ชาร์ลส ซิโมนี ผู้คิดค้น Word และ Excel โปรแกรมสามัญประจำบ้านที่ปฏิวัติโลกแห่งการทำงาน

ชาร์ลส ซิโมนี ผู้คิดค้น Word และ Excel โปรแกรมสามัญประจำบ้านที่ปฏิวัติโลกแห่งการทำงาน

ทำความรู้จัก ‘ชาร์ลส ซิโมนี’ ผู้ให้กำเนิด Microsoft Word และ Microsoft Excel สองโปรแกรม ที่ช่วยให้การทำงานของผู้คนง่ายขึ้น ซึ่งแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหน ก็ยังเป็นมีความสำคัญสำหรับคนทั่วโลก

ทำความรู้จัก ‘ชาร์ลส ซิโมนี’ ผู้ให้กำเนิด Microsoft Word และ Microsoft Excel สองโปรแกรมที่ช่วยให้การทำงานของผู้คนง่ายขึ้น ซึ่งแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหน ก็ยังเป็นมีความสำคัญสำหรับคนทั่วโลก

  • ‘ชาร์ลส ซิโมนี’ เป็นผู้คิดค้นโปรแกรม Microsoft Word และ Microsoft Excel
  • เขาเกิดที่เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ก่อนจะย้ายถิ่นฐานมาสหรัฐอเมริกาในปี 1966
  • ในปี 1981 ชาร์ลสได้มาทำงานที่ Microsoft และสร้างโปรแกรมที่ปฏิวัติทำงานของผู้คนทั่วโลก 

แม้ตอนนี้เราจะมีโปรแกรม AI เกิดใหม่ (เช่น ChatGPT และ Midjourney) ที่ทุ่นแรงการทำงานไปได้มาก แต่เชื่อเลยว่า Microsoft Word และ Microsoft Excel ยังคงเป็นเครื่องมือที่คนทำงานแทบทุกคนใช้งานอยู่อย่างแพร่หลาย 

เราแทบจินตนาการไม่ออกว่าถ้าไม่มีสองตัวนี้แล้ว…พวกเราจะทำงานกันอย่างไร? และเราอาจรู้สึกขอบคุณถึงการมีอยู่ของสองโปรแกรมนี้ แต่คนที่เราต้องขอบคุณยิ่งกว่าคือผู้ให้กำเนิดมัน และคนคนดีนั้นคือ ‘ชาร์ลส ซิโมนี’ (Charles Simonyi) 

เรียนรู้แต่เด็ก

ชาร์ลส ซิโมนี เกิดที่เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อปี 1948 ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บ้านเมืองเพิ่งเริ่มฟื้นฟูประเทศ ซึ่งสำนวน ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ เอามาใช้กับเขาได้โดยตรง เพราะพ่อของเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical engineering) ที่ได้รับรางวัลมากมายและสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ อีกทั้งยังเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องเร่งอนุภาคนิวเคลียร์ (Nuclear particle accelerator) แห่งแรกให้กับฮังการี

แต่ชาร์ลสไม่ได้ใช้ชีวิตแบบอภิสิทธิ์ชน โดยขณะเป็นวัยรุ่นเรียนอยู่ชั้นมัธยม เขาต้องทำงานพาร์ตไทม์กะดึกเป็นคนเฝ้าห้องแล็บคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เขาคุ้นเคยกับเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ และรู้สึกเริ่มหลงใหลนับแต่นั้นมา 

เขาใช้ความเป็นเด็กสงสัยใคร่รู้ตระเวนสอบถามเรื่องโน้นเรื่องนี้กับพี่ ๆ วิศวกรในห้องแล็บ นับว่านี่เป็น ‘โอกาสการเรียนรู้’ อันยิ่งใหญ่ เพราะเขาได้เรียนรู้ซึมซับจากวิศวกรชั้นนำโดยตรง ใครจะไปรู้ว่าเมื่อเขาเรียนจบชั้นมัธยม ชาร์ลสจะสามารถพัฒนาคอมพิวเตอร์เป็นด้วยตัวเองแล้ว

สู่ดินแดนเสรีภาพและเริ่มงานแรกในชีวิต

แต่ฮังการีในตอนนั้นกลับมีโอกาสที่จำกัดในด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์อยู่มากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่เริ่มส่งสัญญาณเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดังนั้นในปี 1966 เมื่ออายุได้ 18 ปี ชาร์ลสตัดสินใจย้ายประเทศไปยังดินแดนเสรีภาพที่เปิดโอกาสมากกว่า เขาทิ้งชีวิตภูมิหลังไว้บ้านเกิด แต่ความเป็นเด็กหัวดีตามติดชีวิตเขามาด้วย 

