Joy Ride ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ สตาร์ทอัพที่สาวออฟฟิศหมดไฟต้องการส่งต่อพลังบวกให้ผู้คน

Joy Ride ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ สตาร์ทอัพที่สาวออฟฟิศหมดไฟต้องการส่งต่อพลังบวกให้ผู้คน

‘จอย - ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร’ อดีตมนุษย์เงินเดือนหมดไฟที่อยากสร้างพลังบวกให้ผู้คน ด้วยการตัดสินใจออกจาก Comfort Zone มาเปิด Joy Ride ให้บริการรถรับ-ส่งผู้สูงวัยไปหาหมอ ในคอนเซ็ปต์ ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’

  • Joy Ride เป็นบริการรถรับ-ส่งผู้สูงวัยไปหาหมอ เปิดเมื่อปี 2564 
  • ‘จอย - ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร’ ผู้ก่อตั้ง Joy Ride วางคอนเซ็ปต์บริการนี้คือ ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’
  • ความน่าสนใจของ Joy Ride ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ของเทรนด์โลกปัจจุบันในยุคสังคมสูงวัย แต่เริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดของไอเดีย

‘ดูแลพ่อแม่คนอื่น ให้เหมือนที่อยากให้คนอื่นดูแลพ่อแม่เรา’, ‘จอยเรียกตัวเองว่า ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’, ‘Joy Ride ไม่ใช่ Taxi แต่คือ Nanny for Adult’, ‘การหาหมอต้อง Easy ไม่ Scary’ ฯลฯ 

เหล่านี้เป็นคำจำกัดความที่ ‘จอย - ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร’ หยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นถึงภาพของ Joy Ride บริการรถรับ-ส่งพาไปหาหมอสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ไปจนถึงผู้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น คนพิการและคนท้อง ซึ่งเธอเป็นผู้ก่อตั้ง

ทว่าความน่าสนใจของ Joy Ride ไม่ใช่อยู่ที่ประเด็นข้างต้น หรือเพราะเป็นบริการที่ตอบโจทย์ของเทรนด์โลกปัจจุบันในยุค Aging Society หรือ ‘สังคมสูงวัย’ เท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดของไอเดียที่เธอสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาในวันที่หมดไฟ เพื่อต้องการสร้างพลังบวกให้กับตัวเองและส่งต่อพลังนี้ไปยังคนอื่น ๆ 

รายละเอียดเป็นอย่างไร The People ได้ไปพูดคุยกับเธอ ซึ่งต้องขอบอกว่า ตอนนี้เธอมีไฟและพลังใจล้นเหลือ เนื่องจากตลอดการพูดคุยกับเรา เธอมีความกระตือรือร้น ยิ้ม หัวเราะ และมีแววตาที่มีความสุขเมื่อพูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบัน

โควิดจุดพลิกผันของชีวิต

จอยเป็นสาวยะลา จบการศึกษาจากคณะวารสารและสื่อสารมวลชน เอกภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเธอใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนบท แต่สุดท้ายต้องมาสวมบทบาทเป็นสาวทำงานออฟฟิศด้านการตลาดในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งบนเส้นทางนี้เธอเติบโตมาเรื่อย ๆ กระทั่งชีวิตต้องมาพลิกผันเมื่อปี 2564 ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก   

“ตอนนั้นได้เงินเดือนแตะหลักแสนบาท แต่พอโควิด-19 ยอดขายของบริษัทตกเยอะมาก บวกกับต้อง Work From Home ตัวจอยเป็นคนพูดมาก ชอบเจอพูดคุย พอไม่ได้เจอมันเป็นความเครียดสะสม เก็บกดมาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งจำได้เลยวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2564 ตื่นมาจอยร้องไห้ไม่หยุด แล้วรุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์มีประชุมด้วยก็รู้สึกเครียดมาก จึงตัดสินใจขับรถไปโรงพยาบาลหาหมอ ทำไมเราหยุดร้องไห้ไม่ได้ ทำไมไม่มีความสุขเลย เพราะปกติเป็นคนมีความสุขตลอดเวลา สรุปหมอบอกว่าจอยเป็นโรคซึมเศร้า ให้ยามากิน

