16 ต.ค. 2566 | 11:13 น.
- ‘อิสราเอล’ ประเทศแห่งทะเลทรายที่พัฒนาตัวเองจนติดอันดับเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก
- ตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างจากอิสราเอล และเป็นที่พูดถึงระดับโลก
ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ทุ่มเม็ดเงินไปที่ ‘R&D’ (วิจัยและพัฒนา) โดยอัดงบประมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประเทศเล็ก ๆ เจ้าแห่งทะเลทรายอย่าง ‘อิสราเอล’ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านนวัตกรรมแบบ 100% ตัวเลขนี้เปิดเผยโดยผลสำรวจ Global Innovation Index 2023 (จาก WIPO) ที่ระบุว่า อิสราเอลติดอันดับ 1 ของประเทศที่ลงทุนด้านนี้อย่างสมบูรณ์
ความสวยงามของภูมิประเทศ ทั้งทะเลทราย ทะเล และภูเขาของอิสราเอล มีทั้งข้อจำกัดและโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากดูสัดส่วนของเทคโนโลยีไฮเทคต่อหัว อิสราเอลก็มีมากกว่าประเทศอื่นในโลกนี้ เพราะมีประชากรเพียง 9.3 ล้านคน
ดังนั้น เราอยากพาทุกคนไปย้อนดูเทคโนโลยีที่หลายคนยกให้เป็นสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกที่มาจากอิสราเอล ในฐานะที่เป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม ซึ่งมีทั้งเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทย และอาจไม่คุ้นหูนัก แต่นวัตกรรมเหล่านั้นบ่งบอกรากเหง้าทางความคิดบางอย่างของคนอิสราเอลได้ดี
เพราะส่วนหนึ่งของการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มากมาย เพราะข้อจำกัดหลายอย่างในประเทศ อิสราเอลสามารถยกระดับประเทศจนติดเป็นอันดับ 1 ที่มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นต่อ GDP อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ส่งออกการบริการด้านไอซีที (ข้อมูลจาก WIPO)
ตัวอย่างเทคโนโลยีระดับโลกของอิสราเอล
‘SniffPhone’
อุปกรณ์ที่สามารถวินิจฉัยโรคจากการดมกลิ่น โดยจะทำให้ตรวจโรคต่าง ๆ ได้เร็วและสะดวกขึ้น ทั้งนี้ เครื่องมือนี้ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2018 จากคณะกรรมาธิการยุโรปสำหรับโครงการที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ‘NaNose’ ที่พัฒนาโดยศาสตราจารย์ Hossam Haick จากทีมนักวิจัยแห่ง Technion-Israel Institute of Technology
ทั้งนี้ เทคโนโลยี NaNose เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ลมหายใจ โดยจะจำแนกจากการตรวจจับกลิ่นที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง, โรคพาร์กินสัน, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) ยังมีโรคอื่น ๆ ซึ่งประเมินว่าสามารถจำแนกโรคได้มากกว่า 17 โรคด้วยกัน และมีความแม่นยำถึง 93% โดยอุปกรณ์ SniffPhone จะทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจโรคง่ายขึ้นเพราะสามารถเข้าถึงได้ผ่านปลั๊กอินที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนทุกประเภท
‘Rewalk’
นวัตกรรมที่คล้ายโครงกระดูกภายนอก ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกกลับมาเดินได้โดยไม่ต้องพึ่งรถเข็น ไอเดียนี้เกิดจาก ดร.อามิท กอฟเฟอร์ (Dr.Amit Goffer) หลังจากที่เขาประสบอุบัติเหตุทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวเป็นต้นไปเขาใช้เวลาหลายปีเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่างโดยพึ่งรถเข็นให้น้อยลง
