‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เสิร์ฟความสดจากทะเล เพื่อให้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ

‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เสิร์ฟความสดจากทะเล เพื่อให้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ

‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เกิดจากสองผู้ก่อตั้ง 'เติ้ล-ตติวุฒิ ปิ่นแก้ว' และ 'มิน-ปัณฑิตา จันทร์อร่าม' เพื่อเป็นตัวกลางในการเสิร์ฟความสดจากทะเลให้ผู้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ

‘ที่ผ่านมาเรากินอะไรอยู่ว่ะ’ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นของ ‘เติ้ล-ตติวุฒิ ปิ่นแก้ว’ หลังจากได้กินอาหารทะเลขณะที่ลงพื้นที่จ.พังงา ตามคำชักชวนของ ‘มิน-ปัณฑิตา จันทร์อร่าม’ ซึ่งมีความคิดอยากส่งต่ออาหารทะเลดี ๆ จากชุมชนแห่งนี้ไปสู่พื้นที่อื่น เพื่อให้ผู้คนมีความสุขง่าย ๆ จากการได้กินของดี และจากคำถามนี้เองเป็นตัวกระตุกความคิดให้ทั้งคู่ลงมือทำ ‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เสิร์ฟความสดจากทะเล เพื่อให้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติด้วย

“ช่วงโควิด-19 ระบาด เราเจอปัญหาสารพัด มีเรื่อง PM2.5 และอะไรอีกไม่รู้ ทำให้รู้สึกว่า การมีความสุขยากขึ้นไปทุกที แต่การกินเป็นอะไรที่มีความสุขง่ายที่สุด กินแล้วอร่อยเลย แต่หากให้กินหมูกรอบทุกวันก็ไม่ดี สักวันเราจะป่วย เลยคิดว่า มาทำเรื่องอาหารดีกว่า แล้วเห็นโอกาสตอนลงพื้นที่พังงาน คนในพื้นที่บอกว่า มีปลาเยอะมาก เอามาให้คนกรุงเทพฯ กินหน่อย ของกินที่นั้นไม่ค่อยดี เลยเอาเรื่องนี้มาคุยกับพี่เติ้ล” มิน-ปัณฑิตา เล่าถึงไอเดียที่เป็นจุดเริ่มต้นของแมวกินกินปลา

ขณะที่ เติ้ล-ตติวุฒิ หลังจากได้ลงทุนกับอะไรมาเยอะ ก็ค้นพบว่า การลงทุนกับสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีและเห็นผลเร็วที่สุด จึงตัดสินใจร่วมลงมือลงแรงกับมิน-ปัณฑิตาเพื่อสร้างแมวกินปลาขึ้นมาโดยแมวกินปลาจะเข้าไปเป็นจิ๊กซอว์ในการจัดการวัตถุดิบ เพื่อส่งต่อในเรื่องการขายและการกระจายสินค้าจากชุมชนไปให้ถึงมือผู้บริโภค ด้วยหลักคิดที่ว่า

1.สินค้าต้องไปถึงมือผู้บริโภคเร็วที่สุดเพื่อคงคุณภาพไว้ให้ดีที่สุด 2.การนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ต้องใช้ขั้นตอนให้น้อยและใช้ต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อจะได้มีรายได้เหลือกลับมาให้กับพาร์ทเนอร์หรือผู้คนในชุมชนได้มากกว่าเดิม

‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เสิร์ฟความสดจากทะเล เพื่อให้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ

โดยแมวกินปลา จะเลือกทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่ทำประมงพื้นบ้าน และกลุ่มชาวมอแกน ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะเป็นคนในชุมชนจริง ๆ และวิธีการรับซื้อจะรับเฉพาะคนที่จับมาแบบเรือเล็ก ใช้อวนหรือเครื่องมือไม่ผิดกฏหมาย ฉะนั้น จะได้ปลาขนาดโตเต็มวัย ไม่ใช่สัตว์น้ำวัยอ่อน หรือโตไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและสมดุลของท้องทะเล

“เรามี station ของแมวกินปลาติดกับท่าเรือของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะจับด้วยวิธีพื้นบ้านที่เป็นเรือเล็กจะออกวันต่อวัน คือออกเช้า เข้าเย็น บางทีปลาที่เข้ามายังไม่ตายดีเลย บางตัวก็ยังไม่ตาย เราใช้เวลาประมาณสัก 2 นาทีจากเรือมาถึง station ของเรา จากนั้นทีมทางพังงาจะจัดการวัตถุดิบ ถอดเกล็ด ควักไส้ ตัดแต่ง ทำความสะอาดทันที และสูญญากาศเข้าห้อง freezer เพื่อคงความสดไว้

“ส่วนการส่งสินค้าให้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เช่น กรุงเทพฯ จะใช้เวลา 1 วัน และการขนส่งจะอยู่ในการควบคุมอุณหภูมิที่ -20 องศาตลอดเวลา แล้วส่งให้ลูกค้าในอุณหภูมินี้เลย ถึงบ้าน  ถ้าเป็นต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลจะประมาณ 2-3 วัน”

‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เสิร์ฟความสดจากทะเล เพื่อให้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ People-Health-Sea 3 แกนขับเคลื่อน

นอกจากอยากให้คนกินของดีแล้ว สองผู้ก่อตั้งแมวกินปลา ยังอยากสร้างอิมแพคให้กับสังคม โดยได้วางมิชชั่นของธุรกิจที่สร้างขึ้นมาให้ตอบโจทย์ใน 3 แกน นั่นคือ People-ผู้คน, Health- สุขภาพ และ Sea-ท้องทะเล 

People-ผู้คน หมายถึง ชาวประมง คนในชุมชนและผู้บริโภค ที่อยากให้มีชีวิตที่ดีขึ้นตามวิถีของตนเอง 

Health- สุขภาพ โดยต้องการแก้ Pain point ให้กับผู้ซื้อให้ได้สินค้าที่สด ปลอดภัย ไม่ได้ถูกแช่อะไรมา และจับในพื้นที่ที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ ไม่ใช่จับในแหล่งอุตสาหกรรมหรือจากบ่อปลา

Sea-ท้องทะเล ในการรรณรงค์ให้คนบริโภคปลาที่หลกาหลายขึ้น เพื่อช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ เพราะหากไปจับปลาชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จะทำให้ห่วงโซ่ของอาหารตามธรรมชาติหายไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสมดุลของระบบนิเวศน์

“การที่เราให้ผู้คนกินของทะเลที่หลากหลาย เอาจริง ๆ ดีต่อสุขภาพของคนกินด้วยนะ คือการที่เรากินของชนิดเดียวซ้ำตลอด อันนี้ไม่ดีอยู่แล้วต่อสุขภาพ ตรงนี้เราทำแคมเปญกินไม่ซ้ำให้ลูกค้าสะสมจำนวนชนิด เพื่อเป็นส่วนลด เช่น 5 ชนิดที่ไม่ซ้ำกันลดให้ 5% แบบนี้ มีคนเข้าร่วมแคมเปญกว่าร้อยคน และณ ปัจจุบันปลาที่จำหน่ายในแพลตฟอร์มเราก็มีอยู่ 70-80 ชนิด” 

ไอเดียดีและทำเพื่อสังคมไม่พอ ต้องเลี้ยงตัวเองได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีไอเดียดีและทำเพื่อสังคมแค่ไหน เมื่อเป็น ‘ธุรกิจ’ หากไม่สามารถมีรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงองค์กร ธุรกิจนั้นก็ไปไม่รอด ซึ่งเป็นความท้าทายที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ต้องเผชิญและหาทางออกเพื่อฝ่าฟันไปให้ได้

“มินว่า challenge ของเราจริง ๆ คือการสนับสนุน เราไม่ต้องการการสนับสนุนแบบให้ทุนเปล่า แต่ต้องการให้สินเชื่อที่วิเคราะห์ความเป็นสตาร์ทอัพจากความสามารถของเราจริง ๆ ไม่ใช่ตัวเลขอย่างเดียว จากประสบการณ์ของเราคือ ยื่นแผน นั่งทำ business plan นั่งทำ forecast ทำกลยุทธ์ ให้เห็น วิเคราะห์ทุกอย่าง แต่เขาแทบไม่วิเคราะห์ตรงนั้นเลย คำถามที่เขาถามมาคือ เรายังติดลบอยู่ ถ้าบริษัทติดลบก็ปล่อยกู้ไม่ได้ คำถามคือเราจะโตยังไง เราจะต้องโตแบบไหน

“ทุกคนบอกว่าไอเดียเราดี มีพาร์ทเนอร์น่ารักเป็นผลลัพธ์ที่เรามั่นใจว่า เรายังมีแรงไปต่อ แมวกินปลาเป็นโมเดลที่มีกำไร หมุนไปได้ เราเห็นโอกาสแล้วว่าถ้าเติมตรงนี้ มีคนมาสนับสนุนตรงนี้เพิ่ม มันจะไปต่อได้ โดยที่มีแผน ทุกอย่างคำนวณให้หมดเลยว่า คุณลงเงินเท่านี้ capacity เราเพิ่มเท่าไร คือคิดมาละเอียด แต่เขาไม่ได้อ่านเลย เขาดูแค่ตัวเลข เป็นจุดที่สตาร์อัพทุกคนต้องเจอ”

‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่เสิร์ฟความสดจากทะเล เพื่อให้คนได้กิน(ของ)ดีแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ

ขณะเดียวกันเมื่อมีทรัพยากร(เงิน)จำกัด การจะอยู่รอดในสนามธุรกิจ เติ้ล-ตติวุฒิแนะนำให้ใช้ความคิดและพลังเยอะ ๆ กับการทำงาน

“จริง ๆ แมวกินปลา ที่เราเริ่มเลยเป็นทุนเราเองทั้งหมด เราอาจจะกล้าหาญเกินไปกับลงมาเล่นธุรกิจที่มี Market size ใหญ่ปีละหมื่นล้าน แสนล้าน ด้วยทุนที่เรามีอยู่น้อยนิด ปัญหาที่ผ่านมาของเรา คือเป็นเรื่องของทุนเป็นหลัก ที่เราคิดได้มีไอเดียดีเยอะแยะมากมาย แต่เมื่อไม่มีเงินทุนสนับสนุนเราทำตามไอเดียไม่ได้ทั้งหมด ทุกวันนี้ทำให้เราทำงานโดยต้องคิดเยอะๆ ใช้พลังของตัวเองมาก ๆ เพราะเรามีทุนน้อย บางอย่างเราจะพลาดไม่ได้

“ส่วนที่แมวกินปลาผ่านมาได้ ผมมองว่าเราได้พาร์ทเนอร์ที่น่ารักนะ พาร์ทเนอร์น่ารักในที่นี้หมายความถึงผู้คนในชุมชนเองที่เป็น supplier พี่ ๆ น้อง ๆ ในพังงา น้อง ๆ ที่เป็นสตาฟที่ทำงานอยู่กับแมวกินปลาที่นั่น รวมถึงลูกค้าไม่ว่าจะเป็นแบบ B2B หรือ B2C ทุกคนน่ารักกับเราหมด อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เราทำงานต่อและข้ามในหลาย ๆ อย่างมาได้”

สตาร์ทอัพที่อยากเป็น community ส่งผลเชิงบวก

สำหรับภาพใหญ่ที่แมวกินปลาอยากไปให้ถึง ทั้งสองผู้ก่อตั้งมองให้ธุรกิจที่ก่อตั้งมาแห่งนี้ เป็น community ที่ส่งผลดีต่อคนที่อยู่รอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ คนในองค์กร คนในพื้นที่ ผู้บริโภคและทะเล

“ถ้าแมวกินปลาเป็นธุรกิจ เป็นสตาร์ทอัพที่ lean ได้ขนาดนี้ แล้วก็เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เรามองในภาพที่มันมีผลดีกับด้านทั้งสังคมด้วย แล้วเชิงการค้าหรือเชิงธุรกิจน่าจะถูกหยิบยกไปวางตรงไหนก็ได้ ให้คนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม แล้วพัฒนามันต่อ ๆ ไป เราไม่ได้ยึดติดว่า แมวกินปลามันคือของเราครับ”

“มินว่า แมวกินปลาเป็นการเปิด community ที่ใครก็ตามที่อยากดูแลคน ดูแลสุขภาพ แล้วดูแลทะเล มาร่วมมือกัน เพราะความสำเร็จไม่มีใครสร้างได้คนเดียว เราเลยมองแมวกินปลาเป็น community มากกว่าเป็นเรา มากกว่าเป็นมิน เป็นพี่เติ้ล อย่างตอนนี้น้อง 3 คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ทุกคนเป็นเจ้าของแมวกินปลา เพราะเขาได้หุ้นในแมวกินปลา มินพยายามชวนน้องทำโปรเจกต์เองได้ ให้คิดงานเองได้ด้วย เพราะเราอยากดูแลพัฒนาคนไปด้วยกัน”

สุดท้ายเมื่อพูดถึงแมวกินปลาทั้งคู่อยากให้ผู้คนนึกถึงอะไร

ทั้งคู่ตอบคล้าย ๆ กันว่า เป็นแมวที่อยากให้ทุกคนมีความสุขง่าย ๆ จากการได้กินของดี โดยแมวตัวนี้ เป็นแมวที่จริงใจทั้งกับผู้คน อะไรดีก็บอกว่าดี อะไรผิดก็ยอมรับ นอกจากนี้ยังจริงใจต่อสุขภาพ และจริงใจต่อท้องทะเลด้วย

.

ภาพ : แมวกินปลา