“ออกจากห้องตรวจมา เฮ้ย ทำไมคนแก่เต็มโรงพยาบาลเลย บางคนมาคนเดียว บางคนเป็นคุณยายเดินขากะเผลกเข็นคุณตามา ทำให้จอยคิดถึงเพื่อนร่วมงานที่เคยมาปรับทุกข์เรื่องต้องลางานพาแม่ไปหาหมอแต่เจ้านายไม่อยากให้ลา ณ วินาทีนั้นจอยคิดว่า ลาออกจากงานมารับจ้างพาคนแก่ไปหาหมอดีกว่า

“คือไม่อยากอยู่ในภาวะเครียด เพราะไม่รู้จะกระโดดตึกวันไหน ไม่อยากเป็นแบบนั้น เพราะคนที่เสียใจคือพ่อแม่ของเรา เลยตัดสินใจออกจากงานทั้งที่อายุ 40”

Joy Ride ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ สตาร์ทอัพที่สาวออฟฟิศหมดไฟต้องการส่งต่อพลังบวกให้ผู้คน

แค่อยากสร้างพลังบวกให้ตัวเองก่อน

ณ ตอนนั้นเธอไม่ได้คิดจะทำบริการรับ-ส่งผู้สูงอายุเป็นธุรกิจ แค่อยากออกมาทำงานบริการที่ทำแล้วมีความสุข หากทำไป 2 - 3  เดือนไม่เวิร์ก แต่สภาพจิตใจของเธอน่าจะดีขึ้นแล้ว จากนั้นค่อยหางานใหม่ทำ

เมื่อคิดได้แบบนั้นวันรุ่งขึ้นจอยไปลาออกจากงานทันที เพื่อจะลงมือทำในสิ่งที่คิด 

“จอยเป็นคนเชื่อเรื่องกฎแรงดึงดูด เชื่อเรื่องพลังบวกมากเลย และการจะ cheer up คนอื่นได้ ต้องเริ่มต้น cheer up ตัวเองให้มีความสุขก่อน จอยรู้สึกว่านี่เป็นวิธีที่ทำให้เราหายซึมเศร้าได้โดยไม่ต้องกินยา เพราะจอยไม่อยากรักษาด้วยการใช้ยา เลยคิดว่าออกจากงานมาดูแลคนอื่นน่าจะเป็นการ heal ใจแบบของตัวเอง คิดง่าย ๆ แบบนั้นเลย

“เพราะช่วงนั้นโควิด-19 ยังระบาดหนัก ถ้าไปสมัครงานที่ใหม่ปัญหาเดิมจะวนลูปมาแน่นอน เลยออกมาทำอะไรที่ฉันมีความสุขกับตัวเองและทำให้คนอื่นมีความสุขด้วยดีกว่า วันรุ่งขึ้นไปลาออกเลย เชื่อไหมยื่นใบลาออกความรู้สึกติดลบหายไป 30% รู้สึกดีขึ้นทันทีจริง ๆ”

หลังจากตัดสินใจออกจาก Comfort Zone ในฐานะมนุษย์เงินเดือนเป็นที่เรียบร้อย เธอได้ลงมือสร้าง Joy Ride ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ตั้งแต่วางคอนเซ็ปต์ ตั้งชื่อ ดีไซน์โลโก้ และได้ลูกค้าคนแรกที่โทรฯ ติดต่อมาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือบอกให้ไปรับคุณพ่อของลูกค้ากลับบ้านหลังจากรักษาตัวจากการรักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนามจนหายดีแล้ว เพราะคนในครอบครัวไม่สามารถไปรับได้ ต้องกักตัวจากโรคดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ตอนนั้นจอยคิดว่าจะเอาตัวเองไปเสี่ยงทำไม ส่วนอีกใจก็คิดว่า เขาต้องการความช่วยเหลือถึงโทรฯ มาหา จึงตัดสินใจออกไปรับลูกค้าคนแรกของ Joy Ride ด้วยการเตรียมพร้อมทั้งใส่ชุดกันฝน ถุงมือยาง เปิดหน้าต่างขับรถ เตรียมแอลกอฮอล์มาฉีดพ่นในรถ และบอกลูกค้าว่าจะไม่ยกกระเป๋าให้ โดยเคสนี้เธอไม่คิดค่าบริการ แต่ให้โอนเงินไปสมทบทุนกู้ภัยโควิด-19 กับโรงพยาบาลศิริราชแทน

