16 มิ.ย. 2566 | 20:26 น.
เพื่อให้ได้คำตอบดังกล่าว ในช่วงสายของวันหนึ่งเราจึงได้มีนัดพูดคุยกับ ‘อภิชัย สิริดำรงพันธุ์’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาคารพาณิชย์ บริษัท สยามสินธร จำกัด ผู้บริหารดิโอลด์สยาม ที่ศูนย์การค้าแห่งนี้
เมื่อเราไปถึงก็ได้เห็นอาคารสไตล์โคโรเนียลที่ภายนอกมีการปรับปรุงซ่อมแซม ขณะที่ภายในร้านค้าต่างๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติทั้งร้านผ้าไหม ร้านเครื่องประดับเพชร และลานมิ่งเมืองที่รวบรวมอาหารและขนมไทยชื่อดังไว้ให้เลือกมากมาย
“การปรับโฉมที่นี้เราจะไม่ปิดให้บริการ ยังคงเปิดตามปกติให้คนมาจับจ่ายเหมือนเดิม” อภิชัยเริ่มต้นการสนทนากับเรา
จาก ‘ตลาดมิ่งเมือง’ สู่ ‘ดิโอลด์สยาม’
อภิชัย : เดิมทีที่นี้เป็นตลาดมิ่งเมืองที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มีพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ และมีชื่อเสียงในเรื่องช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะสมัยก่อนไม่มีชุดตัดสำเร็จ ทุกคนจะไปซื้อผ้าที่พาหุรัด ที่สำเพ็ง แล้วนำตัดเสื้อที่ตลาดมิ่งเมือง และรอบๆ พื้นที่ตรงนี้ก็มีร้านเพชร ร้านทอง และร้านปืนต่างๆ อยู่แล้ว
เมื่อเวลาผ่านไปเมืองพัฒนาขึ้น ทางเราเองก็ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญตามเมือง จึงพัฒนาเป็นดิโอลด์สยาม เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 30 เม.ย. พ.ศ. 2536 โดยดีไซน์ตัวอาคารเป็นตึกย้อนยุคกลับไปสมัย ร.5 ในสไตล์โคโรเนียล
ส่วนเสน่ห์ของที่นี้ คือ สินค้าที่ขายอยู่ในพื้นที่เป็นตัว represent ศิลปะวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม การทำอัญมณี เครื่องเพชร ขนมต่างๆ พวกนี้โชว์ความเป็นไทย ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการทำที่นี้ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เราอยู่ใกล้ศาลาเฉลิมกรุงเคยเป็นโรงหนังสมัยก่อน ใกล้พระบรมมหาราชวังอะไรต่างๆ และสิ่งเหล่านี้ทำให้ดิโอลด์สยามมีความยูนีค ไม่เหมือนใคร
ปรับโฉมใหญ่เพื่อรักษาจุดแข็ง ปิดจุดอ่อนแบบไม่แข่งกับใคร
อภิชัย : ปีนี้เป็นปีที่เราเปิดมาครบ 30 ปี รวมถึงสัญญาเช่าก็หมดอายุพอดี จึงเป็นจังหวะที่เหมาะมากในการปรับโฉม อย่างที่ทราบธุรกิจรีเทลแข่งขันกันสูงมาก และก่อนจะปรับปรุงครั้งนี้เราเคยคิดจะปลี่ยนแบบพลิกโฉมเป็นรีเทลสมัยใหม่เลย แต่หลังจากพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว เรามั่นใจว่า การที่ไปแข่งขันในธุรกิจรีเทลซึ่งปัจจุบันที่ออนไลน์เปลี่ยนพฤติกรรมคน ขณะที่สินค้าที่เรามีตอนนี้มันส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม และบางชิ้นมีมูลค่าสูง ลูกค้าอาจจะต้องมาถึงพื้นที่ เพื่อดูผ้าไหม มาดูเพชร ดูทอง มาเช็กดูผ้าไหม
จุดนี้ เรามองเป็นจุดแข็งที่เรามีและต้องรักษาไว้ ขณะเดียวกันเราจะเสริมจุดอ่อนให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาคารเราจะปรับปรุงให้ดูดีแต่ยังคงสถาปัตยกรรมเดิมแบบอาคารยุคโคโลเนียลไว้ พร้อมกับเพิ่มรีเทล มิกซ์ ที่จะเสริมเข้าไป ส่วนหนึ่งเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งเรายอมรับส่วนใหญ่จะเป็นคนมีอายุ(หัวเราะ) ให้ใช้เวลากับเรามากขึ้น เช่น ชวนร้านค้าใหญ่ๆ อย่าง Starbucks มาเสริม เพื่อเป็นพื้นที่นั่งเล่น เพิ่มร้านขายยา เพราะคนที่จะมาดิโอลด์สยามอยากจะซื้อยา ก็มาหาซื้อยาได้
อีกส่วนเราต้องการลูกค้ากลุ่มใหม่ จะเป็นลักษณะ B2C หรือคนที่จะมาเดินชอปปิงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการเพิ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าสุขภาพและความงามให้คนมาเดินชิลๆ ได้ มาพบปะพูดคุยกัน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความที่เราอยู่ใกล้ศาลาเฉลิมกรุง ใกล้พระบรมมหาราชวัง เป็นพื้นที่ที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เราจะทำอย่างไรให้ดิโอลด์สยามเป็นที่รู้จักของต่างชาติ อันนี้เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราพยายามทำอยู่
