20 ส.ค. 2566 | 18:28 น.
- โครงการแรกของเอเวอร์แกรนด์มีชื่อว่า ‘Jinbi Garden’ ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ราคาถูกขนาด 323 ห้อง ทำสถิติขายหมดภายในครึ่งวัน โกยเงินได้มากถึง 80 ล้านหยวน หลังจากนั้นบริษัทก็ค่อย ๆ เติบโต กลายเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดในประเทศ
- ในปี 2012 นักลงทุนชื่อ ‘แอนดรูว์ เลฟต์’ ออกมาวิจารณ์เอเวอร์แกรนด์ว่า เป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แถมยังบอกด้วยว่า บริษัทกำลังกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนมากเกินไป และไม่มีเงินทุนสำรองเป็นหลักประกันในกรณีที่เกิดความผิดพลาด
- หากต้องปรากฏตัวในที่สาธารณะ สวี่มักแสดงออกซึ่งความเคารพต่อพรรคคอมมิวนิสต์ เขาเคยกล่าวในทำนองว่า หากไร้ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ ความสำเร็จของเขาคงไม่เกิดขึ้น
‘สวี่ เจียอิ้น’ ผู้ก่อตั้ง ‘เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป’ เป็นอีกคนที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ‘นโยบายเศรษฐกิจและการเมือง’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย
ชายผู้นี้เกิดและเติบโตมาอย่างยากลำบากในยุค ‘เหมา เจ๋อตง’ เป็นผู้นำจีน แต่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เพราะนโยบายเศรษฐกิจในยุค ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ และกำลังเข้าตาจนในยุคของ ‘สี จิ้นผิง’ ที่พยามยามอย่างหนักเพื่อกระจายความมั่งคั่งไปสู่คนทั่วทั้งประเทศ
สวี่ที่เคยรั้งตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ทรัพย์สินลดฮวบลงถึง 93% และล่าสุดบริษัทอสังหาฯที่เขาฟูมฟักขึ้นมาก็ได้ยื่นล้มละลายในสหรัฐฯ หลังแบกหนี้สินมากถึง 3 แสนล้านดอลลาร์
‘สวี่ เจียอิ้น’ คือใคร?
สวี่ เจียอิ้น หรือ ฮุย คายัน ในภาษากวางตุ้ง เกิดในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของจีน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปี 1958 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเริ่มใช้ ‘นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่’ (The Great Leap Forward) ของ ‘เหมา เจ๋อตง’ ที่จบลงด้วยความล้มเหลว นำไปสู่ความอดอยากที่คร่าชีวิตประชาชนไปประมาณ 20 ล้านคน
“ผมรู้จักความจนเป็นอย่างดี” สวี่กล่าวระหว่างการบรรยายในปี 2018 พร้อมกับเล่าด้วยว่า ตอนที่เขาอายุเพียง 8 เดือน แม่ของเขาล้มป่วย แต่เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินพาแม่ไปหาหมอ ไม่นานแม่ของเขาก็จากไป ทำให้เขากลายเป็นเด็กกำพร้าแม่ ตั้งแต่นั้นมา ส่วนพ่อของเขา แม้จะเคยร่วมรบในสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น แต่ในเวลานั้นก็ทำงานเป็นเพียงคนตัดฟืน ที่แทบไม่มีเงินส่งลูกชายไปโรงเรียน ส่วนอีกคนที่ช่วยเลี้ยงดูเด็กชายสวี่คือ ‘ย่า’ ที่ทำน้ำส้มสายชูขาย
ความจนทำให้เด็กชายสวี่ต้องเอามันเทศกับขนมปังนึ่งไปกินแก้หิวที่โรงเรียน ส่วนสภาพโรงเรียนก็ไม่เอื้ออำนวย ฝนตกทีน้ำก็หยดใส่หัวนักเรียน ความลำบากยากแค้นในวัยเด็กทำให้เขาใฝ่ฝันอยากจะหนีไปจากชนบทเพื่อหางานทำ จะได้มีอาหารการกินที่ดีขึ้น
หลังจากสวี่เรียนจบชั้นมัธยมปลายในปี 1975 เขาเข้าทำงานในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ จากนั้นก็ออกไปทำงานที่บ้านอยู่ 2 ปี กระทั่งในปี 1978 จีนเริ่มกลับมาเปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ภายหลังการอสัญกรรมของประธานเหมา และการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกวาดต้อนหนุ่มสาวหลายล้านคนให้ไปอยู่ชนบท สวี่จึงกลายเป็นคนแรก ๆ ที่สอบติดและได้เข้าเรียนที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอู่ฮั่น โดยเรียนด้านโลหะวิทยา