เขาเข้าเรียนและจบจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สาขาวิชาคณิตศาสตร์วิศวกรรม (Engineering mathematics) ก่อนไปเรียนต่อและจบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer science) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เมื่อเรียนจบสวมสถานะเป็นดอกเตอร์ เขาเริ่มทำงานแรกในปี 1972 โดยเป็นงานด้านการวิจัยที่ Xerox Palo Alto Research Center (ส่วนหนึ่งของบริษัทซีร็อกซ์) ศูนย์วิจัยนี้ทำหน้าที่คอยคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้

และชาร์ลสได้ ‘ฉายแวว’ โดยเขาสามารถคิดค้นโปรแกรมแก้ไขข้อความ (Text editor) ที่ชื่อว่า ‘WYSIWYG’ ย่อมาจาก what you see is what you get (สิ่งที่เห็นตรงหน้าคือสิ่งที่คุณได้รับ) หมายความว่า ตัวหนังสือที่ผู้ใช้งานเห็นบนหน้าจอ จะเป็นเวอร์ชันสุดท้ายที่ปรินต์ออกมาโดยไม่ต้องลงมือกดหรือทำอะไรอีกแล้ว 

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วในยุคที่น้อยคนจะครอบครองคอมพิวเตอร์สักเครื่องได้ สิ่งที่ชาร์ลสออกแบบเป็น ‘นวัตกรรมทางเทคโนโลยี’ เลยทีเดียว ซึ่ง WYSIWYG ยังเชื่อมโยงถึงธุรกิจหลักของบริษัทซีร็อกซ์อย่างเครื่องถ่ายเอกสาร สามารถนำมาใช้ร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ และเพิ่มยอดขายให้บริษัทได้

ดูเหมือนว่าอนาคตของเขาที่ Xerox จะไปได้ไกล? แต่แล้ว…นั่นไม่ใช่สิ่งที่ชาร์ลสมองเห็นสำหรับการสร้างนวัตกรรมที่จะปฏิวัติการทำงานของผู้คนได้ในระดับโลก เพราะด้วยสภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อนร่วมทีมที่มีความฝันเดียวกัน รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร 

จากประสบการณ์ที่ทำงานมา…ชาร์ลสพบว่า Xerox ยังไม่ใช่ 

แต่เมื่อได้มาพบกับบิล เกตส์ (Bill Gates) ที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีเดียวกัน จากการเห็นผลงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้ชาร์ลสคิดว่า สิ่งที่เขาคิดจะเกิดขึ้นได้ที่ Microsoft Corporation จึงตัดสินใจย้ายงานไปร่วมทีมด้วยในปี 1981 (ชาร์ลสได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันในปี 1982)

และนี่เองเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตก็ว่าได้ เพราะในเวลาต่อมา ชาร์ลสจะคิดค้นโปรแกรมที่เราเรียกกันว่า Microsoft Word และ Microsoft Excel

กำเนิด Microsoft Word

ด้วยทรัพยากรและวิสัยทัศน์ที่ตรงกันมากกว่าเดิม ชาร์ลสสามารถสร้างคุณูปการได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ‘โฟกัส’ ของเขายังคงเป็นด้านแก้ไขข้อความอยู่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เขาตั้งชื่อให้มันว่า ‘Microsoft Word’ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ครอบคลุมจักรวาลด้านงานพิมพ์งานเขียนไว้แทบจะครบทุกอย่างแล้วก็ว่าได้

อาจกล่าวได้ว่า เขานำผลงานเดิมอย่างโปรแกรมแก้ไขข้อความ WYSIWYG มาอัปเกรดให้แอดวานซ์กว่าเดิม และจะว่าไปแล้วตอนนั้นยังมีโปรแกรมใกล้เคียงในตลาดอย่าง Lotus123 และ CU Word ชาร์ลสอาจจะนำมาต่อยอด ลบจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ปรับแต่งให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นจนสามารถมา ‘แทนที่’ โปรแกรมเดิม ๆ ให้ล้มหายตายจากไปเลยทีเดียว

โปรแกรมนี้อำนวยความสะดวกในการทำงานด้านตัวอักษรได้มหาศาล ตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มที่วางขายตามร้านหนังสือ เรียกได้ว่าในเวลาต่อมา Microsoft Word อยู่เบื้องหลังของหนังสือเล่มแทบทุกเล่มบนโลกใบนี้ก็ว่าได้ สามารถทดแทนการ ‘เขียน’ ของนักเขียนได้ด้วยการ ‘พิมพ์’ (แม้นักเขียนจะยังใช้คำว่า ‘เขียน’ อยู่ก็ตาม)

