถูกต้อง

ในมุมผู้บริโภค ยังเป็นตัวอย่างได้ว่าเราก็มีคราฟต์เบียร์ไทยคุณภาพชั้นเลิศ ที่มีมาตรฐานสูง และโปรโมตการดื่มเบียร์แบบพรีเมียมลุ่มลึกขึ้น (Sophisticated) ที่มีระดับและไม่จำเป็นต้องดื่มเอาเมาเสมอไป

และในมุมสังคมทั่วไปยังเกิดแรงกระเพื่อมเชิงบวก เช่น มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านเบียร์เสรีอย่าง ‘ประชาชนเบียร์’ ที่ก็มียกตัวอย่างพูดถึง Mahanakhon Brewery เป็นกรณีศึกษา

Mahanakhon Brewery เดินทางมากว่าทศวรรษแล้ว เราคงได้แต่เอาใจช่วยและสนับสนุนคราฟต์เบียร์ไทยให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

.

อ้างอิง

mhnk

coconuts