เมื่อเรียนจบในปี 1982 สวี่ได้เข้าทำงานในโรงงานเหล็กของรัฐบาลนานถึง 10 ปี ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอยู่หลายครั้ง แต่เมื่อผู้นำคนใหม่คือ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ สวี่ก็รู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสใหม่ ๆ ของประเทศ เขาจึงลาออกจากโรงงานเหล็กและย้ายไปอยู่เมืองทางตอนใต้อย่างเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองหัวใจสำคัญในการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน
ช่วงแรกเขาไปทำงานที่บริษัทค้าขายระหว่างประเทศ กระทั่งปี 1996 เขาจึงก่อตั้งบริษัท ‘เอเวอร์แกรนด์’ หรือ ‘เหิงต้า กรุ๊ป’ ขึ้น โดยมีพนักงานเพียง 8 คน ทำงานกันที่สำนักงานขนาดเล็กในเมืองกว่างโจวที่อยู่ใกล้เคียง
โครงการแรกของเอเวอร์แกรนด์มีชื่อว่า ‘Jinbi Garden’ ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ราคาถูกขนาด 323 ห้อง ทำสถิติขายหมดภายในครึ่งวัน โกยเงินได้มากถึง 80 ล้านหยวน หรือราว 388 ล้านบาท หลังจากนั้นบริษัทก็ค่อย ๆ เติบโต กลายเป็นหนึ่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดในประเทศ
สวี่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของเอเวอร์แกรนด์ โดยถือหุ้นเกือบ 60% ในเดือนธันวาคม ปี 2021 ขณะที่ในปี 2017 เอเวอร์แกรนด์ทำยอดขายได้สูงถึง 6.95 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 24 ล้านล้านบาท ปีนี้จึงเป็นปีที่เขารวยมากถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.48 ล้านล้านบาท
นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาคอสังหาริมทรัพย์นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานในประเทศ เพราะประชาชนต้องอาศัยอยู่ตามอพาร์ตเมนต์หรือหอพัก ยิ่งในช่วงทศวรรษ 1900s จีนได้เริ่มทดลองให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านพักส่วนตัว ซึ่งทำให้บริษัทน้องใหม่ของสวี่รับประโยชน์จากการขยายของเมืองไปเต็ม ๆ
ชนวนวิกฤตอสังหาฯจีน
ในขณะที่คนงานหลายล้านคนพากันอพยพออกจากพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ไปอยู่ตามเมืองชายฝั่ง บริษัทพัฒนาอสังหาฯแห่กู้หนี้ยืมสินมหาศาล เพื่อนำเงินมาเร่งสร้างโครงการรองรับตลาดที่กำลังบูม แต่ปรากฏว่าผู้ที่เข้ามาซื้อโครงการเหล่านี้กลับเป็นบรรดาเศรษฐีนักเก็งกำไรไม่ใช่คนที่อยากมีบ้านจริง ๆ เมื่อภาวะฟองสบู่ก่อตัวขึ้น ถึงจุดหนึ่งจีนจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เมืองผี’ (ghost cities) เนื่องจากโครงการอสังหาฯไร้คนเข้าพักอาศัย เพราะคนทั่วไปไม่มีปัญญาซื้อบ้านที่ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ จากฝีมือของนักเก็งกำไร และการอนุมัติเงินกู้ที่ง่ายดาย
เอเวอร์แกรนด์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2009 ช่วงแรกหุ้นของบริษัททำผลงานได้ยอดเยี่ยม แต่ไม่นานหลายคนก็เริ่มเห็นเค้าลางความเสี่ยงของตลาดอสังหาฯจีน
ในปี 2012 นักลงทุนชื่อ ‘แอนดรูว์ เลฟต์’ ออกมาวิจารณ์เอเวอร์แกรนด์ว่า เป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แถมยังบอกด้วยว่า บริษัทกำลังกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนมากเกินไป และไม่มีเงินทุนสำรองเป็นหลักประกันในกรณีที่เกิดความผิดพลาด
หลังคำกล่าวหาของเลฟต์ ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ลดฮวบ 20% แต่กลายเป็นว่าในปี 2016 เขาถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปี เขาได้ให้สัมภาษณ์ CNBC ในภายหลังว่า “ทุกอย่างที่ผมพูด ตั้งแต่เรื่องการใช้เงินกู้ ไปจนถึงเรื่องบรรษัทภิบาล กลายเป็นเรื่องจริงหมดเลย แทนที่จะนำรายงานของผมไปพิจารณา ผมกลับต้องเสียเงินหลายร้อยล้านเพื่อปกป้องตัวเอง”
