21 ก.พ. 2567 | 16:08 น.
- ธุรกิจร้านสะดวกซักในไทยมีการเติบโตน่าสนใจ โดยปี 2566 ประเมินมูลค่าไว้ที่กว่า 10,000 ล้านบาท
- ขณะเดียวกันธุรกิจนี้ ก็มีการแข่งขันรุนแรง โดยมีผู้เล่น 40-50 แบรนด์
- LG เป็นรายใหม่ที่ขอลงแข่งในธุรกิจร้านสะดวกซัก ในชื่อ LG Laundry Crew ซึ่งเป็นร้านแฟรนไชส์สะดวกซักของ LG แห่งแรกในโลก
เราคงได้เห็นข่าวคราวกับการที่เจ้าของแบรนด์อย่าง LG ประกาศเข้าสู่ ‘ธุรกิจร้านสะดวกซัก’ ด้วยตัวเอง ซึ่งธุรกิจนี้ดูจะน่าสนใจ เพราะมีการประเมินมูลค่าตลาดไว้กว่าหมื่นล้านบาท แต่ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันที่ร้อนแรง โดยตอนนี้มีผู้เล่นในตลาดมากกว่า 40-50 แบรนด์ รวมมีร้านสะดวกซักกว่า 4,000 แห่ง
อะไรทำให้ LG กล้าตัดสินใจกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ และในฐานะน้องใหม่จะสู้กับคู่แข่งที่มีอยู่มากมายได้อย่างไร ? เรามีเบื้องหลังมาเล่าให้ฟัง
แต่ก่อนจะถึงประเด็นดังกล่าว เริ่มต้นเราอยากจะฉายภาพของธุรกิจร้านสะดวกซักในประเทศไทยเสียก่อน โดยธุรกิจนี้เริ่มเห็นการเติบโตเมื่อ 5-7 ปีที่ผ่านมา จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบ จึงต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาช่วยประหยัดเวลาและให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
ครั้นจะซื้อเครื่องซักผ้าเป็นของตัวเอง บางคนก็อาจติดปัญหาเรื่องการเงิน หรือที่อยู่อาศัยมีพื้นที่จำกัด ทำให้หันมาใช้บริการซักผ้านอกบ้านกันมากขึ้น
และนั่นได้ส่งให้ร้านสะดวกซักในบ้านเรากลายเป็นธุรกิจดาวรุ่ง
เติบโตแค่ไหน?
หากดูข้อมูลของอัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ ซิสเต็มส์ จะพบว่า จากอดีตมีแบรนด์แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักในประเทศไทยไม่กี่แบรนด์ แต่ตอนนี้มีมากกว่า 40-50 แบรนด์ ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจนี้มีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10-30 % อย่างปี 2565 มีมูลค่าตลาด 7,000 ล้านบาท เพิ่มเป็นกว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2566
ส่วนจำนวนของร้านก็โตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยปี 2565 มีอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง ในปี 2566 เพิ่มเป็น 4,000 แห่ง และมีการคาดการณ์ว่า อีก 6-7 ปีข้างหน้าจะมีร้านสะดวกซักอยู่ในหลักหมื่นแห่ง
น้องใหม่ขอลองตลาด
สำหรับ LG เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังสัญชาติเกาหลีที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2531 และเมื่อไม่นานมานี้ได้ตัดสินใจลงสู้ศึกในธุรกิจสะดวกซัก ภายใต้ชื่อ LG Laundry Crew ที่ประเดิมเปิดสาขาแรก ณ ‘รามคำแหง ซอย8’ ซึ่งถือเป็นร้านแฟรนไชส์สะดวกซักของ LG แห่งแรกในโลก
‘อำนาจ สิงห์จันทร์’ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในคีย์แมนสำคัญของโปรเจ็คนี้เล่าให้เราฟังว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมี LG Smart Laundry Lounge แต่นั่นเป็นร้านสะดวกซักที่พาร์ทเนอร์เราบริหาร ส่วน LG Laundry Crew เป็นร้านที่ทีม LG ประเทศไทยเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์และบริหารเองทั้งหมด โดยเริ่มคิดมาเมื่อไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว
ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ท้าทายนี้ นั่นเพราะ 1. เห็นการเติบโตของธุรกิจร้านสะดวกซักที่ตอนนี้มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท 2.ยอดขายเครื่องซักผ้าของ LG ในไทยครองความเป็นผู้นำมาตลอด อย่างปีที่ผ่านมามีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 34% จึงต้องการต่อยอดเพิ่มเติม
และ 3. มองเป็นธุรกิจที่เหมาะสมในการช่วยนำแบรนดิ้ง และ Identity ของ LG ไปขยายเพื่อสร้างการรับรู้และความผูกพันไปสู่ชุมชนให้มากขึ้น