“ทำในสิ่งที่มีความสุข รู้ตัวอีกทีไม่เห็นเศร้าแล้วเลย พอครบอาทิตย์ต้องไปหาหมอ จอยบอกกับหมอว่าไม่ขอรับยาแล้ว หนูกินแล้วใจสั่นและไม่อยากรักษาด้วยการกินยา

“จอยเชื่ออย่างหนึ่งว่า เราต้องรู้คุณค่าของตัวเอง ฉะนั้นถ้าเกิดเขาไม่เห็นค่าของเรา จอยจะไม่ยอมให้คำพูดของคนนั้นมาตัดสินและเป็น toxic กับเรา เพราะสุดท้ายคำพูดคนอื่นทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับกับคำพูดของเขา แต่พอเริ่มเป็นซึมเศร้า ทำให้เริ่มคล้อยตาม เออ เราห่วย จอยเลยต้องพยายามหาวิธีพาตัวเองออกไปจากจุดนั้น”

ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น และกฎที่คงต้องยึดถือ

Joy Ride ‘ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ สตาร์ทอัพที่สาวออฟฟิศหมดไฟต้องการส่งต่อพลังบวกให้ผู้คน

จากจุดเริ่มต้นทำด้วยตัวคนเดียว ตอนนี้ Joy Ride มีทีมงานกว่า 10 คน รวมถึงมีอีกประมาณ 20 คนอยู่ระหว่างอบรมและทดลองงาน นอกจากนี้ยังได้ขยายบริการเพิ่มจากรับ-ส่งผู้สูงวัย ผู้ป่วย คนพิการ และคนท้องไปหาหมอ มาสู่บริการพาไปเที่ยวหรือพาไปกินข้าวนอกบ้าน โดยบริการทั้งหมดคิดค่าบริการเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 500 บาท

“ยอมรับว่าราคาเราสูง แต่เราเน้นบริการ จอยจะพูดตลอดเลยว่า Joy Ride ไม่ใช่ Taxi แต่เป็น Nanny for Adult เป็นเหมือนลูกรับจ้าง หลานจำเป็น เราเน้นความปลอดภัย สำคัญสุดคนทำงานกับเราต้องซื่อสัตย์ เพราะการทำงานกับผู้สูงอายุจะมาใช้เป็นช่องว่างหาผลประโยชน์ไม่ได้  มันมีตัวอย่างตั้งแต่ช่วงแรกที่เราทำ เช่น คนอยากมาทำเพื่อขายประกัน ขายอาหารเสริมอะไรแบบนี้ ถ้าทำผิดจะฟ้องร้องเลย

“สุดท้ายเป็นเรื่องจรรยาบรรณในการทำงาน ถ้าทำงานกับเราเป็นทีมเรา คุณต้องเข้ารับการอบรม คุณต้องไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การเป็นทีม Joy Ride ไม่ง่ายค่ะ ต้องคัดกรองตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ทดสอบจิตวิทยา ต้องอบรม CPR และ First aid ด้วย”

นอกจากนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ดูแลพ่อแม่คนอื่น ให้เหมือนที่อยากให้คนอื่นดูแลพ่อแม่เรา’ การบริการของ Joy Ride จะดูแลทั้งหมด และต้องใช้แพลตฟอร์มเป็น เนื่องจากเมื่อพาผู้ใช้บริการไปหาหมอจะต้องอัปเดตเรื่องต่าง ๆ ให้คนในครอบครัวของเขาทราบผ่านแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลยา อัปเดตอาการต่าง ๆ ไปจนถึงขั้นตอนการรักษาและวิธีปฏิบัติตนหลังได้รับการตรวจจากหมอ 

“วันนั้นทั้งวันเราเป็นตัวแทนอวตารของลูกหลานค่ะ เพราะเขาไม่ได้เจอคุณหมอโดยตรง เราจะต้องเก็บข้อมูลพวกนี้เพื่อให้ลูกหลานไปปรึกษากัน นี่คือ Key Highlight เลย จริง ๆ อาชีพนี้มีมานานแล้วในสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาแค่พาไปโรงพยาบาล ไม่ได้มีการอัปเดตข้อมูลแบบครบถ้วน