แม้จะถูกเปิดโปงด้านมืด เอเวอร์แกรนด์ก็ยังเดินหน้าก่อหนี้ต่อไป และยังคงเริ่มโครงการใหม่ทั่วประเทศ ขณะที่สวี่ก็ร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2017 เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ
จากเด็กชายที่เติบโตมาอย่างแร้นแค้น สวี่เปลี่ยนเป็นชายที่มีไลฟ์สไตล์หรูหรา เขากวาดซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว และเปิดบัญชีธนาคารบนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งเป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีชื่อดังของโลก
ในหนังสือ Red Roulette: An Insider’s Story of Wealth, Power, Corruption, and Vengeance in Today’s China ของนักเขียน ‘เดสมอนด์ ชุม’ บรรยายถึงการไปช้อปปิ้งกับสวี่ว่า เขาได้ซื้อเรือยอทช์ในฝรั่งเศสด้วยราคาสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.5 พันล้านบาท
“สวี่วาดฝันถึงพระราชวังลอยน้ำที่ใช้เป็นสถานที่ดื่มไวน์และรับประทานอาหาร เพื่อหลบหลีกจากสายตาสอดรู้สอดเห็นของตำรวจปราบปรามทุจริตของจีน และปาปารัซซี” ชุมบรรยายในหนังสือ
แต่ใช่ว่าสวี่จะใช้เงินเพื่อความสำราญส่วนตัวเพียงอย่างเดียว เขายังบริจาคเงินก้อนโตให้กับองค์กรการกุศลหลายแห่ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ใจบุญมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ เขายังลงทุนในงานที่ช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจน เริ่มที่มณฑลเหอหนานบ้านเกิดของเขาเป็นที่แรก ก่อนจะกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเรียกร้องให้นักธุรกิจคนอื่น ๆ ออกมาตอบแทนสังคมเหมือนกับเขาบ้าง
คอนเนชันแน่นปึ๊ก
หากต้องปรากฏตัวในที่สาธารณะ สวี่มักแสดงออกซึ่งความเคารพต่อพรรคคอมมิวนิสต์ เขาเคยกล่าวในทำนองว่า หากไร้ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ ความสำเร็จของเขาคงไม่เกิดขึ้น
“หากพรรคคอมมิวนิสต์ไม่กลับมาเปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ผมคงไม่สามารถออกจากชนบทได้ หากไม่มีเงินช่วยเหลือเดือนละ 14 หยวน จากรัฐบาล ผมก็คงไม่สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ และหากไม่มีนโยบายอันชาญฉลาดของประเทศในเรื่องการปฏิรูปและเปิดประเทศ คงจะไม่มีเอเวอร์แกรนด์ในวันนี้ บอกได้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่บริษัทและผมได้รับ ล้วนมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ ประเทศ และสังคม”
ที่เหนือไปกว่าคำพูดที่สละสลวย สวี่ยังมีความเจนจัดทางการเมืองชนิดหาตัวจับยาก เขาเริ่มจากการสร้างความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์ ก่อนจะขยายไมตรีจิตไปยังกรุงปักกิ่ง และทั่วประเทศ เป็นเหตุผลให้เอเวอร์แกรนด์ประสบความสำเร็จเกินหน้าเกินตาบริษัทอื่น
‘เดวิด หยู’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุน ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ (NYU Shanghai) แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ อีกจำนวนมาก แม้แต่รายใหญ่ ๆ พวกเขามักจะให้ความสำคัญกับทำเลมากกว่า ในขณะที่เอเวอร์แกรนด์เติบโตได้ด้วยสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน การอนุมัติโครงการ และขั้นตอนอื่น ๆ”
