27 ก.พ. 2567 | 16:36 น.
- เดิม ‘บรรทัดทอง’ เป็นแหล่งรวมของร้านขายเสื้อและอุปกรณ์กีฬา ร้านเซียงกง และมีร้านอาหารแทรกอยู่บ้างประปราย
- ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บรรทัดทองถูกพัฒนาเป็นย่านสตรีทฟู้ดส์แหล่งรวมร้านอาหารดัง จนได้รับฉายา ‘เยาวราช 2’
- การเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะสร้างให้ย่านนี้มีความคึกคัก แต่ก็ตามมาด้วยคำถามมากมาย
การพลิกโฉมของ ‘บรรทัดทอง’ สู่ย่านแห่งสตรีทฟู้ดจนได้รับฉายา ‘เยาวราช 2’ แม้จะสร้างกระแสให้ย่านนี้มีสีสันกลายเป็นพื้นที่ธุรกิจที่คึกคัก แต่ขณะเดียวกันก็ตามมาด้วยคำถามมากมายของการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ย่านแห่งการ Overload ทั้งจำนวนร้านและการตั้งราคา รวมไปถึงเสน่ห์ในอดีตของย่านที่หายไป
จากประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ The People ได้ไปพูดคุยกับ 'รศ. ดร.จิตติศักดิ์' ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารพื้นที่ย่านบรรทัดทองถึงกระแสที่เกิดขึ้น
โดย รศ. ดร.จิตติศักดิ์ เล่าว่า ย่านบรรทัดทอง เป็นหนึ่งในพื้นที่โซนพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่แยกเจริญผลไปสุดถนนพระรามที่ 4 รวมระยะทางราว 1.8 กิโลเมตร ซึ่งเดิมทีภายในพื้นที่จะประกอบไปด้วยร้านขายเสื้อและอุปกรณ์กีฬา ร้านขายถ้วยรางวัล อาจมีออฟฟิศ ร้านเซียงกง และร้านอาหารแทรกอยู่บ้างประปราย
ส่วนความแรงของย่านนี้ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเขาเองก็ยังงง เพราะในฐานะคนที่อยู่แถวนี้และดูแลการบริหารจัดการพื้นที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงของย่านบรรทัดทองเป็นแค่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลานี้ เนื่องจากในมิติของการพัฒนาพื้นที่แล้วบรรทัดทองไม่ได้มีอะไรตูมตามขนาดนั้น และตัวเขาเองไม่ได้คิดว่า จะเป็นกระแสที่ยั่งยืนด้วย
ความฮิตที่มาแบบไม่ได้ตั้งใจ
รศ. ดร.จิตติศักดิ์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของย่านบรรทัดทอง เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของเมือง และจุดเริ่มต้นต้องอิงกับโครงการการพัฒนาตรงหัวมุมฝั่งด้านเจริญผลที่ตั้งใจให้เป็น ‘โซนกีฬา’ ตามบริบทที่ยุคนั้นกำลังฮิตเรื่องกีฬาอยู่ และเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสนามกีฬาศุภชลาศัย โดยมี Stadium One เป็นหัวหอก
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งกิจกรรมเหล่านั้น อยู่ ๆ กระแสก็หายไป โครงการที่พัฒนาขึ้นมาก็ทำท่านิ่ง ๆ ดูจะไปไม่รอด ทางเจ้าของโครงการเริ่มเดือดร้อน จึงมาปรึกษาปรับแผน Business Model ซึ่งพอมานั่งคุยกันมีอันหนึ่งที่รอดแน่ ๆ ก็คือ ‘ของกิน’ ตามธรรมชาติของคนไทยที่ชอบเรื่องนี้