ที่สำคัญที่สุดเลยคือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า เรามีที่พักอาศัยชั้นเยี่ยมอยู่บนชั้น 4 เกือบ 130 ยูนิต เป็นลักษณะดู duplex มีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางเมตร 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ อยู่ใกล้ตัว Mass transportation อย่างตัวรถไฟฟ้าใต้ดินสามยอด เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะโปรโมท ทำให้ทราบว่า จริงๆ โครงการดิโอลด์สยามไม่ใช่รีเทลอย่างเดียว แต่เป็น Mixed used เป็นพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัย ทำมาหากินได้
แก้โจทย์ ‘ห้างของคนสูงวัย’
อภิชัย : ถูกครับ (ยิ้ม) คือลูกค้ากลุ่มเดิมที่เราพูดถึงส่วนใหญ่จะค่อนข้างมีอายุ ถามว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ยังสำคัญกับเราไหม คำตอบ คือ ใช่ ขณะเดียวกันเราก็อยากดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้นอาจจะเป็น second priority นะ แต่การจะไปดึงวัยรุ่นที่เดินที่อื่น แล้วบอกว่ามาเดินดิโอลด์สยามนะ มันก็คงหลอกตัวเอง
ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ที่ดีที่สุด เราจ้องรักษาลูกค้ากลุ่มเดิมไว้ให้มีความสุขในการเดินห้างเรามากที่สุด ส่วนลูกค้ากลุ่มใหม่เราพยายามอย่างเต็มที่ในการหารีเทล หาร้านอาหาร หาสินค้าแฟชั่น หาสินค้าสุขภาพและความงามเข้าเสริม
Challenge ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเราคืออะไร ก็ต้องบอกว่า ดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ เราต้องคิดถึง retail mix ที่ถูกต้อง เช่น Starbucks หรือจะอะไรก็แล้วแต่ เรื่องพวกนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญที่เราครุ่นคิดอยู่ทุกวัน ต้องปรับให้มีร้านที่น่าสนใจมากขึ้น สร้าง movement ตลอดเวลา เราเลือกร้านค้าเข้ามา ถ้าไม่ใช่ เราต้องปรับ มันไม่ได้เป็นกลยุทธ์ ที่ว่าเราวางปุ๊บ จะใช่เลย เป็นความท้าทายที่เราอยากลองดู สู้กับมัน
ถ้าเปรียบดิโอลด์สยามเป็นคน ต่อจากนี้จะมีคาแรคเตอร์อย่างไร
อภิชัย : คำถามนี้น่าสนใจมาก โอเค ผมให้ภาพที่ผมเห็นนะ จริงๆ ดิโอลด์สยาม จะเป็น ‘คนที่ทันยุค’ แบบสูงอายุแต่ยังวัยรุ่นและทันสมัย จากนี้ภาพของดิโอลด์สยามก็คงจะเป็นคนที่มีวัยวุฒิ แต่ทันสมัย เป็นคนหัวใหม่พร้อมจะปรับเปลี่ยน พร้อมลองอะไรใหม่ ๆ นั่นเป็น representative ของดิโอลด์สยาม
เราโชคดีที่อยู่ในทำเลดี ซึ่งเรื่องทำเลเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เมื่อเรามีสิ่งของที่อยู่ในทำเลดี เราต้องปรับปรุงพัฒนา หยุดนิ่งไม่ได้ ถ้าเราหยุดนิ่งทุกอย่างก็ถดถอย ฉะนั้นการพัฒนาดิโอลด์สยามครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราขยับ จริงๆ เมื่อประมาณสักปี 7-8 ปีที่แล้ว เราพัฒนาแล้วรอบนึงปรับปรุงค่อนข้างเยอะ
ดิโอลด์สยามมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง แต่เสน่ห์นี้เราต้องทำให้ยั่งยืน ให้ดู attractive มากขึ้น เพราะถ้าเราไม่ขยับอะไรเลย มันก็ไม่ได้ เราอยากได้ wide range นี่คือโจทย์ที่เรากำลังแก้ไข กำลังปรับปรุงให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา โดยการปรับโฉมจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ตั้งแต่เม.ย.ปีนี้ จนถึงมี.ค. ปีหน้า
ส่วนจะ wow แค่ไหน ขอให้รอติดตามต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างขอบอกว่า จะต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ คือสูตรที่ใช่ เรามั่นใจเกินไป แต่ด้วยความตั้งใจของทีม ผมมั่นใจว่า จะพัฒนาดิโอลด์สยามให้เป็นห้างของคนร่วมยุคที่มี wide range ไม่ใช่คนมีอายุอย่างเดียว
.
ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม, ดิโอลด์สยาม