‘ปัญจภัทร อังคสุวรรณ’ ผู้ปั้น HarbourLand เพราะอยากให้ลูกตัวเองมีที่วิ่งเล่นดี ๆ

‘ปัญจภัทร อังคสุวรรณ’ ผู้ปั้น HarbourLand เพราะอยากให้ลูกตัวเองมีที่วิ่งเล่นดี ๆ

เด็กทั่วโลกหลายคนโตมากับ Disneyland และ Legoland แต่สำหรับเด็กไทยหลายคนในยุคนี้อาจจะโตมากับ HarborLand (ฮาร์เบอร์แลนด์) ที่ถูกปลุกปั้นโดยผู้เป็นพ่อคนอย่าง ‘ปัญจภัทร อังคสุวรรณ’ อดีตหนุ่มสายไอที ที่แม้จะไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่เป็นผู้วางรากฐานและสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์นี้

  • HarborLand เกิดจาก ‘ปราการ นกหงษ์’ ทายาทของแหลมทองกรุ๊ป เห็นโอกาสของธุรกิจสวนสนุกในร่ม
  • แต่ผู้ปั้นให้ HarborLand เติบโต ก็คือ ‘ปัญจภัทร อังคสุวรรณ’ และนี่คือเรื่องราวของเขา

จุดเริ่มต้นของ HarborLand มาจาก ‘ปราการ นกหงษ์’ ทายาทของ ‘แหลมทองกรุ๊ป’ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นรายใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคตะวันออก มองเห็นโอกาสตลาด ‘สวนสนุกในที่ร่ม’ ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำนักในเมืองไทย แต่ตัวเองก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิม สิ่งที่มีคือแค่พื้นที่ภายในห้างของตัวเอง จึงได้ไปเชื้อเชิญเพื่อนสนิทอย่างปัญจภัทรมาเป็นหัวหอกในการออกแบบและวางกลยุทธ์แบรนด์

หัวอกคนเป็นพ่อ

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า ปัญจภัทรไม่ใช่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ หากแต่เป็นเพื่อนของทายาทเจ้าของที่มีกิจการครอบครัวเป็นห้างแหลมทอง เขาได้รับเลือกเพราะมีเรซูเม่ประสบการณ์ด้านการออกแบบและวางแผนกลยุทธ์แบรนด์ รวมถึงเป็นคนสายไอทีที่เท่าทันเทคโนโลยี แต่เรซูเม่ที่ทรงพลังที่สุด คือการเป็น ‘พ่อคน’ 

คู่แข่งตัวฉกาจที่แย่งความสนใจ พัฒนาการทางสมอง และสุขภาพร่างกายของเด็กเล็ก ในยุคนี้เห็นจะเป็นนวัตกรรมบนหน้าจอทั้งหลายแหล่ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องหาทางไม่ให้ลูก ๆ เล่นมากจนเกินไป 

ก่อนหน้านี้ ปัญจภัทรกำลังเผชิญปัญหาการที่ลูกเล็กชอบเล่น iPad จนเกินเบอร์ เขาจึงทดลองออกแบบสนามเด็กเล่นขนาดย่อมเยา แบ่งพื้นที่ใช้งาน ดีไซน์โดยโฟกัสที่ประสบการณ์ใช้งานจริงของเด็กเล็ก เพื่อให้ลูกมาใช้เวลา ณ ที่แห่งนี้ ปรากฏว่าน้องชอบใจใหญ่ ไป ๆ มา ๆ ติดสนามมากกว่าติดหน้าจอเสียอีก

เหตุการณ์นี้มาบรรจบกับคำรับเชิญให้ช่วยสร้างแบรนด์สวนสนุกในที่ร่มจากเพื่อนสนิท พร้อมตำแหน่งที่แหวกแนวแต่สื่อถึงความจริงใจอย่าง ‘ผอ.ฝ่ายบริหารความสุข’ แม้แต่ ‘ชื่อ’ ยังบ่งบอกถึงการมอบความสุขให้เด็ก ๆ เป็นการยึดความสุขของผู้คนเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ ปัญจภัทรยังมองว่า นี่อาจเป็นมากกว่าธุรกิจที่ขายสินค้าบริการดี ๆ แต่เป็นธุรกิจที่ช่วย ‘สร้างความทรงจำ’ โดยเฉพาะความทรงจำในวัยเด็กที่เมื่อกาลเวลาผ่านไปแล้ว…ย่อมผ่านไปเลย การที่ลูก ๆ มีความทรงจำที่ดียอดเยี่ยมกับพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็ก ยังเป็นรากฐานสำคัญสู่ครอบครัวที่อบอุ่น สนิทสนม มีความสุขในระยะยาวแม้โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปแล้ว