ไม่ต่างจากการถ่ายรูปที่ยุคสมัยก่อน เรายังไม่สามารถเห็นรูปที่ถ่าย ณ ตอนนั้นแบบเรียลไทม์แต่ต้องนำไปล้างรูปเสียก่อน บริบทพิมพ์งานเอกสารในคอมพิวเตอร์ยุคแรกก็เช่นกัน ยังไม่สามารถเห็นสิ่งที่พิมพ์ตรงหน้าได้ทันที ดังนั้นผลงานของชาร์ลสจึงเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ไม่น้อย

Microsoft Excel อีกผลงานโบแดง 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายลักษณะการทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเขียนหรือการพิมพ์ Microsoft Word จึงอาจไม่ได้สร้างผลกระทบหรือน่าดึงดูดมากพอ

ชาร์ลสรู้ข้อนี้ดี และได้คิดค้นโปรแกรมที่กลายมาเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ถึงขั้น ‘ปฏิวัติการทำงาน’ ในระดับโลกได้อย่างแท้จริง จนน้อยบริษัทนักที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้มัน โปรแกรมนั้นคือ ‘Microsoft Excel’

เป็นตารางที่ผู้ใช้งานสามารถใส่ตัวเลข ใส่สูตรคำนวณ จัดระเบียบข้อมูล แบ่งประเภทข้อมูล แปลงข้อมูลเป็นรูปภาพให้เข้าใจง่าย ครอบคลุมบริษัทในแทบทุกอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ ซึ่งบริษัทสามารถประยุกต์ไปใช้ทำรายงาน ทำบัญชี วิเคราะห์เชิงสถิติ วางแผนการตลาด บริหารโปรเจกต์ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

Microsoft Excel ถูกเปรียบเปรยเหมือนสมองมนุษย์ที่คนทั่วไปใช้งานมันได้ไม่ถึง 10% เลยด้วยซ้ำ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับ Microsoft Excel เช่นกัน เพราะอันที่จริงมันยังมีกลไกการใช้งานที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น เราสามารถเขียนชุดโปรแกรม VBA ให้นำไฟล์เอกสารธรรมดามากรอกตัวเลขลง Excel แล้วดึงตัวเลขไปเก็บลงฐานข้อมูล (Database) ก่อนดึงข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลในฐานข้อมูลนี้ กลับมาทำเป็นรายงานในรูปแบบตารางหรือกราฟต่อได้

ถ้า ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ เป็นยาที่ทุกบ้านทุกครัวเรือนต้องมี Word & Excel ก็น่าจะเป็น ‘โปรแกรมสามัญประจำออฟฟิศ’ ที่ทุกออฟฟิศทุกบริษัทจำเป็นต้องมีไว้ (ส่วนจะใช้มากใช้น้อยค่อยว่ากันอีกที)

‘ปฏิวัติการทำงาน’ ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง เพราะมีการประเมินว่าในปัจจุบัน ผู้คนกว่า 1,400 ล้านคนทั่วโลกใช้งาน Mirosoft Word และ Excel เป็นประจำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในเวลาต่อมา Word & Excel รวมอยู่ในชุดซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Microsoft 365 ซึ่งกลายมาเป็นรายได้หลักคิดเป็นกว่า 30% ของทั้งบริษัทในปัจจุบันเลยทีเดียว ในเวลาภายหลัง โปรแกรมประสบความสำเร็จถึงขั้นคู่แข่งต้องพัฒนาออกมา ‘ชน’ กันตรง ๆ เช่น 

  • Google Docs (ชนกับ Microsoft Word)
  • Google Sheets (ชนกับ Microsoft Excel)

ความสำเร็จจาก Word & Excel ยกระดับให้ชาร์ลสเสมือนกลายเป็นปูชนียบุคคล เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับปรมาจารย์ขององค์กรโดยปริยาย และได้รับความเคารพยกย่องจากคนในวงการ

กว่าสองทศวรรษที่อยู่ใน Microsoft ก็มาถึงจุดที่เขาอยากตามฝันตัวเอง ชาร์ลสตัดสินใจลาออกไปตั้งบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเองในปี 2002 ชื่อว่า ‘Intentional Software’ แต่ก็ถูกบิล เกตส์ตามตื๊อโน้มน้าวให้กลับมา จนในที่สุดบิล เกตส์เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของชาร์ลสในปี 2017 ทำให้ชาร์ลสต้องกลับมาอยู่ภายใต้บริษัทแม่ร่มเงาเดิมที่เคยจากไป

ทุกวันนี้ เขายังผันตัวเป็นนักการกุศลที่บริจาคและทำการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และการศึกษา รวมถึงความหลงใหลในห้วงอวกาศ โดยถูกจัดรายชื่อเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรก ๆ ในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ และปัจจุบัน ชาร์ลสมีความมั่งคั่งกว่า 200,000 ล้านบาท

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง 

.

computerhistory

britannica

cnbc