ลาร์ส และ เยนส์ ราสมุสเซน พี่น้องผู้สร้าง Google Maps นำแผนที่ทั่วโลกมาอยู่ในกำมือทุกคน

ลาร์ส และ เยนส์ ราสมุสเซน พี่น้องผู้สร้าง Google Maps นำแผนที่ทั่วโลกมาอยู่ในกำมือทุกคน

ลาร์ส และเยนส์ ราสมุสเซน (Lars & Jens Rasmussen) พี่น้องผู้สรรค์สร้าง Google Maps นำแผนที่ทั่วโลกมาอยู่ในกำมือทุกคน (แต่พาไปหลงทางในบางครั้ง) ช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตง่ายกว่าเดิม

  • ลาร์ส ราสมุสเซน (Lars Rasmussen) และ เยนส์ ราสมุสเซน (Jens Rasmussen) สร้างสรรค์ Google Maps จนเวลาต่อมากลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและธุรกิจไปโดยปริยาย
  • พี่น้องราสมุสเซน หาใช่ประสบความสำเร็จเสมอ พวกเขาเคยล้มเหลวกับ Google Wave เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ Google คิดค้นขึ้นเพื่อแข่งกับ Facebook

ในยุค Digital ทุกวันนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างจากอดีตมากมาย เช่น เรื่องการเดินทาง สมัยก่อน การจะเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง ต้องวาดเส้นทาง ซึ่งพิกัดก็อาจผิด ๆ ถูก ๆ ไปตามทักษะคนวาด หรือไม่ก็ต้องกางแผนที่ขนาดยักษ์ที่แทบจะมองไม่เห็นรายละเอียดสถานที่ที่เราจะไป

ซึ่งส่วนใหญ่มักจบลงที่การหลงทาง

แต่เมื่อโลกมีเทคโนโลยี GPS เช่น Garmin ซึ่งเป็นอุปกรณ์นำทางผ่านดาวเทียม มนุษย์ก็มีความสะดวกขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม Garmin ก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะทางที่ต้องควักสตางค์ซื้อหามาใช้ ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึง Garmin ได้ง่าย ๆ

ต่อเมื่อการถือกำเนิดขึ้นมาของ Google Maps ก็กลายเป็นการปฏิวัติมหากาพย์การเดินทางของมวลมนุษยชาติ เพราะไม่ต้องลงทุนซื้อ Hardware แผนที่นำทางระบบ GPS เหมือน Garmin เพียงแค่ Download เจ้า Google Maps ลงในโทรศัพท์มือถือ เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ Google Maps ในการเดินทางไปได้ทุกที่

แม้ว่าในหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงแรกๆ ที่เปิดตัว Google Maps จะพาเราหลงทาง ไม่ต่างจากแผนที่วาดมือก็ตาม

แต่ทุกวันนี้ Google Maps เป็นแผนที่นำทางบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนทั่วโลกใช้เป็นเพื่อนเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าเดิม

Where2Technologies ต้นแบบ Google Maps

Google Maps มีจุดกำเนิดจากสองศรีพี่น้องลาร์ส ราสมุสเซน (Lars Rasmussen) และ เยนส์ ราสมุสเซน (Jens Rasmussen) ในนาม Rasmussen Brothers

Rasmussen Brothers หรือ Lars & Jens Rasmussen เป็นชาวเดนมาร์กที่ไปตั้งรกรากในออสเตรเลีย เยนส์ (Jens) ผู้พี่ มีชื่อเต็มว่า Jens Eilstrup Rasmussen เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1966 เขากับน้องชายคือ Lars ฝักใฝ่ในการเป็นโปรแกรมเมอร์มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมในบ้านเกิดที่เดนมาร์ก

ส่วน ลาร์ส (Lars Eilstrup Rasmussen) ผู้น้อง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1968 ที่กรุง Copenhagen เช่นเดียวกับพี่ชาย ทั้งคู่ร่ำเรียนเขียนอ่านชั้นประถมและมัธยมที่นั่น ก่อนที่ Jens จะจบปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ ที่ Høje-Taastrup Amtsgymnasium ในปี ค.ศ. 1986

และ Lars ก็สำเร็จการศึกษาสาขาเดียวกันจาก University of Aarhus ในปี ค.ศ. 1990 และเรียนต่อจนจบปริญญาโทที่ University of Edinburgh ในปี ค.ศ. 1992 โดยที่ต่อมา เขาได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of California, Berkeley ในปี ค.ศ. 1998

จากประวัติการศึกษาของทั้งสองคน ทำให้ดูเหมือนว่า Jens จะมุ่งมั่นกับการทำงานในภาคปฏิบัติ ขณะที่ Lars เดินมาในเส้นทางสายวิชาการ แต่สิ่งที่ทั้งคู่เหมือนกันก็คือ ความใฝ่ฝันจะได้ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ตามที่ได้รับการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

หลังจากสั่งสมประสบการณ์การทำงานที่เดนมาร์ก และออสเตรเลีย ทั้งคู่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อสานต่อความฝันอันยิ่งใหญ่ คือเปิดบริษัทซอฟต์แวร์เป็นของตนเอง

ระหว่างปี ค.ศ. 1999 ถึงปี ค.ศ. 2002 นั้น Jens เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์อยู่ที่ Digital Fountain ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดย Digital Fountain มีชื่อเสียงจากการเป็นบริษัท Streaming ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตรุ่นแรก ๆ ของสหรัฐฯ 

จากนั้นในปี ค.ศ. 2003 Jens ชวน Lars และ Noel Gordon กับ Stephen Ma เพื่อนชาวออสเตรเลียของพวกเขา ตั้งบริษัท Start-up ที่ชื่อ Where2Technologies เพื่อบุกเบิกทำธุรกิจแผนที่ Digital ที่มหานครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

โดย Lars & Jens Rasmussen เป็นเจ้าของแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แผนที่นำทาง Online บนระบบ Internet และ GPS ผ่านดาวเทียม

เบื้องหลังเทคโนโลยีแผนที่ Digital ของ Where2Technologies นั้น เขียนขึ้นด้วยโปรแกรมภาษา C++ เพื่อพัฒนาสู่ระบบบริการนำทางด้วย GPS ที่ชื่อ Where2 โดยมีฟังก์ชั่นการทำงานหลัก คือการเชื่อมต่อเส้นทางแผนที่แบบ Real-time และการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะเกี่ยวกับสภาพการจราจร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแนะนำเส้นทางโล่งที่ไร้รถติดแบบอัตโนมัติ

 

Where2Technologies รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับ Google Maps

Where2 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในออสเตรเลียทันทีที่เปิดตัว และเพียงปีเดียว ‘อะแซหวุ่นกี้’ ที่ชื่อ Larry Page และ Sergey Brin เจ้าของ Google ได้ข่าวความสำเร็จของ Where2Technologies จึงส่งคนมาเจรจาถึงออสเตรเลีย เพื่อซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรม Where2 รวมถึงหุ้นของ Where2Technologies ไปไว้ในครอบครองในปี ค.ศ. 2004

เพื่อเติมเต็มแผนการสร้าง Google Maps ที่ทาง Google ได้ควบรวมกิจการ Keyhole บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีแผนที่ 3 มิติผ่านดาวเทียม และภาพถ่ายทางอากาศ ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Google Earth

รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ ZipDash บริษัทนักพัฒนาระบบให้บริการข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ นำทั้ง Where2, Keyhole และ ZipDash มาผนึกกับ Street View ของ Google เอง

จากนั้นได้ทำการเขย่า ๆ และคนให้เข้ากัน จนออกมาเป็น Google Maps อันลือลั่นสนั่นโลกในปี ค.ศ. 2005 ถล่มคู่แข่งในธุรกิจแผนที่นำทางระบบ Digital ที่ครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น MapQuest หรือ Yahoo! Maps เสียจนกระเจิดกระเจิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตี Garmin เจ้าแห่ง GPS ผู้มาก่อนในยุค Digital กระจุยกระจายอย่างไม่เป็นท่า

แต่กว่าที่ Google Maps จะได้รับความนิยม เป็นหมายเลขหนึ่งของโลกในวันนี้ได้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนาม และคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ไม่ว่าจะจากในยุค Google Earth และ Google Street View ที่แสดงผลลัพธ์ผิด ๆ ถูก ๆ มาจนถึง Google Maps ที่พาผู้คนหลงทางเข้ารกเข้าพง เรียกได้ว่ากว่าจะเดินทางไปถึงที่หมาย ถ้าไม่สนุกสนานกับการผจญภัย ก็ต้องลุ้นกันจนเหงื่อตกกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ

ต้องขอบคุณ Rasmussen Brothers คือ Lars & Jens พี่น้องชาวเดนมาร์ก รวมถึง Noel Gordon กับ Stephen Ma จาก Where2Technologies แห่งออสเตรเลีย ที่ริเริ่ม Where2 ซอฟท์แวร์แผนที่นำทางระบบ Digital ในฐานะผู้วางรากฐานให้ Google Maps ในปัจจุบัน

ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Google Maps ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดก็คือ การเปิดให้บริการ Google Maps บนโทรศัพท์มือถือ เริ่มจาก BlackBerry และ Palm ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้คนสามารถพกพา Google Maps ติดตัวไปทุกที่ได้แทนที่จะใช้กันแค่บน Desktop Computer

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ Google Maps เปิดให้บริการ Download Application บนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ก็ยิ่งทำให้ Google Maps ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ตราบจนถึงปัจจุบัน

 

Google Maps ถล่มคู่แข่งราบเป็นหน้ากลอง

ความสำเร็จของ Google Maps นอกจากจะทำให้ Garmin, MapQuest หรือ Yahoo! Maps โบกมือลาไปทีละเจ้าแล้ว ยังทำให้น้องใหม่ไฟแรงอย่าง Waze แทบไม่มีที่ยืน เพราะ Google Maps ได้ทำการ Takeover เจ้า Waze ทันทีที่ Waze ทำท่าจะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของ Google Maps

