อิสราเอล: ประเทศเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่โตเร็ว ติดอันดับ ‘เจ้าแห่งนวัตกรรม’

อิสราเอล: ประเทศเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่โตเร็ว ติดอันดับ ‘เจ้าแห่งนวัตกรรม’

‘อิสราเอล’ ประเทศเล็ก ๆ อยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง แต่ทำไมถึงมีเศรษฐกิจเติบโต มีการพัฒนาจนติดอันดับหนึ่งในประเทศ ‘เจ้าแห่งนวัตกรรมของโลก’

  • อิสราเอล ตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายและไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ
  • ประเทศแห่งนี้มีประชากรอยู่ 9 ล้านคน แต่มี GDP เติบโตต่อเนื่อง
  • อิสราเอลได้รับการยอมรับการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และประเทศแห่งสตาร์ทอัพ

แม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ อยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้งและไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แถมยังรายล้อมไปด้วยคู่ขัดแย้งรอบด้าน แต่ ‘อิสราเอล’ ยังเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต มีการพัฒนาจนติดอันดับหนึ่งในประเทศ ‘เจ้าแห่งนวัตกรรมของโลก’ และเป็นแหล่งสร้างสตาร์ทอัพชั้นนำมากมาย เป็นรองแค่ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley)ในสหรัฐอเมริกา

คำถามคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ปัจจุบันอิสราเอลมีประชากรอยู่ราว 9 ล้านคน มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร, อุปกรณ์ซอฟต์แวร์, เพชรเจียระไน, ผลิตภัณฑ์เกษตร และแผงวงจรไฟฟ้า รวมถึงยังมีรายได้จากอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โทรคมนาคม เคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีอวกาศการบิน

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นถือว่า เติบโตต่อเนื่อง อย่างในปี 2021 แม้ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 GDP ของอิสราเอลยังเติบโตประมาณ 7% และในปี 2022 มีการเติบโตอยู่ที่ 6.5% ขณะที่ปี 2023 มีคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเติบโตอยู่ประมาณ 3.3%  

นอกจากนี้ อิสราเอลยังได้รับการยอมรับว่า เป็น Start-Up Nation หรือ ‘ประเทศแห่งสตาร์ทอัพ’ และเป็นหนึ่งใน ‘ประเทศแห่งนวัตกรรม’

อะไรที่ทำให้อิสราเอลก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ? เพราะอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า อิสราเอลเป็นประเทศเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เรียกได้ว่า ไม่เอื้อต่อการเติบโตเอาเสียเลย แถมยังอยู่ท่ามกลางคู่ขัดแย้งที่มีการต่อสู้และคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรายล้อมอยู่รอบข้างอีกด้วย

คำตอบของเรื่องนี้ ประเด็นแรก มาจากการให้ความสำคัญกับ 'นวัตกรรม' เพราะการตั้งอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่แห้งแล้งและต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำ ทำให้อิสราเอลต้องหาทางเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ ของประเทศตัวเอง เพื่อการอยู่รอด และอิสราเอลเลือกใช้นวัตกรรมเป็นทางออก

ทศวรรษที่ผ่านมาข้อมูลจาก Innovation in Israel ระบุว่า อิสราเอลมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมจนมีจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมากกว่า 2,000 แห่ง และมีศูนย์ R&D ถึง 350 แห่ง ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นศูนย์ R&D ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่าง Microsoft, Apple, Google, Intel ฯลฯ

ส่วนเหตุผลที่ยักษ์ใหญ่หลายแห่งเลือกที่นี้เป็นฐานทัพในการพัฒนา ก็เนื่องมาจากเป็นประเทศที่ผู้คนมีความคิดริเริ่ม ภาครัฐมีการสนับสนุน ยืดหยุ่นและส่งเสริมศักยภาพให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ

อย่างเช่น การจัดตั้ง Israeli Innovation Authority หน่วยงานนวัตกรรมที่ช่วยจัดหาเงินทุนมาให้กับธุรกิจใหม่ ๆ ในประเทศสำหรับช่วยผู้ประกอบการได้ทดสอบไอเดีย พัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนในนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ส่งผลให้คนกล้าคิด กล้าลองและลงมือทำแบบไม่กลัวความล้มเหลว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้น