ลูกคนอื่นต้องปลอดภัยเหมือนลูกตัวเอง

HarborLand เปิดตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2016 ที่พัทยา ในฐานะ ‘สวนสนุกในร่ม’ ก่อนจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาดจากชาวพัทยาและนักท่องเที่ยว และเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2018 ประเดิมที่ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ ก่อนขยายสาขาไปทั่วจนกลายเป็นสวนสนุกในร่มที่มีแทบทุกห้างใหญ่แบบที่เราเห็นกัน

แล้วอะไรเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของ HarborLand?

มีไม่กี่ปัจจัยที่พ่อแม่ใส่ใจมากที่สุดในการส่งลูกเล่นสวนสนุก นั่นคือ ‘ความปลอดภัย ความสะอาด ความสุข’ โดยปัจจัยแรกเห็นจะสำคัญโดดมาเป็นที่หนึ่ง คติของปัญจภัทรในการดีไซน์อุปกรณ์เครื่องเล่นใน HarbourLand เห็นจะเป็นการที่ลูกคนอื่นต้องได้รับความปลอดภัยไม่ต่างจากลูกตัวเอง!

โดยอุปกรณ์ต่าง ๆ และเครื่องเล่นที่นี่ ใช้ทีมดีไซน์ผู้เชี่ยวชาญจาก SPI Global Play บริษัทชั้นนำจากยุโรปที่มีประสบการณ์การออกแบบเครื่องเล่นเด็กในที่ร่มมากว่า 50 ปี จนไปถึงรายละเอียดงานประกอบและติดตั้งเครื่องเล่นที่ต้องใช้ความละเมียดละไมและมีดีเทลเชิงวิศวกรรมก็ใช้ทีมงานจากยุโรปที่เก่งด้านนี้โดยเฉพาะ

เรียกว่าสร้างจากมาตรฐานของคนเป็นพ่อคนที่ห่วงลูกจริง ๆ จึงได้มุมมองจากฝั่งบริหารและการใส่ใจประสบการณ์ลูกค้าเป็นที่ตั้ง

จบครบในที่เดียว

ปัญจภัทรยังใส่ใจประสบการณ์และความสะดวกสบายของลูกค้าครอบครัว ที่เวลาเข้าพื้นที่มาเล่นแล้ว ก็อยากทั้งเล่น-กิน-ดื่ม จนไปถึงเข้าห้องน้ำจบในที่เดียว โดยไม่ต้องเข้า ๆ ออก ๆ พื้นที่หลายครั้ง 

โดยเราจะสังเกตว่า HarborLand มี ‘ทุกอย่าง’ จบครบในที่เดียว มีทั้งน้ำดื่ม ของว่างกินเล่น พื้นที่พักรอ ไปจนถึงห้องน้ำอย่างดีภายในสวนสนุก และออกแบบเครื่องเล่นเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ 6 เดือน - 13 ปี เรียกว่า ‘ครอบคลุม’ เด็กทุกช่วงวัย

ทั้งนี้ ยังมีการแทรกกลยุทธ์ ปรับแต่งแบบเฉพาะตัว (Customization) ในแต่ละสาขาให้เข้ากับสภาพข้อจำกัดด้านพื้นที่กายภาพ ฐานลูกค้าหลัก ภาพลักษณ์ของสถานที่ เช่น เครื่องเล่นสไลเดอร์ หนึ่งในตัวเอกของแบรนด์ เพื่อสร้างความแตกต่างของบริการและเพิ่มโอกาสถูกใจแก่ลูกค้า

ความแยบยลของเครื่องเล่น

เมื่อมาใช้บริการถี่มากพอ สิ่งที่พ่อแม่หลายคนน่าจะพอสัมผัสได้จากการออกแบบเครื่องเล่นต่าง ๆ อันแสนแยบยลของ HarborLand คือ มันถูกออกแบบมาให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายในแบบที่มนุษย์วิวัฒนาการมาจริง ๆ ไม่ว่าจะกระโดด ปีนป่าย โหน มุด ทรงตัว ฯลฯ 

นอกจากนี้ บางพื้นที่ออกแบบเสริมสร้างจินตนาการเสมือนเด็กวิ่งเล่นตามด่านในเกม บางเครื่องเล่นยังเสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม (Social skill) ที่ต้องรู้จักแบ่งกันเล่น ผลัดกันไป มีมารยาทต่อกัน