พอสรุปกันได้ ทางทีม Stadium One เลยไปดึงร้านอาหารดังหลาย ๆ ร้านในพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 10 กว่าร้าน ทั้งจากไชน่าทาวน์ สะพานเหลือง สามย่าน รวมถึงจากที่อื่น เช่น มนต์นมสด จากเดิมอยู่บนมาบุญครองให้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ ปรากฏว่าเวิร์ก จึงเกิดการขยายของร้านอาหารออกมายังพื้นที่ที่เป็นตึกแถวริมบรรทัดทองอย่างที่เห็น"
แต่ที่สร้างแรงกระเพื่อมจริง ๆ คือ ทัวร์จีนที่แห่มาเที่ยวไทยหลังโควิด-19 อย่างที่รู้กันในกรุงเทพฯ นอกจากไปวัดพระแก้วหรือที่อื่น ๆ ทัวร์จีนจะไปเยาวราชหรือไชน่าทาวน์ ซึ่งการนำลูกทัวร์ 10 คน 20 คนเข้าไปในพื้นที่เยาวราชไม่ง่ายเลย ตอนนั้นรถไฟใต้ดินยังไม่เสร็จด้วย เอารถไปจอดไหน เอาลูกทัวร์ไปดร็อปตรงไหน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พอย่านบรรทัดทองมีอะไรที่คล้าย ๆ กับเยาวราช บวกกับมีพื้นที่จอดรถ เดินง่ายไม่ซับซ้อน ทำให้ทัวร์จีนบางส่วนไหลมาย่านนี้
แรงเพราะพลังโซเชียลฯ
“ผมไม่ได้รู้สึกว่าอาหารตรงนี้มีความพิเศษกว่าที่อื่น ซึ่งตัวที่กระชากกระแสย่านบรรทัดให้แรงมากขึ้น ต้องยกให้โซเชียลมีเดีย เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์ มีนักท่องเที่ยวมาไลฟ์ทั้งทาง IG และ TikTok ทำให้ที่ตรงนี้เป็นอีก Destination ที่คนพูดถึงและต้องมา โดยต้องเรียนตามตรงว่า ตรงนี้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่ได้เป็นคนทำ เพราะเราไม่เก่ง เหมือนจับพลัดจับผลูเพื่อเอาตัวรอด แต่ดันเวิร์ก"
ส่วนเหตุผลที่ร้านดังทั้งเจ้าเก่าแก่และร้านใหม่ที่ไม่เคยมีสาขามาก่อนในกรุงเทพฯ เลือกเข้ามาเปิดสาขาในย่านบรรทัดทอง ง่าย ๆ ก็ดูทราฟฟิกเป็นหลัก โดยแต่ละวันย่านนี้มีคนเข้ามาใช้บริการประมาณ 30,000 - 40,000 คน เวลาเปิดร้านก็เริ่มตั้งแต่ 11.00 น. สำหรับอาหารง่าย ๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก ข้าวมันไก่ ฯลฯ เพื่อบริการพนักงานหรือคนในย่าน แต่ช่วงพีคของบรรทัดทองจะอยู่ตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไป เลยไปแบบ 23.00 น. ถึงเที่ยงคืนก็แล้วแต่ร้าน
“การไลฟ์ทางโซเชียลมีเดียเอง ยังทำให้คนรู้สึกว่า มาตรงนี้จะช่วยเติมเต็มมีความสนุกสนาน ยกตัวอย่างเช่น คุณไปร้านเจ๊ไฝ เราจะรู้ว่าเวลาไปถึงจะเจอบรรยากาศอะไร แต่ย่านบรรทัดทอง เวลาเห็นจาก TikTok จะเป็นแบบหนึ่ง มาจริงจะเป็นอีกแบบ ทำให้พื้นที่มีไดนามิกนอกเหนือจากร้านที่เริ่มเปลี่ยนหมุนเวียนเทิร์นอยู่ในบางจุดของพื้นที่
“เทิร์นโอเวอร์ของร้านที่ย่านบรรทัดทองไม่สูง เพราะเป็นอะไรที่ใหม่อยู่ เรากำลัง trial and error อยู่ เพื่อให้ย่านแสดงตัวตนหรือศักยภาพออกมา ต่างจากพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งมีรูปแบบของพื้นที่อยู่แล้ว คือ 3 เดือนชี้ได้เลยว่ารอด ไม่รอด ส่วนบรรทัดทองไม่ใช่ เช่น 3 เดือนร้านคุณอาจเงียบ ๆ แต่วันดีคืนดีลิซ่า BLACKPINK ผ่านร้านแล้วนั่งลงผูกเชือกรองเท้า และอัปลง IG คุณอาจจะขายถล่มทลายเลยก็ได้”