“สิ่งที่เราทำคิดแค่ว่า ถ้านี่คือพ่อแม่เรา เราต้องคุยกับครอบครัวเราอย่างไร เราก็ทำกับลูกค้าแบบนั้นให้เขาไปดูแลต่อที่บ้านได้ เช่น พี่คะ ยาตัวนี้อันตรายมาก หมอบอกกินแล้วไม่ดีมี effect ตรงนี้นะคะ ถ้ากินแล้วไม่ดีอย่างไร 5 วันห้ามเกินนะคะ ทำตัวเหมือนเป็นพ่อแม่เราเลยจริง ๆ”

จุดไฟให้คนตัวเล็ก ๆ คนอื่นกล้าออกจาก Comfort Zone

ปัจจุบันธุรกิจ Joy Ride เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากเดือนแรกมีกำไร 200 บาท เดือนที่ 2 กำไร 5,000 บาท เดือนที่ 3 กำไร 7,000 บาท ทุกวันนี้ทีมงานบางคนบางเดือนสามารถทำได้ 20,000 - 40,000 บาทก็มี แต่จะมีต้นทุนค่าน้ำมันค่าทางด่วนแล้วแต่กรณี 

สิ่งที่จอยอดีตสาวออฟฟิศหมดไฟพยายามทำ ณ ปัจจุบันก็คือ การสร้าง Brand Love ในใจลูกค้า และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจสำหรับคนที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Joy Ride โดยในอนาคตจะพัฒนาเปิดโอกาสให้กับคนอื่นเพิ่มขึ้น

มากไปกว่านั้น เธอต้องการเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนตัวเล็ก ๆ คนอื่นออกจาก Comfort Zone เพื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับทั้งตัวเองและสังคม

อย่างตัวเธอเอง เคยมีเงินเดือนแตะหลักแสน จนไม่อยากจะออกมาทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวความเสี่ยง จนเกิดภาวะซึมเศร้าหรือจะหมดไฟก็ตามที่ทำให้กล้าออกมา และทำให้พบ Comfort Zone ที่แท้จริงของตัวเอง

“เราหลงอยู่ในกับดักการเป็นมนุษย์เงินเดือนตั้งนาน โดยไม่รู้ว่าเรามีศักยภาพในการคิดต่อยอด ตอนนี้สิ่งที่ทำมันเป็นภาพใหญ่มาก เพราะช่วยเหลือสังคมได้ด้วย ซึ่งความจริงหลายคนก็ทำได้ แต่เขาอาจคิดว่า เนี่ย Comfort Zone เขา จะลองทำไม หรือคนรอบตัวที่ชอบบอกว่า อย่าเปลี่ยนเลยมันไม่คุ้ม งานดีอยู่แล้ว สุดท้ายคิดดีแค่ไหนถ้าไม่ทำ โอกาสก็เป็นศูนย์”

ดังนั้น เธออยากให้ทุกคนลองกล้าออกมาจากกรอบและ Comfort Zone ของตัวเอง เพื่อลองลงมือทำในสิ่งที่คิด เหมือนกับประโยคที่ว่า ไม่ลอง ไม่รู้ จากนั้นค่อยดูผลว่า ดีหรือไม่ดี

เพราะการไม่ยอมเริ่มต้นลงมือทำ นั่นเท่ากับการทำแท้งความคิด เช่นเดียวกับที่ตัวเธอ หากคิดแบบเดิมให้อดทนไปก่อนเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง หรือหางานใหม่ให้ได้ก่อนค่อยลาออก วันนี้ Joy Ride จะไม่มีโอกาสได้แจ้งเกิด

“หลายคนมาเสียใจภายหลัง และชอบบอกว่า ‘ถ้า’ วันนั้นทำแบบนี้ เช่นทุกวันนี้เวลามีคนเห็น Joy Ride เขาจะมาคอมเมนต์ว่า เคยคิดจะทำธุรกิจแบบนี้นานแล้ว จอยก็อยากจะย้อนถามว่า แล้วทำไมไม่ทำคะ”

.

ภาพ : เพจ Joy Ride