เพราะจุดเด่นของ Waze คือนอกจากจะเป็นแผนที่ Digital แล้ว ยังเป็น Social Network อีกด้วย เนื่องจากผู้ใช้ Waze สามารถแชร์ และอัปเดตข้อมูลได้เองแบบเรียลไทม์ ณ จุดเกิดเหตุที่ทำให้รถติด ดังนั้น การซื้อกิจการ Waze ทำให้ Google Maps สามารถแสดงข้อมูลเรียลไทม์ได้เหมือน Waze นั่นเอง

ทำให้ทุกวันนี้ Google Maps เปิดบริการเสริมเพิ่มเติมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงจุดภัยธรรมชาติ รีวิวร้านค้าและโรงแรม รวมถึงแสดงจำนวนผู้ใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา สำหรับคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงช่วงที่ผู้คนแออัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง COVID-19 ที่ Google Maps ได้นำเสนอสถิติเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Google Maps จำนวน 1,000 ล้านคนต่อเดือน ใน 220 ประเทศทั่วโลก

แม้ดูผิวเผิน คนทั่วไปอาจคิดว่า Google Maps เป็นบริการฟรี ซึ่งอันที่จริงก็เป็นบริการฟรีสำหรับผู้ใช้จริง ๆ ทว่า หากลงลึกไปในเบื้องหลังแล้ว Google Maps สร้างรายได้จากค่าโฆษณาเป็นกอบเป็นกำ

ไม่ว่าจะเป็น Promoted Pins หรือการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ บนแผนที่ เช่น ใช้รูปแก้วกาแฟแทนร้านกาแฟ หรือใช้รูปเตียงแทนโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โลโก้ (แบรนด์) ใน Promoted Pins เช่น โลโก้เงือกน้อยสีเขียวของร้านกาแฟ Starbucks หรือโลโก้เครือโรงแรม Hilton ที่เป็นตัวอักษร H สีแดง

หรือจะเป็น Nearby ที่ใช้สำหรับค้นหาสถานที่ที่ต้องการซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน มินิมาร์ท หรือโรงแรม โดยธุรกิจที่จ่ายค่าโฆษณา ก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ บน Google Maps

อีกช่องทางหนึ่งซึ่งกำลังกลายเป็นช่องทางหลักในการหารายได้ของ Google Maps ในปัจจุบันก็คือ การเชื่อมต่อไปยัง Platform ที่ต้องการใช้แผนที่ Digital เช่น แอปพลิเคชันเรียกรถรับจ้าง หรือแอพเดลิเวอรี่ส่งพัสดุ โดยทุกวันนี้มีธุรกิจมากกว่า 5 ล้านแห่งที่ใช้ Database ของ Google Maps เป็นฐานข้อมูลหลัก

 

ไม่ได้มีแค่ความสำเร็จ Lars & Jens Rasmussen เคยล้มเหลวเช่นกัน

หลังความสำเร็จของ Where2Technologies ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการก่อกำเนิด Google Maps ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยสองศรีพี่น้อง Lars & Jens Rasmussen ไม่นาน ทั้งคู่ก็ได้ร่วมสร้างสรรค์ Google Wave ตามมาติด ๆ

Google Wave คือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ Google คิดค้นขึ้นเพื่อแข่งกับ Facebook แต่ Google Wave จะรวมสมรรถนะการทำงานคล้ายกับ Lotus Notes หรือ IBM Workplace เข้าไปด้วย เพราะ Google Wave เป็น Application ในรูปแบบ Real-time Collaboration ที่สมาชิกบน Google Wave สามารถเข้าถึงคนอื่น ๆ ได้แบบเรียลไทม์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google Wave มี Natural Language Tools ที่จะช่วยตรวจคำผิดพร้อมแก้ไขให้เสร็จสรรพ รวมถึง Extending Google Wave ที่จะนำ Google Wave ไปฝังหรือผูกโยงกับ Application อื่น ๆ ได้อย่างง่าย ๆ

Google เคยหวังว่า Google Wave จะมาช่วย Google+ เติมเต็ม Platform โซเชียลเน็ตเวิร์กของ Google แต่ความผิดพลาดของ Google Wave ก็คือ การใส่ระบบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แชท วิดีโอคอล ส่งข้อความ อี-เมล บล็อก แชร์ไฟล์ รวมเข้าไปด้วยกัน และฟังก์ชั่นที่กล่าวทั้งหมด ล้วนมาบรรจุอยู่ใน Google Wave

ดังนั้น ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากฟังก์ชั่นร้อยแปด จึงทำให้ Google Wave มีความซับซ้อนในการใช้งานเสียจนคนไม่อยากใช้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่โครงการนี้จะล้มเหลวโดยที่โลกยังไม่ทันรู้จัก Google Wave เสียด้วยซ้ำ

ดังนี้ ความล้มเหลวของ Google Wave จึงเปรียบเสมือนความล้มเหลวของ Lars & Jens Rasmussen ไปด้วยโดยปริยายนั่นเอง

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน 

ภาพ: (ขวา) ลาร์ส รามุสเซน จาก Getty Images และเยนส์ รามุสเซน ภาพโดย ZaphodsCatwalk สิทธิ์การใช้งาน  CC BY-SA 3.0