จนเกิดเป็น Rewalk ของบริษัท Rewalk Robotics Ltd. ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอลในสาขาวิทยาศาสตร์ ลักษณะของ Rewalk ก็คือเป็นเหมือนโครงกระดูกภายนอกที่ช่วยให้ผู้ใช้ยืนตัวตรง เดิน หรือแม้แต่ขึ้นบันได โดยการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นการรับสัญญาณมาจากนาฬิกาข้อมือ และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ผู้ใช้สะพายข้างหลัง
ทั้งนี้ Rewalk ได้สนับสนุนการแข่งขันกีฬาในงาน London Marathon และ London Paralympics 2012 สำหรับนักกีฬาที่เป็นอัมพาต นอกจากนี้ บริษัทยังส่งออกเทคโนโลยีนี้ให้กับทหารอเมริกันที่เป็นอัมพาตครึ่งล่างด้วย
‘Netafim’
เทคโนโลยีน้ำหยดเครื่องแรกของโลกที่สร้างขึ้นในปี 1966 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และการผลิตอาหาร ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมในอิสราเอลเลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน Netafim กลายเป็นบริษัทชลประทานที่จัดการเรื่องระบบน้ำหยดที่ดีที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก และเทคโนโลยีของ Netafim จะเน้นไปที่ระบบชลประทานแบบสมาร์ตและโลกอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งไอเดียนี้มาจากวิศวกรที่ชื่อว่า ‘Simcha Blass’ ที่อยากเปลี่ยนพื้นที่ทะเลทรายและแห้งแล้งให้สามารถเพาะปลูกได้
และแรงบันดาลใจของระบบน้ำหยด Netafim มาจากที่เขาสังเกตเห็นต้นไม้ 2 ต้นที่อยู่ติดกันแต่ขนาดไม่เท่ากัน เมื่อมองไปใกล้ ๆ พบว่ามีรอยแตกระหว่างกัน และมีท่อน้ำซึมอยู่ใกล้กับต้นขนาดใหญ่กว่า เขาจึงคิดออกว่าระบบน้ำหยดค่อย ๆ ให้น้ำซึมอย่างสม่ำเสมออาจช่วยให้การเพาะปลูกประสบความสำเร็จ
ซึ่งในปี 1967 Netafim ได้เพิ่มผลผลิตได้มากถึง 70% ในพื้นที่ทะเลทราย Arava หนึ่งในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในอิสราเอล แต่กลับปลูกผลไม้เมืองหนาวอย่างสตรอว์เบอร์รีได้ในปัจจุบัน
‘Disk on Key’
ต้องพูดว่าเป็นไดรฟ์ USB ตัวแรกของโลกถึงจะถูกต้อง สิ่งประดิษฐ์นี้ถูกพัฒนาโดย Dov Moran บิดาแห่ง USB แฟลชไดรฟ์ เขาเป็นที่ปรึกษาอิสระในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และนักลงทุนชาวอิสราเอล ซึ่งเขาปิ๊งไอเดียนี้เมื่อประสบปัญหากับตัวเองในระหว่างที่ต้องพรีเซนต์งานในงานสัมมนาที่นครนิวยอร์ก เมื่อปี 1998
เทคโนโลยีนี้เป็นการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมต้นแบบจากหน่วยความจำแฟลชที่ได้รับการพัฒนาโดย TOSHIBA ในช่วงทศวรรษ 1980 โดย Dov Moran พยายามสร้าง Universal Serial Bus หรือ USB ซึ่งเป็นพอร์ตมาตรฐานที่ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด และทำให้มีขนาดเล็กลง สามารถพกพาได้
จนกระทั่งปี 1999 บริษัท M-Systems ของ Dov Moran ได้ยื่นสิทธิบัตร “แฟลชดิสก์สำหรับคอมพิวเตอร์พีซีที่ใช้ USB” เป็นที่มาของ ‘DiskOnKey’ USB แฟลชไดรฟ์ความจุ 8 MB ตัวแรกของโลกในปี 2000 ทั้งยังได้รับเลือกให้อยู่ในลิสต์ ‘All-Time 100 Gadgets’ ของนิตยสาร TIME อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัท M-Systems ถูกขายกิจการให้กับ San Disk บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ข้ามชาติสัญชาติอเมริกันในเวลาต่อมา ด้วยมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
‘Mobileye’
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สร้างเพื่อมาช่วยชีวิตผู้คน พัฒนาโดย Amnon Shashua นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักธุรกิจชาวอิสราเอล ซึ่งเขาสร้าง Mobileye เปรียบเสมือนเป็นตาแห่งอนาคต ที่ใช้ในการตรวจจับความปลอดภัยให้กับเมืองต่าง ๆ ในอิสราเอล