จากข้อมูลของ ‘เซอร์เซียส กรุ๊ป’ (Cercius Group) บริษัทข่าวกรองในมอนทรีออลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน ระบุว่า สวี่ได้สานสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ ‘ชิ่งหง เจิ้ง’ อดีตรองประธานาธิบดีจีน และยังเป็นพวกพ้องที่ใกล้ชิดกับ ‘เจียง เจ๋อหมิน’ ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนระหว่างปี 1993 – 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีรายงานความเกี่ยวโยงระหว่างเขากับ ‘เวิน เจียเป่า’ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจีนตั้งแต่ปี 2003 – 2013
ในหนังสือ In Red Roulette ชุมยังระบุด้วยว่าสวี่รู้จักมักคุ้นกับ ‘จาง เป่ยลี่’ ภริยาของอดีตนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ชุมเขียนในหนังสือว่า หลังงานเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างสวี่, จาง และวิทนีย์ ภรรยาของชุม เจ้าพ่ออสังหาฯได้ซื้อแหวนมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ จำนวน 2 วง ที่ร้านอัญมณีในกรุงปักกิ่ง แต่ภรรยาของเขาปฏิเสธที่จะรับแหวน อย่างไรก็ตาม ชุมไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วสวี่มอบแหวนทั้ง 2 วงให้กับใคร
“ที่จีน การเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจมีสารพัดวิธี แต่สำหรับสวี่ เขาเลือกวิธีมอบของขวัญราคาแพงจนน่าเกลียด”
หนี้มากที่สุดในโลก
ในช่วงเวลานั้น สวี่ยังได้ขยายกิจการไปนอกเหนือจากอสังหาฯ เขาเข้าถือหุ้นกิจการด้านความบันเทิง แบรนด์น้ำแร่ รถยนต์ไฟฟ้า และสโมสรฟุตบอลกว่างโจว ซึ่งบริษัทของสวี่เป็นเจ้าของร่วมกับ ‘อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง’ บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งโดย ‘แจ็ก หม่า’
สวี่เคยกล่าวถึงการขยายอาณาจักรธุรกิจของตัวเองว่า “เอเวอร์แกรนด์ยุคใหม่ได้มาถึงแล้ว หลังจากที่บริษัทได้เสร็จสิ้นการเปลี่ยนผ่านจากอสังหาริมทรัพย์ไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลายและเทคโนโลยีดิจิทัล”
การขยายธุรกิจใหม่ ๆ ที่ว่ามานี้ สวี่ก็ใช้วิธีการเหมือนเดิม นั่นคือการกู้ยืมเงินมาลงทุนมากขึ้น จนทำให้เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สะสมสูงประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10.6 ล้านล้านบาท ในช่วงต้นปี 2021 ขึ้นแท่นบริษัทพัฒนาอสังหาฯที่เป็นหนี้มากที่สุดในโลกในทันที
แต่เอเวอร์แกรนด์ก็ยังไม่หยุดระดมเงิน โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับธนาคารของรัฐและหุ้นกู้ ซึ่งสวี่ยังพอจะฝ่าคลื่นไปได้ อย่างน้อยก็ในประเทศตัวเอง ด้วยภาษีจากการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ และผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม และช่วยเหลือคนจน
‘ซูริ เรน’ นักวิเคราะห์การตลาด แสดงความเห็นว่า “เจ้าหน้าที่ตามเมืองเล็ก ๆ อาจจะหลงในคำพูดของสวี่ จึงยินดีอนุมัติโครงการและรับข้อเสนอของเขา ถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับนักพัฒนาอสังหาฯ ที่ผันตัวมาก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจผู้นี้”
อาจกล่าวได้เลยว่าภาพลักษณ์ที่ดีของสวี่มีผลทางตรงต่อความสำเร็จของเอเวอร์แกรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการขายผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนของผู้บริโภค และการหาลูกค้าให้กับโครงการอสังหาฯใหม่ ๆ
ในเวลานั้นนักลงทุนรายย่อยต่างพูดกันถึงขั้นว่า เอเวอร์แกรนด์ไม่มีวันผิดชำระหนี้เด็ดขาด หากดูจากคอนเนกชันทางการเมืองและชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้คนแห่ซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนเพราะหวังผลตอบแทนที่คุ้มค่าและปลอดภัย บางคนถึงขั้นใช้เงินออมทั้งชีวิตเพื่อมาลงทุนกับเอเวอร์แกรนด์
นโยบาย ‘ความมั่งคั่งร่วมกัน’