สำหรับตัวอย่างเทคโนโลยีที่อิสราเอลเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา อย่างเช่น เทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด (Desalination), เทคโนโลยีการนำน้ำเสียกลับมาเป็นน้ำที่สามารถใช้ได้ และระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation System) ที่ใช้น้ำน้อยแต่พืชดูดซึมไปใช้ได้ถึง 95% เป็นต้น

การยอมรับการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมของอิสราเอล ไม่ได้มีข้อมูลจาก Innovation in Israel ยืนยันเท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นจากการจัดอันดับประเทศนวัตกรรมจากทั่วโลกของ Bloomberg เมื่อปี 2021 โดยอิสราเอลอยู่ในอันดับ 6 แซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในอันดับที่ 11 (แต่สหรัฐอเมริกาคว้าอันดับ 1 ประเทศที่มีบริษัทเทคโนโลยีมากที่สุดในโลกไปครอง เนื่องจากเป็นประเทศต้นกำเนิดบริษัทชื่อดังหลายแห่ง เช่น Google, Apple, Facebook, Twitter, Tesla, Amazon, Microsoft ฯลฯ)

อีกประเด็นที่น่าสนใจในการพัฒนาประเทศของอิสราเอล ก็คือ ‘การสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่อง R&D’ เพราะอย่างที่บอกไปอิสราเอลต้องการใช้นวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นรัฐบาลอิสราเอลจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

อย่าง ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบันเองก็ประกาศชัดเจนถึงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอิสราเอลให้เป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และย้ำเสมอว่า จะไม่ยอมหยุดพัฒนาในเรื่องนี้

โดยอิสราเอลได้วางสัดส่วนมูลค่าการลงทุนด้าน R&D ต่อ GDP ไว้มากถึง 4.3% ครองอันดับ 1 ประเทศที่มีองค์ประกอบการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาตามเปอร์เซ็นต์ของ GDP (R&D investment component as a percentage of GDP) จากการจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) หนึ่งในสถาบันวิจัยของสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก

ไม่เพียงวางงบ R&D ไว้สูงเพื่อเปิดกว้างต่อการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา อิสราเอลยังพยายามสร้าง Ecosystem ให้สอดคล้อง เช่น การสร้าง Silicon Wadi พื้นที่ที่ตั้งอยู่บนติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในกรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโอเอซิสเทคโนโลยีของประเทศที่รวบรวม Tech Company ชั้นนำไปจนถึงสตาร์ทอัพจากประเทศอิสราเอลที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ต่างไปจากซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา ทำให้อิสราเอลเติบโตและมีนวัตกรรมออกมามากมาย

ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีผลิตน้ำจากอากาศของบริษัท Watergen, Rewalk นวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกกลับมาเดินได้โดยไม่ต้องใช้รถเข็น, SniffPhone เครื่องที่สามารถวินิจฉัยโรคจากการดมกลิ่น มีความแม่นยำถึง 93% เทคโนโลยี SparkBeyond ที่ใช้ AI ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการอ้างอิงจากประวัติสุขภาพของผู้ป่วย

สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงทำให้อิสราเอลชนะข้อจำกัดของตัวเอง แต่ยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้กับหลาย ๆ ประเทศ

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วสงครามในอิสราเอลจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ปัจจุบันอิสราเอลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่าอยู่ราว 856.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.15% โดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 545.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.62% และนำเข้าจากอิสราเอล 311.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.18%

สำหรับผลกระทบของเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ไทยได้รับ หลัก ๆ จะเป็นด้านแรงงาน เพราะอิสราเอลเป็นประเทศเป็นประเทศอันดับ 2 ที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานมากสุด รองแค่ไต้หวันเท่านั้น เพราะอิสราเอลเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม และคนไทยมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้

โดยปัจจุบันมีแรงงานไทย 29,000 คนที่ทำงานเกษตรในอิสราเอล ซึ่งตามข่าวที่รายงานออกมาก็พบว่า จากเหตุการณืดังกล่าวทำให้มีแรงงานไทยหลายคนได้รับอันตรายเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกัน

ส่วนผลกระทบอื่น ๆ อาทิ การค้าการนำเข้าและส่งออกจากไทย, ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ต้องมีการประเมินอีกครั้ง

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราขอให้เหตุการณ์นี้สงบและคลี่คลายไปในทางที่ดีในเร็ววัน 

.

อ้างอิง 

.

reuters

forbes

forbes

bloomberg

api