เกาะมันนอก รีสอร์ท - ร้าน โบ.ลาน สองธุรกิจที่ตั้งใจ ‘เติบโต’ ไปกับการสร้าง ‘ความยั่งยืน’

เกาะมันนอก รีสอร์ท - ร้าน โบ.ลาน สองธุรกิจที่ตั้งใจ ‘เติบโต’ ไปกับการสร้าง ‘ความยั่งยืน’

เพราะเชื่อว่า เมื่อธุรกิจคือส่วนหนึ่งของการสร้าง(ปัญหา)สังคม ดังนั้นก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของฟั่นเฟืองในการแก้ไขและหาทางออก ทำให้ ‘วินชนะ พฤกษานานนท์’ ทายาทรุ่น 2 เกาะมันนอก รีสอร์ท และ ‘ดวงพร ทรงวิศวะ’ ผู้ก่อตั้งร้าน โบ.ลาน ตัดสินใจเลือกทำธุรกิจที่ขอเติบโตไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืน

“ผมมองเกาะแห่งนี้เป็นบ้านของตัวเอง และเห็นการเปลี่ยนแปลงทุกปี โดยเฉพาะปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผมไม่อยากให้ใครเอาขยะมาทิ้งหน้าบ้านผม จึงตั้งใจจะช่วยรักษาธรรมชาติสวย ๆ ไว้ เริ่มจากตัวเอง ขยายวงสู่ชุมชนและหาพาร์ทเนอร์ เพราะถ้าเราไม่เริ่มจากตัวเองให้คนอื่นเห็นภาพก่อน การเปลี่ยนแปลงย่อมไม่เกิดขึ้น” 

‘วินชนะ พฤกษานานนท์’ ทายาทรุ่น 2 เกาะมันนอก รีสอร์ท เล่าถึงแรงบันดาลใจในการหันมาทำ ‘ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน’ ที่เขาได้ลงมือทำมาตลอดระยะเวลา 8 ปี และแม้วันนี้ปัญหาขยะของเกาะมันนอกยังไม่หมดไป เขาก็ยังยืนยังจะทำต่อไป  

ขณะที่ ‘ดวงพร ทรงวิศวะ’ ผู้ก่อตั้งร้าน โบ.ลาน บอกว่า ถ้าเธอไม่ใส่ใจความยั่งยืนและไม่สนใจสิ่งแวดล้อม นั่นเท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวของตัวเอง 

“ตอนเปิดร้านใหม่ ๆ โบก็เหมือนเชฟทั่วไปที่อยากทำอาหารให้อร่อยที่สุด ไม่สนใจอะไร แต่พอเปิดมา 4 ปี มีอยู่วันนึงปิดร้านแล้วเห็นภูเขากองขยะขวดพลาสติก ทำให้หันมาสนใจความเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายโบเชื่อว่า ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี เราจะเอาอาหารหรือวัตถุดิบดี ๆ ที่ไหนมากิน และในฐานะเป็นเชฟ ถ้าโบไม่ใส่ใจเรื่องนี้ เท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง” 

อย่างไรก็ตาม การสร้างธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืนก็ใช่ว่า จะทำได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะธุรกิจเล็กที่มีทุนไม่มากอย่างเกาะมันนอก รีสอร์ทและร้านโบ.ลาน แต่ทั้งคู่ยังเชื่อในสิ่งที่ทำ และไม่ได้คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพียงอยากเป็นพลังที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ให้ผู้คนมาสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ 

ทว่าอยากเป็นพลังที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ให้ผู้คนมาสนใจและตระหนักถึงเรื่องนี้ 

เริ่มจากก้าวเล็ก อย่าให้ลำบากตัวเอง

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า การหันมาทำธุรกิจที่ใส่ใจความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เพราะทั้งวินชนะและดวงพรมองว่า ธุรกิจคือส่วนหนึ่งของสังคม เมื่อสร้างปัญหาให้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบและหาทางแก้ไขด้วย 

วินชนะบอกว่า ธรรมชาติจะสวยได้จำเป็นต้องสร้างและรักษา ซึ่งสำหรับเขา ‘ไม่มีใครรู้จักทะเล ได้ดีเท่ากับคนทะเล’ ดังนั้นหากต้องการรักษาทะเล ก็ไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับคนทะเล และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“ผมตั้งใจรีแบรนด์ที่นี้ใหม่ด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ No damage/Preserve/Enhance แต่ด้วยเราเป็นธุรกิจเล็กมาก ไม่มีเงินลงทุนมากมาย และเราถือตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คนงานของเราก็เป็นคนในชุมชน เป็นครอบครัวของเรา อย่างแรกผมทำความเข้าใจกับพนักงานของตัวเองใหม่เกี่ยวกับการรีแบรนด์ 

“กับลูกค้า ก็ทำความเข้าใจว่า เมื่อคุณมาอยู่เกาะ การใช้ชีวิตย่อมไม่เหมือนอยู่ในเมือง สิ่งที่คุณใช้ สิ่งที่ทิ้ง มีที่มาที่ไป และมีต้นทุนในการจัดการเสมอ เราตัดไฟตั้งแต่ 9.00-13.00 น.บาร์ปิดตั้งแต่ 21.30 น.ในห้องไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น เพราะเราอยากให้ลูกค้าออกมาดูทะเล เราเลิกขายน้ำเปล่า ใช้ขวดแก้วมาเติม ช่วยให้ขยะจากขวดพลาสติกน้อยลงไปเยอะ รวมถึงทำ Waste management แยกขยะต่าง ๆ”

ให้มันจบที่ร้านเรา

ขณะที่ร้าน โบ.ลาน ดวงพรก็เริ่มสร้างความยั่งยืนจากจุดเล็ก ๆ โดยเริ่มการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ ในคอนเซปต์ที่ว่า ‘ให้มันจบที่ร้านเรา’

“วันแรก ๆ ของการเปิดร้านเมื่อ 15-16 ปี โบไม่ได้คิดถึงความยั่งยืนขนาดนั้น แต่ประกาศกร้าวว่า วัตถุดิบที่ทำอาหารในร้านจะเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด และเราก็ซื้ออะไรไม่ได้เลย เพราะเราเข้าไม่ถึง อย่างเดียวที่ได้มาที่เป็นเกษตร อินทรีย์ ก็คือ ข้าว แต่ตอนนี้วัตถุดิบของเรา 95% เป็นเกษตรอินทรีย์

“ส่วนทำไมเราต้องใส่ใจว่า วัวกินอะไร หมูกินอะไร ไก่กินอะไร นั่นเพราะเขากินอะไรไป เมื่อเราไปกินเขา มันจะเป็นของเรา เลยต้องดูเรื่องนี้ ดูตั้งแต่แหล่งผลิต มาถึงเราจะดูในภาพใหญ่ที่สามารถเข้าไปจัดการได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ เราทำได้ไหมที่จะไม่ใช่พลาสติกหรือโฟม หากอะไรหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใช้เพื่อป้องกันการปนเปื้อน เราใช้เสร็จหาวิธีนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ เพื่อลดจำนวนขยะ

“Food waste การจัดเตรียมอาหารมีอยู่แล้ว ทางแก้ คือ แยกขยะ ที่อื่นอาจมี 4 ถัง แต่ร้านเรามี 12 ถัง เช่น ถังขยะทิ้งเปลือกไข่ ถังขยะทิ้งเปลือกมะนาว ถังขยะผลไม้รสเปรี้ยว ฯลฯ โดยเวลาแยกขยะจะแยกของประเภทเดียวกันและนำไปก่อประโยชน์ก่อนทำเป็นปุ๋ย เช่น น้ำมันที่ใช้แล้ว นำมาทำสบู่ล้างมือแจกลูกค้า หรือใช้ภายในร้าน แบบนี้เป็นต้น คือพยายามให้ขยะที่เราสร้างถูกหมุนเวียนใช้ในร้านทั้งหมด ไม่ต้องเหลือกลายเป็นขยะที่ต้องกำจัด”     

ความท้าทายคือคน

สำหรับคำถามที่ว่า อะไรคือความท้าทายในการทำธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งวินชนะและดวงพรต่างมีความเห็นและตอบตรงกันว่า ‘คน’ 

“คน คือทุกอย่างที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ และเป็นความท้าทายที่จะฟื้นฟูหรือรักษาธรรมชาติด้วยเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ดื้อและมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ถ้าเราไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เขาถึงเห็นมูลค่าของสิ่งที่ทำ อย่างเราจะมีการให้เขาเอาขยะที่เก็บได้มาแลกไข่ มาแลกน้ำมันพืช สร้างแรงจูงใจให้เขา

“สำหรับคำแนะนำกับผู้ประกอบการอื่น ผมอยากให้เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ และอย่าทำให้ตัวเองลำบาก แต่อย่าคิดที่จะไม่เริ่ม ตัวผมเองเริ่มจากเดินเก็บขยะคนเดียว เก็บทุกวันคนก็เริ่มมอง เก็บไปเรื่อย ๆ แล้วจะเริ่มมีคนเข้ามาหาเรามากขึ้น เพราะเขาเห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำ จากนั้นจะขยายเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นพลังที่สร้างแรงกระเพื่อมที่ใหญ่ขึ้น และอย่าท้อที่จะทำ”

“โบพูดเสมอว่า โบไม่ได้ทำอาหารเก่ง แต่ชอปปิ้งหาวัตถุดิบเก่ง เพราะเมื่อวัตถุดิบดีมีคุณภาพทำอะไรก็อร่อย และเมื่อพูดถึงความยั่งยืน เราต้องคิดถึงคนรอบข้างทั้งเกษตรกร คนกิน พาร์ทเนอร์ ซึ่งเราต้องสนับสนุนให้พวกเขากล้าเปลี่ยนแปลง ให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่เข้าใจกัน

“พนักงานในร้านก็เช่นกัน โบจะกำหนดเรื่องราวพวกนี้ให้เป็นหน้าที่ที่ต้องทำตั้งแต่รับสมัครงาน ลูกค้าเองก็ต้องรู้ด้วยว่าเราทำอะไร ซึ่งที่ร้านจะพาลูกค้าเข้าครัวให้ไปเห็นการทำงาน เพราะอยากให้กำลังใจคนทำงาน เมื่อเขาเข้ามาเห็นเลยว่าครัวสะอาด เห็นถัง 12 ถัง คืออะไร และให้กำลังใจลูกค้าว่า ที่กินไปไม่ได้สร้างคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นเพราะเราจัดการให้แล้ว”

สุดท้ายทั้งคู่สรุปว่า เมื่อคนทำดี ต้องชม เพราะคำชมเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้พวกเขาที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงจะมีกำลังใจและเข้ามาเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งทั้งคู่บอกว่า สำคัญมาก เพราะทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรสำเร็จได้จากคน ๆ เดียว 

.

บทความนี้มาจากหัวข้อ Practices, Challenges, and Opportunities in Tourism & Hospitality ในงาน Earth Jump 2024