แน่นอนว่าความจัดเจนทางการเมืองของสวี่ ทำให้เขาไม่สามารถเพิกเฉยต่อมาตรการ ‘สามเส้นแดง’ (three red line) ที่ ‘สี จิ้นผิง’ บังคับใช้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้แต่ละบริษัทรักษาระดับหนี้ให้อยู่ในขอบเขตที่สมเหตุสมผล แต่ปรากฏว่าเอเวอร์แกรนด์ทำผิดกฎทั้ง 3 ข้อ ทำให้บริษัทไม่สามารถกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายได้อีก จนถึงจุดหนึ่งมีรายงานว่าทางบริษัทต้องขอยืมเงินพนักงานตัวเองมาใช้
การเข้ามาควบคุมภาคอสังหาฯในประเทศอย่างเข้มงวดของสีนั้น มีเป้าหมายเพื่อบรรลุนโยบาย ‘ความมั่งคั่งร่วมกัน’ (common prosperity) ซึ่งสีประกาศว่า “ถึงเวลาแล้วที่บรรดาผู้ที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจในจีน จะต้องแบ่งปันความมั่งคั่งของพวกเขาคืนให้แก่สังคมมากขึ้น”
2 เดือนหลังจากนั้น สวี่ปรากฏตัวที่จตุรัสเทียนอันเหมิน กระทบไหล่ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน ในขณะที่บริษัทของเขาประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้จนถูกประณามไปทั่วโลกว่าเป็น ‘เลห์แมน บราเธอร์ส’ สาขา 2 ซึ่งไม่เพียงทำลายเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่อาจลุกลามไปทั่วโลกด้วย
หลังจากนั้นสวี่ให้คำมั่นว่า “ไม่ช้าก็เร็ว เอเวอร์แกรนด์จะโผล่ออกมาจากช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด”
สวี่พยายามนำทรัพย์สินที่สะสมไว้มาแปรเปลี่ยนเป็นเงินทุน เขาขายทรัพย์สินส่วนตัวไปเป็นมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อประคับประคองบริษัท เป็นผลให้ความมั่งคั่งของเขาลดลงเหลือ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1 แสนล้านบาท ในช่วงเดือนมกราคม 2023
แต่เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินก็ยังไม่มากพอ เอเวอร์แกรนด์ยังคงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหนี้อื่น ๆ เรื่อยมา ส่วนแผนการปรับโครงสร้างหนี้ก็ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ ทำให้เกิดความกังวลว่าการล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นวงกว้าง กินพื้นที่ทั้งลูกค้าที่ซื้อบ้าน ระบบการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็น 30% ของจีดีพี
หลังจากนั้นเขากลายเป็นที่รังเกียจสำหรับคนในแวดวงการเมือง ถูกขอไม่ให้เข้าร่วมการประชุมประจำปีในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (CPPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักธุรกิจเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ หลังจากที่เขารวยน้อยลง
ส่วนรายได้ของเอเวอร์แกรนด์ก็เติบโตลดลงอย่างน่าใจหาย จากที่เคยโต 59% ในปี 2016 ก็ค่อย ๆ ลดเป็น 47% ในปี 2017, 49% ในปี 2018, 2% ในปี 2019 และ 6% ในปี 2020
ต่อมาเอเวอร์แกรนด์ได้ระงับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยหุ้นของบริษัทสูญเสียมูลค่าไป 95% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดที่ 31.55 ดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนตุลาคม 2017
วันที่ 17 สิงหาคม 2021 สวี่ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเอเวอร์แกรนด์ แต่ 2 ปีต่อมา เอเวอร์แกรนด์ก็ยื่นคำรองขอความคุ้มครองการล้มละลายตามกฎหมายสหรัฐฯ หมวดที่ 15 (Chapter 15) ซึ่งเท่ากับการอนุญาตให้ศาลล้มละลายของสหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีล้มละลายที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นได้
นี่คือเรื่องราวของอดีตอภิมหาเศรษฐีจีน ที่ชะตาชีวิตยึดโยงกับแผนเศรษฐกิจในประเทศโดยตรง และหลังจากนี้ต้องจับตาว่า ชะตาชีวิตของเขาจะส่งผลกระทบมาถึงพวกเราหรือไม่
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :