ลมหายใจของ ‘Daidomon’ ปิ้งย่างเจ้าแรก ๆ ในไทย จากดาวรุ่ง 20 สาขา สู่ร้านสุดท้ายในไทย

ลมหายใจของ ‘Daidomon’ ปิ้งย่างเจ้าแรก ๆ ในไทย จากดาวรุ่ง 20 สาขา สู่ร้านสุดท้ายในไทย

เส้นทางการเติบโต และลมหายใจ(สุดท้าย) ของ ‘Daidomon’ ปิ้งย่างเจ้าแรก ๆ ในไทย หลังปิดกิจการต่อเนื่อง จนเหลือสาขาสุดท้าย กลายเป็นฮีโร่ในไลน์ธุรกิจปิ้งย่าง ภายใต้นามสกุลของ JCK

KEY

POINTS

  • Daidomon ทยอยปิดสาขา จนปัจจุบันเหลือเพียงสาขาเดียวที่ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
  • Daidomon ภายใต้การบริหารของ JCK หรือชื่อในตลาดหุ้น JCKH ยังติดขัด จำเป็นต้องไดรฟ์แบรนด์อื่นที่อยู่ในเครือเดียวกันให้เติบโต
  • รายได้ JCK ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2566 เป็น 4 ปีต่อเนื่องที่บริษัทมีหนี้สินรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมันหอมหวานมาก กระทั่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า 14% ในปี 2565 เทียบปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนร้านค้าทั้งหมดกว่า 3.8 แสนราย ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดังนั้น มวลการแข่งขันจึงอยู่ในจุดเดือดมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่ปรากฏการณ์ล้มหายตายจากของธุรกิจได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของห่วงโซ่นี้ในปัจจุบัน

หลายคนตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว Daidomon (ไดโดมอน) เหลือกี่สาขาในปัจจุบัน หลังจากที่เห็นกระแสทยอยปิดมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในปี 2551 ขณะเดียวกัน Daidomon ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สู้ชีวิตมากแบรนด์หนึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งปรับกลยุทธ์ ปรับแนวคิดการทำธุรกิจ และเปลี่ยนมือผู้บริหาร

จุดเริ่มต้นของ Daidomon

ปัจจุบัน Daidomon อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JCK โดยบริษัทเปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิมก็คือ บริษัท ฮอท พอท จำกัด ซึ่งตอนนั้นพระเอกและนางเอกของธุรกิจหลักมีอยู่ 2 แบรนด์ ก็คือ ‘HOT POT’ และ ‘Daidomon’

แต่จริงแล้ว Daidomon เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2526 ในชื่อ บริษัท ยากินิกุ ไดโดมอน จำกัด ตอนนั้นวางภาพลักษณ์ว่าเป็นร้านปิ้งย่างอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งมีไม่มากนัก

เจ้าของต้องการย้ำภาพความเป็นปิ้งย่างให้ชัดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งมาเป็นบริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป ในปี 2533 ซึ่งเป็นการย้ำว่าธุรกิจมีเป้าหมายชัดเจน ต้องการเป็นปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นโดยแท้แห่งแรก ๆ ในประเทศไทย ในปีเดียวกันนั้นได้มีการจดทะเบียนบริษัททุน 3 ล้านบาท เพื่อใช้ชื่อร้านอาหารว่า ‘ไดโดมอน’ อย่างเป็นทางการด้วย

โดยทุน 3 ล้านบาทดังกล่าวนั้น มีผู้ร่วมทุน 3 กลุ่มที่เป็นรายใหม่ที่ให้ความสนใจ ก็คือ กลุ่มพัฒนพิบูล, เอ็ม เค เรสโตรองต์ และไมเนอร์ฟู้ด ซึ่งในปี 2544 บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป ได้แปรสภาพธุรกิจอีกครั้งด้วยการติดนามสกุล ‘มหาชน’ เป็นครั้งแรก

การเติบโตของร้าน Daidomon เพิ่มสาขาขึ้นเรื่อย ๆ ต้องพูดว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นดูเป็นช่วงขาขึ้นของ Daidomon และเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบในตลาด

จนกระทั่งปี 2551 พิษเศรษฐกิจทำให้อุตสาหกรรมร้านอาหารเจอปัญหาใหญ่ Daidomon เจอผลกระทบหนัก ๆ ตั้งแต่ปี 2552 จำใจต้องปิดบางสาขาที่ไม่ตอบโจทย์เงื่อนไขธุรกิจในตอนนั้น และยังเป็นครั้งแรกที่ ‘ไดโดมอน กรุ๊ป’ เผชิญหน้ากับผลประกอบการติดลบอย่างหนักสะสมรวมกันหลักพันล้านบาท

ในที่สุด Daidomon ก็ทนยื้อไม่ไหว จำเป็นต้องเปลี่ยนมือธุรกิจแบบยอมจำนน โดยได้บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) เข้ามาซื้อกิจการต่อในปี 2554 และได้สิทธิ์การบริหารทั้งหมด 20 สาขาที่มีอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งต้องพูดว่าในช่วงนั้น HOT POT เป็นแบรนด์สุกียากี้บุฟเฟต์ที่มีชื่อเสียงมาก ในฐานะเจ้าแรกในไทยที่เป็นบุฟเฟต์ (ชื่อเดิมคือ ‘โคคาเฟรช สุกี้’ และเป็น A La Carte)

 

ยุครุ่งเรืองของ Daidomon และ HOT POT

หลังปี 2554 ต้องยกให้เป็น ‘ปีทอง’ ของทั้ง HOT POT และ Daidomon โดยบริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มปรับปรุงร้านทันทีที่ได้สิทธิ์บริหาร ซึ่งเริ่มทดลองตลาดด้วยการนำทั้ง 2 แบรนด์มารวมกัน ซึ่งสาขาในโลตัสท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นสาขานำร่องที่เริ่มโมเดลใหม่นี้

ผลตอบรับเรียกว่าดีเกินคาด คนสามารถจดจำได้ว่ามีทั้งสุกี้ที่เป็น HOT POT และปิ้งย่างที่เป็น Daidomon ทำให้บริษัทใช้โมเดลนี้ในการขยายธุรกิจต่อ ซึ่งถ้านับรวมโมเดล 2 แบรนด์ และการขยายสาขาของทั้ง 2 แบรนด์ ทำให้ในที่สุดสามารถขยายสาขารวมกันได้มากถึง 130 สาขาทั่วประเทศ

โดยในยุคนั้นบางสาขาที่มี 2 แบรนด์ในพื้นที่เดียวกัน ภาพคุ้นตาของลูกค้าคือ การแชร์แอเรียส่วนกลางของทั้ง 2 แบรนด์ เช่น ครัว, ห้องเตรียมวัตถุดิบ, พื้นที่ทำซูชิ เป็นต้น

แต่ความรุ่งเรืองย่อมมีวันหายไป เช่นเดียวกับเรื่องอื่นที่ไม่มีอะไรแน่นอน ณ วันที่ HOT POT กลายเป็นร้านที่เริ่มไม่ติดตลาดเหมือนเคย Daidomon เองก็ไม่ใช่ Top of Mind ของลูกค้าเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งเพราะตัวเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น สถานการณ์ธุรกิจทั้งสองไม่สู้ดีนัก

บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JCK ของตระกูล ‘เตชะอุบล’ ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ โดย Daidomon เข้ามาอยู่ในการดูแลของตระกูลนี้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นการซื้อกิจการแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่สูตรอาหาร, ซอส, ฐานลูกค้า, สมาชิก, คู่สัญญาทางธรุกิจ, เครื่องหมายการค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2556 JCK พยายามสานต่อเป้าหมายการขยายสาขาทั้ง HOT POT และ Daidomon โดยในปีนี้สามารถเพิ่มเป็นทั้งหมด 153 สาขาได้ โดยได้เปิดสาขาใหม่ จำนวน 27 สาขา เป็นสาขาภายใต้แบรนด์ HOT POT ประมาณ 23 สาขา และ Daidomon อีก 4 สาขา

กระทั่งปี 2558 ที่ JCK มีแผนขยายสาขาด้วยความระมัดระวัง โดยบริษัทได้ปิดสาขาจำนวน 12 แห่งที่ขาดทุน และอีก 2 สาขาที่ครบกำหนดสัญญา บริษัทมองว่าไม่มีศักยภาพพอที่จะต่อสัญญา ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์ของทั้ง HOT POT และ Daidomon ขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด

ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทต้องการทดลองตลาดด้วยการเปิดขายแฟรนไชส์ครั้งแรก ในแบรนด์ ‘HOT POT Inter Buffet’ ที่ สปป.ลาว แต่ปัจจุบันปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ในปี 2562 บริษัทดำเนินการปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 14 แห่ง เหตุผลเพราะว่าผลประกอบการขาดทุนสะสมสูงขึ้นและต่อเนื่อง โดยผลประกอบการของ JCKH จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2566 เป็น 4 ปีติดต่อกันที่บริษัทมีหนี้สินรวมกว่า 1,000 ล้านบาทมาตลอด ซึ่งข้อมูล ‘กำไร’ ต้องพูดว่าติดลบในระดับ 3 ดิจิตอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่ง Daidomon ประกาศปิดสาขาที่เซ็นทรัล อุบลราชธานี โดยให้บริการวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา เหลือเพียงสาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ที่ให้บริการอยู่เป็นสาขาสุดท้ายของแบรนด์นี้ สะท้อนภาพความดิ้นรนต่อเนื่องของ Daidomon ทั้งการปรับตัวจากเมนูในร้าน การให้บริการ โปรโมชั่น เพื่อยื้อลมหายใจนี้ให้ถึงที่สุด

คำถามคือ การเติบโตของแบรนด์อาหารอื่นที่อยู่ใต้ร่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น HOT POT, Zheng Dou Grand, Shabu Tomo และ Burger & Lobster จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจอาหารของ JCK ฟื้นคืนชีพได้หรือไม่?

และจะช่วยต่อลมหายใจ Daidomon ร้านปิ้งย่างในตำนานของเด็กยุค 90s ได้นานแค่ไหน? เพราะตอนนี้ในมุมตัวเลขทั้งกำไรและหนี้สินรวมในช่วงไตรมาส 1/2567 ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่สดใสเท่าไร เมื่อเทียบกับเพลเยอร์ในตลาดปัจจุบัน

 

 

ภาพ : Daidomon/Facebook

อ้างอิง :

ประวัติบริษัท JCK

JCKH Group

ธุรกิจของบริษัท JCK

ศาลอาญาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด 6 ราย กรณีจัดทำบัญชีหรือเอกสารเท็จและทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินของ DAIDO

บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JCKH

10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! DAIDOMON

นับถอยหลัง Hot Pot-Daidomon ? จากร้านหัวตาราง สู่วันขาดทุน ‘พันล้านบาท’