โดยรถยนต์ไร้คนขับ Mobileye พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ทางวิชาการของ Amnon Shashua ซึ่งพัฒนาครั้งแรกในปี 1999 ด้วยความตั้งใจที่อยากให้เป็นรถยนต์ที่ใช้ตรวจตระเวนความปลอดภัยได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีอัลกอริทึมที่พัฒนาขีดความสามารถสูงสุดติดตั้งในรถยนต์ เพื่อแจ้งเตือนอันตรายที่อยู่รอบรถ ทั้งคนเดินถนน และป้องกันรถยนต์ออกนอกเลน เป็นต้น
ความแม่นยำ และระบบความปลอดภัยที่ Mobileye พัฒนา ทำให้ Intel ผู้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงความสนใจและเข้าซื้อกิจการต่อในมูลค่าสูงถึง 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง know-how หลัก ๆ ที่น่าสนใจของ Mobileye ก็คือชิปที่จะช่วยให้ตัวรถยนต์สามารถนำทางตัวเองได้โดยอัตโนมัติ และให้คำเตือนเกี่ยวกับการชนและการออกนอกเส้นทางเลนหลักของผู้ขับขี่ และปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกกว่า 25 รายได้ใช้เทคโนโลยีของ Mobileye โดยยานพาหนะกว่า 15 ล้านคันทั่วโลกก็ติดตั้งเทคโนโลยีนี้
‘ICQ’
เทคโนโลยีเกี่ยวกับการแช็ตซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบของทุกโปรแกรมแช็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ พัฒนาขึ้นในปี 1996 โดยบริษัทอินเทอร์เน็ตที่ชื่อว่า Mirabilis ของอิสราเอล ซึ่งคำว่า ‘ICQ’ มาจากคำว่า “I Seek You”
แม้ว่าในช่วงทศวรรษ 1990 จะมีบริการส่งข้อความที่คล้าย ๆ กันอยู่ 2 - 3 ราย เช่น ระบบแจ้งเตือน Zephyr ของ MIT แต่ก็เป็นเพียงการสื่อสารแบบ peer-to-peer ใช้เฉพาะในสถานที่ต่าง ๆ อย่าง มหาวิทยาลัยและในองค์กร ไม่ใช่สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่ง ICQ ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2001 ที่มีคนใช้งานโปรแกรมนี้มากถึง 100 ล้านคนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโปรแกรมใหม่ ๆ เข้ามาก็เริ่มทำให้ความนิยมของ ICQ ลดน้อยลง โดยเฉพาะยุคของ MSN ที่ทำให้ยอดผู้ใช้ ICQ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่อมาบริษัทได้ขายกิจการต่อให้กับ AOL ในมูลค่า 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเปลี่ยนมืออีกครั้งในปี 2010 ซึ่งขายกิจการต่อให้กับ Mail.Ru Group (ปัจจุบันคือ VK)
แม้ว่าปัจจุบันมีคนน้อยมาก ๆ ที่รู้จักหรือยังจำได้เกี่ยวกับ ICQ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ICQ คือโมเดลแรกของโลกที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถแช็ตคุยกันได้อย่างเรียลไทม์ ซึ่งก็มีส่วนทำให้วัฒนธรรมการพูดคุยกันของผู้คนยุคนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล ดังนั้น คงต้องยกย่องให้ ICQ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่ถือกำเนิดขึ้นในอิสราเอลนั่นเอง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของเทคโนโลยีจากอิสราเอลที่เราหยิบมาบอกเล่า ยังมีอีกมากที่สตาร์ทอัพของอิสราเอลพยายามก่อสร้างขึ้นมา แม้จะเป็นที่รู้จักในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับองค์กรที่เกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรมของไทยโดยตรง ยกย่องและมีความร่วมมือกับอิสราเอลอยู่หลายโครงการ ดังนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญของอิสราเอลต้องพูดว่าได้รับการยอมรับในระดับโลก และเห็นได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีข้อจำกัดมากมายแต่ก็พัฒนาและสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศอยู่เรื่อย ๆ
ภาพ : Getty Images/Credit Photo จากบริษัทของอิสราเอล
อ้างอิง :