สารพันประเด็นตามมา ทั้งย่านแห่งการ Overload, ความไม่เป็นระเบียบ และทุนจีน
แน่นอนเมื่อกลายเป็นย่านดัง สิ่งที่ตามมาก็คือ สารพัดประเด็นที่ตามมาทั้งมุมบวกและมุมลบ ซึ่งในที่นี้เราขอคุยในมุมลบ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นย่านที่มีปัญหา Overload ทั้งจำนวนร้านที่ตอนนี้มีมากกว่า 100 ร้านและราคาที่หลายคนออกปากว่า แพง ไม่สมเหตุสมผล
“ในฐานะสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เราทำหน้าที่เป็นแลนลอร์ด หรือเจ้าของพื้นที่ เราจะไปแตะกับการบริหารจัดการผู้เช่าไม่ได้มาก หลัก ๆ ที่เราดู คือ เก็บค่าเช่า การดูแลเรื่อง facility ทำให้มีพื้นที่จอดรถ ดูแลแสงสว่าง ความสะอาดและความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัย เราประสานกับทั้งทางเขตและทาง สน. ปทุมวันให้เข้ามาช่วยดูแล
“ขณะเดียวกันได้มีมาตรการในการคุยกับร้านค้า ประเด็นแรกเลยถ้าเกิดจะตั้งโต๊ะก็ให้อยู่ในอาณาเขตของเรา อย่าให้ลงไปในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และถนน ประเด็นที่ 2 หน้าร้านต้องเคลียร์ช่องไว้ให้คนเดินสะดวก พวกเดลิเวอรี่อย่าให้จอดรถล้นไปในถนน
"ส่วนเรื่องทุนจีนสีเทา ด้วยความที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีการสกรีนแน่นอนว่า ร้านที่จะเข้ามาเปิดต้องถูกกฎหมาย ถ้าเป็นหมาล่า ต้องเป็นหมาล่าแบบมีคนไทยถือหุ้นเกิน 51% เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา แต่ไม่สามารถไปบอกได้ว่า คุณเป็นหมาล่าชาบู ไม่ให้เปิดเพราะมีหลายร้านแล้ว และแต่ละร้านต้องกำหนดราคาเท่าไร อันนั้นเราไปยุ่งไม่ได้”
ยังไม่ถึงขั้นเป็นเยาวราช 2
ด้วยการเป็นย่านอาหารที่รวมร้านดังคล้าย ๆ กับเยาวราช ทำให้หลายคนมองว่า บรรทัดทองเป็น 'เยาวราช 2' แต่ รศ. ดร.จิตติศักดิ์ไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะยังเทียบชั้นกับเยาวราชไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ รสมือของร้าน ฐานแฟนคลับ ขณะที่บรรทัดทองเป็นย่านอาหารที่มีหลายร้านมากที่เพิ่งเกิด
“ง่าย ๆ ถ้าเปรียบเป็นมวย เยาวราชเก๋าเกมได้เข็มขัดแชมป์มาเยอะมากแล้ว เราเองเพิ่งต่อยไปได้เหรียญทองมายังไม่ได้เข็มขัดเลย เพียงแต่ว่า โอเค หน้าตาเราดี รูปร่างดี ยังใหม่อยู่ คนเลยให้ความสนใจมาก”
ที่สำคัญเยาวราชเป็น Real community ที่มีคนอยู่มายาวนานและเป็นชุมชนจริง ๆ ขณะที่บรรทัดทอง คนในย่าน ณ ตอนนี้ที่เป็นคน Original แบบอยู่กันมา 40 - 50 ปี เหลือน้อยมากแค่ 10 - 20% และตอนนี้กิจการส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ต่างไปจากอดีต โดยเน้นในเรื่องของอาหารตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น
