Game Changer : ‘นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ผู้สร้างมิติใหม่แห่งวงการธุรกิจ ผ่าน ‘สุกี้ตี๋น้อย’

Game Changer : ‘นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ผู้สร้างมิติใหม่แห่งวงการธุรกิจ ผ่าน ‘สุกี้ตี๋น้อย’

ใครจะเชื่อว่า ผู้หญิงที่เริ่มต้นทำธุรกิจในวัย 25 ปี เพราะกำลังหมด Passion จากการทำงานประจำ จะสร้าง Big Change ให้กับแวดวงธุรกิจร้านอาหารและสามารถได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากรายได้หลักร้อยในปีแรก ผ่านไป 5 ปี มีรายได้เกือบ 4,000 ล้านบาท และขึ้น Top of mind ในใจผู้บริโภค แต่ ‘นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ เจ้าของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ทำได้

ปี 2023 The People นำเสนอซีรีส์ใหม่ บอกเล่าเนื้อหาที่น่าสนใจในแต่ละเดือน ใช้ชื่อว่า Stories of the Month เราจะเลือกกลุ่มของเนื้อหาแล้วมานำเสนอในฐานะซีรีส์พิเศษประจำเดือน แต่ละเดือนจะมีหัวข้อของเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกันมาให้ติดตาม

เดือนกรกฎาคม มาในหัวข้อ Game Changer ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘คน’ ที่สร้างจุดเปลี่ยน สร้างปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คน หรือเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละแวดวง รวมถึงเป็นแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น

เริ่มต้นจากการหมด Passion

‘นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ในวัย 25 ที่หมด Passion จากการทำงานประจำและคิดได้ว่า อีกเพียงไม่กี่ปีช่วงเวลาวัยสาวก็คงหมดลง ซึ่งการต้องทนทำงานที่ไม่ได้รู้สึกรักและผูกพัน คงเป็นเหมือนโซ่ตรวนคอยฉุดรั้งความฝันวัยเด็กที่อยากจะมีธุรกิจอาหารเป็นของตัวเอง จึงคิดอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง 

“เราคิดมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะที่บ้านก็ทำร้านอาหาร (เรือนปั้นหยา) มาก่อน จนถึงอายุ 25 ก็เริ่มรู้สึกว่างานประจำมันไม่ท้าทายอีกแล้ว อีกอย่างก็คิดได้ว่าอีก 5 ปีเราก็จะอายุ 30 ถ้ายังไม่เริ่มทำอะไรมันจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง” นัทธมนให้สัมภาษณ์ผ่านทางเว็บไซต์ SME One ถึงความคิดแรกเริ่มในการเปิดร้านสุกี้ตี๋น้อย

แม้จะได้ยินครอบครัวเล่าถึงปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ว่าการทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามา ทั้งเรื่องการที่ต้องหาเชฟคู่ใจ ปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ไปจนถึงการควบคุมมาตรฐานรสชาติอาหารให้คงที่ แต่หลังจากทุ่มเวลาศึกษาตลาดมาได้ระยะหนึ่ง ร้านสุกี้ ชาบู สไตล์บุฟเฟต์ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ที่สำคัญคือ การทำร้านสุกี้ยังควบคุมมาตรฐานรสชาติอาหารได้ง่าย เพราะสามารถปรุงได้จากครัวกลาง ตั้งแต่ของสด น้ำจิ้ม ไปจนถึงน้ำซุป เสิร์ฟไปถึงโต๊ะผู้บริโภคแต่ละสาขาได้โดยตรง 

ความพิเศษของร้านนอกจากการกำหนดราคาเดียว 199 บาท (ตอนนี้ปรับมาเป็น 219 บาท)เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ยังมีเวลาในการเปิดสาขา ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ 12.00-05.00 น. 

เหตุผลที่เลือกเปิดร้านในเวลาดังกล่าว นั้นมาจากเธอเห็นว่าคนกรุงเทพฯ หลายคนที่ต้องทำงานประจำ โดยเฉพาะพนักงานห้างฯ พนักงานร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง มักมีช่วงเวลาเลิกงานที่ดึกดื่นกว่าอาชีพอื่น กว่าจะเลิกงานร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ปิดกันหมดแล้ว

นัทธมนจึงอยากมอบช่วงเวลา ‘ปกติ’ ที่พวกเขาสามารถมีเวลานั่งสังสรรค์ร่วมกับคนที่พวกเขารักได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่น นอกจากกลุ่มคนทำงานประจำที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักแล้ว นักเรียน นักศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่โดนร้านสุกี้ ‘ตก’ เข้าเช่นกัน

“เราเปิดโอกาสให้ลูกค้ารู้ว่าเขาสามารถมากินตอนตี 1 ได้โดยไม่ต้องรีบกิน กินแบบสบายใจ อยากสนุกสนานกับเพื่อนก็ทำได้ เขาจะได้ไม่ต้องแย่งโต๊ะกันตอน 1 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงพีคสำหรับทุกคน” (บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์ SME One)

เส้นทางของสุกี้ตี๋น้อยต่อจากนี้ 

ในปี 2562 เธอได้จดทะเบียนเป็นธุรกิจภายใต้บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด และแม้เส้นทางการทำร้านอาหารของนัทธมนจะดูราบรื่น สะท้อนจากการขยายสาขาและการเติบโตของรายได้ โดย

ปี 2562 มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท

ทว่ากว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างที่เห็น เรียกได้ว่าเธอต้องปรับตัวไม่หยุด ตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่เปิดร้าน โดยเธอได้แบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอยู่บ้าง แต่หลังจากดูแลธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 3 - 4 ปี สุกี้ตี๋น้อยก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินโฆษณา เพราะหากลูกค้ามีความสุขที่ได้มากินที่ร้าน ก็จะเกิดการบอกต่อกัน การตลาดแบบปากต่อปากจึงเป็นสิ่งที่นัทธมนใช้มาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

ด้วยความแรงของสุกี้ตี๋น้อย ทำให้กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไปจนถึงคนมีชื่อเสียงอย่างร่วมลงทุน โดยกลุ่มทุนที่นัทธมนเลือกตกลงปลงใจด้วย ก็คือ ‘กลุ่มเจมาร์ท’ ที่ได้เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท ส่งผลให้สุกี้ตี๋น้อยมีมูลค่าบริษัทราว 4,000 ล้านบาท 

ส่วนอนาคตของสุกี้ตี๋น้อยต่อจากนี้ จะมีการขยายสาขาต่อไปเรื่อย ๆ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมี 46 สาขา และจะมี 100 สาขาในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีแผนจะยื่นจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณปลายไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปี 2024 

.

ภาพ: เพจสุกี้ตี๋น้อย

.

บทความนี้ปรับปรุงจากบทความ : สุกี้ตี๋น้อย ร้านสุกี้ที่ไม่ธรรมดา กับเส้นทางความสำเร็จ ปีแรกมีรายได้ 499 ล้านบาท เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565