และมีการออกแบบเครื่องเล่นที่ให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเล่นกับลูก กลายเป็นว่าบางที ลูก ๆ ว่าสนุกแล้ว พ่อแม่ดูจะสนุกยิ่งกว่า… อย่าลืมว่านี่คือพื้นที่สร้างความทรงจำ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายระหว่างลูก-พ่อแม่ด้วยเช่นกัน

ความเป็นคนพื้นฐานสายไอที ปัญจภัทรยังนำเทคโนโลยีมาผนวกใช้กับเครื่องเล่นใน HarborLand เช่น นำ AR (Augmented Reality) มาใช้กับเครื่องกระโดดแทรมโพลีน โดยมีจอให้เด็กกระโดดเสมือนเป็นตัวละครกระโดดเล่นอยู่ในเกม เสริมสร้างจินตนาการและความสนุกแปลกใหม่

เขายังใส่ใจประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของพ่อแม่บางท่านที่อยากให้ลูกได้มาเล่น แต่ตัวเองก็ต้องไปทำธุระอื่น ๆ ในห้างด้วย จึงอาจไม่สะดวกเฝ้าหรือมาร่วมเล่นตลอดเวลา จึงได้เปิดตัวบริการพี่เลี้ยงเด็ก (Happy Care) ที่ถูกเทรนมาอย่างดีที่จะคอยเทคแคร์น้อง ๆ ให้ระหว่างที่พ่อแม่ไปทำธุระอื่น

ประกอบกับเมืองไทยเป็นเมืองร้อน การที่พ่อแม่เลือกมาเดินห้างก็บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่ามาหลบแดด ไม่อยากออกไปร้อน สวนสนุกในที่ร่มจึงตอบโจทย์บริบทเมืองไทยนี้มาก ๆ 

นอกจากนี้ สิ่งที่ห้างชั้นนำในบ้านเรายังขาด กล่าวคือ หนึ่งในเทรนด์การออกแบบพื้นที่ห้างสรรพสินค้าในบ้านเราช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะโฟกัสที่การเพิ่ม ‘โซนร้านอาหาร’ เข้ามาในสัดส่วนที่สูงที่สุด นอกจากนี้ เวลาผู้ใหญ่พ่อแม่มาเดินห้าง ก็มักพาลูก ๆ เด็กเล็กมาด้วยเสมอ แต่ยังไม่มีพื้นที่เด็กอย่างแท้จริง HarborLand จึงมาเติมเต็มโอกาสในจุดนี้

ปัจจุบัน HarborLand ขยายสาขาไปทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง และได้ตั้งอยู่ตามห้างชั้นนำอย่างภาคภูมิใจ เฉพาะในกรุงเทพฯ เช่น ICONSIAM, Mega Bangna, EmQuatier, Central Rama9, Central Westgate, Terminal21 Rama3, Sindhorn Midtown Hotel, The Mall Thapra, Gateway Ekamai, Fashion Island

ปัญจภัทรยังมองความสำเร็จเหล่านี้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแรก ๆ เท่านั้น เส้นทางพื้นที่สร้างความทรงจำนี้ยังอีกยาวไกลและมีความท้าทายใหม่ ๆ รออยู่เพียบ ในเมื่อเด็กต่างชาติระดับทั้งประเทศยังนึกถึง Disneyland หรือ Legoland เป็นอันดับแรก ๆ ได้ แล้วทำไมเด็กไทยเจเนอเรชั่นนับจากนี้จะนึกถึง HarborLand ไม่ได้?

แต่ความสำเร็จในปัจจุบันก็มากพอที่จะบรรจุอยู่ในความทรงจำของพ่อแม่และลูก ๆ อย่างน้อยก็ในไม่กี่ปีมานี้ จากที่แต่เดิมที่ทุกห้างใหญ่ต้องมีโรงหนังดี ๆ ควบคู่กันไป ต้องมีเชนร้านอาหารใหญ่ ๆ เป็นแม่เหล็กดึงดูด ต้องมีซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำให้คนมาใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน

มาถึงยุคนี้ HarborLand ได้สร้างมาตรฐานใหม่ว่าห้างต้องมี ‘สวนสนุกในร่มดี ๆ’ เป็นอีกศูนย์กลางใหญ่ของห้าง และเป็นสถานที่ที่ ‘ทั้งครอบครัว’ นึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ เสมอ

.

ภาพ : HarborLand

.

อ้างอิง 

.

harborlandgroup

spiglobalplay

thansettakij