ส่วนกิจกรรมอื่นที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของเมืองและผู้คน เช่น ร้านเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา หรือเซียงกง ก็ย้ายถิ่นฐานออกไปเอง
ทำเสน่ห์ย่านหายไป
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเมือง ยกตัวอย่างง่าย ๆ อาแปะอาซิ้มที่ทำร้านก๋วยเตี๋ยวในย่านนี้ อย่าลืมว่าลูกหลานเขาไม่ได้ Born to ขายก๋วยเตี๋ยวนะ เขาเรียนมาก็อยากไปทำตามที่เรียน ไม่ได้อยากสืบทอดกิจการต่อ ฉะนั้นทำให้กิจการหลายกิจการจึงหายไปจากพื้นที่
“เช่นเดียวกันกับการล้มหายตายจากไปของเซียงกงในพื้นที่สวนหลวงสามย่าน คำถามคือว่าจุฬาฯ ไล่ที่เหรอ จุฬาฯ ไม่ต่อสัญญาใช่ไหม คำตอบผมก็คือว่า จุฬาฯ ไม่ต่อสัญญา ส่วนหนึ่งเพราะเรามองว่ากิจการเหล่านี้ไม่ได้เหมาะสมกับพื้นที่อีกต่อไปแล้ว
“ในอดีตหมายถึง 40 - 50 ปีที่แล้ว ช่วงที่เซียงกงกำลังบูม ๆ เนื่องจากว่าอะไร นั่นเพราะการจราจรในพื้นที่นี้ยังเบาบางมาก สยามยังมีสยามเซ็นเตอร์อยู่เหงา ๆ เจ้าเดียว เวลาเอารถมาเปลี่ยนเครื่อง คุณสามารถเดินดูอะไหล่ที่เซียงกงแถวนี้ เสร็จแล้วก็ให้อาเฮียอาแปะเปลี่ยนเครื่องได้เลยโดยจอดอยู่บนถนน แต่ปัจจุบันทำไม่ได้เพราะจะทำให้รถติดมาก
“ฉะนั้นธุรกิจมีการ die down ไปด้วยคาแรกเตอร์การโตของเมือง ทั้งเรื่องโลจิสติกส์ ไลฟ์สไตล์ และเรื่องกังวลของคนในพื้นที่เองด้วย”
กระแสที่ไม่คิดว่าจะอยู่ยาว
“มัน plan ในสิ่งที่ unplanned แล้วด้วยจังหวะเวลา โอกาสมา เรากระโดดว่ายตามน้ำ เลยออกมาอย่างที่เห็น เราถึงไม่แน่ใจว่า จะอยู่ยั้งยืนยงอีกนานแค่ไหน แม้ตอนนี้จะบูมอยู่ก็ตาม"
เพราะอย่างที่บอกย่านบรรทัดทองแรงขึ้นมาเพราะนักท่องเที่ยวจีนและพลังโซเชียลฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อย่างนักท่องเที่ยวจีนก่อนหน้านี้ฮิตไปตลาดรถไฟ ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปที่อื่นแล้ว
"ส่วนโซเชียลมีเดีย ถ้าเปลี่ยนที่ปุ๊บ เขาก็พร้อมเปลี่ยนตามเหมือนกัน หากถามว่าเรามีแผนรองรับไหม คำตอบคือ มี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพคงไม่ทำอะไรมาก แต่มองในเชิงของ Marketing Plan ว่า ในอนาคตร้านอาหารและเครื่องดื่มยังตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่หรือไม่
"หรือจริง ๆ แล้วถึง ณ จุดหนึ่งบรรทัดทองควรเปลี่ยนฟังก์ชันเป็นอย่างไร อาจจะย่านโฮมสเตย์ ย่านโรงแรมฮิป ๆ หรือจะเปลี่ยนเป็นโซนออฟฟิศในรูปแบบอื่น ๆ อันนี้เป็นทางเลือกที่เราต้องเปลี่ยนและเคลื่อนไหวให้ทันกับบริบทของพื้นที่รอบ ๆ และการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย”
.
ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม, จุลดิศ อ่อนละมุน