“ลองคิดดูถ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าไปเปิดในแหล่งชุมชนเราว่า ทำยาก ขณะที่เทรนด์ร้านสะดวกซักมาและเข้าไปเปิดถึงชุมชน อนาคตใครจะรู้เราอาจทำเป็นคูปองส่วนลดในการไปซื้อสินค้าหรือไปใช้บริการร้านสะดวกซักของเราเองก็ได้
“แล้ว LG จะสู้ด้วยอะไร หลัก ๆ คือ ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ บวกกับตัวโปรดักท์ที่ใช้รองรับกับธุรกิจสะดวกซักโดยเฉพาะ ต่างจากบางแฟรนไชส์ที่จะใช้เครื่องสำหรับใช้ในบ้าน ซึ่งเมื่อใช้ไปสักระยะจะเกิดปัญหาเพราะเครื่องดีไซน์มาให้ใช้งานแตกต่างกัน
“อีกอย่าง เป็นเรื่องของบริการหลังการขาย เพราะ LG มีศูนย์บริการคลอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้อำนาจมั่นใจ LG Laundry Crew จะได้รับการตอบรับและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้แน่นอน”
เข้าใจตลาดแข่งขันดุเดือด
ถึงจะเชื่อมั่นในแบรนด์ และบริการหลังการขาย แต่ในธุรกิจร้านสะดวกซัก LG ก็ถือเป็น ‘หน้าใหม่’ ของวงการ ที่อาจจะเสียเปรียบในเรื่องประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจนี้
ยังไม่รวมถึงเรื่องของโลเคชั่นในการเปิดร้าน อีกหนึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจร้านสะดวกซัก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมักจะเลือกใช้บริการกับร้านที่อยู่ใกล้กับบ้านของตัวเองเพื่อความสะดวกสบายและประหยัดเวลา ซึ่งตอนนี้เราจะเห็นแบรนด์เดิมได้เข้าไปยึดพื้นที่มากพอสมควรแล้ว
“เรายอมรับว่า คนไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยทำ พอมาทำก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นนอกจากทีมบริการแล้ว เราดึงคนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาร่วมทีมเพื่อช่วยเดินหน้าธุรกิจใหม่ของเราส่วนโลเคชั่น พาร์ทเนอร์ที่เข้ามาขอทำแฟรนไชส์ ย่อมรู้ดีว่า พื้นที่ที่จะเปิดมีศักยภาพเป็นอย่างไร มีทราฟฟิกมากพอหรือไม่
“ขณะที่การตั้งราคาแฟรนไชส์และค่าบริการก็สูสีกับคู่แข่ง โดยอัตราค่าแฟรนไชส์จะอยู่ที่ 1.5 - 3 ล้านบาท ส่วนค่าบริการซักและอบนั้นมีตั้งแต่ 13-17 กิโลกรัม ราคาเริ่มต้น 40 บาท ซึ่งก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นการมีคนสนใจอยู่ 40-50 ราย แต่หลังเปิดตัวมีคนเข้ามามากกว่า 100 ราย มีทั้งคนทั่วไป และบริษัทที่ต้องการเปิดมากกว่าหนึ่งสาขา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี”
โดยเบื้องต้น LG Laundry Crew จะเป็น Pilot Project ที่ทางต้องรอดูผลตอบรับในช่วง 6 เดือน และ 1 ปี ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร หากเวิร์ค อาจจะนำไปต่อยอดยังประเทศอื่นที่ LG เข้าไปทำธุรกิจ
แน่นอนว่า การเข้ามาในธุรกิจร้านสะดวกซักของเจ้าของแบรนด์อย่าง LG น่าจะส่งผลให้ธุรกิจนี้มีสีสันมากขึ้น และต้องจับตามองว่า ผู้เล่นหลายอื่นจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรเพื่อรับมือการแข่งขันที่น่าจะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้น
อย่างที่ผ่านมาเราได้เห็นหลายแบรนด์แข่งกันในเรื่องทำโปรโมชั่นสำหรับดึงลูกค้ามาใช้บริการ ทั้งให้ใช้ฟรี 5 วันช่วงเริ่มต้นเปิดให้บริการ ,การให้ส่วนลด, การแถมน้ำยาปรับผ้านุ่มให้ใช้ฟรี เป็นต้น
รวมถึงร้านสะดวกซักแต่ละแบรนด์ได้เริ่มพัฒนารูปแบบร้านให้แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการดึงบริการอื่นเข้ามาเสริมให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน เช่น เปิดคาเฟ่ภายในร้าน หรือการนำร้านเข้าไปเปิดในศูนย์บริการต่างๆ เช่น สถานีบริการปั๊มน้ำมัน หรือสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เพื่อให้เข้าใกล้กับผู้บริโภคมากขึ้น
ขณะที่บรรดาผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็น่าจะได้ประโยชน์กับการเคลื่อนไหวของธุรกิจร้านสะดวกซักในครั้งนี้เช่นกัน อย่างน้อย ๆ คือ มีแบรนด์ให้เลือกใช้มากขึ้นนั่นเอง
.
ภาพ : LG